เด็กๆเติมหัวใจใส่แผนที่เดินดิน : อีกกลิ่นไอการเรียนรู้บนภูดอย


การเพิ่มมิติทางสังคมเหล่านี้เข้าไป ทำให้แผนที่เดินดินของเด็กๆมีสีสัน เด็กๆได้ถกเถียง แสดงความเห็น และมีส่วนร่วมในการรู้จักชุมชนของตนเอง ทั้งยังมีมิติของอารมณ์ความรู้สึก หรือมองเห็นความเป็นคนของผู้อื่น

แผนที่เดินดิน เป็นเครื่องมือสำคัญเครื่องมือหนึ่ง ในการวิจัยก็ดี ในการพัฒนาท้องถิ่นก็ดี เป็นแผนที่ที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้เรารู้ตำแหน่งแห่งที่ของสิ่งต่างๆในชุมชน แต่ยังรู้สถานภาพ บทบาทหน้าที่ทางสังคม พื้นที่ใช้สอยทางสังคมที่เป็นจริง ทั้งยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างทีมงานกับชุมชนอีกด้วย 

ผมใช้รูปแบบการทำแผนที่เดินดิน จากหนังสือ วิถีชุมชน : คู่มือการเรียนรู้ที่ทำให้งานชุมชนง่าย ได้ผล และสนุกที่แต่งโดยหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ (2548) มาเป็นเอกสารอ้างอิงสำคัญ 

โครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สิทธิเด็ก อำเภอปางมะผ้า ดำเนินมาครบปีแล้ว แต่เราก็ยังต้องจัดอบรมเสริมศักยภาพบรรดานักวิจัยน้อยอย่างสม่ำเสมอแทบทุกสัปดาห์  ทาง สกว. node แม่ฮ่องสอน เข้าใจแนวคิดนี้ ทำให้ผมโล่งใจขึ้นเยอะ 

ค่ายที่ผ่านมาล่าสุดที่หมู่บ้านลีซูน้ำบ่อสะเป่ ก็มีการให้ความรู้และฝึกทำแผนที่เดินดินอยู่เหมือนกัน แต่เวลากระชั้นมาก

ผมคิดว่าเรื่องเวลานี่สำคัญ การเอากรอบเวลาไปตั้งต้น มันจำกัดการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก พี่เลี้ยงอย่างเราๆต้องเข้าใจจุดนี้ และอย่ามัวแต่โทษระบบ และรออัศวินม้าขาว แต่เราหันมาศึกษาและลงมือแก้ปัญหากันเลย   

สำหรับเช้าวันที่ 23 กันยายนนี้ เราให้เด็กๆศึกษาเอกสารและทำแบบทดสอบเรื่องนี้ก่อน จากนั้นจึงแบ่งเด็กไปทำแผนที่เดินดินหมู่บ้านสองป๊อก  ป๊อกไทใหญ่ทางตะวันออก และไทใหญ่ทางตะวันตก โดยการจับฉลาก เด็กๆสนุกกับการลุ้นว่าจะได้ป๊อกไหน ประมาณหนึ่งชั่วโมงเด็กๆก็พาเสียงแจ้วๆเดินกลับมาหน้าตาสดใส  

  

ผมให้เด็กๆไปพักเพื่อทบทวนและประมวลข้อมูลที่ได้จากการไปสำรวจมาลงบนกระดาษปรูฟ ให้เป็นแผนที่เดินดิน และเตรียมออกมานำเสนอต่อเพื่อนๆในช่วงบ่าย

  หลังจากอิ่มหมีพีมัน ผมก็ปล่อยให้เด็กๆเล่นกระโดดหนังกันต่อสักครึ่งชั่วโมง  การให้เด็กๆมีเวลาว่างพอที่จะเล่นนี่ก็สำคัญมากๆนะครับ เพราะการเรียนรู้ของเด็กผ่านการ เล่นมาตั้งแต่เกิด และยังต้องอาศัย "การเล่น"เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนรู้ไปจนตลอดชีวิต แต่ผู้ใหญ่เองต่างหาก ที่ไม่ค่อยเข้าใจพวกเขา และมองการเล่น เป็นเรื่องไร้สาระ เสียเวลา 

เอาละ กลับมาที่เรื่องแผนที่เดินดินกันต่อนะครับ ช่วงบ่าย เด็กๆก็เอาแผนที่มานำเสนอกัน โดยผมคอยแยงคำถามถามเด็กต่อ ก็คือ1)      ไปทำแผนที่เดินดินมา พบเห็นอะไรที่ สะดุดใจบ้าง2)      มีความประทับใจอะไรบ้าง3)      พบเจออุปสรรคอะไรบ้าง4)      จะแก้ไขอุปสรรคได้อย่างไร 

เด็กๆ สะท้อนความเห็นออกมาดังนี้ครับ 

ปัญหาที่พบคือ อากาศช่วงก่อนเที่ยง ตอนไปเก็บข้อมูลร้อนครับ และก็ไม่ได้เตรียมน้ำดื่มไป กระดาษที่เตรียมไปก็ไม่พอจด ทางขึ้นดอย บางทีก็เดินอ้อม ก็ลำบากอยู่ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ในครั้งต่อไป ส่วนจุดเด่นหรือข้อดีที่พบ เด็กๆลงความเห็นว่า ทุกคนในทีมได้มีส่วนร่วมดี , ได้คุยกับชาวบ้าน สนุกเพลิดเพลิน, ได้ความรู้ใหม่ๆในการสำรวจชุมชนเพื่อทำแผนที่, ได้ความรู้ใหม่ๆจากการไปเยี่ยมชาวบ้าน เช่น เห็นกรรมวิธีการทำ ถั่วพู หรือเต้าหู้ของชาวไทใหญ่, และได้เห็นความยากลำบากของคนอื่น โดยเฉพาะบ้านที่จนสุดๆ 

 ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นนี่เป็นสิ่งสำคัญมาก ที่ผมคิดว่ามันแพลมออกมาจากกระบวนการที่เด็กไปสำรวจชุมชนเพื่อจัดทำแผนที่เดินดินครั้งนี้  

  

แผนที่เดินดินที่เด็กๆทำออกมาวันนี้ แต่แรกก็จะดูเหมือนแผนที่สำรวจทางกายภาพ แต่พอเราเริ่มถามและเขียนลงไปในแผนที่ เด็กๆก็ช่วยกันพูดถึงข้อมูล มีหลายเรื่องที่เด็กๆไม่รู้มาก่อน และไม่เห็นว่าต้องระบุไว้ในแผนที่ เช่น

- บ้านร้าง(มีผีสิง), บ้านผู้ติดชื้อเอดส์, บ้านเด็กอันธพาล, บ้านปราชญ์ชุมชน, บ้านคนเฒ่าที่ชอบเล่า อาปุ่งหรือนิทานสอนใจของชาวไทใหญ่, บ้านคนที่ถูกผีเข้าบ่อยๆ, บริเวณที่ลาดชัน, บริเวณที่ต่างศาสนากัน, บ้านที่ไม่ถูกกัน,  บ้านที่ยากจนมาก, บ้านฝรั่งที่ร่ำรวยมาซื้อที่อยู่ในชุมชน , บริเวณที่วัยรุ่นชอบรวมตัวกัน ฯลฯ บ้านเหล่านี้ถูกพล็อตลงในแผนที่เพิ่มเติม และระบุว่ามีบทบาทอย่างไรในชุมชน  

 การเพิ่มมิติทางสังคมเหล่านี้เข้าไป ทำให้แผนที่เดินดินของเด็กๆมีสีสัน เด็กๆได้ถกเถียง แสดงความเห็น และมีส่วนร่วมในการรู้จักชุมชนของตนเอง ทั้งยังมีมิติของอารมณ์ความรู้สึก หรือมองเห็นความเป็นคนของผู้อื่น เช่น เด็กๆเดินไปเห็นบ้านคนยากจนมากๆ มีห้องส้วมแบบอนาถาก็สงสาร อยากช่วยเหลือเขา  

<p>  </p><p>เหล่านี้ เป็นการเรียนรู้ของทั้งเรา เด็ก และชุมชน เป็นกิจกรรมเล็กๆในวันหยุดสุดสัปดาห์นี้  ซึ่งผมคิดว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดี มีความสุข แต่ก็ยังต้องการการเรียนรู้อีกมาก ส่วนใครจะหยิบเอาไปใช้บ้างก็ไม่รังเกียจนะครับ</p>

หมายเลขบันทึก: 131009เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2007 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ด้วยความที่ผมเป็นคนเมืองนะครับ ผมเห็นว่าโครงการแบบนี้น่าสนใจ และน่านำมาประยุกต์ใช้กับเด็กๆ ในพื้นที่่ต่างๆ ด้วยครับ ผมสงสัยว่ามันจะใช้ได้กับเด็กเมือง เด็กชานเมืองได้ไหม? แถวๆ บ้านผมเองซึ่งอยู่ชานเมือง แต่รถไฟฟ้ากำลังวิ่งผ่าน จริงๆ แล้วก็มีจุดน่าสนใจหลายแห่ง ลองพาลูกหลานเดินดูท่าจะดี (แต่ตอนนี้ยังไม่มีลูก) ที่อำเภอเมืองปากน้ำก็ยังเป็นชุมชนทำอุตสาหกรรมในครัวเรือนเยอะอยู่ น่าพาไปเดิืนอีกเหมือนกัน

มุมมองของเด็กๆ ทำผู้ใหญ่ทึ่งได้เสมอเลย จริงไหมครับ? 

สวัสดีครับคุณแว้บ

  •          ผมเชียร์และเชิญชวนให้จัดกิจกรรมอย่างนี้กับเด็กๆนะครับ ที่ไหนๆก็ทำได้ ทั้งในเมืองและชนบท ใช้หลักการเดียวกัน แกระบวนการอาจจะแตกต่างไปตามบริบทชุมชน พฤติกรรมทางสังคมของเด็กๆ ความพร้อมของพี่เลี้ยง ฯลฯ บ้าง
  •           เท่าที่ทราบก็มีหลายกลุ่มจัดให้เด็กๆทำแผนที่เดินดินนะครับ แต่เป็นพวกปิดทองหลังพระ ไม่ถนัดพรีเซนต์ตัวเอง ผมเองก็มือใหม่นะครับ ก็ยังเป็นไก่อ่อนอยู่
  •             แผนที่เดินดินในเมืองนี่ก็น่าสนใจนะครับ ผมก็ไม่เห็นใครพูดกันนัก แต่ผมว่าเด็กๆทำได้แน่นอน สนุกกว่าที่เขาคิดด้วย
  • ไม่ต้องทำอะไรใหญ่โตก็ได้ เริ่มจากกลุ่มเล็กๆสองสามคน มีผู้ใหญ่ใจดี สละเวลามาหนุน หล่อเลี้ยงกำลังใจพวกเขาไว้ ทำไป พักไป เล่นไป กินขนมไป เอาใจเรากับเขามารวมกันก่อน พอคุ้นกันดี เครื่องเริ่มติดแล้ว ไอ้เรื่องเทคนิค เดี๋ยวมันมาเองครับ
  •        เข้าใจเด็กๆ เสียแต่วันนี้ พอมีลูกเอง น่าจะช่วยให้เข้าใจลูกง่ายขึ้น (มองการณ์ไกล เอาไว้เผื่อให้นะครับ)    
  • หากมีข้อสงสัยอะไร แลกเปลี่ยนเรียนรู้มาได้เสมอครับ

 

ลองให้เด็กๆ ทำผังเครือญาติดูบ้างซิครับ เด็ก ๆ จะรู้ว่าหลายคนต่างสัมพันธ์เป็นญาติกันทางใดก็ทางหนึ่ง ยิ่งได้ไปเยี่ยมไปคุยกับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย จะเกิดความรู้สึกที่ดีได้มาก ที่จังหวัดตรัง วัยรุ่นเลิกยกพวกตีกันเพราะทำผังเครือญาติครับ

สวัสดีครับคุณ (หมอ??) โกมาตร

  •                ผมก็ตั้งใจว่าจะฝึกเรื่องแผนผังเครือญาติให้เด็กๆอยู่เหมือนกัน แต่กำลังดูความพร้อมครับ ที่แน่ๆ กำลังจะฝึกเรื่องการเก็บประวัติชีวิตและทักษะการพูดในที่ชุมนุมชนให้กับพวกเขาเร็วๆนี้
  •                ผมก็เห็นด้วยนะครับที่การสร้างผังเครือญาติ มันก็น่าจะเป็นวิธีหนึ่งในการช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มเครือญาติให้ฟื้นคืนมาใหม่ได้
  •               แต่ต้องไม่ลืมว่า อำนาจของเครือญาติบางทีมันก็ไปกดทับเด็กบางคนเอาได้นะครับ โดยเฉพาะระบบเครือญาติที่เน้นระบบอาวุโส หรือความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่ผู้น้อย โดยเฉพาะการใช้อำนาจกดทับเด็กที่ถูกสังคมปะป้ายว่า "ไม่ได้เรื่อง"  "นอกคอก" หรือ "เบี่ยงเบน"ฯลฯ
  • หรือเด็กบางคนอาจจะเซนส์ซิทิฟเวลาพูดถึงญาติ อันนี้ ผมก็ยังไม่รู้
  • อย่างเด็กบางคน อาจจะไม่อยากให้ใครรู้เรื่องญาติของตนที่เป็นคนไม่ดี เขาก็จะกระอักกระอ่วนใจ ไม่อยากเปิดเผย
  • เด็กบางคนอาจจะตีความว่าการมีญาติน้อย หรือแม่มีสามีหลายคน หรือพ่อทิ้งแม่ไป เป็นปมด้อย อันนี้พี่เลี้ยงต้องปูพื้นฐานความเข้าใจให้ดีเหมือนกัน เรื่องญาติพี่น้องนี่จริงๆละเอียดอ่อนกว่าที่เราซึ่งเป็น "คนนอก"คิด อันนี้ต้องระวังเหมือนกันครับ 
  •               ฉะนั้น ผมก็เห็นด้วยครับกับการใช้ผังเครือญาติเป็นเครื่องมือ  แต่ก็อย่างว่า การจะใช้เครื่องมืออะไรก็ต้องใช้อย่างมีวิจารณญาณเหมือนกัน ผมคิดว่าอย่างนี้นะครับ

              

สวัสดีค่ะ น้องยอดดอย 

  • ผลงานของเด็ก ๆ ผ่านความตั้งใจที่ปรารถนาดีอย่างน้อง ยอด  ทำได้น่ารักมากค่ะ  พี่แวะมาชื่นชม ...ที่ รพ.พี่ก็ทำนะ แผนที่เดินดินเนี่ย ..แต่แผนที่ของผู้ใหญ่..ไร้สีสรรพ์ ..มีชีวิตชีวา สู้ของเด็ก ๆ ไม่ได้แน่..
  • จะรอดู การเติบโตนะคะ..
  • ขออภัยวันนี้ มาไม่ทันไปดู เพราะพี่กลับมาถึงปางมะผ้า ก็มืดแล้วค่ะ ..เลยขอชื่นชมผ่าน blog ก็แล้วกัน  

ขออภัยที่ไม่ทันไปร่วมกิจกรรม..งานหน้าคงไม่พลาดครับ

สวัสดีครับ ยอดดอย

ชื่นชมกับกิจกรรมที่คุณเสริมสร้างให้กับเด็ก

ผมเองเคยจัดกิจกรรมเด็กรักป่า กับพี่ท่านบางทราย

ให้เด็กไปเดินสำรวจป่ากับผู้เฒ่า แล้วกลับมาบรรยายเป็นรูปภาพ

น่าสนใจมากครับ เด็กๆสามารถถ่ายทอดจากมุมมองของเด็กได้อย่างน่าทึ่ง

ทำต่อไปนะครับเป็นกำลังใจให้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท