BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สามคำถามในอภิปรัชญา ๓


สามคำถามในอภิปรัชญา ๓

การพิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้า เป็นประเด็นหนึ่งซึ่งนักเทววิทยาหรือศาสนาเทวนิยมจะต้องอธิบาย... เฉพาะในประเทศไทยก็มีผู้วิจัยและสำเร็จเป็นวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่หลายเล่ม ซึ่งผู้สนใจสามารถค้นหาอ่านได้ไม่ยาก ดังนั้น ผู้เขียนจะเล่าแนวคิดเพียงบางประเด็นเท่านั้น...

ประเด็นแรกก็คือ ความเป็นระเบียบแห่งชีวิต โลก และจักรวาฬ ... เช่น ฤดูกาลจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป มีกลางวันกลางคืน หรือมีดาวฤกษ์ดาวเคราะห์และกาแลกซี่ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความเป็นระเบียบ ระบบ และความสมดุลในตัวของมันเอง...

สิ่งมีชีวิตอาจจำแนกออกได้เป็นพืชและสัตว์ ซึ่งแต่ละชนิดก็มีแบบแผนของมันเอง เช่น ช่วงวัยชีวิตของพืชและสัตว์แต่ละอย่างก็ค่อนข้างแน่นอน... ผักบุ้งก็คือผักบุ้ง มะขามก็คือมะขาม ผักบุ้งไม่สามารถจะกลายเป็นพืชยืนต้นอย่างเช่นมะขามได้ฉันใด มะขามก็มิอาจกลายเป็นพืชไม้เลื้อยชอบน้ำแบบผักบุ้งได้ฉันนั้น ... ตัวอย่างนี้ บ่งชี้ว่าจะต้องมีผู้สร้างและกำหนดระเบียบไว้....

ช่วงชีวิตของคนมักจะไม่เกินร้อยปี  ขณะที่สุนัขก็ประมาณ ๑๐-๑๕ ปี ส่วนแมลงหวี่บางชนิดก็อยู่ได้เพียงวันเดียวเท่านั้น... จิ้งจกออกจากไข่ก็สามารถเป็นอยู่ได้ตามลำพังของมันเอง ขณะที่สัตว์อื่นๆ  ก็อาจเป็นอยู่ได้ตามลำพังหรืออาจถูกเลี้ยงดูจากพ่อแม่มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป....

ความเป็นระเบียบแบบแผนทำนองนี้ บ่งชี้ว่าจะต้องมีผู้มีปัญญาสูงสุดเป็นผู้สร้างขึ้นมา นั่นก็คือ พระเจ้า ดังนั้น พระเจ้าจึงมีอยู่ ... ประมาณนี้

.............

ความเป็นที่สุด เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องการจะเล่าในเรื่องการพิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้า... คนนั่นฉลาด คนนี้ก็ฉลาด ส่วนคนโน้นฉลาดกว่าสองคนนี้ นั่นคือ ความฉลาดนั้นมีดีกรีมากน้อยลดลั่นกันไป เมื่อถามว่า ใครฉลาดที่สุด ตอบว่า พระเจ้า

คนทุกคนมีกำลัง และเมื่อเปรียบเทียบกันด้วยกำลัง ก็อาจรู้ได้ว่า ใครมีกำลังมากกว่า่่ ส่วนผู้มีกำลังมากที่สุดซึ่งไม่มีใครสามารถเปรียบได้ก็คือ พระเจ้า

ในโลกนี้มีคนดีมากมาย แต่ละคนก็อาจมีความดีแตกต่างกันไป ส่วนผู้ที่มีความดีเพรียบพร้อม และมีความดีทุกอย่างก็คือ พระเจ้า เช่นเดียวกัน

โดยการพิสูจน์ทำนองนี้ จะบ่งชี้ถึงความเป็นที่สุดในประเด็นนั้นๆ โดยยกให้พระเจ้า ดังนั้น พระเจ้าจึงเป็นที่สุดของคุณสมบัติทุกอย่าง....

บางคนอาจโต้แย้งว่า คนเลวก็มีมากหลายและแตกต่างกันไป เมื่อถือเอาตามนัยนี้ คนเลวที่สุดก็น่าจะเป็นพระเจ้า ... หรือคนโง่ก็มีมากมายในโลกนี้ ถ้าเน้นที่่สุดว่าเป็นพระเจ้าแล้ว คนโง่ที่สุดก็น่าจะเป็นพระเจ้า .... ทำนองนี้

ประเด็นโต้แย้งทำนองนี้ นับว่าเป็นปัญหาที่นักเทววิทยาจะต้องตอบให้ได้ ซึ่งมีคำอธิบายเรื่องเหล่านี้เช่นเดียวกัน... เช่นการอ้างถึงความสมบูรณ์กับความบกพร่อง... กล่าวคือ ความดีหรือความฉลาดนั้นเป็นความสมบูรณ์ ส่วนความเลวหรือความโง่นี้เป็นเพียงความบกพร่อง... พระเจ้าเป็นสิ่งสมบูรณ์ไม่มีความบกพร่อง ดังนั้น ความบกพร่องเหล่านั้นจึงมิใช่คุณสมบัติของพระเจ้า... ประมาณนี้

.............

การพิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้าและข้อโต้แย้งมีมากมายในเทววิทยา ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ค่อยเข้าใจนัก เพียงแต่เคยผ่านมาบ้าง จึงนำมาเล่าเพียงแต่พอจะนึกได้เท่านั้น เพื่อชี้ให้เห็นว่า เมื่อตอบคำถามว่า ชีวิต โลก และทุกสิ่งทุกอย่างมาจากพระเจ้าแล้ว ก็จะมีปัญหาตามมาเกี่ยวกับความมีอยู่ของพระเจ้า...

แม้จะมีคำถามคำตอบทำนองนี้ก็ตาม แต่นักคิดตั้งแต่สมัยโบราณก็ยังตั้งข้อสงสัยที่ต่างประเด็นออกไป ดังเช่น ธาเลส (Thales) บิดาแห่งปรัชญากรีกโบราณ (มีชีวิตอยู่ก่อนพระพุทธศาสนาประมาณ๑๐๐-๒๐๐ปี) ตั้งข้อสงสัยว่า

  • ถ้าเราไม่ตอบว่าเทพเจ้าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งแล้ว เราจะอธิบายอย่างไร ?    

 ธาเลสก็คิดว่า เราจะต้องหาสิ่งแรกของทุกสิ่งทุกอย่างก่อน และน้ำดีที่สุด ... นั่นคือ ธาเลสคิดว่าสรรพสิ่งเกิดมาจากน้ำก่อนที่จะแปรสภาพเป็นสิ่งอื่นๆ...

จากประเด็นนี้อาจอธิบายว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็คือน้ำนั่นเอง และนั่นคือ คำตอบของคำถามที่สองในอภิปรัชญาว่า

  • ตัวเราเอง โลกและชีวิต หรือทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอะไร ?
สำหรับธาเลสอาจตอบว่าเป็นน้ำ ส่วนสำนักอื่นๆ จะตอบคำถามข้อนี้ได้อย่างไร ผู้เขียนจะนำมาเล่าในตอนต่อไป.....
หมายเลขบันทึก: 130812เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2007 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 07:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

1.พระเจ้าคือธรรมชาติใช่ไหม 

2.ผิดไปจากธรรมชาติหรือไม่เข้าใจธรรมชาติ  พระเจ้าจะเยียวยาได้อย่างไร

3.เราควรรักธรรมชาติไว้เหนือทุกสิ่งมิใช่หรือ

ไม่มีรูป

paichayon

ตามที่ว่ามาก็เป็นคำถามที่พยายามแปลความหมายไปสู่การปฏิบัติซึ่งเรียกว่าจริยศาสตร์...

เจริญพร 

กราบเรียนท่านมหาชัยวุธ

 

(ช่วยลบข้างบนด้วยครับ ปัญหาไม่จัดบรรทัด อ่านยากครับ)  

ผมไม่ทราบว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่ และก็ยังไม่ราบว่ามีหลักฐานใดๆว่าพระเจ้ามีอยู่จริง (แม้จะทำวิทยานิพนธ์มาหลายเล่มก็ตาม)

 

ผมเห็นแต่เป็นความเชื่อของคนบางกลุ่ม บางศาสนา

 

ผมรู้สึกว่า การอ้างพระเจ้าเป็นการอธิบายถึงปรากฏการณ์บางอย่างที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจ และใช้คำว่า พระเจ้า มาอธิบาย

 

ทำให้คำว่า พระเจ้า ใกล้เคียงกับไสยศาสตร์มากเกินไป

 

แต่ผมไม่เชื่อว่าพระเจ้าจะเป็นไสยศาสตร์

 

(ไม่งั้นกลุ่มคนที่เก่งด้านวิทยาศาสตร์จะเชื่อ พระเจ้าได้อย่างไร มันขัดกันแบบหน้ามือ กับหลังมือ แบบเห็นๆ มากเกินไป)

  

ผมจึงถือโอกาส

ขอเรียนถามท่านในฐานะที่ท่านได้ศึกษามาทางด้านนี้มากกว่าหลายๆท่าน

ได้โปรดให้ความกระจ่างให้ผมด้วยครับ

 

ถ้าไม่ได้กรุณาแนะนำให้ไปศึกษาที่ไหน ที่มีหลักฐานและหรือคำอธิบายชัดๆ ตรงๆ

ไม่เอาแค่ความรู้สึก หรือความเชื่อมายืนยันกันเฉยๆ นะครับ

 

ผมไม่ต้องการอยู่กับความไม่เข้าใจ ความหลง

 ไม่ต้องการอยู่กับแค่ความเชื่อ

แต่ต้องการอยู่กับความจริงครับ

หรือ ผมต้องนับถือ และยำเกรงพระเจ้าก่อน (ตามที่เขียนไว้ข้างเสาไฟ ตามต้นไม้สูงๆ) ก่อน จึงจะเข้าใจ ก็ได้ครับ ผมก็อยากจะลองดูสักพัก

 ขอขอบพระคุณล่วงหน้า เป็นอย่างสูง ครับ 
P

ดร. แสวง รวยสูงเนิน

ความเห็นของอาจารย์ จัดเป็นข้อโต้แย้งทางอภิปรัชญาได้เช่นเดียวกัน (.............)

ประเด็นสุดท้ายที่อาจารย์อ้างอิงว่ามาจากข้างเสาไฟฟ้านั้น มาจากความเห็นของ นักบุญออกัสติน (Saint Augustine ) ซึ่งเขาบอกว่า

  • บางอย่างถ้าฉันไม่เข้าใจก่อนฉันก็ไม่เชื่อ แต่บางอย่างถ้าฉันไม่เชื่อก่อนฉันก็จะไม่เข้าใจ

เคยอ่านความเห็นของ เดการ์ด (Desartes) เกี่ียวกับการพิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้าทำนองว่า  พระเจ้ามีอยู่จริงเพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่ามีอยู่ เช่น ถามคนใกล้ชิด คนที่เรารู้จัก ทุกๆ คนจะเชื่อว่ามีอยู่จริง.... ประมาณนี้

เดการ์ดเติบโตในวัฒนธรรมของเขา จึงสามารถพิสูจน์ทำนองนี้ และคนทั่วไปก็เห็นด้วยกับข้อพิสูจน์ของเขา้...

แต่ถ้าอาจารย์ ดร. แสวง รวยสูงเนิน นำ้วิธีการเดียวกันกับเดการ์ด มาใช้ในวัฒนธรรมที่อาจารย์เป็นอยู่ อาจได้ข้อสรุปที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ใครๆ ก็ไม่เชื่อ อาจารย์ก็ไม่เชื่อ และคนโดยมากก็่คัดค้านว่าพระเจ้ามีอยู่จริง ดังนั้น อาจารย์จะสรุปว่าว่าพระเจ้าไม่มีอยู่จริง.... ประมาณนี้

.... 

อาตมาก็ขอผ่านคำถาม (ซึ่งยังจับประเด็นคำถามไม่ได้ชัด) ของอาจารย์ก็แล้วกัน เพราะตอบๆ ไปก็ได้แต่เดา เท่านั้น ไม่มีคุณูปการอะไรต่อความเป็นอยู่ของเรานัก....

อาจารย์อาจแย้งว่า้าอย่างนั้นก็เท่ากับปิดกั้นความอยากรู้อยากเห็นนะซิ เพราะขึ้นชื่อว่าคน มีความอยากรู้อยากเห็นอยากเข้าใจในสิ่งต่างๆ .... ประมาณนี้

และนั่นคือ ประเด็นเรื่องความสำคัญของวิชาอภิปรัชญา....ซึ่งยังคงมีอยู่เพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของคน....

ประเด็นของอาจารย์พักไว้แค่นี้ก่อน (ที่จริงก็พิมพ์ไปเยอะแล้ว แต่รู้สึกว่า ยิ่งต่อยิ่งยาว จึงลบออกไป เพื่อหยุดไว้เพียงแค่นี้) 

เจริญพร 

กราบเรียนท่านมหา

ขออีกนิดครับ เพื่อความชัดเจนครับ

ถ้าอย่างนั้นถ้าผมทำให้ทุกคน(หรือสักจำนวนหนึ่ง)เชื่อว่าทวดของผมยังไม่ตาย และตอนนี้อายุ ๑๘๐ ปี

ทวดของผม ก็จะเป็นคนที่มีอายุยืนมากที่สุดในโลกใช่ไหม แม้จะมีคนส่วนหนึ่งไม่เชื่อก็ตาม

โดยไม่ต้องเห็นว่าทวดผมอยู่ที่ไหน มีสภาพร่างกายเป็นอย่างไร หน้าตาเป็นอย่างไร

ใช่ไหมครับ

P

ดร. แสวง รวยสูงเนิน

ไม่ค่อยเข้าใจคำถาม ...

คงจะเป็นไปตามที่อาจารย์ว่า เมื่อคนกลุ่มที่เชื่อว่าคุณทวดมีอายุ ๑๘๐ ปีนั้น จะต้องมีความเชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ยังไม่มีใครอายุยืนถึง ๑๘๐ ปี ... ประมาณนี้

ประเด็นที่อาจารย์ถามและให้ความเห็นมาก็คงจะทำนองเดียวกับเจ้ากูหรือเจ้าเขาที่ขายเครื่องรางของขลังบางท่านพูดว่า เราเชื่อไม่เชื่อไม่สำคัญ แต่สำคัญว่าให้เขาเชื่อเรานิ ... ทำนองนี้

ประเด็นความเชื่อนี้ สำคัญมาก ... ดังนั้น คำสอนในทางพระพุทธศาสนาจึงต้องมี ศรัทธา (ความเชื่อ) คู่กับ ปัญญา (ความรู้) ... โดยอธิบายว่า ถ้ามีแต่ศรัทธาไร้ปัญญาก็จะกลายเป็นคนงมงาย แต่ถ้ามีปัญญาขาดศรัทธาแล้วก็จะกลายเป็นคนกระด้าง ... ประมาณนี้

เจริญพร 

ท่านมหาครับ

หลักๆผมหมายความว่า เราใช้ความเชื่อนำทาง และเป็นแกนนำได้เลยใช่หรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องดูเหตผลและหลักฐานอื่นใดทั้งสิ้น

ใช่ไหมครับ

ถ้าใช่ขอกลับไปที่คำถามเดิมคือ ผมเข้าใจว่าระบบคิดแบบนี้เป็นการคิดแบบไสยศาสตร์

และถ้าเป็นอย่างที่ผมเข้าใจ ทำไมความเชื่อเรื่อง "พระเจ้า" จึงแพร่หลายในสังคมที่มีการเจริญและความก้วหน้าทางวิทยาศาสตร์

ผมมองยังไงมันก็ขัดกันมากอยู่ดี

นี่คือคำถามตั้งต้นครับ

และที่ท่านกล่าวถึงวิทยานิพนธ์ที่ใช้หลักฐานจากการสำรวจความเชื่อ

ผมยิ่งสับสนไปใหญ่ ครับ

เพราะหลักฐานที่เป็นความเชื่อเป็นหลักฐานทางสังคม ที่อาจมีอิทธิพลมาจากอะไรก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นจริง

จะเอามายันในเชิงวิทยาศาสตร์ไม่น่าจะได้ครับ

ผมจึงถามท่านว่า "มีหลักฐานอื่นๆ ใดมากกว่าความเชื่อหรือไม่"

ที่ผมเทียบเป็นทวดผมยังมีชีวิตอยู่ที่อายุ ๑๘๐ ปีนะครับ

คำถามคงชัดขึ้นนะครับ

P

ดร. แสวง รวยสูงเนิน

ตามที่อาจารย์ว่า ความเชื่อ เป็นพื้นฐานนั้น... อาตมาก็เห็นด้วยกับประเด็นนี้นี้ ...

ส่วนการใช้เหตุผลสนับสนุนความเชื่อนั้นเป็นสิ่งที่ติดตามมา ดังคำว่า บางอย่างนั้น ถ้าไม่เชื่อก่อนจะไม่เข้าใจ

....... 

ประเด็นไสยาศาสาตร์ นี้ แยกประเด็นออกไปไปนิดหนึ่ง เพราะไม่เข้าใจว่าไสยาศาสตร์ตามความเห็นของอาจารย์นั้นเป็นอย่างไร...

ตามความเห็นของอาตมา น่าจะเป็นความเชื่อที่ไม่ประกอบด้วยเหตุผล เป็นความเชื่อต่อบางสิ่งบางอย่างที่อยู่เหนือหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือไม่เป็นวิทยาศาสตร์.... ประมาณนั้น

เมื่อพิจารณาไสยาศาสตร์ตามนัยนี้ ก็อาจเห็นได้ว่าเข้ากันได้กับศาสนาเชิงเทววิทยา เพราะมีความเชื่อเป็นพื้นฐานเหมือนกัน... เพียงแต่ไสยาศาสตร์อาจไม่มีเหตุผลรองรับความเชื่อ เหมือนกับศาสนาเชิงเทววิทยาเท่านั้น

..............

ส่วนหลักฐานอีกอย่างหนึ่งก็คือการเชื่อต่อ วิวรณ์ (Revelation) ได้เแก่ การเปิดเผยหลักธรรมหรือโองการของพระเจ้าต่อศาสดาพยากรณ์ต่างๆ.... ประเด็นนี้ ถ้าไม่เชื่อวิวรณ์หรือศาสดาพยากรณ์แล้ว ทุกอย่างก็ไม่จำเป็นต้องพูด... ประมาณนั้น

อาตมาเคยสงสัยประเด็นนี้ ทำไมศาสดาพยากรณ์จึงมีมากมาย ก็มีผู้ตอบว่า เพราะมนุษย์เปลี่ยนไป และกลุ่มมนุษย์แห่งศาสดาพยากรณ์ของเขา เป็นกลุ่มที่พระเจ้าทรงเลือกแล้ว .... ประมาณนี้

............

ประเด็นจริงๆ น่าจะเป็นความเชื่อที่ว่า มีสิ่งที่เหนือธรรมชาติ มีอำนาจยิ่งใหญ่กว่ามมนุษย์ ... ประมาณนี้

ความเชื่อทำนองนี้ มีมานานแล้ว เพียงแต่เราจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าอย่างไรเท่านั้น ธรรมชาติ กฎธรรมชาติ พระเจ้า หรือ ....

คนบางคนติดต่อสิ่งนี้ได้ และนั่นคือที่มาของศาสนาเชิงเทววิทยา หรือไสยศาสตร์... ซึ่งคนบางคนก็อาจเชื่อหรือถูกหลอกก็ไม่แน่...  

ส่วนคนทั่วไป แม้จะไม่เชื่อหรือหลงงมงายกับเรื่องทำนองนี้... แต่ความรู้สึกยอมรับต่ออำนาจเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ และนี้คือคำตอบว่า ทำไมเรื่องราวทำนองนี้จึงแผ่ไปทั่วโลกและคงอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ 

........ 

อีกอย่างหนึ่ง พระเจ้า ตอนแรกก็มีอยู่เป็นอยู่ในฐานะบุคคล เพศชาย แต่ต่อมาพระเจ้าก็มีอยู่เป็นอยู่ในฐานะอื่นๆ ทำนองว่ามีการแปรความหมายและคำอธิบายไปเรื่อยๆ... ประมาณนั้น

คนดังในตะวันตกจึงมักถูกถามว่า พระเจ้าตามทัศนะของท่านเป็นอย่างไร ?

คงยังจะตอบข้อสงสัยของอาจารย์ไม่ได้ แต่ขอจบแค่นี้.....

เจริญพร 

กราบสวัสดีพระอาจารย์ครับ

ผมกำลังเรียน ป.โท สาขาหลักสูตรและการสอน อาจารย์น่าจะเป็นปรึกษาได้ดี

 

ไม่มีรูป

สุคล ศรีอ่อน

คงจะเป็นที่ปรึกษาไม่ได้เพราะ....

  • สอนตัวเองก็ยังไม่ได้มรรคไม่ได้ผล
  • สอนลูกศิษย์ภาคการศึกษานี้ก็ไม่ได้ดังใจ คงจะเป็นเพราะตัวเองสอนไม่ดี

เข้าไปดูประวัติของท่านแล้ว ไม่แน่ใจว่าจะเป็นพระหรือไม่ ?

...บางครั้ง สิ่งที่สะท้อนออกมา อาจแสดงอัตลักษณ์บางอย่างได้...

อย่างไรก็ตาม ก็ขอเป็นกำลังใจให้ท่านประสบความสำเร็จในการศึกษา

อามนฺตา 

กราบขอบพระคุณครับ

พอจะชัดอยู่ครับ

อย่างน้อยก็ดีกว่าเดิม ครับ

P

ดร. แสวง รวยสูงเนิน

สามคำถามในอภิปรัชญา พักไว้หลายเพลาแล้ว เพราะเร่งเขียน เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร เพื่อจะนำไปพิมพ์งานทำบุญพระเดชพระคุณท่านอาจารย์....

บันทึกชุดก็คงจะทอดระยะไปสักช่วงหนึ่ง.... 

เจริญพร 

น.คีรตะ (น.ศ. ม.ภาคใต้ เดิม)

สวัสดีท่านพระอาจารญ์ที่เคารพ

ยากขอรบกวนถามพระอาจารย์เรื่องปัญหาของความคิดทางอภิปรัชญาเพื่อที่ผมจะนำมาเป็นความรู้และสร้างความเข้าใจให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น ผมคิดว่าอาจารย์เป็นผู้หนึ่งที่สามารถตอบปัญหาอภิปรัชญาในส่วนที่มีความเกี่ยวข้องความสัมพันธ์กับศาสนาเพื่อผมจะนำไปประยุคใช้ในโอกาสต่อๆไป  ยากจะถามว่าศาสนามีจริงหรือไม่หรือมนุษย์คิดเอาเองโดยใช้พื้นฐานจากรูปแบบการคิดจากเรื่องประสบการด้านจริศาสตร์ของตัวเขาเองมาใช้กำหนด  อาจไม่ใช่หรือเป็นปัจจัยอื่นที่มากกว่า  และจากความนี้ หลักมรรค 8 ของพระพุทธเจ้าจะนำมาอธิบายได้มากน้อยแค่ไหนครับ       ขอขอบคุณพระอาจารย์ที่ช่วยตอบคำถามในทุประเด็นของผม หวังว่าคงมีโอกาสได้สนธนากันในโอการต่อไป 

ไม่มีรูป

น.คีรตะ (น.ศ. ม.ภาคใต้ เดิม)

 

ความเห็นที่คุณโยมแสดงไว้ มีคำถามแฝงมาด้วย... เฉพาะประเด็นที่เป็นคำถามคือข้อความว่า... 

.... ยากจะถามว่าศาสนามีจริงหรือไม่หรือมนุษย์คิดเอาเองโดยใช้พื้นฐานจากรูปแบบ การคิดจากเรื่องประสบการด้านจริศาสตร์ของตัวเขาเองมาใช้กำหนด  อาจไม่ใช่หรือเป็นปัจจัยอื่นที่มากกว่า  และจากความนี้ หลักมรรค 8 ของพระพุทธเจ้าจะนำมาอธิบายได้มากน้อยแค่ไหนครับ ....

จากข้อความที่เป็นคำถาม ยังมีประเด็นต้องทำความเข้าใจก่อน คือ

  • ตามความเห็นของคุณโยม ศาสนาคืออะไร ?

นี้ประเด็นแรก.....

....

ประเด็นต่อมาก็คือ ข้อความว่า...

....ยากจะถามว่าศาสนามีจริงหรือไม่หรือมนุษย์คิดเอาเองโดยใช้พื้นฐานจากรูปแบบ การคิดจากเรื่องประสบการด้านจริศาสตร์ของตัวเขาเองมาใช้กำหนด....

เมื่อพิจารณาเฉพาะข้อความตอนนี้ เนื้อหาค่อนข้างกำกวม กล่าวคือ

  •  ศาสนามีจริงหรือไม่....
  • หรือ....
  • มนุษย์คิดเอาเองโดยใช้พื้นฐานจากรูปแบบ...

คำว่า หรือ ใช้เพื่อเชื่อมความในการเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือสองอย่างหรือไม่เลือกเลย) แต่ที่คุณโยมให้ความเห็นมา จะเห็นได้ว่า วรรคแรกเป็นคำถาม แต่วรรคหลังเป็นคล้ายๆ กับการเสนอความเห็น....

อาตมาในฐานะผู้อ่านจึง งง (จริงๆ ) ไม่อาจเข้าใจสิ่งที่ต้องการจะถามหรือจะเสนอความเห็นได้.... 

............

ยังมีประเด็นอื่นอีกที่อาตมาไม่เข้าใจข้อความที่คุณโยมให้ความเห็นมา แต่เท่าที่เล่ามาเล็กน้อย... คิดว่าคุณโยมคงจะพอมองออกว่า คำถามที่ว่ามานั้น สร้างข้อสงสัยให้ผู้อ่านซึ่งจะตอบได้อย่างไร...

ถ้าสนใจจริงจังก็ลองถามมาใหม่ และ ควรจะ ให้ความหมายคำบางคำในคำถามที่จะถามมาก่อนด้วย....

เจริญพร 

 

อ่านตอนนี้แล้วครับ รวมทั้งวิวาทะกับ ดร.แสวงด้วย

รู้สึกว่า ดร.แสวง ให้คุณค่ากับวิธีแสวงหาความรู้แบบเดียวเลย คือ แบบวิทยาศาสคร์

P

นาย สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์

 

  • ต้องให้อาจารย์ ดร.แสวง ท่านมาตอบเอง (.......)

ความเห็นส่วนตัว อาจารย์ ดร.แสวง ท่านน่าจะมีข้อเคลือบแคลงว่า ฝรั่งนักวิทยาศาสตร์ทำไมมาเชื่อเรื่องทำนองนี้ ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อแบบวิทย์ฯ...

เจริญพร

จงใส่แบบเตอรี่ ใส่น้ำมันเครื่อง เติมลม ตามที่ผู้ผลิตแนะนำเถิด.จะใช้งานถูกต้องมีประสิทธิภาพ ฉันใดฉันนั้น ฉะนั้น มนุษย์จงกิน ดื่ม เสพ ไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่เสพ ตามเสป็คที่ผู้สร้างมนุษย์กำหนดมาเถิด จะปลอดภัยกับมนุษย์เอง. และมีผู้เดียวที่อ้างหลักฐานอย่างเป็นทางการ พร้อมพยานล้นโลกว่า คือผู้สร้างมนุษย์และธรรมชาติมา.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท