193 ทัศนะการพัฒนาชนบทในสายตาผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น


ในประเทศญี่ปุ่นนั้นไม่มี NGO ทำงานพัฒนาชนบท มีแต่ราชการรัฐบาลและชาวบ้านเท่านั้น ชาวบ้านญี่ปุ่นสร้างระบบขึ้นมาเองโดยระบบนี้จะไปคอยดูว่าข้าราชการคนไหนทำงานไม่ดีก็จะตักเตือนให้ปรับปรุงใหม่สังคมไทยทำแบบนี้ได้ไหม..? 

ทำไมข้าราชการไทยออกทำงานราชการพัฒนาชนบทต้องมีเบี้ยเลี้ยง เป็นไปได้ไหมที่เบี้ยเลี้ยงจะให้รวมอยู่ในเงินเดือนไปเลย...ที่ญี่ปุ่นข้าราชการไม่มีเบี้ยเลี้ยง.. 

ตอนแรกๆ ผมดีใจที่รัฐบาลไทยมีแนวความคิดสร้าง อบต.ขึ้นมา เพื่อให้เป็นรัฐบาลท้องถิ่น  แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้วนะ ผมผิดหวัง...อบต.ก็กลายเป็นหน่วยหนึ่งของระบบราชการไป.. 

นี่คือส่วนหนึ่งของประเด็นสนทนาระหว่างผู้บันทึกกับ ดร.ชินอิชิ ชิเกโตมิ Senior Research Fellow แห่งสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจญี่ปุ่น IDE ภายใต้ JETRO เขาแวะมาเยี่ยมที่บ้านและคุยกัน คุณชินอิชิพูดไทยคล่องปรือ เพราะอยู่เมืองไทยนาน มีภรรยาเป็นคนไทย แต่ได้กลับไปรับราชการที่ญี่ปุ่นนานแล้วเหมือนกัน  

เขากำลังเก็บรวบรวมข้อมูลงานพัฒนาของเมืองไทยยุคแรกเพื่อดูประเด็นต่างๆในแง่พัฒนาการของงานพัฒนาชนบท น่าสนใจที่คุณ ชินอิชิ เป็นผู้เชี่ยวชาญชนบทญี่ปุ่นมาก่อน ก่อนที่จะมาศึกษาชนบทไทย ระหว่างการพูดคุยเขาจึงมักเปรียบเทียบกับชนบทญี่ปุ่นเสมอ 

มีประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งที่เขาถามผมว่า คุณคิดว่าการพัฒนาชนบทไทยที่แท้จริงน่าที่จะเริ่มจากที่ไหน ?  ประเด็นนี้กว้างขวางมาก และมีหลายมุมมอง แม้ตัวผู้บันทึกเองก็มีหลายแนวคิดบนฐานที่ต่างกัน แต่ก็ตอบไปว่าจากประสบการณ์ตัวเองนั้นจำเจกับงานพัฒนาสายหลัก คือ หน่วยงานราชการเข้าไปจัดตั้งกลุ่มเฉพาะกิจขึ้นมามากมาย  ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชนบทจะต้องเข้าไปตั้งกลุ่ม แต่ก็ไม่รุ่งสักกลุ่ม อย่างดีก็มีกิจกรรมต่อเนื่องบ้าง นานๆจะได้ยินกลุ่มนั้นกลุ่มนี้เข้มแข็งขึ้นมา  เมื่อผมเข้าไปศึกษาวิเคราะห์ก็เห็นว่า ทุกกลุ่มล้วนมีประโยชน์ต่อวิถีชีวิต แต่แตกต่างกันตามเงื่อนไขของหมู่บ้านและครอบครัวในหมู่บ้าน ลักษณะระบบนิเวศวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ ทำไมเราไม่รวมคณะกรรมการกลุ่มทั้งหมดเข้ามาเป็นคณะกรรมการงานพัฒนาหมู่บ้านของเราในลักษณะบูรณาการเบ็ดเสร็จ หน่วยงานไหนเข้ามาก็ต้องผ่านคณะกรรมการนี้ เพื่อใคร่ตรองให้เป็นระบบและสอดคล้องกับวิถีมากขึ้น และหมู่บ้านก็มีสิทธิที่จะรับหรือปฏิเสธ หรือแก้ไขความช่วยเหลือจากภายนอกไม่ว่าหน่วยงานราชการไหนก็ตาม และ.....

 ช่างไปตรงกับประสบการณ์ของ ชินอิชิ เสียนี่กะไร เขากล่าวว่า งานพัฒนาที่เหมาะสมควรเริ่มจากหมู่บ้านเอง เหมือนหมู่บ้านคือประเทศต้องมีรัฐบาลหมู่บ้านอะไรทำนองนั้น โดยแสวงหาความร่วมมือภายในหมู่บ้านด้วยระบบวัฒนธรรมชุมชน แล้วค้นหาปัญหา อุปสรรค และสรุปหาแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านด้วยตัวเอง หน่วยงานไหนเข้ามาก็ต้องมาคุยกับคณะรัฐบาลหมู่บ้านนี้ มิใช่ใช้นโยบายหน่วยงานมาสั่งให้ทำโน่นทำนี่   แล้วก็จากไป กลับมาอีกทีก็สั่งให้ทำโน่นทำนี่แล้วช่วยพูดดีดีต้อนรับนายด้วย อันหลังนี่ผมเติมเองครับ 

ไม่ใช่เรื่องใหม่ แนวคิดประชาคมก็คล้ายกัน แนวคิดสภาหมู่บ้านก็คล้ายกัน แต่เริ่มที่ต่างกัน ....ผมคุยกับ ชินอิชิ อยู่เกือบสามชั่วโมง ทำให้เราทึ่งกับการทำงานของนักวิชาการญี่ปุ่นต่อการพัฒนาชนบทไทย ด้วยความบริสุทธ์ก็เป็นเรื่องทางวิชาการทั่วไป  อีกมุมหนึ่งท่านทราบไหมว่าพัฒนาการของซาวอเบ้าท์นั้นมาจาก ลักษณะการบริโภคเสียงเพลงของชาวผิวสีของอเมริกาในช่วงที่ประธานบริษัทโซนี่นั่งรถเข้าไปเติมน้ำมันแล้วเห็นชาวผิวสีแบกทรายซิสเตอร์เครื่องเบ่อเร่อแนบหูไปด้วยเต้นเบาๆไปด้วยและเติมน้ำมันรถ  

ประธานโซนี่แปรพฤติกรรมคนอย่างนี้ออกเป็นซาวอะเบาท์ขนาดเล็กกะทัดรัดมีสายเสียบ เท่ห์ชะมัดเลย ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า งานด้านพัฒนาของเมืองไทยที่เขามาศึกษานี้ อย่างน้อยที่สุดก็รู้จุดอ่อนของสังคมไทย รู้จักข้อเท็จจริงของสังคมชนบทไทย หาก JBIC หรือ JICA จะปล่อยเงินกู้ให้ไทยก็สามารถมีส่วนกำหนด หรือยื่นเงื่อนไขได้ว่าการพัฒนาที่แท้จริงน่าที่จะเป็นอย่างไร   

ในทางตรงข้ามการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองสังคมบริโภคแบบไทยๆนั้นน่าที่จะเป็นลักษณะอย่างไร จึงจะโดนใจคนไทยที่สุด  ซึ่งผมไม่อยากคิดในแง่นี้หรอก เชื่อมั่นว่าชินอิชิ จะเป็นนักวิชาการจริงๆที่ต้องการสร้างงานทางวิชาการขึ้นมาน่ะครับ  อย่างไรก็ตามก็ขอบคุณ ดร.ชินอิชิ ที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ

หมายเลขบันทึก: 130804เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2007 20:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)
สวัสดีครับ
     เข้ามาอ่านติดตามด้วยความสนใจครับ .. เคยไปอยู่ญี่ปุ่นมา 18 เดือนเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว และเพิ่งกลับจาก 2 Trip ที่เวียดนามกลาง และ ใต้ .. พบเห็นความคล้ายของ 2 ชาติ คือคนเขามีวินัย มุ่งมั่น ทำอะไรทำจริง .. ส่วนของเรา ไม่ว่าเรื่องใด ล้วน ....
    เอาเถอะ ลุ้นกันได้แค่ไหน  อย่างไรก็ทำกันต่อๆไปนะครับ .. แหวกว่ายกันต่อไปเพื่อไม่ให้จมไปมากกว่าที่เป็นอยู่

สวัสดีครับอาจารย์ Handy

  • ผมตามไปเก็บข้อมูลของอาจารย์ตอนไปเวียตนามอยู่ครับ
  • เพราะผมกำลังจะพาครอบครัวและเพื่อนร่วมงานไปเที่ยวช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ อีกรอบ ครับ
  • ก็อย่างอาจารย์ว่าแหละเราคงต้องช่วยกันต่อไป เมื่อรู้ เมื่อเห็น ก็ทำในส่วนที่รับผิดชอบไปให้ดีที่สุดก่อน แล้วขยายวงไปครับอาจารย์

สวัสดีครับท่าน บางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

  • ว้า..!! จะไปเวียดนามต้นตุลา นี้แล้วหรือครับ  ครูอ้อยชวนไปช่วงปิดเทอมใหญ่โน่นแนะ
  • ท่านบางทรายต้องลดส่วนเกินหน่อยนะครับ  เดี๋ยวลงอุโมงค์ อย่างท่านพี่ Handy ไม่ได้
  • คุยกับคนญี่ปุ่นนี่ เขาพูดภาษาบ้านเราได้ไหมครับ

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ ท่าน P สะ-มะ-นึ-กะ

  • เรื่องไปเวียตนามจองคิวกันมานานแล้วครับ คนนั้นว่าง คนนี้ติด  คนนี้ว่าง คนโน้นติดกว่าจะมาลงกันได้เกือบไม่ได้ไปกันแล้ว
  • คนญี่ปุ่นพูดไทยครับ  เขามีภรรยาเป็นคนไทยครับ
  • พุงผมน่ะลดได้ แต่มันจะกลับมาอีกโดยเร็ว อิ อิ
  • สวัสดีคะพี่บางทราย มาสวัสดีและตามอ่านคะ เคยไปที่ญี่ปุ่นได้เห็นการทำงานของเขาในบางส่วน เขาจริงจังกับการพัฒนาประเทศเขามาก มีระเบียบวินัย เช่นการเข้าคิวซื้อของ ขึ้นรถ ฯลฯ บางที่คนทำงานของเขาจะมีกลุ่มอายุวัยรุ่นทั้งนั้น แต่เขาสามารถทำงานใหญ่ๆได้สำเร็จ ทุกคนมีหน้าที่และรู้หน้าที่ของตัวเอง ส่วนด้านลบของเขาก็คงมี แต่การพัฒนาประเทศคนในชาติของเขาตระหนักกันมาก
  • เขียนเล่าจากประสบการณ์ที่พบเห็น หนูรักประเทศไทยสุดหัวใจคะ
  • ผมเคยทำวิจัยเรื่อง อบต.มาบ้างนิดหน่อยนะครับ ทำกับนักวิชาการชาวเยอรมัน (Dr. Hans D. Bechstedt) ก็สนุกมาก เพราะเป็นนักวิจัยที่ใจกว้างเปิดรับข้อมูลโต้แย้งจากภาคสนาม ทั้งๆที่ท่านอยู่ในวงการนานาชาติมากว่าสามสิบปี แต่ให้ความกันเองกับผมมาก ทำงานแบบ "เพื่อนร่วมงาน" วัฒนธรรมการทำงานวิจัยและพัฒนาแบบ "เคียงบ่าเคียงไหล่"อย่างนี้ บ้านเราไม่ค่อยจะคุ้นนะครับ ผมว่าเลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบงานไม่ก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นงานสายเอ็นจีโอรวมถึงระบบงานราชการด้วย คือมันเป็นความสัมพันธ์แนวดิ่งมากเกินไป
  • ในพื้นที่ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอนนี่ อบต. มีทั้งด้านที่พยายามจะแปลงร่างเป็นหน่วยราชการ และด้านที่เป็นพื้นที่แสดงความเป็นตัวตนทางชาติพันธุ์นะครับ เช่น ผันเงินของรัฐ ไปทำเรื่องป่าชุมชน หรือสนับสนุนประเพณีพื้นบ้านต่างๆ ให้ชาวเขามีพื้นที่ทางสังคมด้วย
  • ในสายตาผม มันฟันธงลงไปลำบากครับว่า อบต.เป็นอย่างไร คงต้องดูบริบทท้องถิ่นนำมาประกอบกับบริบทภาพรวมของประเทศด้วย อันนี้เป็นจุดโหว่ของนักวิชาการที่อิงฐานคิดเศรษฐศาสตร์นะครับ คือมองไม่เห็นความหลากหลายซับซ้อนของอำนาจภายใน อบต. ก็เลยไม่เห็น "โอกาส" ที่ซ่อนอยู่
  • อย่างไรเรื่องโครงสร้างและระบบ ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องปรับแก้ อันนี้ผมเห็นด้วยครับ
  • ผมยังอยากให้กำลังใจกับข้าราชการนะครับ อย่างน้อย ประเทศของเราก็ขาดกำลังของพวกท่านไม่ได้ ถึงระบบมันห่วยแตกอย่างไร ถ้ายังมีข้าราชการคนดีที่รู้เท่าทัน และพยายามเป็นปลาทวนน้ำ (อยู่ได้) ท่านก็ชนะใจชาวบ้านไประดับหนึ่งแล้วล่ะครับ

สวัสดีครับน้องP MOO

  • ใช่ครับคนญี่ปุ่นขยัน บ้างาน มิเช่นนั้นเขาไม่เจริญเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ หนึ่งใน 8 ของโลก
  • ห่างไกลกับเรา  อันนี้เราเรียนรู้จากเขามาก จำได้ว่าเมื่อตอนเด็กๆผู้แทนประเทศเขาเอาเงินมาให้ประเทสไทยเพราะเขาแพ้สงครามต้องเอาเงินมาใช้ คล้ายๆว่าต้องเอาเงินมาบูรณะประเทศที่เขาบุกไปทำสงคราม
  • แต่วันนี้เราเป็นหนี้เขา เราต้องกู้เขา เราต้องพึ่งเศรษฐกิจเขา มันคนละเรื่องเลย  มันมีอะไรหนอที่แตกต่างกัน เราจะทำของเราให้เหมือนเขา หรือดีกว่าเขาได้ไหม ......

 

สวัสดีครับน้องยอดดอย

  • เออ เพื่อนรุ่นน้องพี่ที่ทำงานด้วยกัน ก็เป็นรุ่นพี่ยอดดอยแหละ เขาเป็นคนแม่แต๋ง เจียงใหม่เอานี่แหละ บอกหากมีโอกาสอยากรู้จักและแลกเปลี่ยนด้วย
  • เขาชื่อ paleeyon ใน blog นี้นะครับ ว่างก็ลองแวะไปดูครับ
  • เออ..เห็นยอดดอยพูดถึงการทำงานของ ดร.ชาวเยอรมันท่านนั้น พี่รู้สึกว่าดีนะ และเท่าที่ทราบเยอรมันเป็นอีกประเทสหนึ่งที่น่าสนใจเพราะเขาเป็นประเทศที่ศึกษา ก้าวหน้า และพัฒนามาก พลเมืองเขาก็มีคุณภาพมาก ดูได้จากการเล่นฟุตบอล การทำงานด้วย พี่ก็มีประสบการณ์กับชาวเยอรมัน คนที่บ้านพี่ก็ไปเรียนที่เยอรมันมา เรารู้ว่าชอบมากกว่าหลายชาติ  เป็นความรู้สึกส่วนตัวนะครับ
  • หลักการที่น้องกล่าวถึงเห็นด้วยว่าความสัมพันธ์ในทางดี่งนั้นอาจจะไม่เหมาะสมกับลักษณะการทำงานเฉพาะบางเรื่อง
  • พี่ก็เห็นด้วยว่ามี อบต.หลายแห่งที่ดูดี และมีความหวัง และเพื่อนๆ น้องๆที่ทำงานพัฒนาก็ก้าวเข้าไปอยู่ใน อบต.มากเหมือนกัน  แต่โดยรวมแล้วมีพ่อค้านักธุรกิจมากมายที่ก้าวเข้าไปหวังบริหารงบประมาณ เหมือนกับเทศบาลเมืองใหญ่ๆ มีแต่นักธุรกิจทั้งน้านนน  แล้วก็ ขุดๆ ถมๆ สร้างในสิ่งที่ไม่สมควร
  • คงมีโอกาสพบกันบ้างนะครับน้องยอดดอย

เพิ่มเติมครับน้องยอดดอย

  • พี่เห็นด้วยว่าระบบราชการต้องอยู่และเป็นฐานหลักของการพัฒนาประเทศ
  • แต่ต้องปรับมากมายหลายอย่าง  ที่ว่ากำลังปฏิรูประบบราชการนี้ก็เป็นก้าวแรกๆของการปรับเปลี่ยน  เพราะกฏ ระเบียบ ข้อบังคับมันรุงรังมาก ไม่เหมาะ ไม่สอดคล้องกับการนำมาใช้กับงานพัฒนาที่ต้องการรูปแบบการทำงานที่ไม่มีกรอบแบบราชการปัจจุบันมาทำงาน
  • ส่วนตัวผมก็เคยทำงานวิจัยกับอาจารย์ชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งครับ เป็นผู้เชี่ยวชาญชาวเขาเผ่าอิ้วเมี่ยนหรือเย้า ท่านชื่อ Yoshino Akira (ขออนุญาตเอ่ยนาม)เป็นนักมานุษยวิทยาที่ลงลึกกับชุมชนอีกท่าน
  • ส่วนตัวผมก็เลยชื่นชมนักวิชาการต่างประเทศตั้งญี่ปุ่นและเยอรมันที่ผมเคยทำงานด้วยนะครับ เพราะเจอมาแต่ผู้ใหญ่ใจดี และที่น่านับถือคือเป็นคนมุ่งมั่น ขยัน มีคุณธรรม (แต่ก็ชื่นชมอาจารย์เมืองไทยหลายๆท่านเช่นกันครับ)
  • ผมจำคำพูดของอาจารย์ ดร. อภิญญา เฟื่องฟูกิจการ(ขออนุญาตเอ่ยนาม)ที่สอนผมสมัย ป.โท พัฒนาสังคม มช. ว่าถึงอาจารย์รุ่นเก่าๆอาจจะความคิดดูเหมือนไม่ทันสมัย แต่เราควรทำความเข้าใจกับบริบทที่แวดล้อมให้เขาเป็นอย่างนั้น โดยใช้ท่านเหล่านั้น เป็นแบบอย่างในการเรียนรู้ที่อุตสาหะ
  • และการจะวิพากษ์วิจารณ์พาดพิงถึงท่านก็ควรทำด้วยความเคารพด้วย เพราะอย่างน้อย หากไม่มีท่านเหล่านั้น งานวิชาการที่เราทำอยู่อาจจะไม่รุดหน้ามาถึงวันนี้ อย่างน้อยท่านก็อึดกว่าเรา คิดดูเถอะว่า ในสมัยที่บนดอย ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีสาธารณูปโภค ท่านยังดั้นด้นลงไปคลุกคลีได้ อันนี้คนรุ่นใหม่อย่างผมต้องดูแบบอย่างความอดทนเหมือนกัน
  • ขอบคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผมจะลองเข้าไปทักทายกับพี่ paleeyon และหวังว่าคงได้พบกันสักวันเช่นกันครับ

ได้ความรู้มากค่ะทั้งที่พี่บางทรายเขียนเล่าและที่น้องยอดดอยเพิ่มเติมมา

ประสบการณ์ของตนเองก็รู้สึกว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนละเอียด ลุ่มลึก เมื่อต้องการศึกษาอะไรก็ทำอย่างตั้งใจ และพยายามทำความเข้าใจ เช่นการศึกษาเปรียบเทียบบทบาทของพระไทยในการพัฒนาท้องถิ่นและพระของญี่ปุ่นเอง คิดว่าเขาเป็นคนมองจับประเด็นของปัญหาได้ตรงจุด

ระบบราชการนั้นต้องคงอยู่แต่เห็นว่าจะปฏิรูป พูดมาหลายปี ยังไปไม่ถึงไหน กลัวคนที่ตั้งใจทำงานจริงๆจะอยู่ไม่ได้ คนที่อยู่ก็อยู่ด้วยการทำงานเต็มที่แต่แบบรักษาตัวให้รอดปลอดภัยค่ะ

สวัสดีน้องยอดดอย

  • ภรรยาพี่ทำงานกับผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นหลายคนหลายหน่วยงาน ที่งที่สุดกับการทำงานของเขาเหล่านั้น ภรรยาพี่บอกว่า โห ละเอียดมาก ถึงมากที่สุด ไม่เคยเห็นชาติไหนละเอียดเท่านี้เลย บทความเรา หรืองานเรา เขาจะอ่านทุกตัวอักษรและขีดเส้นใต้เพื่อมาถามต่อ ..? และลึกซึ้งต่อความหมายที่เราเขียนลงไป เรียกว่า เขาอ่านแบบลึก มากว่าผ่านๆไป เทียบกับคนไทย ห่างกันไกล มิได้ยกต่างชาติแล้วดูถูกพี่ไทยด้วยกันนะครับ
  • ภรรยาพี่อธิบายต่อว่า รายงานฉบับเดียวกันคนไทยเกือบจะไม่มีคำถามหรืออภิปรายเลย แต่ญี่ปุ่นนี่คุยกันได้เป็นชั่วโมง
  • เป็นแบบอย่างให้เราสำรวจตัวเองครับ นึกเลยไปถึงเด็กรุ่นใหม่ออกมาพร้อมกับอะไรก็ไม่รู้..เอ้าว่ากันไป
  • เห็นด้วยกับความเห็นต่ออาจารย์ท่านเก่า เพราะมีท่านจึงมีวิชาการที่ก้าวหน้าวันนี้ พี่จึงชอบเก็บงานเก่าๆมาอ่านเหมือนกันครับ ไม่ว่า บางชัน ดอนแดง ของพอตเตอร์ เอมบรี... ของคนไทยก็มี ดร.สนิท สมัครการ, ดร.พัทยา  สายหู แม้แต่ท่าน นฤจร ของ มช. อีกหลายท่าน..

สวัสดีครับน้อง P  คุณนายดอกเตอร์

  • ชอบ คนที่อยู่ก็อยู่ด้วยการทำงานเต็มที่แต่แบบรักษาตัวให้รอดปลอดภัยค่ะ   เป็นเช่นนี้จริงๆ
  • เพื่อนรุ่นน้องเป็นข้าราชการเติบโตมาก เคยคลุกคลีกันมาจึงรู้ใจซึ่งกันและกัน ก็บอกว่า แค่รักษาตัวให้รอดก็หนักหนาเอาการแล้ว ได้นายดีก็เบาใจ  นายมาใหม่หากเป็นแบบเหลี่ยมเต็มใบหน้าละก็ ต้องรักษาเนื้อรักษาตัวจนอึดอัดร่ำๆจะหนีออกไปให้พ้นซะ แต่ก็อดทนเพราะก้าวมาไกลมากแล้ว
  • ปากก็บ่นไป มือก็ทำงานไปนะพวกเรานะ 

สวัสดีครับพี่บางทราย

                 "ตราบใดที่เรายังพัฒนาชนบทอยู่  ก็แสดงให้เห็นได้ว่า  ตราบนั้นชนบทท้องถิ่นยังไม่พัฒนา"

                เราจึงต้องรู้ให้ได้ว่าชนบทยังไม่พัฒนาเนื่องเพราะอะไรล่ะครับ

               มุมมองของนักพัฒนาก็คือ

               1.เศรษฐกิจ  2. การเมือง ปกครอง 3. สังคม  แล้วก็แตกแขนงแนวทางออกไป   แต่ที่เน้นมากก็คือเศรษฐกิจ เพราะเข้าใจว่าการพัฒนาคือความมั่งคั่ง

               มันก็ตรงกับมุมมองของชาวบ้านอีกที่มีมาตลอดว่า

              1. น้ำไหล 2. ไฟสว่าง 3. ทางดี   ก็เรื่องเศรษฐกิจกับโครงสร้างพื้นฐานน่ะครับ 

              ตอนหลัง ๆ ก็เลยมาสรุปได้ว่ายิ่งเราพัฒนาในทางเศรษฐกิจไปแบบไหน เราก็ทางตัน เพราะ ส่งเสริมอาชีพก็ไม่พ้นเรื่องเกษตร  แล้วสินค้ามันก็ซ้ำ แล้วก็ไม่รอด  

                ก็เลยหันมามองดูต้นทุนที่แต่ละท้องถิ่นมีอยู่ ให้มากขึ้นแล้วพัฒนาจากสิ่งที่มีสิ่งที่ถนัด  บางแห่งอาจมีปลามากก็ทำเรื่องแปลรูปปลา  บางที่มีแหล่งท่องเที่ยวก็พัฒนาทางธุรกิจบริการ 

               ที่สำคัญต้องเข้าใจกันใหม่ทั้งนักพัฒนาและชาวบ้านว่า  การพัฒนาไม่ใช่เงิน  แต่เป็นเรื่องของความสุข เรื่องความพอเพียงจึงเข้ามาเป็นคำตอบหนึ่ง   แต่ก็ต้องต่อสู้กับกระแสหลักที่ฝังหัวชาวบ้านมานานว่า  การพัฒนาคืออาชีพเสริม คือความร่ำรวย

             ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับน้อง P  mr. สุมิตรชัย คำเขาแดง

  • แหม คนรุ่นใหม่นี่แนวคิดน่าสนใจครับ
  • เห็นด้วยครับต่อสิ่งที่น้องกล่าวมาทั้งหมด
  • มีเพียงไม่กี่แนวทางเท่านั้นที่ชนบทจะลืมตาอ้าปากได้ อย่างที่น้องกล่าวถึงก็ชัดเจน ดีแล้ว
  • เหลือแต่ว่าทำอย่างไรให้คนชนบท และองค์ประกอบอื่นๆท่ส่งผลต่อชนบทปรับเปลี่ยนวิธีคิดและทำให้สิ่งที่กล่าวมา ยากจริงๆ
  • แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ครับ
  • ดีมากครับน้อง  mr. สุมิตรชัย คำเขาแดง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท