BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สืบ นาคะเสถียร กับการกระทำเหนือหน้าที่ ๘


สืบ นาคะเสถียร กับการกระทำเหนือหน้าที่ ๘

พุทธจริยศาสตร์ไม่ได้มีกรอบความคิดในเรื่อง หน้าที่ หรือ เหนือหน้าที่ ตามนัยแห่งจริยปรัชญา เพราะคำสอนทางพุทธศาสนามีกรอบความคิดเป็นระบบที่สมบูรณ์ในตัวเอง ซึ่งผู้เขียนได้เล่าประเด็นนี้ไว้บ้างแล้วที่ การจัดฯ ...๗ ซึ่งผู้สนใจอาจเลองเข้าไปดูเพื่อเทียบเคียงได้... ในบันทึกนี้จะนำเสนอเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวของกับการปลิดชีพตัวเองของ สืบ นาคะเสถียร เท่านั้น

คำสอนทางพุทธศาสนาเชื่อว่า คนเราต้องเวียนว่ายตายเกิดจนกว่าจะหมดเวรหมดกรรม ดังนั้น การเสียสละชีวิตตัวเอง จึงมิใช่เรื่องสำคัญนัก เมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งสมควร ดังพระคาถาในมหาสุตโสมชาตก (สตฺต ขุ. ชาตกํ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘) บทหนึ่งว่า

  • จเช ธนํ องฺควรสฺส เหตุ
  • องฺคํ จเช ชีวิตํ รกฺขมาโน
  • องฺคํ ธนํ ชีวิตญฺจาปิ
  • สพฺพํ จเช นโร ธมฺมมนุสฺสรนฺโต ฯ
  • นระพึงสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งอวัยวะที่สำคัญ
  • เมื่อจะรักษาชีวิต พึงสละอวัยวะ
  • เมื่อระลึกถึงธรรม ก็พึงสละทุกสิ่งทุกอย่าง
  • กล่าวคือ จะเป็นอวัยวะ ทรัพย์ และแม้จะเป็นชีวิตก็ตาม ฯ

ตามพระคาถานี้ คำที่่จะต้องตีความอีกครั้งก็คือ ธรรม ... ซึ่งคำนี้มีความหมายหลากหลาย บางครั้งหมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า บางครั้งหมายถึงความดีความถูกต้องทั่วไป หรือบางครั้งก็หมายถึงพระนิพพานอันเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา เป็นต้น

.............

ตามนัยพระคาถานี้ เมื่อนำมาพิจารณาพฤติกรรมของสืบ จะเห็นได้ว่า การที่สืบปลิดชีพตัวเอง จะถูกต้องหรือเหมาะสมหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการระลึกของสืบ กล่าวคือ ความคิดซึ่งเป็นความมุ่งหวังของสืบในขณะนั้น ก่อนที่เขาจะปลิดชีพตัวเอง...

ถ้าสืบมีความมุ่งหวังว่า การตายของเขาทำนองนั้นจะก่อให้เกิดการตื่นตัวในการรักษาป่าห้วยขาแข้ง และจะทำให้ป่าห้วยขาแข้งดำรงอยู่ต่อไปได้ด้วยผลจากการตายของเขา... และความมุ่งหวังในการรักษาป่าเป็นสิ่งที่ดี ถูกต้อง หรือเหมาะสม กล่าวคือ เป็นธรรม ... การเสียสละของเขาในครั้งนั้นก็จะเป็นสิ่งที่ดี ถูกต้อง และเหมาะสม กล่าวคือ เป็นธรรม นั่นเอง

แต่ถ้าสืบมีความมุ่งหวังเป็นอย่างอื่น ซึ่งไม่ถูกต้องเหมาะสม กล่าวคือไม่เป็นธรรม การเสียสละของเขาในครั้งนั้น ก็จะไม่ถูกต้องเหมาะสม กล่าวคือ ม่เป็นธรรม ... ประมาณนี้

ประเด็นนี้ จะเห็นว่า การอธิบายทำนองนี้คล้ายคลึงกับแนวคิด จริยศาสตร์คุณธรรม ซึ่งผู้เขียนได้เล่าไว้บ้างแล้วใน สืบ ... ๗ ซึ่งผู้สนใจอาจย้อนไปดูอีกครั้งเพื่อทบทวนได้ ... และที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะแนวคิดจริยศาสตร์คุณธรรม ใกล้เคียงกับจริยศาสตร์ทางศาสนานั่นเอง (ใกล้ชิดกับศาสนาทั่วๆ ไป ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นพระพุทธศาสนา)

..................

อีกนัยหนึ่ง การยอมเสียสละชีวิตตัวเองเพื่อรักษาธรรม หรือเพื่อบำเพ็ญบารมีธรรมนี้ ในนิทานชาดกก็ปรากฎอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องนกแขกเต้าพระโพธิสัตว์กระโดดเข้ากองไฟเพื่ออุทิศตัวเองเป็นทานต่อฤาษี จัดเป็นทานบารมีระดับสูง....

ผู้เขียนไม่มีเวลาค้นนิทานชาดกเรื่องนี้มาเล่าให้ละเอียดได้ ผู้สนใจลองไปค้นเอาเอง หรือตามบทเพลงนิทานชาดกของ พร ภิรมย์ ก็มีนิทานเรื่องนี้อยู่ด้วย ผู้ที่ผ่านพ้นกาลฝนมานานและชอบฟังเพลงแนวนี้ อาจพอจะจำได้...

....... 

สรุปว่า การยอมปลิดชีพตัวเองของสืบ นาคะเสถียร อาจไม่ผิด หากเขาทำไปเพราะเคารพธรรม ... ส่วนประเด็นว่าเป็น หน้าที่ หรือ เหนือหน้าที่ นั้น พุทธจริยศาสตร์มิได้เน้นประเด็นนี้โดยเฉพาะ ดังที่เคยเล่าไว้แล้วที่ การจัด... ๗....

หมายเหตุ : คาถาชาดกและอาคตสถาน ผู้เขียนได้รับความเอื้อเฟื้อจากท่านมหาสุพจน์ปิยมิตรของผู้เขียนเป็นผู้ช่วยค้นหาให้ จึงขออนุโมทนาในเวยยาวัจจกรณทานไว้ในที่นี้ด้วย 

หมายเลขบันทึก: 130101เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2007 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 00:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พระอาจารย์เคยบ่นเรื่องการบ่น ผมจึงไม่ขอบ่นนะครับ แต่ขอตั้งคำถามแทน

"ความถูกต้อง" มีลักษณะสมบูรณ์ในตัวเอง หรือเป็นคำย่อมาจาก "คิดว่าถูกต้อง" ครับ?

ถ้ามีลักษณะสมบูรณ์ในตัวเอง ก็ฟังธงได้ง่ายๆ ไม่เกี่ยวกับว่าใครจะคิดอย่างไร? แต่ถ้าเป็นไปเพราะความคิด-แบบแผน-การอบรมเลี้ยงดู ใครจะบอกได้ว่าสิ่งที่คิดว่าถูกนั้น ถูกจริงหรือไม่?

ทั้งสองกรณี ความคิดจากสังคมรอบข้าง สามารถเปลี่ยนแปลงความถูกต้องได้หรือไม่? เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้องหรือไม่?

P

Conductor

คำถามนี้ อธิบายตามทฤษฎีไม่ยาก...

ความถูกต้อง ถ้าเราถือว่ามีความสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่ขึ้นกับการตัดสินของเราหรือใครๆ เป็นต้น ... ทำนองนี้ ภาษาปรัชญาเรียกว่า ปรวิสัย หรือ วัตถุวิสัย (objective) ....(1)

แต่ถ้าเรา คิดว่าถูกต้อง นั่นคือ ความถูกต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของเราหรือสังคม เป็นต้น ... ทำนองนี้ภาษาปรัชญาเรียกว่า จิตวิสัย หรือ อัตตวิสัย (subjective).... (2)

...... 

แนวคิดทางจริยปรัชญาสูงสุดก็เถียงกันเรื่องนี้เอง ซึ่งปัจจุบัน ฝ่าย (1) ได้แก่ ลัทธิคานต์ และประโยชน์นิยม ... ส่วน ฝ่าย (2) ได้แก่ จริยศาสตร์คุณธรรม .... ซึ่งอาตมาได้นำเสนอไว้ในบล็อก การกระทำเหนือหน้าที่ ไว้หลายนัยแล้ว...

แบบแผนการอบรมเลี้ยงดูเพื่อให้เป็น คนดี หรือ คนดำเนินชีวิตได้ ถูกต้อง .... จัดอยู่ในแนวคิดจริยศาสตร์คุณธรรม ซึ่งตรงกับคำว่า คิดว่าถูกต้อง ...

.....

ส่วนข้อความว่า.. เพราะคำสอนทางพุทธศาสนามีกรอบความคิดเป็นระบบที่สมบูรณ์ในตัวเอง ...ในบันทึกนี้ ไม่ได้มุ่งหมายว่าเป็น ปรวิสัย ตามนัยข้างต้น

ขยายความว่า จริยศาสตร์เชิงศาสนาทั้งหมด (รวมพระพุทธศาสนาด้วย) จะมีแนวคิดอภิปรัชญา (เรื่องความจริง) ญาณวิทยา (เรื่องความรู้) และอื่นๆ สอดคล้องเป็นระบบของศาสนานั้นๆ ... และนี้คือ ประเด็นที่บอกว่า ระบบที่สมบูรณ์ในตัวเอง ... ซึ่งจริยปรัชญาจะขาดประเด็นนี้

 ......

ส่วนคำถามอื่นๆ ที่ตามมานั้นก็ตอบได้หลายนัย และเมื่อถกเถียงกันไปก็จะนำไปสู่ยอดสุดของข้อถกเถียงเบื้องต้น กล่าวคือ ความถูกต้อง (ปรวิสัย)หรือ คิดว่าถูกต้อง (จิตวิสัย)...

อนึ่ง สำหรับความเห็นปัจจุบัน ยอมรับกันว่า จะต้องประกอบทั้งสองอย่างจึงจะเพียงพอต่อ หลักศีลธรรม ... 

ไม่แน่ใจว่า คุณโยม  Conductor  ถามตรงคำตอบหรือไม่ (.........)

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท