BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

การจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๗


การจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๗

ผู้เขียนไม่เคยเจอว่า มีคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาได้อธิบายเรื่องการจัดประเภทไว้บ้างหรือไม่ แต่พระคันถรจนาจารย์ (เป็นชื่อเรียกรวมๆ หมายถึง อาจารย์ผู้แ่ต่งคัมภีร์) ได้จัดประเภทนัยต่างๆ ไว้มากมาย...   ตัวอย่างก็ใน คัมภร์สมันตปสาทิกา ได้จัดประเภทอาบัติไว้หลากหลาย เช่น

  • อาบัติบางอย่างต้องเฉพาะข้างขึ้น
  • อาบัติบางอย่างต้องเฉพาะข้างแรม
  • อาบัติบางอย่างต้องทั้งข้างขึ้นและข้างแรม

  • อาบัติบางอย่างพระอาคันตุกะ(ผู้มาเยือน)ต้อง พระอาวาสิกะ(ผู้เจ้าถิ่น)ไม่ต้อง
  • อาบัติบางอย่างพระอาคันตุกะไม่ต้อง พระอาวาสิกะต้อง
  • อาบัติบางอย่างต้องทั้งพระอาคันตุกะและพระอาวาสิกะ

.....

ใน คัมภีร์วิสุทธิมรรค ก็ได้จัดประเภทศีลไว้หลากหลาย เข่น

  • จุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล
  • โลกาธิปเตยยศีล อัตตาธิปเตยยศีล และธัมมาธิปเตยยศีล
  • หีนศีล มัชฌิมศีล ปณีตศีล
  • ฯลฯ

......

ส่วนใน พระอภิธรรมปิฎก นั้น มีปรากฎชัดเจนเรื่องการจัดประเภท เช่น

  • กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม
  • หีนธรรม มัชฌิมธรรม และปณีตธรรม
  • เสกขธรรม อเสกขธรรม และเนวเสกขานาเสกขธรรม
  • ฯลฯ

มีนักปรัชญาท่านหนึ่ง (จำชื่อไม่ได้) บอกว่าปรัชญาปัจจุบันมาถึงยุคภาษาปรัชญาวิเคราะห์ และยกย่องให้ พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักปรัชญาภาษาวิเคราะห์พระองค์แรกของโลก

.........

เฉพาะในส่วนของการจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรม  เนื่องจากคำสอนของพระพุทธศาสนามิได้ใช้ตรรกะเพื่อจัดประเภทการกระทำตามนัยแห่งจริยปรัชญาโดยเฉพาะ... แต่คำสอนทั้งหมดมีจุดหมายเพื่อพระนิพพาน และีคำสอนทั้งหมดสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบเพื่อจุดหมายนี้ (คำวิจารณ์ใกล้เคียงกัน ดู ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม : เปรียบเทียบกับพุทธจริยศาสตร์ )

ดังนั้น เมื่อจะศึกษาการจัดประเภททางศีลธรรมของพระพุทธศาสนาก็ต้องวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ออกไป เช่น เมื่อพิจารณาเฉพาะทุจริตและสุจริตแล้ว การกระทำทางพระพุทธศาสนาอาจเหลือแค่ ๒ คือ

  • การกระทำที่ดีหรือถูก ได้แก่ สุจริต (หรือกุศลกรรมบถ)
  • การกระทำที่ชั่วหรือผิด ได้แก่ ทุจริต (หรืออกุศลกรรมบถ)

เมื่อพิจารณาตามนัยนี้ หน้าที่ทางศีลธรรมทางพระพุทธศาสนามีเพียงแค่นี้ และไม่มีประเด็นหนือหน้าที่

......

เมื่อพิจารณาหลักประโยชน์ ๓ กล่าวคือ

  • ประโยชน์ในชาตินี้
  • ประโยชน์ในชาติหน้า
  • ประโยชน์สูงสุด

หน้าที่ทางศีลธรรม คือ การดำเนินชีวิตให้ได้มาซึ่งประโยชน์ทั้งสามนี้โดยสอดคล้องกัน ถ้ามุ่งแต่ประโยชน์เฉพาะชาตินี้ แต่ขัดแย้งกับประโยชน์ในชาติหน้าและประโยชน์สูงสุด ก็อาจถือว่าไม่ถูกต้อง...กรอบความคิดของ การกระทำเหนือหน้าที่ ตามนัยก็ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เท่าที่สังเกตเห็นได้ก็เพียงว่า เราจะให้ความสำคัญประโยชน์ชนิดใดมากกว่ากันเท่านั้น

......

มื่อพิจารณาหน้าที่ซึ่งจะต้องปฏิบัติต่อผู้เกี่ยวข้อง พระพุทธศาสนาก็มีเรื่อง ทิศทั้ง ๖ ในสิคาลกสูตร ที่จำแนกไว้อย่างละเอียด ดังนี้

  • ทิศเบื้องหน้า คือ บิดามารดา
  • ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์
  • ทิศเบื้องหลัง คือ บุตรและภรรยา
  • ทิศเบื้องล่าง คือ คนรับใช้หรือลูกน้อง
  • ทิศเบื้องขวา คือ ครูอาจารย์
  • ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย

เมื่อถือเอาตามนัยนี้ ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องในแต่ละทิศ ก็ถือว่ากระทำหน้าที่ได้ถูกต้อง แต่ถ้าปฏิบัติผิดก็อาจถือว่ากระทำหน้าที่ได้ไม่ถูกต้อง... แต่ความถูกต้องเหมาะสม จะอยู่ที่ไหนของ หน้าที่ และถ้าปฏิบัติเกินเลยไปจะจัดเป็น เหนือหน้าที่ หรือไม่ ? นั่นเป็นรายละเอียดต้องศึกษาต่อไป.....

........

อนึ่ง ในการบำเพ็ญบารมีเพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุด ก็ต้องบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ... เมื่อถือเอาตามนัยนี้ หน้าที่ทางศีลธรรมของพุทธจริยศาสตร์อาจหมายถึงการบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการก็ได้...

บารมี ๑๐ ประการเหล่านี้ ยังจำแนกออกเป็น บารมี (ธรรมดา) อุปบารมี (ชั้นสูง) และปรมัตถบารมี (ชั้นสูงสุด) .... 

นอกจากนั้น ผู้บำเพ็ญบารมีนั้น ยังกำหนดเป็นบุคลธรรมดาหรือพระโพธิสัตว์อีกด้วย... และเมื่อพิจารณาตามนัยนี้ การบำเพ็ญบารมีของบุคลธรรมดาอาจสงเคราะห์เป็น หน้าที่ทางศีลธรรมทั่วไป ... ส่วนการบำเพ็ญบารมีในชั้นพระโพธิสัตว์ อาจสงเคราะห์เป็น หน้าที่ทางศีลธรรมแบบพิเศษ หรือ เหนือหน้าที่ ได้หรือไม่ ?

.........

ตามที่ได้รับรู้มา ยังไม่มีการศึกษาพุทธจริยศาสตร์ตามนัยนี ้ ดังนั้น จึงยังคงท้าทายผู้ใคร่ในการศึกษาสืบต่อไป....  

หมายเลขบันทึก: 125177เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2007 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท