ทุนที่สำคัญในการพัฒนาระดับปัจเจกและชุมชน: ปัญญา ผู้นำ และสามัคคี


ถ้าจะพัฒนาต้องมาเริ่มที่การศึกษา (หรือ สิกขา ในภาษาบาลี ที่แปลว่า การพัฒนาตนเอง)
 

ในระยะสองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้พยายามชี้ให้เห็นปัญหาที่ทำให้เราพัฒนาไม่ขึ้น

 ส่วนใหญ่เราทำงานกันเต็มที่ เหนื่อยและหนัก แต่เมื่อมองความก้าวหน้าในเชิงวิถีชีวิต และสังคมแล้ว กลับแทบไม่ขยับไปไหน

 

เกิดข้อสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น

 

·        ทางรัฐบาล ก็บอกว่าทุ่มเทงบประมาณลงมาเป็นปีละ แสนล้าน ไม่เห็นมีความก้าวหน้าอะไร ทุกปีมีแต่ขอเพิ่ม

·        ทางข้าราชการ ก็บอกว่าขาดงบประมาณ บุคลากร ตอนนี้ก็ทำงานกันตัวเป็นเกลียว หัวเป็นนอต แล้ว

 

·        ทางองค์กรต่างๆ ก็ทุ่มเทพลังกาย พลังความคิด และงบประมาณที่มีเพื่อการพัฒนา แบบสุดๆเหมือนกัน

 

·        ระดับชุมชน ก็จับกลุ่มทำงานกันแบบไม่เว้นว่าง กลุ่มที่ประชุม ก็ประชุมจนแทบหาเวลาทำงานไม่ได้

 

·        ระดับครัวเรือนและปัจเจก ดิ้นแบบสุดความรู้ความสามารถของแต่ละคน   

 

แต่ก็ยังติดขัด และมีอุปสรรคในการพัฒนาอย่างมากมาย

·        งานไม่เป็นไปตามแผน

 

·        การใช้เงินก็ไม่เป็นไปตามแผน ขาดบ้าง เหลือบ้าง ทุกปี

·        ใช้งบประมาณแบบไม่มีประสิทธิภาพ บอกว่างบไม่พอ แต่ก็ยังใช้กันอย่างล้างผลาญตอนปลายปี (ที่นิยมทำกันมากที่สุดก็คือจัดประชุม ฝึกอบรม และ ดูงาน)

 

·        คนทำงานส่วนใหญ่ ทำงานหนัก และเหนื่อย จนแทบไม่มีเวลาคิดแผนระยะยาว เฉพาะงานที่ต้องทำอยู่ทุกวันก็ไม่ทันแล้ว  

 

 

ฟังแล้วก็ดูดีพอสมควรในมุมหนึ่ง แต่ก็น่าสงสัยอีกมุมหนึ่ง ว่า ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ไหน   

 

ทำไมสิ่งที่ทำไม่เกิดผล?????? ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่กลับสร้างความเสียหายหลายประการ ดังที่ได้เคยกล่าวไว้แล้ว  

ผมจึงลองมานั่งทบทวนมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เริ่มแจงปัญหาความยากจน ประกอบกับท่านพันธมิตรก็ร่วมแสดงพลัง และทุนทางปัญญา เข้ามามากมาย

ทำให้ผมได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ประเด็นปัญหาน่าจะอยู่ที่ เราขาด ๓ ทุนทางสังคม (Social capital) ใน ๒ ระดับ (เอ๊ะ ทำไมคล้ายกับ แนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง)  กล่าวคือ

1.    ทุนทางปัญญา (Wisdom) ที่ส่วนใหญ่เริ่มที่ระดับปัจเจก แล้วมารวมเป็นของชุมชน และสังคม

 

2.    ทุนทางความสามัคคี(Solidarity) ทั้งในระดับครัวเรือน และชุมชน

 

3.    ทุนทางความเป็นผู้นำ (Leadership) ในระดับปัจเจก ครัวเรือน และชุมชน  

 

แล้วเราจะพัฒนาได้อย่างไร

เท่าที่ผมรวบรวมมาจากประสบการณ์

ก็มีแนวทางที่สำคัญ ในการพัฒนาทุนทางปัญญา ก็คือ การมีและสร้าง

 

·        ความสนใจ

·        ความคิด

·        การสืบค้นข้อมูล

·        การจัดการความรู้ และ

·        การพัฒนาปัญญา   

 

ก็จะทำให้การพัฒนาปัญญาอย่างต่อเนื่อง เป็นวงจรแห่งการสร้างสรรค์ได้  

การพัฒนาความสามัคคี ก็ได้แก่

·        การมีความยุติธรรม

·        แบ่งปัน เห็นใจ และเข้าใจซึ่งกันและกัน

·        พัฒนาการพึ่งพาอาศัย การแลกเปลี่ยน ทั้งวัสดุ และความคิด

·        การค้นหาจุดรวม และนำไปสู่จุดร่วม ในการทำงาน

·        การนำจุดแข็งแต่ละคนมาประสานกัน อย่างสอดคล้องกัน  

 

การพัฒนาความเป็นผู้นำ ก็คือ

·        การพัฒนาความคิดที่ชัดเจนในระดับปัจเจก

·        การรวมกลุ่มที่มีเป้าหมายที่สร้างสรรค์ ชัดเจน

·        การสนับสนุนให้ทุกคนได้แสดงออกตามความ

สามารถของตน

·        การหมุนเวียนความรับผิดชอบในการทำงาน อย่างทั่วถึง  

 

สำหรับทุนด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเงิน แรงงาน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม เป็นเพียงส่วนประกอบภายนอก และชั่วคราวเท่านั้น  

ที่อาจเป็นเครื่องชักนำในเบื้องต้น ที่ไม่ควรจะมีมากนัก เพราะจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ที่ทำให้กลายเป็นเงื่อนไขของการทำงาน และเกิดการเสพติดในที่สุด  

แต่ในระยะยาว สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ  

อะไรที่ไม่เป็นธรรมชาติมักจะอยู่ได้ไม่นาน  

แต่ทุนที่สำคัญที่สุดก็คือ

ทุนทางปัญญา ที่เป็นที่มาของอีก ๒ ทุนที่เหลือโดยเกือบอัตโนมัติ   

 

ที่ ถ้าจะพัฒนาต้องมาเริ่มที่การศึกษา (หรือ สิกขา ในภาษาบาลี ที่แปลว่า การพัฒนาตนเอง)  

 

ถ้าเรามีระบบ การศึกษา เมื่อใด เมื่อนั้นเราจะพัฒนาได้อย่างแน่นอนครับ  

 

ศึกษา อะไร  

 

ก็การพัฒนาทุนทั้ง ๓ ข้างต้น นั่นแหละครับ 

 

แล้วเราจะเริ่มกันตอนไหนครับ  

หรือจะรอให้เราสูญชาติ สูญพันธุ์กันไปเสียก่อนครับ   

หมายเลขบันทึก: 128257เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2007 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับท่านอาจารย์

  • ผมอยากมานั่งขอรับคำแนะนำในเชิงปฏิบัติกับท่านอาจารย์ในแบบถึงแก่นแท้ๆสักครั้ง  เพื่อจะได้เอากลับใช้ในโรงเรียนและชุมชนในเขตบริการ  ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์พอจะมีเวลาให้บ้างไหมครับ
  • จากประสบการณ์ที่ได้ลงมือมาบ้างแล้ว  ผมคิดว่าพอมีทางเป็นไปได้  แต่เพียงเพราะผมมีกำลังน้อย  และมีข้อจำกัดในด้านที่จำต้องปฏิบัติราชการในหน้าที่หลักเป็นสำคัญ  ประกอบกับไม่มีหน้าที่โดยตรง  งบประมาณใดๆจากส่วนไหนจึงไม่มี  ที่ทำๆไปก็เพราะเห็นความจำเป็น ใจก็เลยจำต้องสั่งให้ทำ  ความก้าวหน้าเลยไปได้อย่างช้าๆ (ปัจจุบันยิ่งมีโอกาสเป็นไปได้สูง  เพราะมีปัจจัยเอื้อเพิ่มขึ้นหลายด้าน เช่น มีพืชเศรษฐกิจใหม่ๆที่ลงทุนน้อย ใช้เวลาไม่นาน ให้ผลผลิตสูง และราคาแน่นอน เพียงแต่ชาวบ้านเรากำลังปั่นป่วนกับกระแสสังคมที่มาแบบซึนามิถล่มภูเก็ต ก็เลยตั้งหลักตั้งลำไม่ได้ มีแต่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆเท่านั้น)

เรียน อาจารย์ ดร.แสวง ที่เคารพ

ปัญหานี้เป็นปัญหาซ้ำซาก และ หายๆปัญหาไม่ได้มีการเรียนรู้จากปัญหาเพื่อสู่สิ่งที่ดีกว่า..เลยแก้เอาเฉพาะหน้า ภาพรวมจึงดูว่าไม่ถึงไหน หากดูตามพลวัตการเคลื่อนไป เราก็แพ้ตลอดเวลา เราไม่เคยทัน

ผมขอเพิ่มอีกประเด็น เรื่องของ "ภูมิสังคม" ผมไปอ่าน เอกสารที่พี่ชายท่านหนึ่งส่งมาให้ เป็นการบรรยายของ อ.ดร.สุเมธ ที่ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ น่าสนใจทีเดียวครับ

"...

เราเกิดความ ทุกข์จากผลพลวงการพัฒนาที่ไม่ใช้ ปัญญา ใช้แต่ กิเลส กับ ตัณหา ไม่ต้องไปดูอะไรที่ไกลตัว เอาแค่สถาบันการศึกษายังไม่ทำเป็นตัวอย่างให้เกิด จิตสำนึก แล้วจะไปสอนให้เด็ก เกิดจิตสำนึกได้อย่างไร            ทำไมผมพูดอย่างนี้ พวกเราลองมองดูห้องเรียนของเราดูสิ ห้องเรียนหนึ่งห้องใช้หลอดไฟ 120 ดวง เฉพาะผมคนเดียวถ้าใช้ไฟสป๊อตไลท์ก็ 8 ดวงเข้าไปแล้ว สอนเสร็จผมคงกลายเป็นด๊อกเตอร์แดดเดียว            ที่ญี่ปุ่นถึงเขาจะเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่เขามีนโยบายให้เปิดแอร์ที่อุณภูมิ 28 องศาเซลเซียส ของเราอุณหภูมิห้องกำลังดี คือ ประมาณ 26 เซลเซียส แต่เราก็แปลกดันเปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำแล้วก็ใส่เสื้อผ้าหนาๆกันมาเรียนหรืออาจารย์เองก็ใส่สูตรมาสอน ผมจึงขอย้ำว่าเรากำลังดำรงอยู่โดยไม่ใช้ สติปัญญา"  ในการดำรงอยู่            การพัฒนาแบบยั่งยืนก็พูดกันมานาน พูดไปแต่ไม่มีการกำหนดอะไรที่ชัดเจน แค่พอจะประกาศให้ลดเวลาการออกอากาศของโทรทัศน์ลงเหลือ 20 ชม.ต่อวัน คนก็พากันออกมาเต้นแร้งเต้นกาว่าไม่เอา อยากดูตลอด 24 ชั่วโมง         ดังนั้นการพัฒนาที่ฉลาด จะต้องสร้างสมดุละหว่าง “ภูมิสังคม” กับ “ธรรมชาติความเป็นมนุษย์”  ให้ได้..." 

และแนวคิดการพัฒนาตามแบบ "ภูมิสังคม"

"...ยึดถือสภาพจริงของ “ภูมิประเทศ ในด้านภูมิศาสตร์ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และด้าน สังคมวิทยาที่เกี่ยวกับนิสัยใจคอ ภูมิปัญญา ค่านิยม วัฒนธรรม ประเพณีของคนในพื้นที่พัฒนาเป็นหลักในการพัฒนา   เราต้องให้ความเคารพกับ ภูมิ” อย่าฝืน “ภูมิความสำเร็จในอเมริกานำกลับมาใช้ในประเทศเราได้เฉพาะบางเรื่องเท่านั้นเพราะ ภูมิต่างกัน            ความล้มเหลว ก็เพราะคิดอะไรได้ก็เอามาใช้เหมือนกันหมดทั้งประเทศ บางแห่งถ้าภูมิเอื้อก็สำเร็จ บางแห่งภูมิไม่เอื้อก็ไม่สำเร็จ เช่น การปลูกปล์าม ซึ่งเป็นพืชน้ำมัน เป็นพืช ฝนแปด แดดสี่ ถ้าภูมิเป็นแบบนี้ก็เข้าล๊อคปล์ามเลย ปลูกไปก็ได้ผลผลิตดี

            ถ้าอยู่แบบฝืน “ภูมิ” ไม่รอดเช่น ปลูกบ้านสไตล์ทรงสเปนในภาคกลางซึ่งเป็นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นพื้นที่อู่ข้าว อู่น้ำ น้ำจึงมาก ชาวบ้านพอหน้าน้ำมาเขาก็จะรู้กันว่าต้องขนของหนีน้ำ จึงปลูกบ้านเรือนสูง ฉนั้นอย่าได้สู้กับธรรมชาติเป็นอันขาด ต้องเคารพและปรับตัว ..."  

 

 

สุดท้ายก่อนที่ท่านจะบรรยายจบ ท่านได้สรุปได้จับใจครับ

 

สุดท้ายผมขอฝากแนวทางปฏิบัติ  ภูมิสังคม ไว้ดังนี้
  • เอากลับไปใช้กับตัวเองก่อน
  • พิถี พิถันทุกย่างก้าว
  • เดินมาหาความเป็นกลางๆของชีวิต
  • ถ้าเรารวย สิ่งแวดล้อมถูกทำลายหมด ชีวิตจบ
  • ถ้าโลกไม่อยู่ เราจะอยู่ได้อย่างไร
  • ภูมิสังคม ยึดไว้ให้มั่น
  • เรียนรู้ไม่ใช่เลียนแบบ
  • เรียนรู้ตลอดอย่าปล่อยให้เวลาเสียไป
  • ประโยชน์ที่เกิดจากปัญญาเท่านั้น จึงจะนำมาซึ่ง ความร่ำรวยเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนทางปัญญา
  • และนำมาซึ่ง ความสุข รู้รัก สามัคคี

ขอบคุณครับ ครูวุฒิ และคุณจตุพร ที่มาเพิ่มเติมให้ ผมคิดว่าเรื่องนี้ คนส่วนใหญ่มองข้าม และมองว่าเป็นเรื่องยาก เกินกว่าที่คนทั่วไปจะทำได้ แต่ถ้ามองจริงๆ แล้ว ทำได้แน่นอน ทั้งในระดับปัจเจกขึ้นไปเลยครับ แล้วไปรวมกันก็จะเกิดพลังมหาศาล ครูวุฒิครับ เชิญได้ทุกเมื่อ จะโทรมานัดก่อนก็ได้ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท