คนเจ้าบทเจ้ากลอน


ผู้ใหญ่สมัยก่อนจะพูดจะจาอะไรก็มักคล้องจองสัมผัสเพื่อให้เด็กๆ จำง่าย

 

คน

เจ้าบทเจ้ากลอน

 

 ................................................................................................................

* ประโยชน์แลความดีทั้งหลายที่พึงจะเกิดขึ้นจากบันทึกนี้ ขอมอบแด่

 อาจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากรณ์

บุรพาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้วของข้าพเจ้า

.......................................................................................................

 

                      เฉนงไอมาเวิ่งเว้า              วู่กา

            รูกับกาวเมิงแต่ยา                        มู่ไร้

           ปิดเซ็นจะมู่ซา                             เคราทู่

           เฉะแต่จะตอบให้                         ชีพม้วยมังระณอ

                                                                              สุนทรภู่

 

          ขอขึ้นต้นด้วยกลอนบรมครูสุนทรภู่  แบบให้งงเล่นกันก่อนครับ  เดี๋ยวจะเฉลยให้ฟังต่อไป  

        เหตุผลกลใดที่ต้องกล่าวคำวัจนานุสรณ์แด่บุพรพาจารย์  อาจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากรณ์  ก็เป็นเพราะท่านอาจารย์ท่านนี้คืออาจารย์ของผม เมื่อครั้งได้เรียนกับท่านในระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางเขน  จึงขอบูชาครูและอุทิศความดีที่พึงเกิดแก่ท่านอาจารย์ ที่ได้สั่งสอนอบรมติดอาวุธทางปัญญาโดยเฉพาะด้านวรรณคดีไทยแก่ผม   อนึ่ง ผมได้ขออนญาตท่านอาจารย์นำชื่อผลงานการเขียนของท่าน "คนเจ้าบทเจ้ากลอน" มาใช้เป็นชื่อบันทึกนี้และขออ้างอิงกลอนจากหนังสือของท่านด้วย   ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับ

..........................................................................................................

             คนเจ้าบทเจ้ากลอน  หมายถึงคนไทยครับ   เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า "คนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน"  เพราะตั้งแต่เรายังเป็นเด็กตัวกะเปี๊ยก  เราก็นอนเปลฟังบทเห่กล่อมจากแม่แล้ว เด็กๆ อย่างผมซึมซับกลอนและรักกลอนมาโดยไม่รู้ตัว  ท่านจำกลอนพวกนี้ได้ไหมครับ

                      "โยกเยกเอย  น้ำท่วมเมฆ  กระต่ายลอยคอ 

                         หมาหางงอ  กอดคอโยกเยก"  (๑๑)

....................

"ใครตด  ก้นเน่าก้นหนอน พระอินทร์ถือศร

ขี่ม้าไล่ฟัน ดวงจันทร์ลั่นป้อ ยอปั๋งยั้งเปี้ยวเลี้ยวปู๊ด"(๑๑)

...................

คุ้นหูไหมครับ  รุ่นๆ ผม ต้องเคยร้องเล่นกันอย่างสนุกสนาน  ส่วนรุ่นร้องเพลงแร็ป  คงไม่ทันครับ   สมัยก่อนเด็กๆ มักเล่นทายปัญหาครับ ก็เป็นบทเป็นกลอนจำง่ายดีครับ  ลองทายกันหน่อยไหมครับ  ฟื้นความหลังน่ะ

                  "อะไรเอ่ย  สิบตีนปีนป่ายขึ้นปากห้อง  โศการ่ำร้อง

       อยู่ปากไห  ตีอกฟกช้ำระกำใจ  ตัวกูจะบรรลัยด้วยน้ำเกลือ" (๑๒)

...........................

"อะไรเอ่ย  ข้างนอกประตูไม้  ข้างในประตูเหล็ก

 ผ้าผืนเล็กตากไม่แห้ง" (๑๒)

........................

ใครทายไม่ถูก ก็ถูกลงโทษต่างๆ นานา ตามประสาเด็กที่ไม่มีเกมอินเตอร์เน็ตให้เล่นอย่างปัจจุบัน   ผมคิดว่าสังคมไทยในอดีต ตั้งแต่เราวัยเด็กมาจนถึงผู้ใหญ่จวบจนถึงวัยไม้ใกล้ฝั่ง แม้กระทั่งตายไปเป็นผีแล้ว  ทุกขั้นตอนของชีวิตผูกพันใกล้ชิดความเป็นบทกลอนมาโดยตลอด  อย่างงานบุญประเพณีต่างๆ ก็มีการร้องเพลงพื้นบ้านเป็นกลอนให้ได้ยินเสมอๆ ไม่ว่าจะลงแขกเกี่ยวข้าว ร้องเพลงแม่ศรีในประเพณีตรุษสงกรานต์ (สมัยก่อนก็ไม่มีโคโยตี้ นุ่งน้อยห่มน้อยมาติ๊ดชึ่งๆ ถือขวดเบียร์ส่ายสะโพกโยกเอวตามร้านรวง ห้างสรรพสินค้า เล่นสาดน้ำอย่างไม่มีศิลปะกันเสียเลย)   ถึงคราวจะบวชพระบวชเณร ก็มีพิธีทำขวัญนาค ต้องร้องเป็นบทกลอน สมัยนี้ก็ยังมีให้เห็นตามชนบทห่างไกล

                   ผู้ใหญ่สมัยก่อนจะพูดจาอะไรก็มักคล้องจองสัมผัสเพื่อให้เด็กๆ จำง่าย เช่น

                 "ขี้แล้วกลบคือแมว  ขี้แล้วแจวคือหมา"

ผู้ใหญ่เขาว่ากระทบเด็กที่ขี้แล้วไม่ราดน้ำ ล้างก้น หรือบางทีก็สอนคนที่มีครอบครัวแล้วแต่ไม่รู้หลักการครองเรือน เช่น

                          "ผัวสุขเพราะเมียหนุน  เมียอุ่นเพราะผัวแนบ  เมียหายเพราะผัวห่าง ผัวจางเพราะเมียจืด" (๑๖)

คำสอนนี้ ใครจะเอาไปใช้ได้นะครับ  ผมเห็นว่าดีมาก จำง่าย จะเขียนใส่กรอบติดไว้บนฝาผนังก็น่าจะดีครับ เป็นภาษิตเตือนใจผัวเมีย  เรื่องพวกนี้แสนละเหี่ยใจจริงๆ นะครับ

                ไปดูภาษิตของคนล้านนากันบ้างครับ  ดีจริงๆ

     "เว้นหมาหื้อปอศอก  เว้นวอกหื้อปอวา 

 เว้นคนปาลาหื้อปอแสนโยชน์ "(๑๖)

หมายความว่าจะใด ?  อ๋อ ก็หมาความว่า  ถ้าจะหลีกหมาให้ห่างอย่างน้อยหนึ่งศอก  ถ้าหลีกลิงหลีกวอกก็ห่างอย่างน้อยหนึ่งวา แต่ถ้าจะหลีกคนพาล ให้หลีกห่างอย่างน้อยแสนโยชน์   นั่นหมายถึงเขาสอนให้รู้จักการคบคน  "คบคนพาล พาลพาไปหาผิด  คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล"  ต่อหน่อก็ได้  "คบเด็กต้องเข้าใจเด็กว่าซุกซน  คบพวกสัปดนก็จะพาไปให้ได้อาย"

                  เห็นไหมล่ะครับ  คนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน นี่ถ้าจะเล่าต่อไปอีก ผมว่า 3 วัน 4 คืน ก็ไม่จบง่าย  เสียดายครับ เสียดายจริงๆ ที่ปัจจุบันความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน อารมณ์ขันของคนสมัยนี้หายไปเยอะเลย  มีแต่ร่องรอยของเก่าอยู่บ้างก็แทบจะไม่เหลือ  ภาษาไทย ภาษาศิลป์ จึงเสื่อมถอยไปมาก

               ท่านอาจารย์ประจักษ์ ท่านเล่าว่า มีคนคิดท่าหลับของนักเรียนในห้องไว้โดยแต่งเป็นกลอนคล้องจองไว้เข้าท่ามาก ผมก็ขอนำมาอ้างอิงต่อพอเห็นภาพก็แล้วกัน ใครเคยหลับท่าพวกนี้บ้าง (ยกมือขึ้นครับ)

                           "ท่าอ้ายจ๋อฝันหวาน       ท่านงคราญน้ำลายยืด

                             ท่าเป็นหืดหอบกรน        ท่าเหลือทนงอขี้กล้อง

                             ท่าสูบบ้องกัญชา          ท่านัยน์ตาง่วงปรือ

                             ท่ากระบืออมยิ้ม            ท่ายายซิ้มโยกเยก

                             ท่าชวนเขกกระบาล       ท่าทหารก้มคำนับ

                             ท่าจุ๊บจั๊บเคี้ยวปาก         ท่าลำบากแทบสลบ

                             ท่าพิงซบอกบังอร   ท่าเอนอ่อนสนต้องลม"

                                                                                           (๒๔)

 

ผมเล่ามานี้ยังไม่หมดหรอกครับ แต่จะกลับมาเล่าให้ฟังแก้ง่วงกันใหม่ในโอกาสต่อไป  ก่อนจะลาก็ขอเฉลยโคลงนำต้นบันทึกก่อนครับ  โคลงบทนี้เป็นเกร็ดประวัติของท่านสุนทรภู่ที่ถูกค่อนแคะว่าท่านแต่งโคลงไม่เป็น ท่านโกรธจึงเขียนโคลงแบบคำผวนขึ้นเช่นนั้น ผวนกลับเลยครับ

 เฉนงไอ - ไฉนเอง  มาเวิ่งเว้า - มาเว้าเวิ่ง  วู่กา - ว่ากู

รูกับกาว - ราวกับกู  เมิงแต่ยา - มาแต่เยิง (ป่า)  มู่ไร้ - ไม่รู้

ปิดเซ็น - เป็นศิษย์   จะมู่ซา - จะมาสู้  เคราทู่ - ครูเฒ่า

เฉะแต่จะตอบ - ชอบแต่จะเตะ  ชีพม้วยมังระณอ - มอระณัง

ครับ  ผวนกลับแล้วก็แสดงให้เห็นว่า สุนทรภู่มิใช่สุดยอดครูกลอนเท่านั้น โคลงก็ไม่เป็นรองใคร เล่นผวนคำเหนือชั้นขึ้นไปอีก

                ผมขอปิดท้ายบันทึกนี้ด้วยคำเชิญชวนทุกท่านที่มีกลอนอยู่ในหัวใจ ไขความรู้เท่าที่จำได้มาเล่าสู่กันฟังก็จะเป็นการดีครับ เพราะ "พวกเราเป็นคนไทย หัวใจใส่กลอน" กันทั้งนั้นครับ  

                     

 

                                              

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 127495เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2007 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
หนูมีหนังสือเล่มนี้ด้วยค่ะ กระดาษเหลืองจนกรอบ อ่านมาตั้งแต่เด็กแล้ว นี่ก็ยังอยู่เลย รักษาไว้ดีมาก กลอนบทแรกนี่แหล่ะที่เป็นขวัญใจ แต่งแบบผวนและว่าได้เจ็บดี ท่านสุนทรภู่แต่งว่าคนที่หาว่าท่านแต่งกลอนแปดไม่เป็น เพราะไม่เห็นเคยแต่งนั่นเอง เลยเจอของจริง
เมื่อกี้รีบวิ่งไปค้นในตู้มา หนังสือของหนูพิมพ์ปี 2518 พิมพ์ที่โรงพิมพ์เจริญธรรม ชื่อหนังสือ "คนเจ้าบทเจ้ากลอน และเกร็ดนิยายวรรณคดี" หน้าปกเป็นรูปตัวละครไทยผู้ชายตีกลองยาว ผู้หญิงและเด็กกำลังรำอยู่
หนังสือเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ชอบกลอนทีเดียวเพราะเขียนได้สนุกมากน่าติดตาม ทำให้ชอบอ่านกาพย์กลอนและเห็นเป็นเรื่องสนุก เล่มนี้เป็นหนังสือที่พ่อซื้อมา ตอนนี้กลายเป็นของเก็บสะสมของหนูไปเรียบร้อยแล้ว ย้ายมากี่บ้านก็ขนตามมาด้วย เพราะเป็นหนังสือโปรด ชอบคำโฆษณาในหน้าแรกค่ะ "เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี มีประโยชน์"

ไม่เคยรู้จักผู้เขียนเพราะอ่านตั้งแต่เด็กเอาสนุก แต่โลกนี้มันช่างกลมนัก จุดใต้ตำตอมาเจอลูกศิษย์ของผู้เขียนเข้า ตัวจริงเสียงจริง 555 เดี๋ยวจะหาบทกลอนแจ่มๆ ที่ลงในนี้มาให้ได้อ่านกันค่ะ ^ ^ ดีใจจัง อิ อิ

สวัสดีครับคุณP

        พบกับคนคอเดียวกันอย่างนี้ ปลื้มใจจริงๆ  ที่ปลื้มเป็นสองเท่า คือ มีหนังสือเล่มนี้ด้วย พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๑๘ ของผมพิมพ์ครั้งที่ ๘  พ.ศ.๒๕๒๐ คือเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว  เหลืองกรอบพอกันมั้ง  ที่มาที่ไปผมได้เล่มนี้เพราะความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนของผมนี่แหละครับ  ผมได้จากท่านอาจารย์  เพราะผมได้ A  ร้อยกรองจากท่าน เป็นคนที่ ๗ จากทุกรุ่นที่ท่านเคยสอนวิชาร้อยกรองมา (ขอโทษที่บอกมาไม่ได้มาคุยอวดนะ) เพียงแต่รำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งเรียนกับท่าน สนุกสนานเฮฮาเหลือเกินครับ

           ท่านอาจารย์ประจักษ์ ท่านสนิทกับเจ้าของต่วยตูน ท่านเขียนเกร็ดวรรณคดีลงในหนังสือต่วยตูนให้คนอ่านขำแบบอมยิ้มมานานมากครับ  ผมก็เคยถูกท่านชักชวนให้เขียนลงเหมือนกันแต่ตอนนั้นมัวแต่ทำอะไรอยู่ไม่รู้ เลยชวดโอกาสอันดีที่จะได้ทำงานกับท่าน ลักษณะท่าทางของท่านคล้ายท่านสุนทรภู่เหมือนกัน คือ" ท่านร่ำสุราได้ที่กลอนดีๆ ก็ปรากฏ" ครับ นึกภาพท่านร่ายโคลงกลอนแล้วประทับใจมากครับ  ท่านอาจารย์จึงเป็นอาจารย์ที่ดีที่สุดคนหนึ่งในชีวิตของผมครับ

สวัสดีค่ะ

  ก็มีกลอนที่จำได้เหมือนกันนะคะ เช่น

 " กินเหมือนยัดหมอน นอนเหมือนเมาเห็ด"

"กินเหมือนปล้น ทำงานเหมือนย่องเบา"

สวัสดีครับคุณP

           สุดยอดอย่างเดียวหรือครับ  เขียนโคลงคำผวนมาดูหน่อยครับ

  สวัสดีครับคุณP

            เขียนกลอนที่จำได้มาอีกนะครับ

เอาภาพหน้าปกหนังสือมาฝากค่ะ ของหนูพิมพ์ครั้งที่ 6 แล้ว ไม่ใช่ครั้งที่ 1 ครั้งแรกนั้นพิมพ์ในปี 2511 ค่ะ ตามด้วย 13 16 17 18 และ 18 อีกครั้งก็คือรุ่นของเล่มที่หนูมีอยู่ ส่วนของอาจารย์ใหม่กว่าอีกค่ะ ^ ^



ในหนังสือเล่มนี้โคลงที่อ.ประจักษ์เขียนแนะนำไว้มีเยอะมาก แต่ที่ชอบที่สุดเป็นของศรีปราชญ์ ชอบสำนวนและภาษา ชอบมากกว่าท่านสุนทรภู่อีกค่ะ ต้องบทนี้เลย

    เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม    ถึงพรหม
ปวงเทพเจ้าตกจม           จ่วมม้วย
พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม     ทบท่าว  ลงนา
หากอกนิษฐ์พรหมฉ้วย    พี่ไว้  จึ่งคง

ถือว่าโดนใจทั้งภาษาและความหมายค่ะ ท่องจำได้ตั้งแต่ ป.2 หรือป.3 นี่ล่ะไม่มีลืม (คือ...หนูอ่านหนังสือได้เร็ว ป.1 แม่ก็บอกว่าอ่านหนังสือที่ไม่มีรูปได้เป็นเล่มแล้ว แต่จำไม่ค่อยได้นอกจากเรื่องที่ประทับใจจริงๆ)

คุณP ครับ

โคลงบทนนี้ของศรีปราชญ์  เป็นการกล่าวแบบอธิพจน์ คือเกินจริง  เป็นวิธีพรรณนาให้เกิดภาพ รับรู้ความรู้สึกได้เต็มที่   คนที่ร้องไห้จนน้ำตาท่วมถึงชั้นพรหมแสดงว่าเสียใจมากถึงที่สุด สาวเจ้าเลยสะกิดศรีปราชญ์ว่า  "พี่ร้องไห้จนนำตาท่วมสวรรค์ชั้นพรหมแล้ว พี่จะอยู่ยังไง  มิจมน้ำตาตัวเองตายหรือไง" ศรีปราชญ์เลยแก้ด้วยไหวพริบว่า  "ก็สวรรค์ชั้นพรหมสูงสุดไง ชื่อ อกนิษฐ์พรหม  ช่วยไว้ พี่ก็เลยรอดตาย"  นี่คือศรีปราชญ์ ปฏิภาณกวีที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในวงวรรณคดีไทยครับ

            ขอบคุณที่รื้อฟื้นความทรงจำดีๆ ขึ้นมาใหม่ครับ

  • แวะมาทราบซึ้งคะอาจารย์
  • อยากให้เด็กรุ่นหลังได้สืบทอดภูมิปัญญาดีๆแบบนี้บ้างนะคะ

สวัสดีครับคุณP

            เด็กๆ ต้องได้รับการชี้แนะจากผู้ใหญ่ แต่สังคมทุกส่วนก็ต้องช่วยสร้างบรรยากาศให้เอื้อด้วยครับ เพราะสังคมปัจจุบันมุ่งการบริโภควัฒนธรรมต่างชาติกันไปหมด ดูทีวีสิครับ ก็จะเห็นความเห็นแก่ตัวของวงการธุรกิจทุกแขนง

ชอบอ่านมากครับอาจารย์

คิดอยากต่อชั้นเชิงกลอนกับอาจารย์ แต่ผมไม่มีความสามารถตรงนี้เลย

คงต้องขอเป็นผู้อ่านที่ดีต่อเนื่องไป

ขอให้กำลังอาจารย์ในการเขียนบันทึกครับ เพื่อเป็นวิทยาทานและช่วยในการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ส่วนที่อาจารย์จะให้ผมไปร่วมด้วย ช่วยในบางส่วนนั้นผมยินดีครับอาจารย์ ในส่วนที่ผมทำงานและมีประสบการณ์...มีเวลามากขึ้นเพราะช่วงนี้เตรียมวางแผนในการศึกษาต่อครับ

สวัสดีครับคุณP

          ดีใจมากครับที่ยินดีรับ ผมคงจะติดต่อมาแต่เนิ่นๆ ต่อไปครับ ในรายวิชาที่เกี่ยวข้องเพราะจะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษามากครับ 

ผมเคยมีหนังสือเล่มนี้ตอนเด็กๆ ไม่รู้ใครซื้อไว้ที่บ้าน แล้ววันนึงมันก็หายไป พอตอนป.5ผมก็ไปซื้อมันมาเปนของตัวเอง อ่านบ่อยมาก แต่แล้ววันหนึ่งผมย้ายบ้าน มันก็หายไปอีกครั้ง ผมพยายามหามาหลายปีมากๆแล้ว พอจะหาได้ที่ไหนอีกไหมครับ
  • สวัสดีครับอาจารย์กรเพชร
  • ตามเข้ามาอ่าน ทีละบันทึก ชื่นหัวใจครับ
  • แวะมาหาอ่านให้          สมใจ
    กลอนกาพย์คำฉันท์ใด  ใคร่รู้
    สาเหตุนั่นสนใจ           จึงใฝ่ หานา
    การแต่งเทียบกระทู้       ค่าวล้าน กะโลงนา
  • ศิษย์เก่าวิ'ลัยครูเชียงใหม่ 336163 ครับ

เจอแล้วค่ะครู

หนูชอบฟังและชอบอ่านกลอนที่สนุกๆ

พอมาเจอกลอนของครูก็ประทับใจมาก

แต่หนูไม่มีกลอนมาให้ครูอ่านนะค่ะ

เพราะถ้าจะให้แต่หรือให้คิดก็จำไม่ได้

แต่เวลาไปวัดหนูชอบอ่านกลอนที่ติดตามต้นไม้ค่ะ

อ่านแล้วได้ข้อคิดหลายอย่าง

“อะไรเอ่ย สิบตีนปีนป่ายขึ้นปากห้อง โศการ่ำร้อง อยู่ปากไห ตีอกฟกช้ำระกำใจ ตัวกูจะบรรลัยด้วยน้ำเกลือ” (๑๒)

อยากรบกวนทราบคำตอบของคำถามนี้ค่ะคำตอบคืออะไรคะ

ขอบพระคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี