เป็นเวลากว่าสิบปีนับจากการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้น นักวิทยาศาสตร์นำข้อมูลทางพันธุกรรมไปวิจัยและค้นพบสิ่งใหม่เกี่ยวกับมนุษย์เราเพิ่มมากขึ้นทุกวัน แต่ในทางกลับกัน การเปิดเผยรหัสพันธุกรรมของแต่ละคน ให้สังคมรับรู้ ยังเป็นข้อถกเถียงในหลายวงการว่าควรหรือไม่ควร และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงเมื่อไร
รหัสพันธุกรรม ถือได้ว่าเป็นข้อมูลส่วนตัวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละคน ว่าง่าย ๆ คือรหัสนี้ของคนสิบล้านหรือร้อยล้านคนจะไม่มีทางซ้ำกัน ฉะนั้น รหัสนี้จะบอกได้เลยว่า เจ้าของรหัสคือใครบนโลกใบนี้
หลายคนคงสงสัยแล้วว่ารหัสพันธุกรรมของคนคนหนึ่ง รู้แล้วเอาไปทำอะไรได้บ้าง ที่คุ้น ๆ ตากันก็คงเป็นการตรวจหาพ่อแม่ลูก การตรวจพิสูจน์ศพ การสืบหาร่องรอยของคนร้าย ข่าวคราวเหล่านี้ได้เห็นกันตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือแม้แต่ในละครภาคค่ำ ดู ๆ แล้วก็ไม่เห็นมีอะไรเกี่ยวกับเราเท่าไหร่ แล้วคนเราจะเถียงเรื่องการเปิดเผยรหัสพันธุกรรมกันทำไมเป็นสิบปี
ความวุ่นวายและข้อโต้เถียงเกิดขึ้นเมื่อมีเรื่องสิทธิเสรีภาพ สังคม การเมือง และเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง
ถ้ารัฐบาลหรือหน่วยงานของโลกสักหน่วยงานหนึ่ง จัดทำฐานข้อมูลขึ้นมาเพื่อเก็บรหัสพันธุกรรมของคนทุกคนในประเทศ หรืออาจจะรวมถึงทุกคนในโลกไร้พรมแดนแห่งนี้ คนที่เข้าไปดูรหัสข้อมูลจะรู้ได้ทันทีว่า คุณคือใคร คุณมีโรคทางกรรมพันธุ์หรือไม่ คุณมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งมากน้อยแค่ไหน ลูกของคุณเกิดมาแล้วจะเป็นโรคอะไรบ้าง เด็กเพิ่งเกิดคนหนึ่งจะอ้วนผอมสูงขาวได้สักเท่าไหร่ ถ้าข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ก็คงดีหรอก แต่ถ้ามีคนนำมันไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวล่ะ
ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่น คุณเดินเข้าไปขอทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง หากบริษัทไม่รู้ข้อมูลพันธุกรรมคุณ คุณอาจจะได้วงเงินประกันสักสิบล้านบาท แต่บังเอิญบริษัทเปิดรหัสพันธุกรรมของคุณดู แล้วพบว่า คุณมีโอกาสเป็นโรคความดันสูงมาก เบาหวานก็เป็นกรรมพันธุ์ติดตัวมากับคุณ หรือแม้แต่มะเร็งตัวดีก็เกิดกับคุณได้ง่ายกว่าชาวบ้าน นี่ยังไม่รวมโรคทางพันธุกรรมอื่นอีกสารพัด บริษัทเห็นแล้วจึงรีบเปลี่ยนใจจากสิบล้าน เหลือสักสามล้านห้าก็พอ เพราะอะไรหนะหรือ ก็เพราะบริษัทเห็นแล้วว่าคุณมีโอกาสเจ็บป่วย เข้าโรงพยาบาลรักษายกใหญ่ได้ง่ายมาก แล้วบริษัทจะยอมเสี่ยงเสียเงินสิบล้านได้ยังไง ความเสี่ยงที่จะป่วยสูงอย่างนี้ เงินประกันสามล้านห้าก็อาจยังมากไป นี่คือผลกระทบเมื่อรหัสพันธุกรรมถูกนำไปใช้ในทางเศรษฐกิจ
เอาอีกสักตัวอย่างที่ดูใกล้ตัวมาอีกนิดก็เช่นการมีคู่ชีวิต ว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกัน เกี่ยวแน่นอน เพราะรหัสพันธุกรรมที่คุณมีนั้นถูกถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และบรรพบุรุษของคุณ ซึ่งหมายความว่า ลูกหลานเหลนโหลนของคุณจะได้รับรหัสส่วนหนึ่งของคุณไปเช่นกัน เกิดวันดีคืนดี คุณไปขอลูกสาวชาวบ้านแต่งงาน ว่าที่แม่ยายพ่อตาขอดูข้อมูลรหัสพันธุกรรมของคุณ จะไปขอลูกสาวเค้าทั้งที พ่อแม่เค้าขออะไรก็ต้องตามใจหน่อย หลังจากครอบครัวว่าที่เจ้าสาวเห็นรหัสของคุณก็รีบส่งคุณกลับบ้านปิดประตูทันที ก็คุณเล่นหอบหิ้วพันธุกรรมที่จะทำให้ลูกหลานคุณมีโอกาสเป็นสารพัดโรค แถมตัวคุณก็ป่วยไข้ได้ง่ายดาย ใครจะยอมยกลูกสาวให้คุณล่ะคราวนี้ ขืนแต่งงานกันไปแล้วลูกหลานเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ร้ายแรง หรือตัวคุณป่วยไข้เจ็บ ๆ ออด ๆ อยู่ตลอดเวลา ต้องให้ลูกสาวเค้าดูแลอยู่ฝ่ายเดียว ก็คงไม่สนุกแน่ จริงมั้ย
นี่เพียงเหตุการณ์ง่าย ๆ ที่พอจะเห็นภาพกันชัด ๆ ยังไม่รวมถึงสิทธิส่วนบุคคลอีกสารพัด แถมอาจยังนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้อีกด้วย เช่น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนต้องถูกตรวจสอบรหัสพันธุกรรมก่อนเข้ารับตำแหน่ง อะไรทำนองนี้ อันนี้ว่าไปแบบเว่อร์นิด ๆ แต่อาจจะเกิดขึ้นจริงก็ได้ใครจะไปรู้
ไม่น่าแปลกใจเลยที่เกือบสิบปีแล้ว ทำไมการพูดคุยกันว่า ควร หรือ ไม่ควร เปิดเผยรหัสพันธุกรรมของแต่ละคนจึงยังไม่สิ้นสุดลง การศึกษาวิจัยทางสังคมจำเป็นต้องมีอย่างกว้างขวาง เพื่อหาข้อดีข้อเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา ก่อนที่จะสรุปกันได้ว่า เราควรจะยอมเปิดเผยรหัสประจำตัวที่มีมาแต่กำเนิดนี้หรือไม่ และเราจะได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพจากรหัสพันธุกรรมของเรามากน้อยแค่ไหนอย่างไร