ท่านคิดว่าการพัฒนาเทคโนโลยี กับพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน


อ่านจบแล้วรบกวนสรุปเพื่อแบ่งปันให้ด้วยนะคะ

 

 

                โร เจอร์ บี. สมิท  (Roger B. Smith) ผู้บริหารระดับสูงสุดของ จีเอ็ม  (General Motors) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก กล่าวว่า

                เงินและเทคโนโลยีโดยลำพังแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาของเราได้ - เราทราบดี เราจำเป็นต้องมีส่วนผสมที่สำคัญยิ่งคือคน การนำเอาเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ในอุตสาหกรรมหนึ่งอุตสาหกรรมใดก็เป็นแต่เพียงเครื่องมือที่สลับซับซ้อนอีกชิ้นหนึ่งเท่านั้น ถ้าปราศจากคนที่ถูกต้องซึ่งได้รับการฝึกอบรมที่ถูกต้องเพื่อใช้ระบบอย่างถูกต้องและทำการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว เทคโนโลยีก็เพียงแต่เปิดโอกาสให้เราได้ทำของเสียได้เร็วขึ้นเท่านั้นเอง เรายังต้องจัดการเทคโนโลยีและเราก็ต้องการคนที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างดีเยี่ยมในทุกระดับเพื่อมาช่วยเราดำเนินการ

                  เขากล่าวเมื่อค้นพบว่าการที่จีเอ็มประสบปัญหาการขาดทุนอย่างมหาศาล ทั้งๆ ที่มีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีอย่างมากมายเพื่อสร้างความได้เปรียบในทางธุรกิจแต่เขาลืมที่จะพัฒนาคนให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป    

                 คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักเป็นอย่างดีถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์การคือบริษัทห้างร้านต่างๆ เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล   ซึ่งในกรณีของ จีเอ็ม นั้นเคยมีประสบการณ์ที่ขมขื่นมาแล้วจากการละเลยการพัฒนาทรัพยากรมุษย์  ทุกวันนี้เราจะเห็นเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน  จนอาจกล่าวได้ว่าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของมนุษย์  ในทุกๆ วันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ถูกพัฒนาให้มีความเจริญก้าวหน้าและขยายตัวอย่างรวดเร็ว  สามารถเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์ในหลาย ๆ ด้าน  ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร การโทรคมนาคม ด้านการแพทย์  การศึกษา เป็นต้น     การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก  และที่สำคัญแนวโน้มการเรียนรู้ในอนาคต  เป็นการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง anyone , anyhow, anytime และ anywhere  เป็นการเรียนรู้ที่เน้นการมีปฏิสัมพันธ์กัน  เรียนรู้ด้วยตนเอง  และเรียนรู้ด้วยการค้นหา   คนที่ก้าวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงณ จุดนี้  จะไม่มีศักยภาพในการแข่งขัน   จำเป็นที่นัก HR ต้องพัฒนาคนในองค์กรก่อนสิ่งอื่นใด   โดยพัฒนาให้เขามี Personal mastery  และ life long learning  ให้จงได้  เพื่อสามารถก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มคุณค่างานของตน  องค์กรและประเทศชาติต่อไป

                        ความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ทันต่อความเจริญทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  แบ่งเป็น 3 ระดับดังนี้

                                1.  ความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับชาติดังได้ศึกษามาแล้วว่ากระแสโลกาภิวัฒน์ก็ดี การปฏิวัติเทคโนโลยีข่าวสารก็ดี หรือแม้กระทั่งนวัตกรรมทางการจัดการก็ดี มีผลกระทบต่อการดำรงอยู่และการเจริญเติบโตของประเทศเป็นอย่างมาก ประเทศต่างๆ จึงได้ลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาและการฝึกอบรม เนื่องจากการศึกษาเป็นการพัฒนาคนในระยะยาว แต่การฝึกอบรมเป็นการพัฒนาคนในระยะสั้นที่เห็นผลได้ชัดเจนทั้งสองอย่างจึงต้องดำเนินการควบคู่กันไป   โดยเฉพาะในเรื่องของทักษะซึ่งนับเป็นกุญแจสำคัญที่จะองค์กรเป็นอันดับหนึ่งในโลก (Skills are the key to being world class) ผลกระทบของการที่ไม่สามารถสร้างทักษะที่จำเป็นได้ทันกาลเป็นสิ่งที่อันตรายมาก   หากละเลยเรื่องคนแล้วจะมีผลต่อทั้งตัวคนคือหางานทำไม่ได้ หรือถ้าได้ก็ได้งานที่ไม่ดีหรือมีค่าตอบแทนต่ำ ถ้าไม่พัฒนาคนคุณภาพของสินค้าหรือบริการต่างๆ ของบริษัทก็เลวลงจนอยู่ไม่ได้ ต้องปิดกิจการไปและในท้ายที่สุดก็ส่งผลต่อประเทศชาติในส่วนรวมคือแข่งขันไม่ได้ ซึ่งเป็นผลร้ายทั้งสามระดับระดับเลยทีเดียวคือระดับบุคคล ระดับองค์กร และระดับสังคม หรือระดับชาติ    มุมมองการพัฒนา-ทรัพยากรมนุษย์นอกจากสร้างความสามารถในการแข่งขันแล้วยังต้อง นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต้องมองไปข้างหน้าคาดการณ์และวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกและผ่านไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก จนคนในประเทศ คนในองค์กรในองค์กร และคนเป็นรายบุคคลปรับตัวแทบไม่ทัน

                                 2.   ความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับองค์กรการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับองค์กรมักจะเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม  ดังกรณีตัวอย่างของบริษัท จีเอ็ม (General Motors) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก โดย  ลอร์ลิแมน, ยัง และ คาลิน็อคกัส  (Lorriman, Young and Kalinauckas, 1995) ได้ยกตัวอย่างของบริษัทขนาดใหญ่ที่เผชิญปัญหาอันเนื่องมาจากการที่ไม่สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง   ในปี ค..1980  จีเอ็ม ได้มองเห็นถึงการแข่งขันที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จากคู่แข่งของ จีเอ็ม คือบริษัทญี่ปุ่น ดังนั้น จีเอ็ม จึงได้ตัดสินใจลงทุนขนานใหญ่ในเครื่องจักร (capital equipment) ซึ่งไม่ต่ำกว่า $ 90 พันล้าน (no less than $ 90 billion) ในช่วงทศวรรษ 1980 การลงทุนด้วยเงินมหาศาลเช่นนี้อาจเพียงพอที่จะใช้ซื้อบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นคู่แข่งบริษัทหนึ่งหรือทั้งหมดมาเป็นของ จีเอ็ม ได้ถ้าหากบริษัทเหล่านั้นต้องการจะขาย จากการลงทุน $ 90 พันล้าน นี้ไม่น้อยกว่า $ 57 พันล้าน ได้ลงทุนไปในการสร้างโรงงานและเครื่องจักร ซึ่งในจำนวนนี้ $ 40 พันล้าน ได้ลงไปในการสร้างหุ่นยนต์อย่างเดียว นับเป็นการโชคร้ายที่ จีเอ็ม ไม่ได้ลงทุนในด้านคนมากเหมือนบริษัทญี่ปุ่น ผลก็คือในปี 1991  จีเอ็ม ประสบกับการขาดทุนถึง $ 4.5 พันล้าน ซึ่งเป็นการขาดทุนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัทอเมริกัน (ในปีถัดมา จีเอ็ม ขาดทุนถึง $ 23.5 พันล้าน) ที่เลวร้ายไปกว่านั้นอีกก็คือ   จีเอ็ม ใช้เวลาโดยเฉลี่ยในการประกอบรถยนต์ 39 ชั่วโมงต่อคัน ในขณะที่โตโยต้าใช้เวลาเพียงครึ่งหนึ่งของ จีเอ็ม สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ทุกคนประหลาดใจเพราะ จีเอ็ม ได้ร่วมทุนกับโตโยต้ามาหลายปีในการดำเนินการโรงงานประกอบรถยนต์เรียกว่า บริษัท นิวยูไนเต็ด มอเตอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง อิงค์ (New United Motor Manufacturing Inc) ชื่อย่อว่า นัมมิ (NUMMI)  ที่ ฟรีมอนท์   (Fremont)  แคลิฟอร์เนีย (California) จากเหตุการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า จีเอ็ม เรียนรู้ช้าไป แต่ในปัจจุบันนี้ จีเอ็ม ได้บทเรียนที่แพงมากจึงได้ทุ่มเทให้แก่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการเรียนรู้ การสื่อสาร ระบบแบ่งปันความรู้ รวมทั้งเป็นผู้ใช้    กรุ๊ปแวร์เทคโนโลยี (GroupWare Technology(  รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก

                              3.  ความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับบุคคลการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับบุคคลนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะการพัฒนาเป็นรายบุคคลเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาทักษะในระดับองค์กร และในระดับชาติ กล่าวคือ ถ้าหากพนักงานทุกคนในองค์กรมีความพร้อมที่จะเรียนรู้และพร้อมที่จะพัฒนาและมีการพัฒนาอย่างพร้อมเพียงกันแล้ว ย่อมทำให้ทรัพยากรมนุษย์ทั้งหมดขององค์กรได้รับการพัฒนาอย่างแข็งแกร่ง เมื่อองค์กรมีทรัพยากรมนุษย์ได้รับการพัฒนาอย่างแข็งแกร่งหลายๆ  องค์กรรวมกันเข้า  ก็จะเป็นพลังสำคัญของประเทศ นั่นยอมหมายความว่าประเทศนั้นก็จะมีทรัพยากรมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ทำให้ประเทศนั้นมีความพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และมีความยั่งยืน เพราะทรัพยากรมนุษย์ของประเทศนั้นมีความพร้อมสมบูรณ์ ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเราจะสร้างความตระหนักรับรู้ในความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตนเองให้เกิดขึ้นในตัวบุคคล ดังที่ กาลิเลโอ (Galilao Galilei)  เคยกล่าวไว้ว่า เราไม่สามารถสอนคนได้ แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือช่วยให้เขาค้นพบในตัวเขาเอง (We cannot teach a man anything – you can only help him to find it in himself.)

                    ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีต่างเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วและไม่หยุดยั้ง จึงมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน   ในฐานะนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จำเป็นต้องเป็นนักวางแผนที่ดี  โดยต้องมีการคาดการภาพอนาคตของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อใช้เป็นข้อมูลตัดสินใจวางแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพและเพียงพอและทันต่อการใช้งาน ส่งผลให้เกิดความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยี  ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ  คุณค่าของการมองภาพอนาคตคือการมีโอกาสที่จะมองไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบและพิจารณาบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคตอย่างรู้เท่าทัน  สู่การวางแผนรับมืออย่างทันท่วงทีนั่นเอง

.....................

คนึงนิจ อนุโรจน์

คำสำคัญ (Tags): #it#hrd
หมายเลขบันทึก: 126355เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2007 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2013 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท