ไปเยี่ยม "ขบวนการมังคุด"ที่นครศรีฯ (2): ช่องทางการตลาด


ช่องทางตลาด ควรมองจากเกษตรกรให้ถึงมือผู้บริโภค ดังนั้น หากหน่วยงานราชการหาวิธีแก้ปัญหาโดยคิดแค่การรับซื้อจากเกษตรกร ก็ถือว่า ยังคิดไม่จบ

ช่องทางการตลาด ควรมองจากเกษตรกรให้ถึงมือผู้บริโภค   ดังนั้น  หากหน่วยงานราชการหาวิธีแก้ปัญหาโดยคิดแค่การรับซื้อจากเกษตรกร   ก็ถือว่า ยังคิดไม่จบ   เพราะไม่ได้วางแผนว่าจะเอาผลไม้ที่รับซื้อมาไปขายหรือจำหน่ายจ่ายแจกที่ไหนต่อ  ผลไม้ก็จะกองอยู่ในมือของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจนของเน่าเสีย  เป็นความสูญเสียของสังคม

  

ช่องทางการตลาดมีความสำคัญมากด้วยสองเหตุผล (แต่ผู้กำหนดนโยบายไม่ได้ให้ความสำคัญ) ประการแรก คือ  การตลาดสินค้าเกษตรโดยปกติจะมีต้นทุนสูง และมีหลายขั้นตอนกว่าสินค้าจะถึงมือผู้บริโภค    ประการที่สอง   ในช่องทางการตลาด  ถ้ามีพ่อค้าหลายเจ้า พ่อค้าก็แข่งกันรับซื้อ (พ่อค้ายิ่งเยอะยิ่งดีกับเกษตรกร)  แต่ ถ้าขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งมีพ่อค้าน้อยราย  พ่อค้าก็จะสามารถรวมตัวกันกำหนดราคาและกดราคาได้ 

     

ถ้าการตลาดไม่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนการตลาดจะสูง  ราคาที่เกษตรกรได้รับจะเหลือน้อย และ/หรือ  ผู้บริโภคต้องจ่ายแพง   และถ้าบวกด้วยการมีอำนาจตลาดของพ่อค้า ก็จะเกิดการผลักภาระต้นทุน  ไปสู่เกษตรกร หรือ ไปสู่ผู้บริโภคได้อีก

  

เช่น  ขั้นตอนรวบรวมสินค้า  มีพ่อค้าท้องถิ่นแข่งกันหลายเจ้าในแต่ละพื้นที่   แถมยังมีกระจายในอีกหลายจังหวัด    ในกรณีแบบนี้จะไม่มีพ่อค้าท้องถิ่นคนใดคนหนึ่งกำหนดราคาได้จริงๆ    แต่จากพ่อค้าท้องถิ่น ไปสู่พ่อค้าขายส่งที่ตลาดไท (กรุงเทพฯ) ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ราย   ถ้าไม่ขายให้พ่อค้าตลาดไท ก็ไม่รู้จะไปขายที่ไหน   พ่อค้าขายส่งที่ตลาดไทก็จะเป็นผู้กำหนดราคา 

     

เคยดูข้อมูลของไทย ของญี่ปุ่น ของอเมริกา   ต้นทุนการตลาดสินค้าจะเกษตรจะสูงถึงประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์   คือ  สินค้าราคาขาย 100 บาท  เป็นต้นทุนการตลาดเสีย 70 บาท เหลือ 30  บาทให้เกษตรกร   เรามักจะคิดว่า 70 บาท คือ พ่อค้าเอากำไร    ที่จริง 70  บาทนี้เป็นต้นทุนการรวบรวม  การหีบห่อ   การขนส่ง  การแปรรูป  การคัดคุณภาพ  การตบแต่งผลผลิตให้สวยงาม  ค่าแผงขาย  ค่าของเน่าเสีย  นอกจากนี้ยังรวมต้นทุนการหาข้อมูลข่าวสาร ว่าจะรับซื้อที่ไหน  จะขายที่ไหน   ฯลฯ   รวมถึงค่าแรงของพ่อค้าเอง  ค่าบริหารจัดการ  และบวกกำไร  (ถ้าพ่อค้ามีอำนาจตลาด)

  

ที่น่าสนใจคือ ปัจจุบัน ระบบการขนส่ง  เทคโนโลยีการสื่อสาร  การคุมตลาดขายปลีกของห้างสรรพสินค้า  ทำให้ช่องทางการตลาดสินค้าเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น  แต่ระดับการมีอำนาจตลาดก็มากขึ้นด้วย

  

ทางเดินของมังคุดจากชาวสวนที่นครฯไปสู่ผู้บริโภค มีหลายช่องทาง

    

1.  เกษตรกรรายย่อย à พ่อค้าท้องถิ่นรวบรวมผลผลิต à พ่อค้าขายส่งที่ตลาดไท à ตลาดค้าปลีก à ผู้บริโภค

  

2.  เกษตรกรรายย่อย à พ่อค้าท้องถิ่นรวบรวมผลผลิต à พ่อค้าส่งออกที่มารับซื้อในพื้นที่ คัดขนาด ขนส่งด้วยคอนเทนเนอร์ 22 ตัน  à ส่งออก  (ของที่ส่งออกไม่ได้ก็ขายภายใน)

  

3.  กลุ่มเกษตรกร à พ่อค้าท้องถิ่นมาประมูลและรวบรวมผลผลิต àพ่อค้าขายส่งที่ตลาดไท à ตลาดค้าปลีก à ผู้บริโภค

  

4.   เกษตรกรรายย่อยที่ได้โควต้า à พ่อค้าส่งออกที่มารับซื้อในพื้นที่โดยรถกระบะ (รถรั้ว 1-2 คัน  คันละ 2 ตัน) à โรงอบไอน้ำ à ส่งออก 

  

ยังน่าจะมีช่องทางตลาดที่ขายให้ห้างสรรพสินค้า   แต่ยังไม่มีโอกาสได้สัมภาษณ์  รวมถึงยังไม่ได้สัมภาษณ์พ่อค้าอีกหลายระดับ  รายละเอียดจึงยังไม่ครบ

  

แต่ละช่องทางมีเงื่อนไขที่ต่างกัน (มีรายละเอียดอีกมาก) ดูข้างบนแล้วอาจเหมือนมีหลายช่องทาง ทว่า แท้จริงแล้ว  เกษตรกรไม่มีทางเลือกเพราะต้องขายให้พ่อค้าท้องถิ่นอย่างเดียว  (เว้นแต่กรณีที่ 4  ที่เกษตรกรเพียงบางรายเท่านั้นที่ทำได้  เพราะรู้จักกับบริษัท)

  

ถามว่า รู้เรื่องช่องทางการตลาดแล้วได้ประโยชน์อย่างไร  ตัวอย่างคำตอบ  เช่น  ได้ประโยชน์ในการวางแผนการทำงานของรัฐ (ถ้าจำเป็นต้องทำในปีหน้าเพราะผลผลิตล้นตลาดอีก)   จะแทรกแซงตลาดอย่างไร จึงจะได้ผลโดยมีภาระต้นทุนของรัฐต่ำ โดยเกษตรกรได้ประโยชน์ รวมถึงไม่ทำให้ผลผลิตมากองเน่าเสียเสียเปล่าๆ  และไม่ทำลายระบบการตลาดบางระบบที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว (เช่น ระบบที่ 3)

  

น่าคิดว่า  ถ้าจะพัฒนาเครือข่ายการตลาดของเกษตรกร  จะเอาข้อมูลตรงนี้มาช่วยวางแผนการสร้างเครือข่ายอย่างไร  

  

อย่างไรก็ดี  ตลาด  ในทางเศรษฐศาสตร์ไม่ได้หมายถึงสถานที่   แต่เป็น"กลไก"  เป็น มือที่มองไม่เห็น และเล่นยาก  ยิ่งเจอการแทรกแซงของรัฐโดยหวังผลทางการเมือง หรือผลประโยชน์บางอย่างก็ทำให้ตลาดป่วนจนเดือดร้อนตั้งแต่เกษตรกรขึ้นไปจนถึงพ่อค้า ดังเช่น กรณีลำใย  ข้าว ฯ

 
หมายเลขบันทึก: 123890เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2007 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • อ่านตอนแรกก็สงสัยนะครับว่าบ้านเราก็มีคนเก่งๆเยอะแต่ทำไมแก้ปัญหาไม่ค่อยได้
  • พออ่านตอนท้ายก็เลยถึงบางอ้อ  อิอิ

เรื่องเกษตรไทยที่มาถึงขนาดนี้  คนเก่งตัวจริง คือ เกษตรกร พระแม่โพสพ  พระแม่คงคา  พระพิรุณค่ะ

พ่อค้าก็เก่งไม่น้อยในเรื่องตลาด

เคยไปดูเรื่องยางพาราที่สงขลาเมื่อ 6 ปีก่อน  ชาวสวนยางเลี้ยงเป็ดในสวนยาง แล้วย้ายเล้าเป็ดไปทั่วๆสวน  ยางงามมาก  

อยากให้กระทรวงเกษตรและ สกย. (สนง.สงเคราะห์การทำสวนยาง) มาศึกษาวิธีการของชาวสวน เพื่อเผยแพร่ต่อ   แต่เป็นไปไม่ได้เลยเพราะวิธีปฏิบัติแบบนี้ขัดกับหลักการของ สกย. ที่ในสวนจะต้องเตียนสะอาด  แล้วค่อยใส่ปุ๋ยเคมีเอา (อุดหนุนปุ๋ยด้วย)  แถมชาวสวนที่หัวก้าวหน้านี้ ไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐด้วยเพราะไม่ตรงหลักการ

เป้าหมายและวิสัยทัศน์ อาจเป็นปัญหาของคนเก่งๆ 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท