ดงหลวง 170 เฮฮาศาสตร์ 3 ดงหลวงกับประวัติศาสตร์ไทย


เรื่องราวในอดีตค่อยๆถูกยุคสมัยกลืนกินไป การเสียสละ การ “รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” ต่อสู้เพื่อประเทศชาติให้คนยุคดิจิตอลอย่างเรามาชื่นชม ถ้าเราไม่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ช่วงนี้บ้าง ก็เท่ากับเราเป็นคนไม่มีราก ไม่มีเหง้า

ระบบภูมินิเวศน์วัฒนธรรม โดยรวมมีพื้นที่เป็นภูเขาส่วนพื้นที่ระหว่างหุบเขา หรือเชิงเขาเป็นพื้นที่ลอนคลื่นตื้น ลักษณะภูมินิเวศน์แบบนี้จึงเหมาะต่ออุปนิสัยของชนเผ่าไทโซ่ และผู้ไท ที่นิยมธรรมชาติแบบภูเขา

ภาพด้านล่าง ที่ตรงจุดสีน้ำเงินเข้มซ้ายมือนั่นคือสถานที่เคยเป็น อาศรมอโรคยา มาก่อน หมายถึงโรงยา หรือโรงหมอ หรือชัดๆคือ โรงพยาบาลของกลุ่มคนที่ติดเชื้อเอดส์ และโรคร้ายแรงต่างๆ  มีอาคารง่ายๆรองรับ มี หมอป่า ที่ออกมาใช้ชีวิตตามปกติ เล่าว่ามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่เดินทามารักษาตามแบบป่าและพื้นบ้าน โดยใช้สมุนไพรป่า ซึ่งผลเท่าที่ทราบว่ามีจำนวนหนึ่งที่ดีขึ้นถึงหาย และจำนวนไม่น้อยที่ต้องล้มหายตายจากไป ช่วงที่ผู้บันทึกเข้ามาทำงานใหม่ๆ กลางปี 44 นั้น อาศรมนี้ปิดไปแล้ว 

จุดสีเขียวขวามือนั่นคือบริเวณเจดีย์เจ้าปู่องค์ดำที่ศักด์สิทธิของชาวไทยบรูดงหลวง ที่ทุกวันตรุษโซ่ชาวโซ่ทุกหมู่บ้านของตำบลพังแดงจะจัดผู้แทนมาร่วมทำพิธีกรรมทางความเชื่อของเขา และชาวบ้านทั่วไปก็จะมาทำบุญ กราบไหว้ และขอพรจากท่าน ส่วนที่ว่าประวัติเป็นมาอย่างไร สำคัญอย่างไร เชิญท่านติดตามรายละเอียดได้ที่ เฮฮาศาสตร์ 3 ครับ  

 

                           ลำห้วยบางทรายและถนนเปรมพัฒนาคู่ขนานไป 

หากย้อยรอยไปสมัยที่ยังไม่มีถนนเข้าพื้นที่นี้ ท่านคงนึกออกว่าชุมชนที่มาอาศัยในพื้นที่นี้ก็เป็นชุมชนคนป่า เมืองปิด นานๆจะมีคนนอกเข้ามา และนานๆจะมีคนในเดินทางออกไปข้างนอก ลักษณะเช่นนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งต่อวัตถุประสงค์บางประการของคนเรา.... 

 

   ตรงวงกลมนั้นคือ สำนักสงฆ์บนยอดดอย ซึ่งสร้างขึ้นตรงถ้ำเสรีไทย 

ท่านที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ย่อมผ่านหูผ่านตามาบ้างถึงคำนี้ รูธ ถ้านึกไม่ออกก็จะบอกว่าเป็นชื่อของท่านดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ใช้ขานเรียกกันในกลุ่ม เสรีไทย สมัยปัจจุบันท่านที่สนใจวิทยุสมัครเล่นก็จะรู้ว่า เขาเรียกว่า Call sign เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเฉพาะกลุ่มเท่านั้นถึงจะรู้ว่าเป็นใคร ที่ผู้บันทึกกล่าวเลยมาถึงนี่เพราะว่าที่ดงหลวงเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทยช่วงการกอบกู้ความเป็นอิสระของชาติโดย กลุ่มเสรีไทย น่ะซิครับ สภาพภูมินิเวศน์แบบป่าทึบไม่ใกล้ไม่ไกลจากรอยต่อเมืองระหว่างสกลนคร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร หรือสมัยก่อนคืออุบลราชธานี 

ครับที่บ้านมะนาวหมู่ที่ 1 ตำบลพังแดง มีถ้ำเสรีไทยอยู่ด้วย บนยอดเขาครับ ชาวบ้านผู้สูงอายุเล่าให้ฟังว่า อดีตเหล่าเสรีไทยสายอีสาน ล้วนเข้ามาอาศัยดงหลวงเป็นเขตพักพิง และเก็บอาวุธ  ยุทโธปกรณ์ต่างๆมากมาย  ก่อนที่จะนำไปออกปฏิบัติการตามแผนงานของเสรีไทย ในพื้นที่เขาเทือกเขาภูพานนี้มีถ้ำมากมายทั้งในจังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม นอกจากถ้ำแล้วก็จะมีสนามบินลับของฝ่ายเสรีไทยอยู่หลายพื้นที่ด้วย  

ถ้ำเสรีไทยเหล่านี้ต่อมาก็มีเผ่าไทยอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาใช้ประโยชน์ในลักษณะคล้ายๆกันก็คือ สมัยที่พื้นที่นี้ตกอยู่ในการปกครองของลัทธิสังคมนิยม  โดยเฉพาะถ้ำจะเป็นที่เก็บของผู้เฒ่าทั้งชายหญิงทั้งหลายที่เข้าป่าไปพร้อมกับลูกหลาน  แต่ความเฒ่าแก่การเดินเคลื่อนย้ายก็ลำบาก เมื่อมีข่าวมาว่า ทหารจะบุก ต่างก็เคลื่อนย้ายออกไปที่อื่นๆ แต่คนเฒ่าไปไม่ไหวก็พักอาศัยในถ้ำเหล่านี้ โดยมีทหารป่า 2-3 คนช่วยอยู่เป็นเพื่อน ดูแลต่างๆให้..เอ้อ  ลำบากลำบนกันจังเลย  

จนเมื่อถนนดำสาย เปรมพัฒนา ถูกก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 44 นั่นแหละ สังคมดงหลวงก็เปิดอ้าซ่า..ต่อสังคมภายนอก จนมาถึงปัจจุบัน วันเวลาผ่านไป เรื่องราวในอดีตค่อยๆถูกยุคสมัยกลืนกินไป การเสียสละ การ รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย ต่อสู้เพื่อประเทศชาติให้คนยุคดิจิตอลอย่างเรามาชื่นชม ถ้าเราไม่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ช่วงนี้บ้าง ก็เท่ากับเราเป็นคนไม่มีราก ไม่มีเหง้า ด้วยความเคารพบรรพบุรุษผู้เสียสละ  

(หากท่านอยู่กรุงทพฯ หรือเข้ากรุงเทพฯ หาเวลา หรือพาลูกจูงหลานไปเที่ยว  ภัณฑารักษ์อาคารเสรีไทยอนุสรณ์  สวนเสรีไทยถนนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม  กรุงเทพมหานคร  โทรศัพท์ ๐-๒๓๗๔-๖๗๐๐ โทรสาร  ๐-๒๒๔๖-๐๒๘๖  เวลาทำการ  ๙.๐๐ ๑๗.๐๐ น.  ปิดวันจันทร์และวันนักขัตฤกษ์)

หมายเลขบันทึก: 123878เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2007 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 12:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • กราบสวัสดีค่ะออาจารย์ค่ะ
  • หนูเคยอ่านหนังสือ  14 ตุลาคม
  • ในหนังสือเข้าเขียนถึงถ้ำรอดด้วยถ้ำนี้มันอยู่ที่ดงหลวงหรือเปล่าค่ะเข้าเขียนถึงคนที่เข้าป่าค่ะพอออกจากป่าเข้ากลับมาอีกแล้วไปติดอยู่ในถ้ำ ทุกคนรอดแต่พระกายตายในถ้ำรอดหรือเปล่าในหนังสือเข้าไม่บอก  แค่บอกว่าไม่มีใครเจอเขาอีกเลย
  • อ่านบันทึกอาจารย์ขนลุกสองถึงสามครั้งได้ค่ะ
  • ถ้าหนูไม่ได้ไปดงหลวงหนูจะไม่ยอมตายค่ะ

สวัสดีครับน้องกิ่ง คนดีของท่านครูบาและแม่หวี และของทุกคน

  • ดูเหมือนน้องกิ่งสนใจประวัติศาสตร์นะครับ  ดีครับ ประวัติศาสตร์ทำให้เราไม่ลืมความเป็นไทยเรา
  • ถ้ำรอด  ไม่เคยได้ยินครับ อาจจะมีแต่ไม่รู้ เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่ของดงหลวงนั้น หากเราไม่ตั้งคำถามชาวบ้าน เขาก็จะไม่เล่าให้ฟัง
  • คืนที่ 16 และ 17 จะพาสหายป่ามาคุยกับพวกเฮฮาศาสตร์ เป็นอีกแบบหนึ่งของ KM ธรรมชาติ
  • ฝากเรียนท่านพี่สมพิศ ไม้เรียงว่า จะเชิญหมอสมุนไพรป่ามาคุยกับท่านพี่ เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องสมุนไพรป่ากันครับ คิดว่าท่านพี่คงสนใจมากๆเลย เพราะหมอท่านนี้รับคนเป็นมะเร็งมารักษาด้วย
  • เคยเล่าให้ฟังแล้วที่ เรื่องเล่าจากดงหลวง 89 ป่าชุมชน สมุนไพร และหมอป่าของชาวบ้าน
  • เคยฟังจากครูเมื่อสมัยเด็กๆครับ
  • เรื่องราวในอดีตต้องฟังจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ถึงจะได้บรรยากาศและข้อมูลที่เป็นเรื่องจริง
  • ผมจะรอวันนั้น

มันจะเป็น KM ธรรมชาติอีกแบบหนึ่งไปเลยครับ เอาเป็นความหลากหลายของแบบ KM ที่อยากให้มาร่วมกันครับ

 

HS3YM and Hamonic ; Roger...และจะ QRD ดงหลวงแน่นอนครับ

 

ผมลืมไปหมดแล้วท่าน P สะ-มะ-นึ-กะ

เกือบ 20 ปีแล้วมั๊ง หุ หุ..ตั้งแต่มือถือมายึดครองตลาดนี้นะ วิทยุสมัครเล่นก็หดตัวลงเยอะเลยนะครับ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย ประวัติศาสตร์ทำให้เรารู้รากเหง้าของตนเอง แต่น่าเสียดายที่การสอนประวัติศาตร์ในโรงเรียนกลับทำให้ประวัติศาสตร์กลับถูกมองว่าเป็นแค่ "อดีต" นักเรียนก็ได้แค่ท่องๆ จำๆเพื่อไปสอบ ไม่เห็นคุณค่าของตนเอง

เรื่องราวที่พี่บางทรายเล่ามาทำให้เกิดความรู้สึก เห็นคุณค่าของสิ่งที่เกิดในอดีต เป็นความรู้สึกว่ามีสิ่งที่ร่วมกันในบริบทแห่งประวัติศาสตร์และปัจจุบัน

กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการศึกษาวิจัยถึงการสร้าง "ภูมิทัศน์วัฒนธรรม" สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าคนในท้องถิ่นไม่ตระหนักถึงคุณค่าประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่นตน จะไปรักษาทุนประเภทต่างๆที่ตนมีอยู่ได้อย่างไรหากไม่เข้าใจ"ราก"ของตนเอง

ความหลากหลายแห่ง"ภูมิทัศน์วัฒนธรรม"ยังสามารถนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้อย่างมากแสดงถึงความมั่งคั่งทั้งทรัพยากร และภูมิปัญญาของชาติใช่มั้ยคะ

ถูกใจจังเลยคุณนายครับ

ระบบหลักสูตรการเรียนการสอนแม้ในป่าเขาดงหลวงก็เหมือนกับเด็กเรียนที่ใจกลางกรุงเทพฯ

แล้วประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล่ะหายไปไหนหมด ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของบรรพบุรุษของเขาเองด้วยซ้ำไป

หรือบางทีแนวคิดที่จะเชิดชูแต่ประวัติศาสตร์กรุงเทพยังคมสืบต่อเนื่องไปเพียงเท่านั้น 

การปรากฏของผู้มีบุญในอีสานมีมากมาย คือปรากฏการณ์ของสังคมท้องถิ่น ไม่มีเรียนในระดับประถมมัธยม แม้แต่มหาวิทยาลัย  แต่มีนอกหลักสูตร

อยากเห็นผู้เฒ่าผู้แก่เป็นครูสอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้ลูกหลาน และเรียนกันใต้ต้นยางนาใหญ่ชายป่า ซึ่งอดีตเป็นที่รวมพลของกลุ่มรักชาติ มีแต่หลักสูตรนอกโรงเรียนเท่านั้นที่ทำกับ ระบบโรงเรียนมันเป็น Deschooling ตายไปแล้วอย่างที่ Nicholus Bennethเขียนไว้เมื่อ 25 ปีที่แล้ว

มันเป็น KM ท้องถิ่นที่ยังไม่มีใครกล่าวกันครับ เฮฮาศาสตร์ 3 จะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาแบบเงียบๆ

อยากเห็นผู้เฒ่าผู้แก่เป็นครูสอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้ลูกหลาน และเรียนกันใต้ต้นยางนาใหญ่ชายป่า ซึ่งอดีตเป็นที่รวมพลของกลุ่มรักชาติ มีแต่หลักสูตรนอกโรงเรียนเท่านั้นที่ทำกับ ระบบโรงเรียนมันเป็น Deschooling ตายไปแล้วอย่างที่ Nicholus Bennethเขียนไว้เมื่อ 25 ปีที่แล้ว

  • อยากให้ชาว G2K อ่านกันดัง ๆครับ

น้องออต P ออต

  • นักการศึกษาดีดี มีมากครับบ้านเรา พูดจาน่าเคารพนับถือมาก แนวคิดสุดยอดมากมาย
  • แต่ที่ทำจริงๆมีไม่มาก น้อยมากครับ
  • ชาว Bloggers คงจัดนำไปก่อนนะครับ เรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จากสหายป่า ไม่มีใครจัดได้ นอกจากดงหลวงที่มีเงื่อนไขเฉพาะเท่านั้นครับ
  • มาเถอะมาเรียนรู้ท้องถิ่นด้วยการคุยกับนักต่อสู้ ที่เอาชีวิตเข้าแลกมาแล้ว  

สวัสดีครับ ผมกำลังศึกษาประเผ่าโซ่อยู่ไม่ทราบว่าอาจารย์พอที่มีประที่มาที่ไปของชนเผ่าโซ่ (ดงหลวง)อย่างละเอียด หรือเปล่าครับ ถ้ามีช่วยส่ง เมล์ให้ผมหน่อยครับ จะเป็นพระคุณมากครับ ขอบคุณครับ

สวัสดีน้อง sanya

  • น้องครับ เราคงมีเรื่องคุยกันเยอะหน่อยนะต่อวิธีการหาข้อมูลของน้องนะครับ
  • พี่คิดอย่างนี้นะครับ ในฐานะที่น้องเป็นผู้ร้องขอข้อมูลดังกล่าว ปกติ มายาททางวิชาการเขาก็มีอยู่เป็นสามัญสำนึก น้องควรแสดงตัวว่า เป็นใคร อยู่ที่ไหน กำลังเรียนอะไร มีวัตถุประสงค์อย่างไรในการขอข้อมูลดังกล่าว เพื่อพี่ ผู้จะให้ข้อมูลจะได้รู้จักกันมากกว่าเพียงห้วนๆว่า sanya  มารยาทเป็นเรื่องสำคัญในทางสังคม นี่คือทุนทางสังคมไทยเรานะน้องนะ
  • ในทางวิชาการนั้นต้องอ้างอิงที่มาที่ไปของข้อมูลหากเอาข้อมูลไปเฉยๆแล้วพี่ไม่ได้ให้แหล่งข้อมูลด้วยจะเกิดความไม่สมบูรณ์ของเนื้อหาสาระนั้นๆ คือไม่มีที่มาที่ไป
  • คำพูดหนึ่งประโยค มันมีที่มาที่ไปเป็นร้อยประโยค  หากอาจารย์เขาซักไซร้ไร่เรียงน้องน้องจะตอบอาจารย์ว่าไง  ดังนั้นข้อมูลที่ได้ไปนั้น น้องต้องคุย แลกเปลี่ยนกับเจ้าของข้อมูลให้ทะลุ ปรุโปร่ง การทำเพียง C&P (copy and past)มันไม่มีประโยชน์กับกึ๋นเลยนะน้องนะ
  • เอาหละข้อมูลเรื่องชนเผ่าไทโซ่ดงหลวงนั้น พี่คงให้น้องไปค้นคว้าเอาที่ "หอแก้ว" ที่จังหวัดมุกดาหาร ที่นั่นมีประวัติศาสตร์ มีเอกสารทางราชการ น้องต้องลงทุนหน่อย จะเอาความรู้ต้องลงทุนหน่อนนะ
  • หอแก้วคืออาคารพอสูงตั้งอยู่ที่ในเมืองมุกดาหาร ไปที่มุกดาหารถามสามล้อเขาก้พาไปถูก ไปใช้เวลาศึกษาที่นั่นสัก สัปดาห์หนึ่ง  หากมีเวลามากกว่านี้ก็เข้าไปดงหลวง ไปหาพ่อเกี้ยง บ้านหนองหมู ตำบลพังแดง พ่อเกี้ยงเป็นเฒ่าจ้ำ ผู้ทำพิธีกรรมต่างๆตามประเพณีไทโซ่ และรู้เรื่องโซ่ดีครับ
  • น้องรู้หรือเปล่าว่าภาษาราชการเรียกชนเผ่าไทโซ่ว่าอย่างไร..เอ้าไปค้นมา 
  • ทางที่ดีนะครับน้องควรสละเวลาไปอ่านที่นี่ ด้วยครับhttp://gotoknow.org/blog/k-creation/170676

สวัสดีคะพี่บางทราย

มาระลึกถึงเฮฮาศาสตร์ 3 ดงหลวงกับประวัติศาสตร์ไทย

มีแฮงหลาย ๆ นะค่ะ

สวัสดีครับน้องหมู

ดงหลวงมีประวัติศาสตร์อีกมาก  แค่ไปนั่งคุยกับอดีตสหายเก่าระดับหัวหน้า ก็บันทึกไม่ไหวแล้ว  แต่นั่นน่ะคือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่สำคัญ  จะพยายามทำเท่าที่จะมีเวลา  อยากจะสร้างน้องๆมาช่วยบันทึกด้วยครับ  นับวันจะล้มหายตายจากลงไปหมด ล้วนมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ทั้งนั้น

ขอบคุณครับน้องหมูสาวแกร่งของเรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท