ในการปฏิบัติธรรมทำอะไร และอย่างไร? 1


การเจริญสติปัฏฐาน จึงเป็นการประกอบด้วยสติที่ตามรู้สภาวธรรมทางกายและใจตามความเป็นจริง

ความจริงการปฏิบัติธรรม แม้ว่าจะเป็นในศาสนาพุทธด้วยกัน ก็มีอยู่หลายแนวทาง  หลายสำนัก เมื่อเร็วๆนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมตามหลัก สติปัฏฐาน ๔ ตามที่ท่านอาจารย์ คือพระคันธสาราภิวงศ์ แห่งวัดท่ามะโอ ได้เมตตาสอนและฝึกหัดให้

สติ แปลว่า การระลึกรู้

ในแนวทางการเจริญสติปัฏฐาน หมายถึงการระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบันที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้าในปัจจุบันขณะ ไม่ใช่ระลึกรู้เรื่องราวที่ผ่านมาแล้วหรือคิดถึงเรื่องในอนาคต

ปัฏฐาน แปลว่า เข้าไปตั้งไว้ หมายถึงความจดจ่ออย่างต่อเนื่อง

สติปัฏฐาน จึงหมายถึง การระลึกรู้ การตามรู้ การกำหนดรู้ อย่างจดจ่อต่อเนื่อง

การเจริญสติปัฏฐาน จึงเป็นการประกอบด้วยสติที่ตามรู้สภาวธรรมทางกายและใจตามความเป็นจริง

สภาวธรรมทางกาย หรือ รูป คือความเคลื่อนไหวทางร่างกาย เช่นสภาวะพอง-ยุบขณะนั่งกรรมฐาน หรือสภาวะเคลื่อนไหวของเท้าในขณะเดินจงกรม

สภาวะทางจิต หรือ นาม คือ เวทนา หรือความรู้สึกทางกายหรือใจ หรือจิต เช่น การเห็น การรู้สึกร้อน-เย็น จิตที่ประกอบด้วยความโกรธ  จิตที่ประกอบด้วยความโลภ จิตที่ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน เป็นต้น

การเจริญสติปัฏฐานเปรียบเสมือนกับการดูสายน้ำ

เวลาที่ดูสายน้ำอยู่ จะเห็นสายน้ำไหลไปอยู่ข้างหน้า บางครั้งก็ไหลเร็ว บางครั้งก็ไหลช้า บางครั้งสายน้ำขุ่นมัว แต่บางครั้งสายน้ำก็ใสสะอาด คนดูไม่อาจบังคับสายน้ำให้ไหลเร็วหรือไหลช้า และไม่อาจทำให้สายน้ำใสสะอาดหรือขุ่นมัวตามความต้องการ เพราะเป็นคนละส่วนกัน

นักปฏิบัติธรรมต้องรับรู้ว่าสภาวธรรมต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น ๆว่า ไม่ใช่ตัวเรา ของเรา เป็นสภาวธรรมซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ไม่ควรไปปรุงแต่งให้เป็นไปตามต้องการ หรือนำตนเข้าไปพัวพัน

ตามหลักวิชาการสติปัฏฐาน ๔ สิ่งที่ต้องพิจารณาจะมีสี่อย่าง คือ

 กองรูป  เวทนา จิต และสภาวธรรมมีการเห็นเป็นต้น

  

แต่พระพุทธองค์ทรงเน้นเรื่องการเจริญกายานุปัสสนา หรือ การทำกายาคสติ ในอิริยาบถใหญ่ หรือการ ยืน เดิน นั่ง นอน มากกว่าการกำหนดรู้อย่างจดจ่อต่อเนื่องต่อ เวทนา  จิต และสภาวธรรม พระคันธสาราภิวงศ์ วิปัสสนาจารย์ แห่งวัดท่ามะโอ ได้อธิบายว่าเหตุผลคือ ในขณะที่ รูป คือธาตุกรรมฐานทั้ง ๔ ปรากฏชัดเจนแล้ว นาม คือ เวทนา จิต และสภาวธรรมมีการเห็นเป็นต้น ย่อมจะปรากฏชัดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ

การกำหนดรู้ธาตุกรรมฐานนั้น ตามพระพุทธดำรัสในมหาสติปัฏฐานสูตร กล่าวไว้ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งคือ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ตามที่ตั้งอยู่ตามที่ดำรงอยู่ โดยความเป็นธาตุว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีอยู่ในกายนี้

www.WatTamaoh.com
หมายเลขบันทึก: 123096เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2007 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ขอบคุณที่ทำให้เข้าใจเรื่องการเจริญสติมากขึ้น
  • อ่านแล้วใจสงบเย็นขึ้นครับ
  • เห็นรูปธรรมของสติปัฏฐานจากเรื่อง "การดูสายน้ำ" เข้าใจง่ายดีครับ

สวัสดีค่ะน้องยอดดอย P พระอาจารย์คันธสาราวงศ์ท่านสอนได้ดีมากจริงๆค่ะ การเปรียบเทียบและยกตัวอย่างทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่าย

ยินดีมากที่ได้มีส่วนในการสร้างความเข้าใจในเรื่องของการเจริญสติค่ะ ที่อยากเขียนถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้มาก็เพราะตระหนักว่าคนส่วนมากไม่เข้าใจว่าการเจริญสติคืออะไร แล้วการปฏิบัติธรรมนั้นเขาไปทำอะไรกัน คือเอาตัวเองเทียบค่ะว่าเมื่อก่อนเราก็ไม่รู้ แล้วไม่มีที่ไหนพูดชัดๆ คนที่จะเข้าใจคือคนที่ได้เข้าไปสัมผัสด้วยการปฏิบัติเอง

เมื่อก่อนไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าตัวเองจะมาสนใจการเจริญสติ ปฏิบัติธรรมอะไรนี่ มองว่าเป็นเรื่องของคนอีกกลุ่มที่ไม่ใช่เรา ยังดีที่เมื่อได้พบก็รู้ว่าเป็นสิ่งประเสริฐ มีเวลา สุขภาพ และปัจจัยประกอบอื่นที่ทำให้ได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งขึ้นทีละเล็กทีละน้อยค่ะ

P
สวัสดีค่ะ
ตามมาอ่านค่ะ
อาจารย์สรุปสั้นๆมาให้ดีมากเลยค่ะ
ปกติเน้นการปฎิบัติมากกว่า เลยไม่ค่อยคล่องด้านปริยัติเท่าใดค่ะ
แล้ว เวลามาฝึกต่อเอง อาจารย์มีพระอาจารย์ที่ปรึกษาไหมคะ
ปกติ ถ้าไม่ไกล อาจต้องไปกราบท่านอีกค่ะ
เพราะพี่เอง แรกๆ ต้องไปหาหลวงพ่อเป็นประจำค่ะ

สวัสดีค่ะ

เมื่อก่อนตัวเองก็ไม่ค่อยรู้ด้านปริยัติเท่าไรนะคะ และพระอาจารย์ที่สอนครั้งก่อนๆก็จะไม่สอนลงวิชาการปริยัตินัก เน้นปฏิบัติเลย ส่วนมากคนที่ปฏิบัติมานานๆเขามักเพิ่มพูนความรู้ปริยัติกันทีหลังมั้งคะ แต่เผอิญตัวเองอาจเป็นคนประเภทอยากรู้เหตุผล ว่า ทำไม คู่ไปกับอย่างไร ทั้งๆที่ก็ยังอยู่ขั้นอนุบาล

วัดท่ามะโอ ไกลถึงลำปาง แต่พระอาจารย์ท่านทันสมัยมากเลยค่ะ สามารถอีเมล์ ถามหรือขอข้อชี้แนะจากท่านได้ค่ะ

กลับมาบ้านแล้วย่อหย่อนมากค่ะ แทบไม่ได้ปฏิบัติต่อด้านวิปัสสนา พอได้ทำสมถะบ้าง คือการสวดมนต์ ภาวนาพุทธานุสติและแผ่เมตตาอย่างที่ได้เรียนรู้วิธีการใหม่นี้มา แต่การเดินจงกรมนั้นสำคัญกว่ามากเพราะจะทำให้มีโอกาสกำหนดรู้ พยายามอยู่ค่ะที่จะมีวินัยปฏิบัติให้ได้ทั้งสองประการประกอบกัน

อาจารย์คะ

ขออนุญาตค่ะ

ที่จริงพี่เป็นคนอย่างอาจารย์เปี๊ยบเลยจริงๆๆ

ตอนแรกไม่เชื่ออาจารย์

แต่ต่อมา ลองใหม่ ยังไม่ต้องไปลงลึกมากเรื่อง ทำไมอย่างนั้น อย่างนี้ ปฎิบัติไปก่อน ตามแนวท่านพุทธทาสเลยนะคะ ท่านจะไม่อธิบายมากจนกว่า เราจะปฎิบัติได้ถึงระดับหนึ่งก่อนค่ะ

พอใจหยุด ใจนิ่ง ใจตกตะกอนจริงๆแล้ว เราได้คำตอบเองโดยอัตโนมัติค่ะ แล้วท่านจะสอนเราให้ลึกซึ้งลงไปอีกค่ะ

เราจะเข้าใจค่ะ

พี่มีประสบการณ์เรื่องนี้ด้วยตนเอง แต่ก็ยังอนุบาลเหมือนกัน แต่อาจจะอนุบาลสอง

ลองดูซีคะ

คุณพี่ศศินันท์P คะ ขอบคุณมากเลยค่ะในคำแนะนำ

พระอาจารย์ที่ผ่านๆมาท่านก็บอกค่ะว่าให้ปฏิบัติโดยไม่ต้องสงสัย ก็เชื่อค่ะ มาอยากรู้ตอนกลับบ้าน จึงอ่านหนังสือพยายามทำความเข้าใจ พอมาพบวิธีสอนที่วัดท่ามะโอจึงชอบมากค่ะ เพราะทำให้ได้คำตอบที่มีพื้นฐานจากการปฏิบัติมาก่อน

 ...พอใจหยุด ใจนิ่ง ใจตกตะกอนจริงๆแล้ว เราได้คำตอบเองโดยอัตโนมัติค่ะ ...

เป็นประสบการณ์มหัศจรรค์ครั้งแรกที่ไปปฏิบัติที่วัดป่าโสมพนัส สกลนครค่ะ

ดีใจจังที่ได้มีโอกาสสนทนาธรรมกันเช่นนี้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท