ความเข้าใจใน"ป่าชุมชน"


ความซื่อสัตย์ และ ซื่อตรง ต่องานที่ทำ คือสิ่งที่น่ายกย่องสรรญเสริญ แต่นั่นต้องควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจในงานนั้นๆอย่างถ่องแท้ด้วย

เพราะความทรมานที่ต้องทนทุกข์กับ"ฝี"เม็ดเขื่องที่อาศัยอยู่ในหูข้างขวามานานหลายปีแม้ไม่อยากให้มันอยู่ก็ตาม  บวกกับความรู้ใหม่ที่เพิ่งได้มาจาก "โต๊ะ" (คุณย่า") ว่า ให้ไปหาเมล็ดจากต้น"แก้มปลาหมอ" (เป็นไม้ล้มลุกที่ขึ้อยู่ตามดินเลนที่มีความเค็ม คือพื้นที่ป่าโกงกางนั่นเอง) ซึ่งผมรู้จักต้นไม้ชนิดนี้ เพียงแต่ไม่เคยสังเกตเห็นเม็ดของมัน  และใช้เวลาออกหาตามป่าโกงกาง ซึ่งใช้เวลาอยู่ถึงสองวัน จึงรู้ว่าหน้าตาของมันเป็นอย่างไร จากสรรพคุณที่ได้รับการยืนยันจากผู้เฒ่าผู้แก่ก็คือ"แก้น้ำเหลืองเสีย และรักษาพวกฝีหนอง"

       จริงๆแล้ว ผมควรจะเก็บข้อมูลให้มากกว่านี้อย่างเช่น ข้อมูลทางสายพันธุ์หรือแม้แต่ภาพประกอบเพื่อความเข้าใจอันดีของทุกคนที่นี่ไงครับ แต่เพราะความน้อยใจ บวกกับยังไม่สามารถหา "การ์ด"อันใหม่มาทดแทนอันเก่าที่ร้านอัดภาพทำหายได้ ก็เลยต้องออกมาในสภาพเช่นนี้

     วันนี้เป็นวันที่สองที่ออกหา โดยออกแต่เช้าและจุดหมายอยู่ที่ "ท่าปอม คลองสองน้ำ"สถานที่ท่องเที่ยวค่อนข้างน้องใหม่ของจังหวัดกระบี่  ก่อนจะคุยถึงประเด็นหลัก จะขอทำความเข้าใจคร่าวๆถึงสถานที่ที่ผมกล่าวถึง "ท่าปอม" ถูกเรียกว่าคลองสองน้ำเพราะว่า เป็นพื้นที่เขตรอยต่อของน้ำเค็มและน้ำจืด  เพราะลำธารที่มีความกว้างเพียงสองถึงสามเมตรแต่มีน้ำใหลในปริมาณที่สม่ำเสมอตลอดทั้งปี และเป็นพื้ที่ปลายคลองอิธพลจากการขึ้น-ลงของน้ำทะเลมีไม่มากนักจึงทำให้เกิดพรมแดนเส้นแบ่งเขตน้ำค่อนข้างตายตัว ทำให้เราสามารถสังเกตเห็นแนวพรมแดนตามธรรมชาติได้ค่อนข้างชัดเจน นั่นก็คือ เราสามารถมองเห็นต้นไม้ต้นสุดท้ายจากป่าพรุนำจืดและต้นโกงกางต้นแรก ซึ่งอยู่ห่างกันและหรือบางจุดอาจเหลื่อมกันแค่ระยะหนึ่งถึงสองเมตรแค่นั้นเอง  ต้นโกงกางต้นแรกๆที่เห็นมักจะเป็นจำพวก พังกาหัวสุม,มะนาวผี,แก้มปลาหมอ ซึ่งในจำพวกนี้คือไม้ป่าชายเลนที่ไม่ได้ต้องการความเค็มของน้ำ(water saltity)มากนัก  ผมจะขออธิบายให้เข้าใจง่ายอีกนิดหนึ่ง ปรกติแล้วป่าชายเลนที่เราเห็นอยู่ทั่วไปตามปากแม่น้ำที่จะอยู่ใกล้กับทะเลเปิด จะเป็นไม้จำพวกทนต่อสภาพความเค็มปรกติได้ดี ซึ่งความเค็มโดยปรกติตามปากแม่น้ำมักจะอยู่ที่ 60-70 เปอร์เซ็น (ค่าความเปลี่ยนแปลงอาจขึ้นอยู่กับการขึ้น-ลงของน้ำ) ไม้ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นไม้ที่ทนความเค็มในน้ำได้น้อย ซึ่งค่าความเค็มของน้ำมักจะไม่เกิน 20-40 เปอร์เซ็น เมื่อทราบปัจจัยเหล่านี้หลายคนอาจหายสงสัยว่าทำไมพวกมันจึงถูกเรียกว่า "พืชสังคม" เพราะปัจจัยความต้องการที่แตกต่างกันจึงทำให้พวกมันแบ่งเขตที่อยู่ค่อนข้างชัดเจน

      เอาหล่ะทีนี้ก็ถึงเวลาของผมซักที...!

ผมค่อนข้างคุ้นเคยกับสถานที่นั้นจึงไปถึงที่นั่นแต่เช้า และจากการพูดคุยกับชาวประมงแถวๆนั้น ทำให้รู้เพิ่มเติมอีกว่า นอกจากเม็ดของมันแล้ว ผมยังสามารถใช้"ยอดอ่อน"ของมันมาทำเมนู"แกงเลียง"ที่ปรุงเหมือนกับ"เลียงยอดตำลึง"ยังไงไม่ผิดเพี้ยน ผมจึงออกหาเม็ดซึ่งได้มาแค่"เม็ดเดียว" จึงเก็บยอดไปอีกหนึ่งยอดเผื่อฉุกเฉิน มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งมองเห็นผม และเข้ามาห้าม และบอกว่าห้ามเก็บยอดแก้มปลาแม้จะเป็นแค่ยอดเดียวก็ตาม ถ้าอยากได้ให้ไปเก็บในพื้นที่ด้านนอก ซึ่งผมก็ทำตาม  แต่พื้นที่ด้านนอกน้ำค่อนข้างลึกประมาณหน้าอกเห็นจะได้ ผมจึงเปลี่ยนใจ เดินกลับเข้าไปเก็บด้านในอีกครั้ง "ผมไม่ได้ต้องการแสดงอภิสิทธิใดๆ" แต่ผมก็เชื่อว่า "ผมไม่ได้ทำผิดอะไรเลย"

      เจ้าหน้าที่ผู้นั้นแสดงความไม่พอใจออกมาอย่างเห็นได้ชัด และพูดทิ้งท้ายว่า เสร็จแล้วให้รีบออกไปซะก่อนที่เจ้าหน้าที่คนอื่นจะมาเห็นและโดนไล่...!

"ดูจากหุ่นและความแข็งแรงของไอ้หมอนี่แล้ว ผมคงล้มมันได้ไม่ยาก อย่างที่อดทนหน่อย ผมก็คงต้องใช้ซักห้าหกหมัด หมอนั่นคงได้ลงไปกลิ้งโดยที่ผมยังคงยืนยิ้มอย่างสบายใจ" นั่นคือคำแนะนำแรกที่ผมได้รับจากเจ้า"อัตตา"ของผมเอง แต่ผมไม่เชื่อมันหรอก เพราะการแก้ปัญหาของมันมักจะนำความเดือดร้อนมาให้ผมในภายหลังเสมอ..

สิ่งที่ผมเลือกทำก็คือเดินออกไปหลังจากที่ได้สิ่งที่ต้องการแล้ว แต่ก็ไม่ลืมที่จะถือเม็ดแก้มปลาหมอ และยอดของมันโชว์หราให้ทุกคนรู้ว่าผมมาที่นี่เพื่ออะไร เอ้า..ก็ผมไม่ใช่ขโมยนี่ครับ และผมก็ไม่ได้ขโมยอะไรของใครด้วย

     ที่นี่คือพื้นที่"ป่าชุมชน"ครับ และผมก็คือ"คนในชุมชน"ครับ  

"ป่าชุมชน" ไม่ใช่ป่าที่อณุรักษ์เอาใว้เพือให้ประชาชนมานั่งดูแล้วร้องตะโกนว่า "อณุรักษ์ อณุรักษ์ อณุรักษ์" แล้วกลับบ้าน มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย  "ป่าชุมชน"คือป่าที่อณุรักษ์ใว้เพื่อคนในชุมชนได้เข้าไปเก็บเกี่ยวใช้สอยโดยไม่ขัดต่อหลักธรรมชาติและการอณุรักษ์ เพราะที่นั่นเป็นทั้ง"มินิมาร์ท"และ"คลีนิค"ของชุมชนเลยทีเดียว มันดีกว่าไอ้โครงการช่วยคนไทยห่างไกลโรคเป็นใหนๆ

   ผมยินดีให้อภัยเจ้าหน้าที่คนนั้น โดยขอยกความดีความชอบทั้งหมดให้กับการปฏิบัตหน้าที่ด้วยความซื่อตรง และมุ่งมั่นกับการดูแลรักษาสถานที่อันมีค่ายิ่งของชุมชน แต่น่าจะดีกว่ามาก ถ้าความซื่อสัตย์สุจริตจะเดินร่วมทางกับการทำความเข้าใจที่ดีที่ถูกต้องต่อความรับผิดชอบกับงานที่ตัวเองทำอยู่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม  

     ขากลับได้แวะที่ร้านน้ำชา(ไม่ใช่โรงน้ำชา) เจอกับผู้เฒ่าผู้แก่อีกท่านหนึ่ง ทำให้ผมได้ความรู้เพิ่มมาใหม่อีกว่า ผมยังสามารถนำใบมาคั้นน้ำหยอดหูได้อีกด้วย และอีกของแถมหนึ่ง "บ้านที่มีเหรือดอยู่ตามที่นอนหมอนมุ้ง ใช้ใบแก้มปลาหมอใส่ใต้หมอนมุ้ง จะทำให้เหรือดหนีหาย ไม่ยอมกลับเข้าประเทศอีกเลย

    ผมค่อนข้างทึ่งกับความรู้ต่างๆที่ได้รับจากคนรุ่นเก่าๆ หลังจากที่ผมเคยคิดว่า "ภูมิปัญญาเหล่านั้นตายไปพร้อมกับคนรุ่นนั้นแล้ว"

วันนี้ผมได้รู้ว่า ภูมิปัญญาเหล่านั้นยังไม่ตายครับ แต่คนที่จะมาถ่ายทอดภูมิปัญญาเหล่านั้นต่างหากครับที่ "ตาย"ใกล้จะหมดแล้ว

 

 

หมายเลขบันทึก: 123090เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2007 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 11:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ดีใจด้วยครับที่เห็นภูมิปัญญาของชุมชน
  • เสียดายบางอย่างหายไป
  • คนรุ่นเราน่าจะช่วยกันบันทึกและรักษาไว้ครับผม
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่อาจารย์ขจิต

 เห็นรูปลงบล็อคใหม่ ไม่ค่อยคุ้นเลย ตอนแรกนึกว่า "เอลวิส"ครับ   พอดูอีกที อ๋อ...หล่อกว่าตั้งเยอะ ! พี่ขจิตนี่เอง

  ตอนนี้เวลาเกือบสองทุ่มแล้วครับ ผมเพิ่งจะฟื้นจากพิษใข้จากการกำเริบเสิบสานของฝีเม็ดนั้นครับ  ผมได้นำส่วนของ"ยอดอ่อน"ไปให้ย่าปรุงเป็นน้ำซุปขนาดหนึ่งถ้วยแล้วทานกับข้าว พร้อมๆกับเคี้ยว"เม็ด"ตามเหมือนเคี้ยวผักเลยครับ รสชาดขมปร่าแต่พอทนได้ครับ 

หลังจากวิ่งวุ่นกับการหาตัวยา(สองวันไปกลับเกือบร้อยกิโล)และให้ย่าปรุงเสร็จแล้ว ประมาณบ่าย 2 โมง อาการใข้ก็ขึ้นสูงมากจนผมรู้สึกหนาว จึงรีบกลับบ้านไปนอน(ผมเป็นคนไม่ทานยาลดใข้มาประมาณ 5-6 ปีแล้วครับ การนอนจะเป็นการรักษาอาการใข้ตามปรกติของผมครับ)

หลังจากที่ผมหลับไปเกือบห้าชั่วโมง ตื่นมาอาการใข้แทบไม่เหลือเลยครับ และที่ทำให้ผมทึ่งยิ่งกว่านั้นก็คือ อาการอักเสบและบวมที่แก้มขวาลดลงเกือบ 50 เปอร์เซ็น

หลังจากวันพรุ่งนี้ ผมคงซ่าได้ตามปรกติ

ขอบคุณครับพี่ขจิต แหม..มาคนแรกเลย  คิดถึงครับ

สวัสดีครับคุณการีม

  • ขอบคุณมากๆ ครับ สำหรับสิ่งที่ดี่ที่มอบผ่านบทความครับ พร้อมกับขอให้หายไวๆนะครับ
  • ป่าชุมชน หรือป่าธรรมชาติ ที่ธรรมชาติได้คัดสรรแล้วว่า อะไรควรอยู่ตรงไหน อะไรควรจะขึ้นตรงไหน และเหมาะตรงไหน ซึ่งเป็นคำตอบของการทดลองที่ผ่านมาแล้วหลายๆ รุ่น จนมาถึงทุกวันนี้ เราก็เห็นคำตอบกันชัดว่า ป่าชายเลนปลูกต้นอะไรได้บ้าง คำตอบก็อยู่ที่ป่าชายเลน
  • พื้นที่แถวๆ ในป่าตามที่ต่างๆ พรุต่างๆ ก็มีต้นไม้พรรณต่างๆ ขึ้น สิ่งเหล่านั้น ก็เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่านั่นคือ ความเหมาะสมของเขาที่เค้าคัดสรรมาแสนนาน
  • คนเราที่พลั้งพลาดในการทำตัวผิดธรรมชาติ เข้าไปบุกรุกบ้าง เปลี่ยนป่าชายเลนให้เป็นป่าโกงกางอย่างเดียว แทนที่จะให้มันอยู่ร่วมกัน ให้มีความหลากหลายทางธรรมชาติ คนเราก็บังอาจไปเอาต้นอื่นออกแล้วใส่แต่โกงกางลงไป เหมือนปัญหาหลายๆ ที่ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ชาวบ้านผู้รู้ดี และเป็นเพื่อนของป่าเหล่านั้น ทราบดีว่าธรรมชาติเค้ามีค่าของเค้า อยู่ร่วมกันแบบพึ่งพากัน เป็นที่หลบภัยต่างๆ ให้กับสิ่งมีชีวิตต่างๆ หรือที่ำสำหรับเพาะพันธุ์ในช่วงฤดูวางไข่ หรืออื่นๆ
  • เห็นด้วยเลยครับ ว่าการอนุรักษ์นั้น ต้องให้โอกาสเค้าในการใช้ชีวิตตามลำพังบ้างแล้วมีการคัดเลือกพันธุ์ทางธรรมชาติบ้าง  เราควรอยู่ร่วมอย่างเข้าใจมากกว่าการอยู่ร่วมแบบเอาแต่ใจ อย่างโกงกางเอง มีการพัฒนาพันธุ์และการขยายพันธุ์ที่ชาญฉลาดมากๆ ครับ ซึ่งคุณการีมก็เห็นว่า เค้าฉลาดขนาดไหน สึนามิจะมาใหญ่ขนาดไหน หากผ่านป่าโกงกางที่สมบูรณ์ สึนามิก็วอดวายแตกสลายอยู่ใต้รากโกงกางนั้นหล่ะครับ
  • หากเราเร่งที่จะฟื้นฟูให้ได้ทัน ก็คงจะปลอดภัยมากขึ้น สำหรับการเกิดสึนามิในครั้งต่อๆ ไปอีกไม่นานนี้ครับ
  • ชายหาดเลนปลูกป่าชายเลน ชายหาดทรายปลูกต้นเตย หรือตามแต่พื้นที่ อาจจะช่วยได้เยอะครับ การเตรียมทางหนีภัยเป็นเพียงแค่หาทางรอดเฉพาะคนเท่านั้น แต่การเตรียมการที่ชายหาดให้พร้อมเป็นการสร้างทางรอดให้ระบบนิเวศน์บริเวณนั้นด้วยครับ
  • ขอบคุณมากครับ อิๆๆ เหมือนเข้ามาบ่นเลยครับผม หายจากฝีไวๆ นะครับ 

สวัสดีครับ คุณเม้ง

ขอบคุณมากครับ ที่ขอให้หายเร็วๆ และเป็นอย่างนั้นจริงๆครับ ตอนนี้ 9 โมงตรง อาการักเสบหายเกือบจะปลิดทิ้งไปเลย อาการใข้ไม่เหลืออีกแล้ว และเมื่อคืนจึงเป็นอีกคืนหนึ่งที่หลับสบายในรอบ 4-5 คืนที่ผ่านมา  เช้านี้ผมสามารถทำความสะอาดใบหูได้แล้ว และพรุง่นี้คงจะเข้าร้านตัดผมได้

       ผมชอบที่คุณเม้งบอกว่า"เราควรอยู่ร่วมอย่างเข้าใจมากกว่าการอยู่ร่วมแบบเอาแต่ใจ" นั่นใช่เลยครับ ก็เพราะความเอาแต่ใจนี่แหละครับที่สร้างปํญหาให้เราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

"หลักธรรมชาติ" คือหลักแห่ง"เหตุ"และ"ผล" ทุกอย่างในธรรมชาติย่อมอธิบายได้ด้วยตัวของมันเอง เพราะมันมีเหตุและผลอยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว

เราสามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้จากธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นว่าเราต้อง"ฉลาดหลักแหลม" หรือ "เลห์เหลี่ยมแพรวพราว" แต่มันจำเป็นมากกว่าที่เราต้อง"ทำความเข้าใจ"ครับ

      เราลองมาเปรียบเทียบ"สังคมแห่งป่า" กับ "สังคมมนุษย์"กันหน่อยเป็นไร ซึ่งสองสังคมนี้มีระบบที่คล้ายกัน นั่นคือ

การพึ่งพา  (relation) สังคมต้องมีการพึ่งพาอาศัยกันและกัน อย่างเช่น พวกเถาวัลย์ ที่ไม่สามารถสร้างลำต้นที่ใหญ่และแข็งแรงเพื่อที่จะขึ้นไปรับแสงแดดได้ ก็ต้องพึ่งพาผู้อื่นที่ลำต้นแข็งแรงกว่า เพื่อที่จะเลื้อยขึ้นไปรับแสงแดดและในขณะเดียวกันการเลื้อยพันจากต้นนี้ไปหาต้นโน้นของมันก็จะช่วยยึดต้นไม้ต้นอื่นๆเข้าด้วยกัน ในยามที่ลมพัดแรงโอกาศที่ไม้ใหญ่จะหักโค่นนั้นมีมาก แต่เถาวัลย์ก็ช่วยมันใว้

-การแข่งขัน (competition) สังคมต้องมีการแข่งขัน เม็ดที่งอกใหม่ต้องแข่งขันกับตัวเองและกับผู้อื่น เพื่อที่จะเจริญเติบโตขึ้นไปรับแสงแดด ผู้ที่เติบโตช้าจะถูกผู้อื่นปิดบังเรือนยอด แสงแดดไม่พอ เจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ลำต้นแคระแกน ตกเป็นอาหารของสัตว์และแมลงพื้นล่าง

-การทดแทน (succession) สังคมต้องมีการทดแทน ในสิ่งที่สูญเสียและขาดหายไป เมื่อไม้ใหญ่ล้มลงแสงแดดจะส่องผ่านพื้นล่างเพิ่มมากขึ้น เปิดโอกาศให้ไม้เล็กๆได้รับแสงแดดเพิ่มและเจริญเติบโตขึ้นทดแทนไม้ที่ล้มต่อไป

      จะเนิ่นนานแค่ใหน ธรรมชาติยังคงรักษาระบบของมันเองได้อย่างดีเยี่ยมและลงตัว ทุกอย่างมีจังหว่ะจะโคน ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป  แต่เมื่อเราหันมาดูสังคมมนุษย์แล้ว มันช่างน่าอดสูเสียเหลือเกิน

สังคมช่างขาดความพอดี ทั้งมากเกินไป และน้อยเกินไป ภาพที่เราเห็นมากที่สุดก็คือ "การแข่งขัน" ที่แข่งกันแบบเอาเป็นเอาตาย ขาด"การพึ่งพาอาศัย" และไร้ซึ่ง"การทดแทน"ในสิ่งที่ขาดหาย  ธรรมชาติพยายามบอกอะไรเราหลายอย่าง แต่เราไม่เคยฟัง ไม่เคยหยุดคิด และไม่พยายามเรียนรู้ หลักแห่งเหตุและผล

ขอบคุณอีกครั้งครับคุณเม้ง   สิ่งที่ผมเรียนรู้คงไม่มีประโยชน์ใดๆเลย หากผมนั่งบ่นอยู่คนเดียว  จะดีกว่ามากเลย หากหลายคนจะร่วม "บ่น" ให้กันและกันฟัง

 

 

สวัสดีครับคุณการีม

  • ดีใจมากเลยครับ ที่อาการดีขึ้นแล้วนะครับ แล้วก็จะหายเหมือนปลิดทิ้งหล่ะคราวนี้ เพราะหากเกิดมาใหม่ ก็รู้ทางแก้ไขแล้ว ได้ประสบการณ์อีกหนึ่งบทจากธรรมชาติครับ
  • เข้ามาเก็บตะกอนต่อครับ เพราะว่าอ่านคำตอบแล้วเรียกได้ว่าใจเดียวกันครับ แนวทางเหล่านี้ เราจำเป็นต้องสร้างคน และพูดคุย หรือชี้จุดประกายบางอย่างให้คนในชุมชนและคนอื่นๆ เห็นว่าสิ่งนั้นสำคัญ
  • แม้ว่า การที่เราชี้ให้เห็นจะไม่ทรงคุณค่าที่คนๆนั้นเริ่มชี้ให้หัวใจและหน้าต่างความคิดของเค้าเห็นด้วยตัวเองก็ตาม แต่ก็เป็นแนวทางหนึ่งครับ
  • ธรรมชาติมีหลักของ การเกื้อกูล พึ่งพา การล่า การหนี การทดแทน การวางแผน และอื่นๆ ในตัวเองอยู่อย่างสมบูรณ์ในตัวอยู่แล้วนะครับ
  • อย่างการวางแผนของธรรมชาติที่สละใบทิ้งเพื่อเก็บไว้เป็นปุ๋ยต่อไปอีกสามสี่ปีข้างหน้า กว่าใบไม้วันนี้จะย่อยเป็นปุ๋ยได้ ก็มีการวางแผนที่ดีทั้งนั้นครับ
  • ผมเลยตั้งขึ้นมาว่า คำตอบอยู่ในธรรมชาติ ทำลายธรรมชาติคือขาดคำตอบ  (คำตอบ ก็คือความรู้)
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ คงได้มีโอกาสเจอแล้วพูดคุยกับบ้างในอนาคตอันใกล้
  • แวะมาให้กำลังใจคะ
  • ชอบที่พูดว่านี่มันป่าชุมชนนะคะ
  • ถ้าชุมชนได้เก็บเกี่ยวผลผลิต..เขาก็จะช่วยกันดูแลไม่ทำลายนะคะ
  • ขอให้หายเร็วๆนะคะ
  • ตามาขอบคุณ
  • ที่ไปถามคำถามไว้
  • พอดียุ่งๆๆกับวิทยานิพนธ์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศหนึ่งปี
  • มีอะไรให้พอช่วยได้บอกนะครับผม

แวะมาอ่านบทความของคุณ kareem ครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท