ภาษาลูกครึ่ง (2) : ปฏิบัติการปรับแต่งภาษาลูกครึ่งให้เป็นไทย


คำว่า "คอมพิวเตอร์" ยังคงทับศัพท์ไว้ เพราะหาคำไทยเหมาะสมไม่ได้

               ครั้งที่แล้วผมทิ้งปัญหาไว้ให้ขบคิดและเชิญชวนให้ทุกท่านเข้ามาปรับแต่งภาษา  1 สัปดาห์  ปรากฏว่า ยังไม่มีใครช่วยผมปรับแต่งเลย  ผมจึงต้องปรับแต่งภาษาเองครับ              

             ก่อนอื่นหาคำภาษาอังกฤษที่ตรงกับคำทับศัพท์ก่อนแล้วหาคำไทยมาใช้แทน  ได้ดังนี้ครับ 

โอเค        -  O.K. หรือ Okay -  ตกลง , พร้อม , เรียบร้อย

ช้อปปิ้ง     -  shopping     -  ซื้อของ

วีคเอ็นด์    -  weekend     -  วันหยุดสุดสัปดาห์

สต๊อก       -  stock         -  คลังสินค้า,ที่เก็บสินค้า

แกรนด์เซล -  grand sell   -  การขายครั้งใหญ่,

                                     มหกรรมลดราคา

พริตตี้       -  pretty        -  สาวงาม

พรีเซ้นต์    -  present      -  นำเสนอ

แบรนด์เนม -  brand name -  ยี่ห้อมีชื่อเสียง

โฟลว์       flow           -  ไหลลื่น , คล่องตัว

แท็กซี่      taxi            -  รถรับจ้าง

มีทติ้ง      meeting      -  การประชุม

คอนเสิร์ต  concert       -  การแสดงดนตรี

ฮอลิเดย์   holiday        -  วันหยุดพักผ่อน  

บอสส์      boss           -  หัวหน้า

คอนเฟิร์ม confirm        -  ยืนยัน

เพอร์เฟคต์ - perfect        -  สมบูรณ์แบบ

มู้ด          - mood           -  อารมณ์

เฟล         - fail              -  ความล้มเหลว

ออฟฟิศ    - office           -  สำนักงาน

คอมพ์      - computer      -  คอมพิวเตอร์

รีเควส      - request         -  เรียกร้อง

ออเดอร์    - order           -  สั่งซื้อสินค้า

ซีร็อกซ์    - Xerox            -  ถ่ายเอกสาร

ไฟร้ต์      - flight             -  เที่ยวบิน

เช็คอิน    - check  in        - ลงทะเบียนเข้าพัก

โฮเต็ล    hotel             - โรงแรม

เซอร์ไพรส์  surprised     - แปลกใจ  

โปรดิวเซอร์ - producer     - ผู้ผลิตรายการ

ไฮคลาส    - high  class   - ชั้นสูง

สปอร์ตคลับ - sport  club  - สโมสรกีฬา

ฟอร์ม        - form          - รูป

เรสตัวรองท์  - restaurant  - ภัตตาคาร

บิสสิเนส      - business    - ธุรกิจ

บีซี่             - busy         - ยุ่ง 

            เมื่อได้คำไทยแล้ว เราลองปรับแต่งภาษาที่บรรยาย ได้ดังนี้ครับ 

ตกลงครับ  ถ้าท่านไปซื้อของแถวๆ เดอะมอลล์ท่าพระ ตอนวันหยุดสุดสัปดาห์ จะเห็นว่าผู้คนมากมายมาซื้อของที่รุจากคลังสินค้าช่วงการขายครั้งใหญ่ โดยมีสาวงามนำเสนอสินค้ายี่ห้อที่มีชื่อ(เสียง) ข้างถนน  ทั้งๆ ที่ผมกลับจากการประชุม กำลังจะไปจองตั๋วการแสดงดนตรี ในช่วงวันหยุด  เจ้านายผมก็โทร.มายืนยันเรื่องงานว่า อยากให้สมบูรณ์แบบที่สุด  หมดอารมณ์ครับงานนี้ท่าจะล้มเหลวครับ  ครั้นผมจะกลับสำนักงานไปนั่งหน้าคอมพิวเตอร์(หาคำไทยไม่ได้ก็ทับศัพท์) ก็ขยับไปไหนไม่ได้  ลูกค้าก็โทร.มา

เรียกร้องเรื่องการสั่งซื้อสินค้า  ผมให้ลูกน้องถ่ายเอกสารก็ไม่ได้เรื่อง  ลูกค้าก็อยากบินมาเที่ยวบินหน้า อยากให้ผมลงทะเบียนเข้าพักโรงแรมด้วย ตอนแรกกะจะสร้างความแปลกใจให้ผม  เขาเป็น

ผู้ผลิตรายการที่ค่อนข้างจะชั้นสูง เข้าออกสโมสรกีฬาเป็นว่าเล่น  งานนี้ผมคงเสียหน้ามาก (หมดรูป)  ดีว่าจองภัตตาคารไว้แล้วนะครับ  นี่แหละคือธุรกิจที่ค่อนข้างยุ่งมากๆ   

               เป็นอย่างไรครับ  ปรับแต่งแล้วก็ดูดีไม่ยืดยาวสักเท่าไรคนทั่วไปก็ฟังเข้าใจได้ คงมีคำว่า คอมพิวเตอร์ เท่านั้นที่ยังคงทับศัพท์เอาไว้ เพราะหาคำไทยใช้ไม่ได้  ความจริงราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติศัพท์คำนี้ไว้แล้ว แต่ไม่เป็นที่นิยมติดปาก ก็ต้องพูดทับศัพท์กันต่อไป     

               ยังมีคำทับศัพท์อีกมากที่จะทยอยเขียนให้ท่านได้อ่านกันต่อไปเรื่อยๆ ครับ  หากใครจะหามาเขียนไว้เป็นความรู้บ้างก็จะดีครับ ไม่แน่ว่าเว็บบล็อกนี้จะเป็นคลังคำเก็บคำทับศัพท์ไว้เพื่ออ้างอิงต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 122581เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2007 07:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
Grand Sale น่าจะเป็นคำนี้ค่ะ ถ้าแปลก็คงต้องใช้ว่า ลดราคาครั้งใหญ่ มหกรรมลดราคา

สวัสดีคุณ Little Jazz

             1 ขอบคุณอย่างยิ่งครับ  ผมพิมพ์ผิดจริงๆ อย่างไม่น่าให้อภัย  ผมแก้ไขแล้วครับ  น่ารักมากๆ อย่างนี้แสดงว่าคุณ Little Jazz อ่านละเอียดจริงๆ ขอบคุณครับ

             2 สำหรับคำไทยที่คุณ Little Jazz แปลไว้ก็ถูกต้องแล้วครับ  ซึ่งโดยมากคนไทยก็จะใช้ในความหมายว่า "มหกรรมลดราคา"  

               แต่ Grand sale  มีความหมายกว้างออกไปด้วยครับ อาจไม่จำเป็นต้องขายลดราคา  แต่เป็นการขายครั้งใหญ่ แบบ มหกรรมขายสินค้า  ซึ่งลดราคาก็ได้ ไม่ลดราคาก็ได้  ในที่นี้เขาบรรยายในความหมายกว้างไว้ครับ  แต่ถ้าเป็นเรื่องลดราคา ลดกระหน่ำ ลดแหลก แบบครึ่งต่อครึ่ง  ควรใช้ "มหกรรมลดราคา" ตามที่คุณ Little Jazz แนะนำไว้ครับ

ภาษาฝรั่งก็มีเพี้ยนไปเพี้ยนมาเยอะค่ะ อย่างเช่นคำว่า OK. ก็มีที่มาหลายแบบ ขอยกตัวอย่างให้ฟังซะสองแบบนะคะ

แบบแรกคือใช้ผิดนะคะ เรื่องเล่าว่าเกิดจากคนๆ หนึ่งที่เรียนหนังสือมาน้อยแต่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของกิจการ เวลาตรวจงานเขาก็มักจะเขียนคำว่า Oll Korrect หลังๆ ก็เขียนย่อเหลือแค่ OK. ซึ่งถ้าเขียนให้ถูกต้องเขียนว่า All Correct แต่คงเพราะย่อแล้วใช้ง่าย ต่อมาก็เลยแพร่หลายใช้แค่ OK กันในสหรัฐฯ

แบบที่สองคือเป็นการยืมคำมาจากภาษาอื่น เช่น Scott มีคำว่า "Och aye" แล้วคงเพี้ยนเสียงมา นอกจากนั้นก็มีภาษากรีก "Ola Kala" ซึ่งแปลว่าดีแล้ว และท้ายสุดจากภาษาท้องถิ่นของอินเดียนแดง "Oke หรือ Okeh" แปลว่าก็งั้นๆ
P

นายกรเพชร

เข้ามาเยี่ยม.....

ลองตรวจซ้ำทำนองอวดรู้ ก็เจอคำที่ไม่เป็นไทยแท้ได้ดังนี้...

ยี่ห้อ ... รู้สึกว่าจะเป็นคำจีน (ไม่แน่ใจ?)

สัปดาห์ มหกรรม ราคา รถ สมบูรณ์ อารมณ์ ผลิต สโมสร กีฬา รูป ภัตตาคาร และ ธุรกิจ .... เหมารวมว่าเป็นบาลีสันสกฤต

ส่วน คอมพิวเตอร์ .... คุณโยมว่ามาชัดเจนแล้ว

เจริญพร 

สวัสดีครับอาจ๋านกรเพชร (ไม่ยักกะอ่าน กะ-ระ-เพ-ชอน)

มีหลายคำที่คนไทยไปใช้ภาษาอื่นในวิถีชีวิต ทำให้มองว่า

  • คนไทยใจง่าย(แรงไปนะครับ)ที่รับเอาภาษาอื่นมาใช้ง่ายหรือยืมมาใช้กันจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นของตนเอง ของคนอื่น
  • คนไทยยังมีชนชั้นทางสังคมกันมาก (แต่มักจะบอกว่าเรามีความอิสระและเท่าเทียมกัน)ทำให้ถูกการกำหนดหลายเรื่องมาจากชนชั้นที่กุมอำนาจทางการเมือง อำนาจทางวิชาการ(บางครั้งก็อุปโลกกันไปเอง)
  • คนไทยนิยมเสรีนิยมมากกว่าสังคมนิยม เลยดูเหมือนว่าจะเป็นเสรีแห่งสุขนิยม
  • คำว่าsoftware น่าจะใช้หรือเรียกว่า ละมุนภัณฑ์ ไม่ยักกะใช้แต่นิยมว่า ซ๊อบแว กัน

จากลุงปั๋น (ขันเป็นพัก ๆ )

นมัสการพระคุณเจ้าครับ

         ดีใจเหลือเกินครับที่พระคุณเจ้าเข้ามาเยี่ยมเยียนและกรุณาให้ความเห็นไว้

         ที่พระคุณเจ้ากรุณาชี้แนะนั้น "ถูกต้องแล้วครับ"

         1 คำที่ผมกล่าวมาทั้งหมดหาคำเป็นคำไทยแท้ๆ ไม่ค่อยได้  เราจึงยืมภาษาอื่นมาใช้ และอนุโลมเอาว่าเป็นคำไทย  หมายความว่า ใช้มานานจนเป็นคำไทย แต่ไม่ใช่ไทยแท้ๆ ดังที่พระคุณเจ้ากรุณาอธิบายมา ครับ

         2 จุดมุ่งหมายการใช้คำนั้น  ก็เพื่อใช้คำที่เรามีอยู่แล้ว ขอพึงหลีกเลี่ยงคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ  เพราะเรามี "คำไทย"  ซึ่งจะ แท้หรือ ไม่แท้ เราก็มีใช้กันมานานจนรู้จักกันดีอยู่แล้ว  อย่าได้เปลี่ยนแปรไปเป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษแล้วเอามาพูดสลับภาษาไทยจนเวียนหัวไปหมด

        3 กรณีการสร้างคำมาใช้แทนคำภาษาต่างประเทศ ไทยเรามีวิธีการสร้างได้หลายวิธี เช่นสร้างจากคำไทยแท้กับคำไทยแท้  หรือเอาคำภาษาบาลีบ้าง ภาษาสันสกฤตบ้าง เป็นอนุโลมวิธี เราจึงมีคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตกันมาก แม้แต่การยืมคำภาษาเขมร เปอร์เซีย จีน ชวา และอีกมาก จนกาลเวลาผ่านมาเราก็เคยชินแล้วจนเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันโดยทั่วไป  แต่ตอนนี่เรากำลังสร้างภาษาใหม่โดยทับศัพท์ภาษาอังกฤษทั้งที่เรามีคำในภาษาใช้อยู่แล้วก็ขอให้เราใช้ภาษาที่มีอยู่น่าจะดีกว่า

          ที่ผมกล่าวมาก็เพื่อสนับสนุนพระคุณเจ้าครับว่า คำไทยแท้ๆ นั้นก็มีส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งไม่ใช่คำไทยแท้ๆ  เพียงแต่ผมสนับสนุนให้คนไทยใช้ภาษาที่มีอยู่ในการสื่อสารจนกว่าจะจนใจจริงๆ อย่างคำว่า คอมพิวเตอร์ ก็ช่วยไม่ได้ครับ เราก็ต้องใช้คำนี้ต่อไป เหมือน ยี่ห้อ สัปดาห์ สมบูรณ์ เสวย บรรทม ฯลฯ

         ขอบพระคุณท่านจริงๆ ครับ

         กราบนมัสการมาด้วยความเคารพครับ

 

ลุงปั๋น

       ถ้าอ่าน กะ-ระ-เพ-ชร  คงนอนไม่หลับ

ชื่อคงดับไม่เกิดเลิศเป็นแน่

อ่าน กร- เพชร  ดีกว่าอย่าผันแปร

อันชื่อ-แซ่ แม่พ่อขอพระมา

เป็นมงคลดลให้ได้สุขี

รุ่งเรืองมีเพชรแยะไม่ต้องหา

อย่าอ่านผวนกวนชื่อจนลือชา

เพราะ เพชรรุ่ง  ดีกว่า น่าจะดี  

              ขอบคุณครับลุงปั๋น

อาจารย์กรเพชร

  • ขออภัย ไม่ตั้งใจ เรียกผันผวน

อยากจะชวน เพื่อให้เกิด ปัญญาใส

ขออภัย อีกครา อย่าใส่ใจ

เพราะฝันใฝ่ อยากรู้ จุดประเด็น

  • รู้ไว้เถิด บางครั้ง ความไม่รู้

จึงขานดู  เพราะไม่รู้ แต่เพราะเห็น

หากต่อไป จะพูด ที่จำเป็น

เพชรใดเด่น เพชรน้ำหนึ่ง นั้นไม่มี

  • ลุงปั๋นไข  กลอนได้ เพราะรักเขียน

จึงแจ้งเวียน อาจารย์ทราบ จงสุขี

มิมีใจ เหยียบย่ำ  เพราะใฝ่ดี

มุ่งวิถี แห่งโลก สุนทรีย์เอย

 

จากลุงปั๋น ขันกลอน

  

 

อาจารย์ศักราช ครับ

         จะเรียกลุงก็เกรงใจเดี๋ยวไม่เหมาะ

เรื่องชื่อเพราะเกิดเหตุมาหลายหน

ขอขอบคุณมีน้ำจิตจากกมล

ปัญหาพ้นเพราะมีเพื่อนที่รู้ใจ

         ขอบคุณยิ่งตอบถ้อยเป็นกลอนกาพย์

ศิลปะต้องทราบจึงเขียนได้

วรรณศิลป์เปล่งแสงดังฤทัย

เกิดจากฝึกนั่นไซร้ดังกล่าวมา

          ขอบคุณลุงปั๋นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท