KM กับการทำงานของหัวหน้าส่วนงานด้านการบริหาร


ได้เห็นบรรยากาศของการมอบหมายงานกัน ช่วยงานกันอย่างไม่เป็นทางการ ผู้ให้ก็ให้ด้วยความห่วงใย ผู้รับก็รับด้วยความเต็มใจ

ในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ทีมหัวหน้าส่วนในงานด้านการบริหารที่ผมได้มีโอกาสทำงานและกำกับดูแล ซึ่งได้แก่ หัวหน้าส่วนพัสดุ หัวหน้าส่วนการเงิน หัวหน้าส่วนการเจ้าหน้าที่ หัวหน้าส่วนสารบรรณและอำนวยการ และหัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งทหารเอกคู่ใจ รวมถึงเจ้าหน้าที่งานพัฒนาองค์กร ได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมาอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอน่าชื่นชมจริง ๆ เพราะ เราจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน 2 อาทิตย์ 1 ครั้ง คือ ทุกวันพุธ(แต่บางครั้งเปลี่ยนวันบ้างเล็กน้อยครับ) เวลาประมาณ 14.00 น. ถึง 16.00 น. บางทีก็เลยไปถึง 17.00 น. หรือบางทีก็เริ่มคุยกันตั้งแต่เวลา 13.00 น. อย่างวันนี้เป็นต้น จนผมรู้สึกว่า หัวหน้าส่วนทุกท่านก็ได้เห็นว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานตามปกติไปแล้ว ทุกครั้งที่เราแลกเปลี่ยนรู้กัน เราไม่เน้นที่จะต้องมีวาระการประชุมที่ตายตัว หรือว่ากันไปตามวาระ แต่เรามักจะเน้นให้ความสำคัญให้แต่ละส่วนงาน เล่าถึงความสำเร็จในการทำงานของส่วนงาน การมีแผนที่จะพัฒนางาน  จนหัวหน้าส่วนหลายคน รวมถึงผมด้วยในบางครั้ง ทำให้รู้ความสำเร็จหรือสิ่งดี ๆ ของบางส่วนงาน ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้มาก่อน อย่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ เรามีสมาชิกใหม่ มาจากส่วนสหกิจศึกษาฯ โดยคุณภคนิตย์ ได้เล่าให้พวกเราฟังเกี่ยวกับงานที่สหกิจศึกษาฯกำลังดำเนินการ ทำให้พวกเราแปลกใจมากว่า ทำไมเรื่องดี ๆ อย่างนี้ประชาคมวลัยลักษณ์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบ พวกเราก็มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสนอแนะกัน ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ดีมากจริง ๆ ผมเองในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ซึ่งต้องทำหน้าที่เป็นประธานในการเสวนาแลกเปลี่ยนรู้กันทุกครั้ง ผมรู้สึกว่า เวทีนี้เป็นเวทีที่สนุกมากทุกครั้งที่ได้นั่งคุยกัน ผมไม่เคยรู้สึกเบื่อเลย กับรู้สึกว่าตัวเองได้รับความรู้ใหม่เสมอ และได้เห็นบรรยากาศของการมอบหมายงานกัน ช่วยงานกันอย่างไม่เป็นทางการ ผู้ให้ก็ให้ด้วยความห่วงใย ผู้รับก็รับด้วยความเต็มใจ สุดยอดจริง ๆ ครับ

ก่อนจะปิดท้ายบันทึกนี้ ผมก็ต้องขอแสดงความยินดีกับท่านหัวหน้าส่วนและพนักงานในส่วนพัสดุและส่วนการเงินฯ ที่ได้รับการประเมินหน่วยงานตามโครงการสถานที่น่าอยู่น่าทำงาน ของกระทรวงสาธารณสุข และได้รับผลการประเมินในระดับเหรียญทอง อีกด้วย ยินดีด้วยจริง ๆ ครับ และอยากจะขอความร่วมมือจากพนักงานทั้ง 2 ส่วน ให้ช่วยขยายผล เชิญชวนให้หน่วยงานอื่น ๆ ใน      วลัยลักษณ์ของเรา ได้เหรียญทองในโอกาสต่อๆ ไปด้วยนะครับ ถ้าหน่วยงานไหนสนใจ ผมอยากแนะนำในลองคุยกับ คุณจินตนา ศิริวัฒนโชค หัวหน้าส่วนพัสดุดูซิครับ

หมายเลขบันทึก: 12189เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2006 17:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
จินตนา ศิริวัฒนโชค

            ส่วนพัสดุของเราเริ่มต้นจากการทำกิจกรรม 5สก่อนเพราะเห็นว่าเป็นเครื่องมือพื้นฐานของระบบงานคุณภาพ และทำต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปี 45โดยมี คุณอารีฯเป็นหัวหน้าโครงการฯ(หัวหน้าส่วนเป็นเพียงสมาชิก) ขณะนี้พูดได้ว่าสมาชิกในส่วนพัสดุสามารถสร้างนิสัยได้แล้ว ต้องขอขอบคุณทุกคนที่ร่วมมือ  ในปี 48นี้จึงได้พัฒนาขึ้นอีกระดับหนึ่งโดยการสมัครเข้าโครงการต้นแบบสถานที่น่าอยู่ น่าทำงาน ที่สำนักวิชาสหเวชศาสตร์รับมาจาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขซึ่งจะมาประเมินในระยะเวลา 1ปี โดยมีเกณท์สะอาด ปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และมีชีวิตชีวารวมประมาณ 57ข้อ

           ระดับการประเมินมี 3ระดับคือ ทองแดง เงิน และทอง แต่ละระดับก็ยากขึ้นเรื่อยๆ                                           ระดับพื้นฐาน(ทองแดง)ใช้พื้นฐาน 5สและเกณท์ความปลอดภัยบวกการมีชีวิตชีวาในระดับพื้นฐาน(การแจ้งข้อมูลข่าวสารและการดูแลสุขภาพเบื้องต้น)                                                    ระดับดี(เงิน)ต้องผ่านระดับแรก เพิ่มเกณท์สิ่งแวดล้อมดีและมีชีวิตชีวาระดับดี(ดูแลสุขภาพกาย,ใจ และการมีส่วนร่วม)                                                                                    ระดับดีมาก(ทอง)ต้องผ่านระดับดีเพิ่มเกณท์มีชีวิตชีวาระดับดีมาก(เพิ่มการออกกำลังกายและการโภชนาการ)

           ขณะนี้ส่วนพัสดุได้รับมอบให้เป็นเจ้าภาพของ "ชุมชน5ส" ของม.วลัยลักษณ์มีการแลกเปลี่ยนกันใน Intranetแล้วเริ่มที่หน่วยงานในกำกับของรองฯบริหาร(ส่วนสารบรรณฯ,ส่วนการเจ้าหน้าที่,ส่วนการเงินฯ,ส่วนประชาสัมพันธ์และส่วนพัสดุ) และมีคนสนใจเพิ่มขี้นเช่น ส่วนอาคารฯ,ส่วนส่งเสริมวิชาการ,ศูนย์คอมฯ เป็นต้น

          จึงขอบอกข่าวดีว่าส่วนพัสดุได้ประสานหน่วยOD(คุณบรรจงวิทย์)แล้วจะจัดเวทีให้สมาชิกแบบFace to Faceเร็วๆนี้  ใครมีความเห็นอย่างไรช่วยแนะนำด้วย  ขอบคุณค่ะ

 

นายบรรจงวิทย์ ยิ่งยงค์

ขณะนี้ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นชาวมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จำนวนหนึ่งได้เริ่มให้ความสนใจเข้าไปแบ่งปันความรู้และ ลปรร.(แลกเปลี่ยนเรียนรู้)  ผ่าน Web  KM ของมหาวิทยาลัยฯ หรือ  ผ่าน Blogของ รศ.สมนึก  มากยิ่งขึ้น  และเห็นว่ามีพนักงานอีกหลายๆคนที่สนใจเข้ามาอ่านความรู้/ประสบการณ์ ในWeb/Blog ดังกล่าว  แต่อาจจะยังไม่มั่นใจที่จะเล่าเรื่อง/ประสบการณ์ดีๆ ให้คนอื่นได้รับรู้   ในตอนแรกๆผมก็ไม่ค่อย    มั่นใจเช่นเดียวกัน  แต่เมื่อเริ่มเล่าเรื่องแล้วก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี  ไม่มีสิ่งใหนถูกหรือสิ่งใหนผิด  เรื่องเล่าของเราอาจจะเป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆได้  จึงมีความมั่นใจมากขึ้น  จึงอยากจะเชิญชวนเพื่อนพนักงานทุกคนลองเข้ามา ลปรร.กันเยอะๆ  โดยในขณะนี้หน่วยพัฒนาองค์กร (ตามดำริของรองฯ บริหาร)ร่วมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์บรรณสารฯ  เจ้าหน้าที่ส่วนประชาสัมพันธ์ (น้องหวาด) และเจ้าหน้าที่ฯ ศูนย์คอมพิวเตอร์ (น้องลี)ได้พยายามปรับ/พัฒนา Web  KM ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นเพื่ออำนวยประโยชน์ในการลปรร.ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

       นอกเหนือจากการลปรร.ผ่านWeb/Blog ซึ่งภาษา KM เรียกว่าเป็นเวทีเสมือนจริง หรือ B2B  แล้ว  ยังมีการลปรร.ผ่านเวทีจริงคือการมาพบปะพูดคุยเล่าเรื่องที่แต่ละคนประสบความสำเร็จ/ภาคภูมิใจมาให้คนอื่นๆฟัง  หรือมาร่วมกันหาแนวทางในการปฏิบัติงานที่ดีกว่าเดิม  หรือที่ดีที่สุดโดยส่วนใหญ่จะเรียกกันว่า "ชุมชนนักปฏิบัติ" บ้าง หรือ "ชุมชนคนหน้างาน" บ้างหรือ"ชุมชนแนวปฏิบัติ"บ้าง  โดยภาษา KM เรียกว่า " Communty  of  Practice  : CoP "   ซึ่งในขณะนี้ภายในมวล.ได้มีการจัดตั้ง CoP ขึ้นมาจำนวนหนึ่งแล้ว เช่น ชุมชนคนปฏิบัติงานสารบรรณ (e-Office)  ชุมชนคนหอพัก  ชุมชน 5 ส.  ชุมชนคนทำเว็บ  ชุมชนคนการเงิน  ชุมชนคนพัสดุ  เป็นต้น   ทั้งนี้หน่วยพัฒนาองค์กรจะได้ประสานงานกับชุมชนต่างๆ เพื่อเข้ามาลงทะเบียนจัดตั้งชุมชนอย่างเป็นทางการ  และนำลงในเว็บ KM เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกในชุมชน รวมถึงพนักงานคนอื่นๆ เข้ามาลปรร.ต่อไป  และพนักงานหน่วยพัฒนาองค์กรจะเข้าไปมีส่วนส่งเสริมสนับสนุน/อำนวยความสะดวกและร่วมลปรร.กับชุมชนต่างๆดังกล่าวอย่างเต็มที่  และที่สำคัญผมได้รับทราบจากท่านรองฯ บริหารว่ามวล.สนับสนุนการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เช่นจะมีงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของแต่ละชุมชน  สนับสนุนให้มีการเดินทางไปลปรร.ภายนอกมหาวิทยาลัย  รวมถึงการไปลปรร.กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ  เป็นต้น    เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มีส่วนช่วยในการพัฒนาบุคลากร  ช่วยพัฒนาระบบงาน  ช่วยพัฒนาองค์กร  และช่วยสร้างความเป็นชุมชนให้เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย  และท้ายที่สุดแล้วคงจะช่วยทำให้มวล.กลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ในที่สุด                    

เห็นชัดเจนเลยครับว่า คุณบรรจงวิทย์ เป็นคน OD ตัวจริง เพราะสามารถเข้าใจบทบาท และการทำงานในการส่งเสริมให้เกิดการจัดการความรู้ในวลัยลักษณ์ของเราได้เป็นอย่างดี

นายบรรจงวิทย์ ยิ่งยงค์

ในช่วงบ่ายของวันที่ 17 /1/49 ที่ผ่านมา  ผมในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์  และในฐานะผู้แทนสมาชิกสังกัดหน่วยพัฒนาองค์กร  ได้มีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนาสมาชิกสัมพันธ์   ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ มวล. จำกัด  จัดขึ้น  ณ ห้องตุมปัง  อาคารบริหาร   การจัดสัมมนาฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ให้ผู้แทนสมาชิกและสมาชิกที่สนใจเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ(ร่าง)แผนปฏิบัติการประจำปี 2549  ก่อนที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ฯ ประมาณเดือนมีนาคม 2549   2)เพื่อให้สมาชิกสะท้อนปัญหาการดำเนินงานของสหกรณ์ในปีที่ผ่านมา  พร้อมกับเสนอแนะแนงทางในการดำเนินการ  3)เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกรรมการ / ฝ่ายจัดการสหกรณ์ กับสมาชิก  และ 4)เพื่อให้สมาชิกได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานสหกรณ์   ในการสัมมนาฯ ดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประมาณ 40 คน  มีพี่นิรันดร์  จินดานาคทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ (แบบกันเอง) และเป็นคุณอำนวยคอยกระตุ้นให้สมาชิกเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่  

      ก่อนที่จะมีการลปรร. ดร.โอภาส  ตันติฐากูร ประธานกรรมการดำเนินการและประธานกรรมการอำนวยการได้กล่าวเปิดการสัมมนาและรายงานสรุปผลความคืบหน้าในการดำเนินงานของคณะกรรมการอำนวยการ  หลังจากนั้นดร.วันชาติ  ปรีชาติวงศ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเงินกู้  และพี่นิรันดร์  จินดานาค  ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ ได้รายงานสรุปผลการดำเนินการของคณะกรรมการเงินกู้  และของคณะกรรมการศึกษา ฯ ตามลำดับ

     ในช่วงเวลาของการ ลปรร. นั้นสมาชิกได้ให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนวทางที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวสมาชิกเองและต่อสหกรณ์  เช่น แนวทางในการเก็บออมเงิน / สร้างทรัพย์สมบัติให้กับตนเองในอนาคต   การขยายสิทธิในการอนุมัติเงินกู้สามัญให้กับสมาชิกที่เป็นพนักงานในระบบสัญญาจ้าง  การส่งเสริมให้สมาชิกมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมากขึ้น   แนวทางในการประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้พนักงานสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น  การมีส่วนร่วมของสมาชิกในกิจกรรมสาธารณประโยชน์  เป็นต้น

      สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหม่และเป็นสิ่งที่ดีทั้งสำหรับพนักงาน(ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์และไม่เป็นสมาชิกสหกรณ์) และสำหรับสหกรณ์ คือผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ได้เสนอแนะและเห็นชอบให้สหกรณ์ประสานงานมายังหน่วยพัฒนาองค์กร เพื่อจัดตั้ง"ชุมชนคนสหกรณ์" ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ  โดยมีวัตถุประสงค์คล้ายๆกับการจัดสัมมนาฯในครั้งนี้  เพียงแต่มีการเปลี่ยนเวทีจากเวทีจริง ณ ห้องตุมปัง  เป็นเวทีเสมือนจริงคือผ่านเว็บ / บล็อค KM  ขณะนี้ผมได้จัดส่งใบสมัครไปให้สหกรณ์แล้ว  สมาชิกต้องติดตามความคืบหน้าในเว็บ/บล็อก KM ต่อไป

สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์

เป็นข่าวที่น่ายินดีอย่างยิ่งครับ

สมเกียรติ เพชรวรพันธ์ (ผู้จัดการสหกรณ์ฯ)
ในนามฝ่ายจัดการฯ ขอขอบคุณที่ให้โอกาสสหกรณ์ในการจัดตั้ง "ชุมชนคนสหกรณ์" ผ่านเว็บ/บล็อค KM  สหกรณ์ได้รับใบสมัครเรียบร้อย เราจะรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของสมาชิกและองค์กร
จินตนา ศิริวัฒนโชค

        ขอคิดเข้าข้างชาว วลัยลักษณ์สักนิดว่า KM ในรูปแบบของเราน่าจะมีผลก้าวหน้าให้เห็นบ้างแล้ว จากที่เริ่มรุ่น 1 โดยมีวิทยากรจาก สคส.(คุณธวัช,คุณอุรพิน)ช่วยเหลือ ทีมหัวหน้าส่วน ฝึกทำหน้าที่"คุณอำนวย" โดยหลักคิดให้ฝึกหัดจากการปฏิบัติจริง  แล้วทีมวิทยากรจาก สคส.ก็มาถ่ายทอดวิทยายุทธ์เพิ่มเติมให้กับเราก่อนที่จะใช้ยุทธการ "ถอดล้อพ่วง" ในรุ่น 2 ทีมหัวหน้าส่วนต้องดำเนินการด้วยตัวเราเอง เราเตรียมความพร้อมแล้วแบ่งหน้าที่กันทำตามความถนัด สามารถทำสำเร็จได้

        วันนี้เราเห็นเมล็ดพันธุ์ที่เราช่วยกันหว่านและเฝ้าดูแลบำรุงรักษาด้วยความรัก กำลังงอกงาม "คุณกิจ"ของเราเริ่มสร้างชุมชนต่างๆ(คุณบรรจงวิทย์กล่าวแล้ว)อย่างน่าชื่นใจ และยังขยายสาขาไปยัง สหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งชาว วลัยลักษณ์เป็นสมาชิกอยู่อีกด้วย เราถือว่าเป็นกำลังใจอันมีค่ายิ่งแก่ทีมหัวหน้าส่วนและทีมงานในการมุ่งม่นพัฒนาตนเองให้เป็น "คุณอำนวย"ที่ดีทำงานร่วมกับหน่วย ODภายใต้การสนับสนุนช่วยเหลือจาก "คุณเอื้อ"รองฯบริหารต่อไป

       ช่วยแนะนำทีม "คุณอำนวย"ของ วลัยลักษณ์ด้วยค่ะ เรากำลังจะทำต่อ รุ่น 3 วันที่ 22-24 มีนาคมนี้คะ

 

บรรจงวิทย์ ยิ่งยงค์

การจัดโครงการ ลปรร.ฯ รุ่นที่ 3 มีกำหนดการสำคัญๆดังนี้

    - วันที่ 20 /3/49 จัด ณ ห้องโมคลาน  อาคารบริหาร มวล. 

         เช้า - พิธีเปิดโดยอธิการบดี

               - บรรยายพิเศษเรื่อง " รักวลัยลักษณ์ ทำงานเพื่อ  

                  วลัยลักษณ์ " โดยรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร

               - บรรยายพิเศษเรื่อง " แนวคิดและกระบวนการ

                 จัดการความรู้ : ประสบการณ์การจัดการความรู้

                  ในคณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ "     

           บ่าย - บรรยายพิเศษ (ต่อ)

                 - แนะนำ WU   WEB / BLOG 

 วันที่ 22-24 /3/49 จัดโครงการฯ ณ โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท  อ.สิงหนคร จ.สงขลา

      - วันที่ 22 /3/49   กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ / Walk Rally

      - วันที่ 23-24 /3/49 กิจกรรมการลปรร./การเล่าเรื่องความ

         สำเร็จหรือความภูมิใจเล็กๆ ในการทำงาน / การสะกัด

         ความรู้ / การสร้างตารางอิสรภาพ / การประเมินหน่วย

         งานตนเอง / การนำเสนอเครื่องมือชุด"สายธารแห่ง

         ปัญญาและบันไดแห่งการเรียนรู้" / การทำ AAR /

         พิธีปิดโดยอธิการบดี / กิจกรรมก่อนลา

     สำหรับคณะทำงานฯ ที่จะจัดกิจกรรมในวันที่ 22/3/49 และ  ทำหน้าที่ร่วมเป็นวิทยากรในวันที่ 23-24/3/49 จะประกอบด้วย หัวหน้าส่วนพัสดุ  หัวหน้าส่วนกิจการนักศึกษา  หัวหน้าส่วนสารบรรณฯ  หัวหน้าส่วนการเงินฯ  หัวหน้าส่วนการเจ้าหน้าที่  หัวหน้าส่วนส่งเสริมวิชาการ  หัวหน้าส่วนแผนงาน  หัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์  หัวหน้าส่วนอาคารสถานที่ และ หัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายใน (ซึ่งจะมีการปรึกษาหารือเพื่อแบ่งภารกิจในแต่ละเรื่องต่อไป)  โดยมีพนักงานหน่วยพัฒนาองค์กรทำหน้าที่ประสานงานและอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ   และมี    "คุณเอื้อ" / รศ .สมนึก คอยสนับสนุน /ให้กำลังใจและอำนวยการจัดโครงการฯ เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ 

 

นายบรรจงวิทย์ ยิ่งยงค์
ขอเพิ่มรายละเอียดอีกเล็กน้อย คือ ในวันที่ 20/3/49  มวล.ได้รับเกียรติจากท่าน ศ.นพ.พิเชฐ  อุดมรัตน์      ที่ปรึกษาคณบดีคณะแพทยศาสตร์  ม.สงขลานครินทร์   มาบรรยายพิเศษฯ อีกครั้งหนึ่ง  (หลังจากท่านได้มาบรรยายฯ ในรุ่นแรกแล้ว  เมื่อเดือนกันยายน 2549)
ศิริมาศ เลือดกาญจนา

ได้อ่านติดตามความก้าวหน้าของ KM แล้ว คึกคักจังเลยค่ะ เสียดายเราอยู่ไกลไปหน่อย แต่น้องหนึ่งพัสดุ ยังได้กรุณาโทร.มาเชิญชวนเข้าเป็นสมาชิกชุมชนคนพัสดุ พี่ปลารีบตอบรับโดยเร็วพลัน เพราะจะได้ปรึกษาสมาชิกเรื่องการจัดซื้อถนัดหน่อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท