ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน


คำถามที่น่าคิดคือว่า วิจัยกับชุมชน ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน ก่อกรรมทำเข็ญร่วมกันมาแต่ปางใด จึงมีผู้คนจับสองสิ่งมาคู่กันแล้วตั้งชื่อต่างนานา เช่น วิจัยที่มีชุมชนเป็นฐาน วิจัยเพื่อชุมชนท้องถิ่น และอื่นๆอีกมากมาย

                ชุมชน   ในความหมายทางทฤษฎี อาจจะมีหลายสำนักที่นิยามไว้แตกต่างกันไป  แต่หากพูดให้ง่ายว่าชุมชนคือหมู่บ้าน  ชุมชนคือที่อยู่ของชาวบ้าน  ชุมชนคือการที่ผู้คนรวมตัวกัน สร้างถิ่นฐาน ใช้ชีวิต ฝากผีฝากไข้ไว้กับธรรมชาติรอบตัวที่ก่อเกิดเป็นอาหาร  เครื่องนุ่งห่ม   ที่อยู่อาศัย  ยารักษาโรค    การรวมตัวเพื่อการดำรงอยู่ ก่อฐานเป็นวิถีชีวิต  ขนบประเพณี  ศิลปวัฒนธรรม  มีคติความเชื่อ   มีเส้นทางชีวิตเฉพาะตน  ทุกมิติในแต่ละชุมชนล้วนมีความหมายและคุณค่าแห่งตน                           

            วิจัย     ในความหมายทางทฤษฎี อาจจะมีหลายสำนักที่นิยามไว้แตกต่างกันไป  หากแต่หาคำพูดที่ง่ายต่อการเข้าใจ  ดูเหมือนไม่ง่ายและไม่ยากเท่าไร   คำถามที่น่าคิดคือว่า  วิจัยกับชุมชน  ทำบุญร่วมชาติ  ตักบาตรร่วมขัน  ก่อกรรมทำเข็ญร่วมกันมาแต่ปางใด   จึงมีผู้คนจับสองสิ่งมาคู่กันแล้วตั้งชื่อต่างนานา   เช่น   วิจัยที่มีชุมชนเป็นฐาน    วิจัยเพื่อชุมชนท้องถิ่น  และอื่นๆอีกมากมาย                            

               วันนี้ที่ชุมชนเม็กดำ  พวกเราตั้งวงเล็กๆคุยกันเอง   (ไม่มีหนังสือเชิญประชุม  ไม่มีวาระการประชุม  ไม่มีห้องประชุม  )            ประเด็นฟ้าฝน ได้ถูกนำมาเป็นประเด็นเรียกน้ำย่อย   ตามด้วยสิ่งที่น่าคิดมากๆจากสมาชิกในวงคนหนึ่งบอกว่า  ทุกคนรู้ไหมว่า ปีนี้คนบ้านเราเกือบทุกครอบครัว  มีการแบ่งที่นาส่วนหนึ่งไว้เพื่อปลูกข้าวแบบนาดำ   จากที่ทุกปีทุกครอบครัวปลูกข้าวแบบนาหว่านทั้งหมด    พอประเด็นเปิดทุกคนในวงได้ให้ความเห็น  ทุกคนยอมรับว่าจริง  เหตุผลเดียว สั้นๆ แต่มีความหมาย  คือ  นาดำใช้เงินลงทุนน้อยกว่านาหว่าน                               

           ประเด็นต่อมา  เราคุยกันเรื่องเห็ดป่าและเห็ดขอนขาว    เห็ดป่าบ้านเราปีนี้สรุปว่ามีมากพอกินอิ่มทุกครัวเรือนแต่รสชาติของเห็ดป่าไม่เหมือนเดิม   นั่นคือเห็ดไม่หอมและรสชาติจืดๆ  สาเหตุมาจากอะไร  ที่ประชุมบอกว่า ให้ไปถามเทวดาเอาเอง    ส่วนเห็ดขอนขาว  พวกเราได้รับวิทยาทานมาจากมหาชีวาลัยอีสาน  เห็ดขอนขาว  มีเกือบทุกครัวเรือนๆละไม่มาก  ทำไว้พอกิน  บางครัวเรือนใช้ไม้มะม่วง   บางครัวเรือนใช้ไม้ต้นเหลี่ยม   ไม้ยูคาลิปตัส      เราทำมาหลายเดือน  แกงเห็ดกินมาหลายหม้อ   บทสรุปคือไม้จากต้นเหลี่ยม  เห็ดขอนขาว  ชอบมาก  จนพวกเราใช้คำว่า  วันนี้เห็ดขอนเหลี่ยม  ออกมากจนจะพาขอนบิน                                

                    นอกจากนั้นได้มีการคุยกันหลายเรื่อง เมื่อเวลาอันสมควรเราก็แยกย้ายกัน    การคุยกันแบบวงเล็กๆเช่นนี้มีให้เห็นบ่อยๆในชุมชนเรา  ทุกคนได้พบปะ  ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ   แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่มีการนัดหมายล่วงหน้า  เพื่อนพ้องน้องพี่ มีโอกาสแวะเวียนมาเรียนรู้ร่วมกับพวกเรา  พวกเรายินดีต้อนรับ   แต่พวกเราไม่ค่อยคุ้นเคยกับงานวิจัย    นะครับ

หมายเลขบันทึก: 120658เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2007 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาจารย์เม็กดำ

ดีใจที่ได้อ่านเรื่องเล่าที่มีประโยชน์  ทุกวันนี้อยากเห็นทุกชุมชนได้มาพบปะพูดคุยกันในเรื่องที่ได้ประโยชน์ ดีใจแทนชุมชนที่มีครูที่เข้าใจชุมชนอย่างแท้จริง

เวลาทำงานที่โรงพยาบาลก้จะทำกลุ่มพูดคุยกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้รับบริการครั้งละ 4-5 คน ซักประวัติคัดกรองเรื่องที่มาตรวจ จากนั้นก็ช่วยกันเปิดประเด็นเรื่องสุขภาพบ้าง เรื่องของมะเก่าที่นำมาใช้ในการดูลสุขภาพ , เรื่องการทำมาหากินบ้าง แล้วแต่กลุ่ม ก็ได้ความรู้จากผู้รับบริการมากเหมือนกัน วันหลังว่าจะลองเล่าและนำรูปมาให้ดูในblog

  • ตามมาอ่าน
  • ท่านอาจารย์หมอประเวศ บอกว่าถ้าเรามาคุยกันบ่อยๆ
  • ฝึกแก้ปัญหา กันเองในชุมชน จะเกิดผู้นำในธรรมชาติ
  • ผู้นำอาจเป็นพ่อใหญ่ดา แม่ใหญ่หลายท่าน
  • แลกเปลี่ยนกัน ต่อไปจะเกิดชุมชนที่เป็นสุข
  • แต่ปัญหาคือไม่มีใครเป็นคนชวนคนเหล่านี้มาคุยกันครับ
  • ขอบคุณสำหรับเรื่องดีๆๆที่นำมาเล่า
  • พบกันวันที่ 22 นะครับ
  • สุดยอดอาจารย์ผม...
  • เรื่องทำ นาดำ  เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ
นาดำ นาหว่าน ยังไม่รู้จัก ว่าเขาทำกันอย่างไร  มีอย่างเดียว กิน กินทั้งที่ไม่รู้ว่า ข้าวแต่ละเม็ดนั้น พี่น้องเรา กระดูกสันหลังของชาติ  คัดกรองวิธีการลดต้นทุนทุกวิถีทาง  เพื่อเพิ่มผลผลิต เพื่อให้มีเหลือจากการกินแล้ว เหลือไว้ขายคราจำเป็นบ้าง น่าเห็นใจนะและดีใจมากเลยในวิธีการของอาจารย์ที่เข้าไปเยี่ยมชาวบ้าน  แล้วทำการวิเคราะห์วิจัยพืชผักธรรมชาติแล้วเอาพืชผักธรรมชาติมาปลูกเอง  มาเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของพืช เพื่อความเป็นอยู่ของคน คงไม่เป็นการเบียดเบียนซึ่งกันและกันนะคะ  เพราะคนก็ต้องเรียนรู้การปลูก เพื่อนำมาเป็นอาหารเพื่อเลี้ยงครอบครัว เป็นการประหยัด  และปลอดสารพิษ ไม่ต้องใช้เงินมาก ก็มีชีวิตอยู่ได้แบบไม่อดอยาก เพราะการรู้จักการเพาะปลูกพืชต่างๆ ชอบบทความที่อาจารย์เขียนเป็นข้อๆ  ช่างเป็นไปได้ อแมสซิ่งจริงๆสวัสดีคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท