ภาวะใกล้เบาหวาน ทำอย่างไรดี


เราๆ ท่านๆ อาจจะเคยตรวจสุขภาพ และมีผลการตรวจน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ไม่ถึงกับเป็นเบาหวาน สรุปคือ ใกล้เป็นเบาหวาน ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำอย่างไรดี...

ท่านผู้อ่านทุกท่านคงไม่อยากเป็นโรคเบาหวาน โรคนี้เป็นแล้วใช้ชีวิตลำบากขึ้น โดยเฉพาะผู้เขียนกินเก่งจะกลัวโรคนี้มาก หนังสือคำแนะนำสำหรับคนไข้เบาหวานแสดงปริมาณอาหารควบคุมที่น้อยนิดแล้ว บอกตรงๆ ว่า ป้องกันดีกว่ารักษา

เราๆ ท่านๆ อาจจะเคยตรวจสุขภาพ และมีผลการตรวจน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ (ปกติ 70-100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือ มก.%) ค่อนไปทางสูง (100-125 มก./ดล.) แต่ไม่ถึงกับเป็นเบาหวาน สรุปคือ ใกล้เป็นเบาหวาน (prediabetes) ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำอย่างไรดี

 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) กล่าวว่า ผู้ใหญ่อเมริกันอายุ 40-74 ปีประมาณ 41 ล้านคนมีภาวะใกล้เป็นเบาหวาน

วิทยาลัยกุมารแพทย์อเมริกัน (American Academy of Pediatrics) กล่าวว่า เด็กอเมริกันอายุ 12-19 ปีเริ่มมีภาวะใกล้เป็นเบาหวานกันแล้ว เด็กผู้ชาย 10 คนมีภาวะนี้ 1 คน และเด็กผู้หญิง 25 คนมีภาวะนี้ 1 คน

 

อาจารย์นายแพทย์วิชัย เอกพลากรทำการศึกษาวิจัยพบว่า นไทยที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ถึง 9.6 % หรือ 2.4 ล้านคน ครึ่งหนึ่งของคนไทยที่เป็นเบาหวานรู้ว่า เป็น(เบาหวาน) อีกครึ่งหนึ่งเป็นเบาหวานโดยไม่รู้ว่าเป็น(เบาหวาน)

คนไทยที่ใกล้เป็นเบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นเบาหวานมีประมาณ 5.4 % หรือ 1.4 ล้านคน

 

วันนี้สาระ4U มีข่าวดีมาฝาก ผู้เชี่ยวชาญของเมโยคลินิกมีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีป้องกันคนใกล้เป็นเบาหวานไม่ให้เป็นเบาหวานดังต่อไปนี้...

น้ำตาลในเลือด:

น้ำตาลในเลือดมาจากอาหารที่เรากินเข้าไป และสร้างขึ้นใหม่ที่ตับ ตับทำหน้าที่คล้ายธนาคารน้ำตาล ตับสร้างน้ำตาลจากการสลายตัวของแป้ง(ไกลโคเจน)ที่เก็บไว้ และสร้างขึ้นใหม่จากโปรตีนหรือไขมัน

 

การนำน้ำตาลเข้าเซลล์จะต้องใช้ฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน ซึ่งทำหน้าที่คล้ายเป็นกุญแจไขช่องทางให้น้ำตาลเข้าไปยังเซลล์ต่างๆ ตับอ่อนทำหน้าที่คล้ายกับโรงงานผลิตลูกกุญแจ ประเภทใช้งานชั่วคราว กุญแจ(อินซูลิน)ที่สร้างขึ้นมีอายุจำกัด อยู่ได้ไม่นานก็จะถูกทำลายไป ต้องสร้างขึ้นทดแทนใหม่เรื่อยๆ

กล้ามเนื้อเป็นอวัยวะที่ใช้น้ำตาลมากที่สุด การออกกำลังกายรวมทั้งการใช้แรงในชีวิตประจำวันมีส่วนเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ และทำให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายไวต่ออินซูลินเพิ่มขึ้น

 

คนที่มีมวลกล้ามเนื้อค่อนข้างมาก เช่น อายุน้อย ออกกำลังกาย ฯลฯ จะมีอัตราการใช้น้ำตาลค่อนข้างมาก ทำให้ระดับน้ำตาลไม่สูงขึ้นง่าย การออกกำลังกายต้านแรง (เช่น ยกน้ำหนัก ฯลฯ) มีส่วนช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อได้

กล้ามเนื้อเป็นเนื้อเยื่อที่มีการเผาผลาญพลังงานสูงกว่าเนื้อเยื่อไขมันมาก คนที่มีมวลกล้ามเนื้อมากจะเผาผลาญพลังงานได้มากเมื่อเทียบกับคนที่มีมวลกล้ามเนื้อน้อย ตรงกันข้ามคนที่มีมวลไขมันมากจะเผาผลาญพลังงานได้น้อยเมื่อเทียบกับคนที่มีมวลไขมันน้อย

 

คนที่มีมวลกล้ามเนื้อมากจึงมีโอกาสอ้วนน้อยกว่าคนที่มีมวลกล้ามเนื้อน้อย... ถ้าได้อาหารเข้าไปเท่าๆ กัน

การลดน้ำหนักโดยการลดอาหารอย่างเดียวเสี่ยงที่จะทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง ซึ่งจะทำให้การเผาผลาญพลังงานลดลง และเสี่ยงที่น้ำหนักจะขึ้นใหม่ในระยะยาว

 

การลดน้ำหนักที่ดีควรใช้วิธีลดอาหารควบคู่กับการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการเดินและการออกแรงต้านน้ำหนัก เช่น ยกน้ำหนัก ฯลฯ เพื่อให้มวลไขมันลดลง และมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น เพื่อให้การเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้นในระยะยาว

คนที่มีมวลกล้ามเนื้อน้อยลง เช่น อายุมากขึ้น ออกกำลังน้อยลง ฯลฯ จะมีอัตราการใช้น้ำตาลน้อยลง ทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นได้

 

คนที่มีมวลไขมันค่อนข้างมาก เช่น คนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน คนอ้วน ฯลฯ จะเสี่ยงต่อภาวะเซลล์ดื้อต่ออินซูลินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนที่อ้วนระดับเข็มขัด หรืออ้วนที่พุง เปรียบคล้ายแม่กุญแจที่ดื้อ ไม่ค่อยยอมให้ลูกกุญแจ(อินซูลิน)ไข เพื่อนำน้ำตาลเข้าเซลล์

มีคำเปรียบคนอ้วนที่พุงว่า อ้วนคล้ายลูกแอปเปิ้ล และคำเปรียบคนอ้วนที่ตะโพกหรือขาท่อนบนว่า อ้วนคล้ายลูกแพร์ คนที่อ้วนแบบลูกแอปเปิ้ลมีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าอ้วนแบบลูกแพร์

 

การใช้แรงในชีวิตประจำวันและการออกกำลังกายมีส่วนทำให้กล้ามเนื้อใช้กลูโคสมากขึ้น และทำให้เซลล์ไวต่ออินซูลินมากขึ้น คนที่ออกแรงน้อยมีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้น

ความเสี่ยง:

ความเสี่ยงต่อภาวะใกล้เป็นเบาหวาน หรือน้ำตาลในเลือดสูงได้แก่

  • ประวัติครอบครัว:
    คนที่มีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นเบาหวานมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • น้ำหนักตัว:
    น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรืออ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยที่สุด
  • การออกแรงน้อยเกิน:
    คนที่ออกแรงในชีวิตประจำวันน้อยเกิน เช่น ใช้ลิฟต์แทนบันได ใช้รถแทนเดิน ฯลฯ และออกกำลังกายน้อยเกินมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • อายุ:
    คนที่มีอายุเกิน 45 ปีมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นจากการใช้แรงในชีวิตประจำวันลดลง ออกกำลังกายลดลง มวลกล้ามเนื้อลดลง และน้ำหนัก(โดยเฉพาะไขมัน)เพิ่มขึ้น
  • เชื้อชาติ:
    สถิติสหรัฐฯ พบว่า ฝรั่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าคนเอเชียและชาวเกาะแปซิฟิค คนอาฟริกันอเมริกัน(นิโกร)และฮิสพานิคจากอเมริกาใต้มีความเสี่ยงเพิ่มเป็น 1.5 เท่า คนอเมริกันอินเดียน(อินเดียนแดง)และคนพื้นเมืองอลาสก้ามีความเสี่ยงเพิ่มเป็น 2 เท่า
  • ประวัติการตั้งครรภ์:
    ผู้หญิงที่มีเบาหวานในระหว่างการตั้งครรภ์ หรือคลอดลูกที่มีน้ำหนักมากกว่า 9 ปอนด์ (4.1 กิโลกรัม) มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

 

คำแนะนำ:

คำแนะนำสำหรับคนที่มีภาวะใกล้เป็นเบาหวานได้แก่

  • กินอาหารสุขภาพ:
    กินข้าวกล้อง ถั่ว งา ผัก และผลไม้พอประมาณ กินอาหารไขมัน น้ำตาลให้น้อยลง ควรงดเหล้า โปรดปรึกษาแพทย์หรือบุคลากรสุขภาพที่ดูแลท่านว่า กินนมได้หรือไม่(นมมีน้ำตาลนม) การกินผลไม้มากเกินไป มีส่วนทำให้น้ำตาลสูงขึ้นได้ จึงไม่ควรกินผลไม้มากเกิน ควรลดปริมาณผลไม้แห้งที่ไม่เติมน้ำตาลลงประมาณ ½ ของผลไม้สด น้ำผลไม้ดีกับสุขภาพน้อยกว่าผลไม้สด เนื่องจากไม่มีเส้นใยที่ช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ๋ ช่วยระบาย ลดไขมัน และช่วยให้อิ่มท้อง

 

  • ลดน้ำหนัก:
    ถ้าน้ำหนักเกินมาตรฐานควรลดน้ำหนัก สมาคมเบาหวานสหรัฐฯ แนะนำว่า การลดน้ำหนักในระดับปานกลาง หรือ 5 % มีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และลดความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน

 

  • ใช้แรงและออกกำลัง:
    คนที่มีภาวะใกล้เป็นเบาหวานที่ลดน้ำหนักตัวได้ 5-10 % และออกกำลังกายหนักปานกลาง เช่น เดินเร็ว ฯลฯ วันละ 30 นาทีขึ้นไปช่วยป้องกันการเปลี่ยนเป็นโรคเบาหวานได้

 

  • ตรวจเลือดติดตาม:
    แนะนำให้คนที่มีภาวะใกล้เป็นเบาหวานตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด(โคเลสเตอรอล) และวัดความดันเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ถ้าน้ำหนักตัวมากเกิน หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเบาหวานให้ตรวจบ่อยกว่านั้น เช่น ทุก 6 เดือน ฯลฯ

 

แหล่งข้อมูล:

  •  
    • ขอขอบคุณ > Mayo clinic staff. Prediabetes. > http://www.mayoclinic.com/health/prediabetes/DS00624 > January 11, 2006.
    • ขอขอบคุณ > เบาหวาน: เชื่อถูก เชื่อผิด. ศูนย์ให้คำปรึกษาเรื่องเบาหวาน โรงพยาบาลเทพธารินทร์ ([email protected] โทรศัพท์ 0 2671 7777). หน้า 6.
    • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ CMU โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > ๑๑ มกราคม ๒๕๔๙ > 23 กันยายน 2551.
หมายเลขบันทึก: 11962เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2006 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
ผมอายุ20ปี มีโรคอ้วน สภาพร่างกายแข็งแรงดี แต่ช่วงนี้ปัสสาวะแล้วมีมดตอม อยากรู้ว่าใช้สาเหตุภาวะใกล้เป็นเบาหวาน รึเปล่าครับ

ขอขอบคุณ คุณ TTT และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • อย่าเพิ่งตกใจครับ...
  • มดเป็นสัตว์ที่ปรับตัวได้เร็ว หาอาหารเก่ง และชอบสำรวจ

การมีมดตอมปัสสาวะไม่จำเป็นต้องเป็นผลจากเบาหวานเสมอไป...

  • มดเป็นสัตว์ชอบ "ดื่มน้ำ" มากเป็นพิเศษ... ที่ที่มดชอบอยู่มากคือ ที่นี่เย็น + ชื้น
  • อ่างล้างหน้า โถส้วม อ่างล้างจานนี่... มดชอบมาก

วิธีที่แม่นยำกว่าในการตรวจเบาหวานได้แก่...

  • ตรวจเลือด (FBS)... วิธีนี้งดอาหารและน้ำ 6 ชั่วโมง (งดกลางคืน-ตรวจเช้า หรือ งดบ่าย-ตรวจเย็นก็ได้)
  • ตรวจเลือดวิธีพิเศษ ซึ่งไม่ขอกล่าวในที่นี้
  • ตรวจปัสสาวะ

ไม่ว่าจะเป็นเบาหวานหรือไม่ก็ตาม...

  • การควบคุมอาหาร... เริ่มจากการงดเหล้า เบียร์ ไวน์ (มีแคลอรี่สูง ทำให้ดื่มของหวานมาก และกินจุ) + งดน้ำหวาน + งดน้ำผลไม้ (ยกเว้นน้ำมะเขือเทศ ซึ่งมีน้ำตาลต่ำ และป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก)
  • เปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง + เพิ่มผัก (ดีที่สุดคือ ผักครึ่งหนึ่งแบบโฆษณา...) + เพิ่มผลไม้ไม่หวานจัด (สัดส่วนผลไม้ควรไม่เกิน 1/2 ของผัก กรณีอ้วน)
  • เดินให้มาก... อย่างน้อยวันละ 30 นาที และค่อยๆ เพิ่มเป็นอย่างน้อยวันละ 60 นาที

การควบคุมน้ำหนัก...

  • ถ้าอ้วน... การลดน้ำหนักให้ได้ 5-10% ในระยะยาวช่วยป้องกันเบาหวาน อัมพฤกษ์-อัมพาต และมะเร็งหลายชนิดได้

ขอให้คุณ TTT และท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุข ความเจริญ มีสุขภาพดี มีแรง มีกำลังไว้ทำอะไรดีๆ ไปนานๆ ครับ...

ขอบคุณคุณหมอ นพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์  มากครับที่มาไขข้อข้องใจของผม ผมอาจจะคิดมากไปเองก็ได้ครับเพราะอาการอย่างอื่นไม่มีเลย แต่ก็จะปฎิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัดครับ ขอบคุณมากครับ

ขอขอบคุณ... คุณ TTT และท่านผู้อ่านทุกท่าน

  • เวลามีวิกฤตการณ์อะไรเข้ามาในชีวิต... เราคงต้องตั้งหลัก "ทำใจ" หรือ "ตั้งสติ" ให้ได้ก่อน
  • ขอให้พวกเราทุกท่านมีความสุข มีสุขภาพดี และมีโอกาสทำอะไรดีๆ ไปนานๆ ครับ

ขอขอบคุณ...

สวัสดีคะ คุณหมอ

หนูเป็นคนนึงที่เป็นเบาหวานคะ เป็นแบบแปลกมาก ช่วงที่เริ่มเป็น คือตรวจพบอายุ21คะ ตอนนี้ อายุ 26 แล้วคะ ทั้งๆที่ไม่ใช่คนกินหวาน ออกจะติดรสเค็มซะด้วยซ้ำ สูง170 หนัก 60 เป็นคนที่ชอบทานผักมาก ไม่กินจุกจิก นอกจากจะเป็นผลไม้

ส่วนตัวหนูเองคุมได้บ้างไม่ได้บาง (เพราะเป็น multi chef) แต่นัดตรวจทุก2เดือนคะ เกณฑ์ตรวจค่อนข้างพอใช้คะ

แต่มีคุณพ่อ กับคุณปู่เป็นโรคนี้ ทั้งคู่ กรุ๊ปเลือด A และตัวหนูก็กรุ๊ป Aด้วย

ตอนนี้คุณแม่กังวล(+เริ่มยัดเยียดความกังวลให้)มาก ว่า จะสามารถแต่งงาน มีลูกได้ไหมคะ แล้วถ้ามีลูกๆจะเสียงเป็นโรคเบาหวานมากไหม กลัวเเกจะเป็นเเบหนูคะ

อีกเรื่อง หนูเป็น ibs ด้วย กินยายังไงก็ไม่ดีขึ้นเลย จะหนักไปทางท้องเสีย ถ่ายน้ำซะมากกว่าท้องผูก อีกทั้งอาหารไม่ค่อยจะย่อย ถ่ายกากเป็นใบผัก บางครั้งถ่ายมีไขมันคล้ายตอนกินน้ำมันละหุงเพื่อตรวจลำไส้ ออกมาด้วย(จนก้นมันคล้ายกับไปแอบทาน้ำมันซะงั้น) ถ้าเป็นแบบนี้มันจะอันตรายมากไหม หาหมอทีแต่ละที่ เค้าบอกว่าibs ไม่น่ากลัว แต่แค่น่ารำคาญ ... หนูเป็นโรคนี้ก่อนเป็นเบาหวาน ปีหนึ่งคะ ตอนนี้กังวลโรคนี้มากคะ ทำยังไงถึงจะหายคะ

ขอบคุณคะ

แนะนำให้ปรึกษาหมอใกล้บ้านครับ...

ปัญหานี้ซับซ้อนมากๆ เลย และอาจต้องตรวจดูว่า ตับอ่อนมีปัญหาอะไร เช่น อักเสบเรื้อรัง ฯลฯ หรือไม่ เนื่องจากมีอาการของต่อมไร้ท่อ (เบาหวาน) + ต่อมมีท่อ (ตับอ่อนผลิตน้ำย่อย) ร่วมกัน

...

ดิฉันเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ค่ะ ระหว่างตั้งครรภ์ควบคุมอาหารได้ โดยมีเครื่องมือมาเจาะเลือดที่บ้านค่ะ แต่หลังคลอดได้ 3 วัน ก็ลองเจาะน้ำตาลดูหลังจากงดน้ำงดอาหาร 8 ชั่วโมง ค่าน้ำตาลที่ได้ยังสูงอยู่ ค่าอยู่ที่ 108 ค่ะ แบบนี้สรุปว่าดิฉันเป็นเบาหวานรึปล่าวคะ แล้วคนที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีขั้นตอนการตรวจน้ำตาลอย่างไรจึงสรุปว่าเป็นเบาหวานถาวรคะ ตอนนี้เลี้ยงลูกไปก็เครียดเรื่องนี้ไปด้วยค่ะ รบกวนคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ

ขอให้ไปถามหมอใกล้บ้านครับ..... // เรื่องนี้คุยกันนาน

ผมอยากรู้ครับว่าถ้าปัสวะแห้งเป็นคราบแล้วมดมาตอม ลองทำถึง2ครั้งครับ

ไม่ทราบว่ามีส่วนของอาการโรคเบาหวานไหมครับผม หนัก 75 สูง 171 น่าจะอ้วนนะครับ

อาการอื่นที่สื่อถึงเบาหวานของผมไม่มีครับแต่ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไร

ขอคำแนะนำด้วยครับ

สวัสดีครับหมอ ถ้าเกิดว่ามีมดขึ้นอสุจิใช่อาการของโรคเบาหวานหรือเปล่าครับ

เรียนปรึกษาคุณหมอค่ะ

ไปตรวจเลือดท่ี รพ. รัฐแห่งหนึ่ง ผลน้ำตาลคือ 125

ในขณะเดียวกันวันถัดไป ท่ีทำงานมีบริการตรวจสุขภาพฟรี ได้ตรวจเลือดจาก รพ. รัฐแห่งท่ี 2 ได้ 104

หลังจากนั้น ก็รีบควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย ดื่มน้ำมะระขี้นกเป็นประจำ อีก 2 เดือนไปตรวจเลือดท่ี รพ. แห่งท่ี 2 ได้ผล 113

รู้สึกตกใจ อยากเรียนถามว่า

1. ทำไมควบคุมขนาดนี้ น้ำตาลน่าจะคงท่ี หรือลดลง กลับเพ่ิมขึ้น

2. ทำอย่างไรจะรู้ว่า ตรวจได้ค่าถูกต้อง และน่าเชื่อถือ เพราะว่าผลเลือดต่ำ เราก็จะไม่รู้ว่าเป็นเบาหวาน ทั้งๆ ท่ีเป็นแล้ว จะเชื่อผลเลือดของใครดีคะ

ท่ีบ้านไม่มีกรรมพันธ์เบาหวานค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

ภาวะใกล้เบาหวานก็ต้องหาหมอรักษา

ชีวโมเลกุล

การรักษาแบบใหม่นี้สร้างความหวังให้แก่ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน ที่หมดหวังกับยาสามัญทั่วไป เป็นเวลากว่าสี่สิบปีที่การรักษาด้วยชีวโมเลกุลได้แสดงให้เห็นว่ามันมีประสิทธิภาพอย่างมาก

แม้ในกรณีที่รุนแรง เช่น มองกะลิสซึม(ภาวะผิดปกติของโครโมโซม), สมองพิการ, ตาบอดแรกเริ่ม

ไอคิวของผู้ป่วยปัญญาอ่อน ได้รับการปรับปรุงให้ดีอย่างเห็นได้ชัดและหลายเรื่องที่เป็นเชิงลบด้วยเช่นกัน แม้กระทั่งในผู้ป่วยที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคที่ไม่เฉพาะเจาะจงก็ได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นฟูโดยทั่วไปเช่นกันโดยมีพัฒนาการอย่างมากทางความยืดหยุ่น,กล้ามเนื้อ,ความสามารถทางร่างกายและจิตใจรวมถึงประสิทธิทางเพศเพิ่มขึ้นอีกด้วย

แนวคิดเดิมของการรักษาด้วยเซลล์ที่มีชีวิตเริ่มต้นที่ยุโรปโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวสวิสที่ยอดเยี่ยม ศาสตราจารย์พอล เนลฮานส์ ในปี 1931 และได้มีการพัฒนาต่อโดยนักเรียนคนแรกชาวเยอรมันของเขา ดร. ซิกฟรีด บล็อก อย่างไรก็ตามแม้ว่าการรักษาด้วยเซลล์ที่มีชีวิตจะประสบความสำเร็จอย่างมากมาย ก็มาพร้อมๆกับปัญหาและข้อเสียมากมาย และในปีที่ผ่านมาศาสตราจารย์คาร์ล เทอเร่อ (Karl Theurer) ชาวเยอรมัน ได้มีการปฏิวัติแนวคิดใหม่ทั้งหมด

วิธี เทอเร่อ(Theurer) นี้ ใช้เนื้อเยื่อสดจากสัตว์สุขภาพดีที่มีอยู่ในสต็อก ปลดปล่อยมันออกจากทุกเรื่องภายนอกแล้ว อัดมันที่อุณหภูมิลบ 195 องศา หลังจากได้รับการรักษาในสุญญากาศที่เป็นกรดโดยไม่ใช้ความร้อน ผลที่ได้คือผงแห้งที่ประกอบด้วย อวัยวะส่วนเล็ก ๆ ที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอยู่ สิ่งนั้นสามารถฉีดหรือนำไปทำเป็นรูปแบบยาเม็ดหรือแคปซูล โดยไม่มีแนวโน้มที่จะปฏิเสธหรือการแพ้ และ สามารถบรรเทาความรู้สึกไม่สบายให้ลดลงเมื่อฉีดเข้าไปในผู้ป่วย

รูปแบบของชีวโมเลกุลหรือการบำบัดด้วยไซโตพลาสมาติก(Cytoplasmatic)นี้ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของประเทศเยอรมันมานานกว่าห้าสิบปีและได้รับการยอมรับในการรักษาทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายในกว่า 60 ประเทศ ทุกวันนี้ในประเทศเยอรมันนำมาใช้เป็นวิธีการหลักของการรักษามากกว่า 5,000 สถาบันการแพทย์และในการรักษาของแพทย์โดยตรงกับผู้ป่วยของพวกเขา

ซึ่งแตกต่างจากการรักษาทางการแพทย์สมัยปัจจุบันเป็นอย่างมากการรักษาด้วยชีวโมเลกุลพยายามที่จะรักษาที่สาเหตุไม่ใช่ที่อาการ

ตัวอย่างเช่น โรคเบาหวาน เกิดจากความล้มเหลวของเซลล์บางตัวในตับอ่อนที่จะสร้างอินซูลินให้เพียงพอ ดังนั้นเมื่ออินซูลินเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเผาผลาญน้ำตาล ผลที่ตามมาก็คือ จำนวนน้ำตาลที่มีมากเกินไปในระบบเลือด

การรักษาแผนปัจจุบันนั้นแนะนำให้ฉีดอินซูลินเข้าไปซึ่งต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่น่าเบื่อ วิธี เทอเร่อ(Theurer)การบำบัดรักษาตับอ่อนโดยตรงด้วยการฉีดอย่างรอบคอบ เลือกเซลล์ตับอ่อนที่มีสุขภาพดีเข้าไปในร่างกาย จึงช่วยให้อวัยวะซ่อมแซมตัวเองตามธรรมชาติและเพิ่มผลผลิตอินซูลินของตัวเอง

ผู้ป่วยโรคเบาหวานพบว่า มันทำให้พวกเขาสามารถลดจำนวนของการฉีดอินซูลินทุกวัน นอกจากนี้จากการรายงาน ยังพบว่า มันช่วยให้สุขภาพโดยรวมของพวกเขานั้นดีขึ้น เพราะ วิธีการของ เทอเร่อ (Theurer) นั้นตระหนักดีว่า โรคเบาหวานมักจะมีผลกระทบต่อตับไต และอวัยวะอื่น ๆ พร้อมกับการแนะนำการรักษาที่จะช่วยให้อวัยวะนั้น ๆ ถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วยตัวเอง

คือเป็นเเผลที่ขาหายช้ามากเเละอ้วนจะเป็นเบาหวานไหมครับตอนนี้13ปีเอ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท