มนต์เสน่ห์ของบทเพลงพื้นบ้าน (ตอนที่ 3) เพลงอีแซวต่างยุค


การแสดงในวันนี้ ผิดกับที่เคยมีในวันก่อน

 

มนต์เสน่ห์ของบทเพลง

พื้นบ้าน (ตอนที่ 3)

เพลงอีแซวต่างยุค

 การแสดงในวันนี้ผิดกับที่เคยมีในยุคก่อน  

          ในตอนที่ 3 นี้ ผมจะขอพูดถึงการแสดงเพลงอีแซวในวันนี้กับเพลงอีแซวของเก่าที่ผมฝึกหัดมา วันเวลาผ่านไปหลายปี จากวันที่ผมหัดเพลงที่บ้านป้าอ้น จันทร์สว่าง มาจนถึงวันนี้ 30 ปีแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นผมติดตามน้าชายไปดูเพลงฉ่อย เพลงอีแซวที่เขามาแสดงใกล้ ๆ บ้านอยู่เสมอ กอปรกับมีนักเพลงขี้เมาที่ผมนับถือ ท่านร้องเพลงพื้นบ้านดีมาก (ร้องเฉพาะตอนเมา)  จนทำให้ผมจำเอามาร้องได้หลายบท

          พูดถึงการแสดงเพลงอีแซวในสมัยก่อน ราว 50 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ผมเข้าเรียนชั้น ป.1  เริ่มต้นดูเพลงอีแซวนำเอาภาพเก่า ๆ มาผนวกกับตอนที่ผมเข้าสู่เวทีเพลงบนลานดินหน้าศาลเจ้าพ่อ เพลงอีแซวในสมัยนั้นดูเรียบง่าย ทั้งการแต่งกาย การร้องเล่น เต้น รำ ทำท่าทางสนุกสนาน  ผู้แสดงฝ่ายหญิงมีรำกันสวย ๆ แต่ผู้แสดงฝ่ายชายเขาจะไม่รำกัน เพียงแค่ยกไม้ยกมือ แกว่งแขน ทำท่าทางเหยาะ ๆ หรือไหวตัวเล็กน้อย เน้นที่การร้องเสียมากกว่า ในตอนที่ผมเริ่มดูเพลงใหม่ ๆ จำได้ว่ามีเครื่องไฟขยายเสียงแบบลำโพงฮอร์น (ลำโพงปากบาน) ความดังก็ไม่มากนัก ไมโครโฟนผูกผ้าแพรสีสวยสดแขวนเอาไว้กับเชือกที่ขึงยาว ๆ ห้อยลงมาเหนือศีรษะ รับเสียงร้องได้หมดนะ  ใครร้องมาก็ได้ยินทั้งวง

 

           มีบางท่านเรียกเพลงอีแซวว่า เพลงรำอีแซว ถ้าจะเข้าใจผิดเอามาก หรืออาจเป็นเพราะท่านมาได้ดูเพลงอีแซวเอาในตอนหลัง คือในระยะนี้นั่นเอง เพลงอีแซวเป็นเพลงร้องโต้ตอบ พูดโต้ตอบ กล่าวโต้ตอบ (เพลงปฏิพากย์) มิใช่เพลงรำตามที่ท่านเข้าใจ เพราะว่า ครูเพลงเก่า ๆ โดยเฉพาะผู้ชายเขาร้องอย่างเดียว เขาไม่มีรำกันเลย ทั้งนี้เพราะ เขาเป็นชาวนา เป็นกรรมกร อยู่กลางทุ่ง มือไม้แข็ง ตรากตรำทำงานหนักมานาน 

           มีบางท่านบอกว่า เพลงอีแซว เล่นหยาบคาย คำร้องไม่สุภาพก็ว่ากันไป แต่อันที่จริง คำร้องที่นำมาเสนอต่อสายตาผู้ชม เป็นคำที่กลั่นออกมาจากความเป็นจริงในสังคมยุคนั้น ๆ แต่อาจจะพบคำหยาบโลนบ้าง เพราะเป็นการปะทะฝีปากกัน หากท่านผู้มีจิตใจเมตตา มีคุณธรรมสูงส่ง คงพอที่จะนำมาแยกแยะได้ว่า  อะไรเป็นอะไร ในบทปะทะกันนั้นก็ยังมีคติสอนใจเหน็บเอาไว้ให้ได้คิดด้วย ครับ  รวมทั้งยังมีการแสดงตอนที่ดี ๆ มีประโยชน์อีกมากในการแสดงแต่ละงาน หากมองเพียงตอนหนึ่งตอนใดของเพลงอีแซวแล้วด่วนสรุป  ตอนที่ดี ๆ อย่าง ตอนไหว้ครู ตอนเล่นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม  ตอนออกตัวฝากตัว และตอนร้องเพลงลา-อาลัยที่ซาบซึ้งมากก็น่าที่จะได้รับการยกย่องว่ามีคุณค่าต่อผู้ชมเป็นอย่างมาก 

           ผมติดตามชมการแสดงของเพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านอื่น ๆ มาหลายคณะ หลายสถานที่ นับจำนวนเป็นพันครั้งในเวลา 50 ปีที่ผ่านมา จนมาถึงวันนี้ ผมทำวงเพลงพื้นบ้าน ผมมีวงเพลงอีแซวที่สามารถรับใช้สังคมได้ และผมพร้อมด้วยลูกศิษย์ 22 คน ยังรักษาเอกลักษณ์เดิม ๆ ของคนรุ่นครูเพลงเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะได้เอาไว้บอกกับคนต่างบ้านต่างเมืองเขาได้ว่า นี่แหละคือการแสดงเพลงอีแซวสุพรรณฯ 

จากวันนั้นมาถึงวันนี้ เพลงอีแซวมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้าง (ตามที่ผมสังเกตเห็น)   

          1. การแต่งกาย เปลี่ยนไปจากการนุ่งโจงกระเบนที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม มาเป็นผ้านุ่งตัดสำเร็จรูปคล้ายโจงกระเบน  (ทำให้คนที่เป็นผู้แสดงอาจจะไม่รู้จักผ้านุ่งโจงกระเบน) ส่วนเครื่องประดับใครมีอะไรก็สวมใส่มา แต่ไม่ควรที่จะหรูหราจนเกินงาม 

          2. ผู้แสดงแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ผู้ร้องนำ (พ่อเพลงและแม่เพลง) กับผู้รำประกอบยืนอยู่แถวหลังแบบแยกส่วนอย่างชัดเจน และไม่มีเอกภาพในการแสดง คือ ไม่มีความสัมพันธ์กันกับผู้ร้องนำเลย ผู้ร้องก็ร้องไป ผู้รำก็ตั้งใจรำกันไป ซึ่งในสมัยก่อนไม่มี 

          3. เครื่องดนตรี ใช้เครื่องประกอบจังหวะซึ่งสิ่งนี้คนโบราณในยุคก่อนท่านกล่าวเอาไว้ว่า ใครมีเครื่องดนตรีอะไรก็นำเอามาใช้  โดยเริ่มจาก การปรบมือ ต่อมาก็มี กรับ มีฉิ่ง และมีตะโพน เป็นเครื่องให้จังหวะ  ต่อมาก็นำเอาวงดนตรีเครื่องห้าเข้ามาร่วมบรรเลงด้วย และมีวงเพลงรุ่นเก่า ๆ นำเอาเครื่องดนตรีสากลเข้ามาใช้ทั้งกลองชุด กีตาร์  อิเล็กโทน ในข้อนี้ก็น่าที่จะอนุโลมได้ตามคำกล่าวของครูเพลง    

         4. บทร้องหรือเนื้อหาที่นำมาแสดง  แต่เดิมนักเพลงจะร้องไหว้ครู จบแล้วจะเป็นการร้องเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงาน และยกย่องเจ้าภาพผู้หาเพลงไปเล่น แล้วจึงว่าด้วยเรื่องอื่น ๆ ต่อไป  ส่วนการแสดงในปัจจุบัน เน้นที่ความสนุกสนาน โดยเฉพาะเพลงพื้นบ้านเยาวชนในจังหวัดสุพรรณฯ แทบจะจับจุดไม่ได้ว่า นำเสนอเพลงอะไรกันแน่ ผสมปนเปกันไปเสียหมดจนขาดเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเพลงอีแซว

         5. สำเนียง เสียงร้อง คำลงเพลง คำเอื้อนเอ่ยฟังแปลกแตกต่างไปจากของเดิมค่อนข้างมาก เริ่มจากคำขึ้นต้นเพลงอีแซว คำร้องเกริ่นเป็นเอกลักษณ์ของเพลงพื้นบ้านแต่ละชนิด  เพลงอีแซวก็จะขึ้นว่า  เอ่อ เอ้อ เออ... เอ่อ เอิง เง้อ... เอ่อ เอิ้ง เงย...แล้วตามด้วยคำร้อง แต่วันนี้มีคนสอนให้ร้องเกริ่น  ว่า  เอ่อ เอ้อ เออ... เอ่อ เอิง เง้อ... เอ่อ เอิ้ง เงย...แล้วตามด้วยเกริ่นสั้น เอ๊ย..อีกด้วย ของเดิมไม่เคยมี   มีการนำเอาคำว่าว่ามาใช้ก่อนคำเอื้อนลง-รับซึ่งแต่เดิมไม่มี เพิ่งจะมาได้ยินเมื่อ 6-7 ปีนี้เอง  คำร้องลง แต่เดิมนักเพลงเขาเอื้อนคำลงว่าเอ…” หรือเอิ้ง..เงอแล้วรับ 3 คำท้าย วันนี้นักเพลงที่เป็นนักเรียน เขาร้องลงกันแบบนี้ว่า เอิ้ง..เงอ  ซึ่งแต่เดิมไม่มีจริง ๆ  ชักสับสนเสียแล้วนะ

         6. ผู้ที่แสดงประกอบโดยเป็นผู้รำ ในสมัยก่อนเขายืนเป็นกลุ่ม  ชายกลุ่ม หญิงกลุ่ม ใครจะรำก็รำไป ชายรำป้อไปหาหญิง หญิงรำอ่อนมาหาชายอย่างสนุกสนาน แต่เพลงอีแซวนักเรียนในวันนี้ กลายเป็นนำคนมารำอยู่แถวหลัง รำอย่างเป็นหลักเป็นฐานและไม่มีปฏิสัมพันธ์ กันกับผู้แสดงแถวหน้าเลย และท่าทางที่รำร่าย ดูจะเป็นแบบการแสดงของภาคอื่นด้วยซ้ำ

         7. ผู้แสดงในสมัยก่อน เพลง 1 วง มีผู้แสดง 4-6 คน เท่านั้น ฉิ่ง กรับ คนเล่นตีเองที่เหลือก็ยืนปรบมือไปด้วย ปัจจุบันผู้แสดงคณะละ 15-20 คน บางคณะมีมากกว่านั้นอีก แต่มีนักแสดงผู้ชายเพียงคณะละ 1-4 คน เท่านั้น (อาจมีข้อจำกัดในการหาตัวแสดง)

         8. มุขตลกขบขัน แต่เดิมดึงเอามาจากบทร้องที่เป็นปัญหาจึงต้องนำเอาคำเหล่านั้นมาขยายความเพื่อให้ผู้ดูเข้าใจในคำที่เป็นสองแง่สองง่าม  แต่ในการแสดงปัจจุบันโดยเฉพาะเพลงอีแซวนักเรียนนำเอาการแสดงแบบสากลเข้ามานำเสนอในแบบตลก สนุกสนาน โดย ไม่มีการโยงให้ติดต่อเป็นเนื้อเดียวกัน

         9. การแต่งกาย ชุดการแสดงบ่งบอกถึงการทำหน้าที่การแสดงเฉพาะอย่าง เมื่อต้องการที่จะเปลี่ยนบทบาทไปแสดงเพลงประเภทอื่น ๆ ผู้แสดงจะต้องทำการเปลี่ยนแปลงตนเองให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนเพลงประเภทนั้น ๆ ยกเว้นเพลงที่มีรูปแบบคล้าย ๆ กัน

         10. เมื่อจบการแสดง นักเพลงในยุคเก่าหรือสมัยก่อน โดยเฉพาะผู้ที่อาวุโสน้อยกว่า หรือนักเพลงรุ่นน้อง เขาจะเข้าไปไหว้ ไปกราบขอสมาต่อนักเพลงรุ่นพี่หรือครูเพลง อันเป็นวัฒนธรรมที่สวยงามมาตลอดช่วงระยะการแสดงของคนเพลงจริง ๆ แต่มาถึงวันนี้ไม่มีปรากฏ (ยกเว้นวงอาชีพยังคงรักษาเอกลักษณ์เดิมเอาไว้)

 

           ผมจึงอยากให้ผู้ทีทำวงเพลงอีแซว ได้ศึกษาและย้อนกลับไปมองดูอดีตเก่า ๆ ด้วย การประยุกต์เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องปรับให้เข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ผมมิใช่หวังว่าจะให้ทุกอย่างคงเดิมแบบเก่าทั้งหมด เพราะคงเป็นไม่ได้  แต่สิ่งใดดี มีคุณค่า ขอให้ดำรงเอาไว้อย่างเหนียวแน่น  และรักษาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเพลงอีแซวเอาไว้ให้ได้  

            กาลเวลา เหตุการณ์ต่อหน้า สถานการณ์จริง จะเป็นตัวกำหนดให้เราอยู่รอดหรือไม่ได้เอง การประยุกต์ที่ปรับเปลี่ยนไปจนติดตลาดคือ ความสามารถพิเศษที่ฉีกแนวไปสู่เอกลักษณ์เฉพาะตัว ย่อมทำได้  แต่ถ้ายังต้องจดจำ คัดลอกลีลาท่าทางรวมทั้งบทร้องมาจากผู้อื่น ขอให้เริ่มต้นที่ของเดิมไปก่อน แล้วค่อย ๆ พัฒนาไปสู่ทิศทางของตนเอง  แสดงเอกลักษณ์ที่เป็นจุดขายของตนเองให้ได้ วันนั้นคือ วันที่ความมั่นคงมาถึง เด็ก ๆ จะมีรายได้เป็นอาชีพเสริมที่น่าสนับสนุนมากครับ 

 

ชำเลือง มณีวงษ์ / รางวัลชนะเลิศประกวดเพลงอีแซว จังหวัดสุพรรณบุรี ปี พ.ศ. 2525

                         ผู้มีผลงานดีเด่น ศิลปะการแสดง รางวัลราชมงคลสรรเสริญ พุ่มพนมาลา ปี 2547

 

หมายเลขบันทึก: 118754เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2007 21:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท