แนวทางการจัดอาชีวศึกษาเพื่อสนองตอบความต้องการของสังคม : กรณีศึกษา วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร โดย ประธานวิทย์ ยูวะเวส


แนวทางการจัดอาชีวศึกษาเพื่อสนองตอบความต้องการของสังคม

การศึกษาแนวทางการจัดอาชีวศึกษาเพื่อสนองตอบความต้องการของสังคม : กรณีศึกษา วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร สามารถสรุปผลได้ดังต่อไปนี้

1.  ยุทธศาสตร์หลักของจังหวัดพิจิตร

                ยุทธศาสตร์จังหวัดพิจิตรในปริบทใหม่จะเน้นการทำงานแบบบูรณาการโดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน และต้องมีความเข้าใจที่ตรงกัน  โดยกรอบการทำงานแบ่งเป็น 3 ลักษณะ  ได้แก่  งานตามหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายกำหนดชัดเจน งานตามนโยบายหรืองานบางเรื่องที่เน้นเป็นพิเศษ เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคของกระทรวงสาธารณสุข นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นโยบายการแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาล และงานตามยุทธศาสตร์ที่เน้นพื้นที่เป็นหลักซึ่งจังหวัดพิจิตรจัดอยู่รวมกับจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชรและอุทัยธานี

                สถานศึกษาอาชีวศึกษาจำเป็นที่จะต้องเข้ามาส่วนร่วมในการดำเนินการยุทธศาสตร์ของจังหวัดในรูปของการทำงานแบบบูรณาการ ได้แก่ การพัฒนาผลผลิต การแปรรูปผลผลิตภัณฑ์ การปรับเปลี่ยนหมุนเวียนการปลูก การศึกษาความต้องการของตลาด การเพิ่มรายได้ของประชาชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาคุณภาพสินค้าOTOP การจัดการองค์ความรู้  การอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตกำลังคนที่จะทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด

2.  การพัฒนายุทธศาสตร์จังหวัดพิจิตรกับการจัดอาชีวศึกษา

                จังหวัดพิจิตรกำหนดทิศทางในการพัฒนาไว้ 6 ประเด็นได้แก่

                1.  การแก้ไขความยากจน

                อาชีวศึกษาควรเข้ามามีบทบาทในการให้ความรู้เรื่องการเกษตร การให้ความรู้เสริมในการประกอบอาชีพ การสร้างอาชีพเสริม และการจัดบริการชุมชนในระบบเปิด กล่าวคือ การให้ประชาชนเข้ามาศึกษาที่สถานศึกษาได้ตลอดเวลาพร้อมทั้งมีตัวอย่างให้เรียนรู้ได้

                2.  การผลิต การแปรรูป และการค้าข้าว

                อาชีวศึกษาควรมีบทบาทในการส่งเสริมเทคนิค วิธีการใหม่ ๆ เพื่อสนองตอบการพัฒนาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพของการผลิต ควรมีการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ผลิตที่ดีในอนาคต ควรมีการจัดเก็บและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการผลิต ผลของการผลิต กรรมวิธีในการผลิต เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาองค์ความรู้ต่อไป ควรมีการกำหนดรูปแบบบรรจุภัณฑ์ และพัฒนาให้มีความแปลกใหม่ น่าสนใจมากขึ้น และควรมีกี่คิดค้นกระบวนการการผลิตให้ทันสมัยขึ้น

                นอกจากนี้อาชีวศึกษาควรเข้ามามีบทบาทในเรื่องการตลาดและการค้าซึ่งได้แก่การคิดคำนวณต้นทุน กำไรและขาดทุน การคิดแผนธุรกิจเพื่อจูงใจและส่งเสริมประชาชนพัฒนาการผลิตข้าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

                3.  การพัฒนาสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการศึกษา

                อาชีวศึกษาจะมีบทบาทอย่างมากในการคิดค้นวิธีการ กิจกรรมที่จะส่งเสริมและสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น การพัฒนาสังคม การศึกษาและความเป็นอยู่ของประชาชน  เช่น โครงการเฉลิมพระเกียรติ โครงการอนุรักษ์ช่างสิบหมู่ โครงการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนี้อาชีวศึกษายังควรจะต้องมีบทบาทในการจัดการความรู้ จัดแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับสังคมและชุมชน

                4.  การพัฒนาที่ยั่งยืน

                อาชีวศึกษาควรเข้ามามีบทบาทในการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น สาขาการท่องเที่ยว สาขาการบริการ สาขาช่างผสมโลหะ สาขาเหมืองแร่

                5.  การแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน

                อาชีวศึกษาควรมีบทบาทในการสนับสนุนงานด้านบรรเทาสาธารณภัยให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ได้แก่ การจัดบริการช่วยเหลือและแก้ไขความเดือดร้อน เช่น งานด้านการก่อสร้าง งานด้านซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องกลในครัวเรือนและการประกอบอาชีพ ฯลฯ

                6.  การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

                อาชีวศึกษาควรมีบทบาทในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์เพื่อส่งเสริมการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพของประชาชน เช่น การคิดค้นเครื่องสกัดน้ำมันจากสบู่ดำฯลฯ นอกจากนี้การให้บริการทางด้ายอาชีพอย่างกว้างขวางก็จะเป็นส่วนช่วยตอบสนองความต้องการของชุมชนและสังคมได้เป็นอย่างดี3.  แนวทางในการจัดการอาชีวศึกษา

                การจัดการอาชีวศึกษาในปริบทของสถานศึกษาในจังหวัดพิจิตรที่มีหน้าที่ในการผลิตกำลังคนด้านอาชีพควรมีแนวทางในการจัดการด้านต่าง ๆดังต่อไปนี้

                1.  ด้านหลักสูตร

                หลักสูตรที่เหมาะสมกับสภาพสังคมในปัจจุบันและเหมาะสมกับปริบทของชุมชนและสังคมในจังหวัดพิจิตร ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

                1.1 หลักสูตรมีความสอดคล้องกับสภาพจริงของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

                1.2  หลักสูตรต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ในสภาพจริงของการปฏิบัติงาน

                1.3  หลักสูตรควรให้ความสำคัญกับการจัดการด้านการตลาดซึ่งมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในอาชีพ

                1.4  หลักสูตรอาชีวศึกษาควรให้ความสำคัญกับวิชาสามัญสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ

                1.5  หลักสูตรควรจะมีการเตรียมผู้เรียนให้มีความรู้พื้นฐานเพียงพอที่จะเรียนทางด้านอาชีวศึกษา

                2.  ด้านการจัดการเรียนการสอน

                การจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาควรมีการปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอนให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และสอดคล้องกับสภาพของจังหวัดพิจิตร ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

                2.1  การจัดการเรียนการสอนควรเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริงมากยิ่งขึ้น และเน้นการสอนในภาคปฏิบัติมากกว่าเนื้อหาวิชาการ

                2.2  การจัดการเรียนการสอนควรเน้นกระบวนการคิด ให้ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดที่หลากหลาย

                2.3  การจัดการเรียนการสอนที่ดีและมีคุณภาพสมควรจะเป็นการจัดการเรียนการสอนที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ

                3.  ด้านตัวผู้เรียน

                ความคาดหวังของชุมชนและสังคมที่มีต่อตัวผู้เรียนหรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านอาชีวศึกษามีลักษณะดังต่อไปนี้

                3.1  ผู้เรียนทางด้านอาชีวศึกษาควรเป็นผู้มีวัฒนธรรมในการทำงาน ได้แก่ มีวินัย เคารพกฎระเบียบ มีน้ำใจ รู้หน้าที่ ตรงต่อเวลา ฯลฯ

                3.2  มีบุคลิกภาพที่ดี และมีความพร้อมที่จะเข้าสู่โลกของการทำงานอย่างแท้จริง

                3.3  มีความรู้ความสามารถในการติดต่อสื่อสาร

                3.4  มีความสามารถในการค้นหาความถนัดที่แท้จริงของตนเอง เพื่อเข้าสู่ระบบการจัดอาชีวศึกษา

                3.5  ควรมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในด้านวิชาชีพและการทำงาน

                3.6  ความรู้ความสามารถทางด้านคอมพิวเตอร์ และภาต่างประเทศถือว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้เรียนโดยตรง

                4.  ด้านการจัดการ

                การจัดการอาชีวศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมควรให้ความสำคัญกับปริบทของพื้นที่อย่างจริงจัง ควรมีการปรับบทบาทและพัฒนายุทธศาสตร์ในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับปริบทของพื้นที่เป็นสำคัญ ซึ่งควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

                4.1  อาชีวศึกษาควรเป็นศูนย์ต่อยอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับประชาชนในพื้นที่

                4.2  อาชีวศึกษาควรเป็นศูนย์บ่มเพาะทางด้านสมองให้กับชุมชนและสังคม

                4.3  อาชีวศึกษาควรนำตนเองเข้าสู่ชุมชนและสังคมให้มากขึ้นกว่าปัจจุบันและมุ่งการทำงานนอกกรอบที่เคยปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำ

                4.4  อาชีวศึกษาควรเร่งรัดการร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถานประกอบการที่มีความต้องการแรงงานมากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นการประสานข้อมูลกันอย่างใกล้ชิด

                4.5  อาชีวศึกษาควรมีการแสงหาความร่วมมือกับสถานประกอบการในการจัดการเรียนการสอนร่วมกันเพื่อสร้างกำลังคนที่มีทั้งความรู้และความชำนาญอย่างแท้จริง

                4.6  อาชีวศึกษาควรมีการแสวงหางบประมาณจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและสถานประกอบการเพื่อให้เกิดความเพียงพอในการเอื้อประโยชน์ต่อการจัดการอาชีวศึกษาที่มีประสิทธิภาพ

                4.7  การสร้างเครือข่าย และภาคีความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน องค์กรภายในพื้นที่จังหวัดพิจิตรเป็นภารกิจเร่งด่วนที่อาชีวศึกษาสมควรดำเนินการ
หมายเลขบันทึก: 118744เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2007 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 10:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นการจัดการอาชีวศึกษา ที่จัดหลักสูตรได้เหมาะสมกับสภาพสังคม  จัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี สอดคล้องกับปริบทของพื้นที่  ผู้เรียนได้รับประสบการณ์จริงตรงความคาดหวังสังคมที่มีต่อตัวผู้เรียน

 ยุทธศาสตร์ต่อยอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับประชาชนในพื้นดีมากๆ  เอาใจช่วยเพราะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนแบบยั่งยืนให้กับชุมชนในท้องถิ่นและช่วยให้เศรษฐกิจในพิจิตรขยายตัว 

เป็นแนวทางที่สร้างสรรค์ต่อการพัฒนาองค์กรจากระดับพื้นฐานสู่ระดับสากลโดยใช้ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญให้ความสำคัญในการศึกษาและประสพการณ์ขอเป็นให้สร้างสรรค์งานเพื่อจังหวัดและประเทศชาติต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท