รู้จักกาลเทศะ ไม่บ้า ไม่โง่ กับการรณรงค์รัฐธรรมนูญ 2550


ผมนำคำถามนี้ไปถามน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษาว่า “อะไรคือกาลเทศะที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยในวันนี้ ?”

กว่า 20 วัน ก่อนที่จะถึงวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 วันที่ 19 สิงหาคม 2550 ผมต้องตระเวณเดินสายร่วมกับคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ไปบรรยายในที่ต่าง ๆ เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดชุมพร เวทีที่จัดขึ้นมีเจ้าภาพที่หลากหลายทั้งส่วนราชการและเครือข่ายภาคประชาชน แต่ที่ต้องเข้าถึงมากที่สุดก็คือ สถาบันการศึกษา ทั้งในระดับอุดมศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษา และโรงเรียนมัธยม มากกว่า 20 แห่ง

เมื่อต้องพูดกับเยาวชนคนหนุ่มสาวที่อยู่ในวัยเรียน ผมประเมินว่าการนำเนื้อหารายมาตราของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอยู่มากถึง 309 มาตราไปพูด ไม่น่าจะเกิดประโยชน์มากนัก เพราะเนื้อหาหนักเกินไป ไกลตัวเกินไป ต้องใช้เวลามาก ผมจึงย้อนคิดกลับไปถึงในวัยที่ตัวเราอายุเท่าน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษา ซึ่งเป็นวัยที่ผมเรียนอยู่ในระดับมัธยมปลาย ม.ศ.4 5 ในช่วงปี พ.ศ.2521-2522 ผมพบว่าวัยเดียวกันนี้เป็น วัยแสวงหาแห่งชีวิต ซึ่งหล่อหลอมเป็นแนวคิดอุดมการณ์จวบจนถึงปัจจุบัน ผมจึงตัดสินใจ เล่าเรื่อง ที่ผมมองว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างอุดมการณ์แห่งชีวิตด้วยเรื่องราวของตัวเอง

ผมเล่าให้น้อง ๆ ฟังว่า ปี 2521 - 2522 เป็นปีที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ คือ 6 ตุลาคม 2519 มีการเข่นฆ่านักศึกษาประชาชน ลากศพออกมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปแขวนไว้ที่ต้นมะขามสนามหลวง แล้วเผาทิ้งโดยใช้ยางรถยนต์เป็นเชื้อเพลิง ฯลฯ ผลกระทบจากความรุนแรงทำให้นักศึกษาปัญญาชนส่วนหนึ่งต้องหนีเข้าป่า ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เกิดเป็นกองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย (ทปท.)

ในยุคนั้น ใครมีหนังสือแนวคิดทางการเมืองที่เรียกกันว่าฝ่ายซ้าย เพลงเพื่อชีวิต ต้องเก็บต้องซ่อนเพราะกลัวจะถูกตรวจค้น และถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ผมรับรู้ข่าวสารนอกเหนือจากที่รัฐบาลควบคุมผ่านทางวิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องเล็ก ๆ เปิดสัญญาณคลื่นสั้น (Short Wave) ฟังเรื่องราวต่าง ๆ โดยใช้หูแนบฟังก่อนนอน

หนังสือที่ผมอ่านส่วนใหญ่จะเป็นแนวคิดที่ผมเรียกว่า แนวจิตนิยม อันได้แก่ เรื่องของมหาตมะคานธี กฤษณมูรติ ฯลฯ หนังสือที่มีอิทธิพลกับวัยแสวงหาอุดมการณ์ของชีวิตในช่วงนั้นมากที่สุด คือหนังสือ แด่หนุ่มสาว ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของกฤษณมูรติ แปลเรียบเรียงโดย พจนา จันทรสันติ หนังสือเล่มนี้สอนให้ผมมองปัญหาทางการศึกษาด้วยแนวคิดที่ท้าทาย ปฏิเสธพันธนาการที่เหนี่ยวรั้งการเติบโตทางความคิดจิตใจ

ควบคู่กันไปในตอนนั้นก็คือ ต้องคร่ำเคร่งท่องตำราอย่างหนักเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยตามกรอบปฏิบัติที่ถูกกำหนดไว้ ผมเครียดและสับสนในความแตกต่างทางความคิดกับสิ่งที่ปฏิบัติ ทางออกที่ผมเลือกก็คือ ในค่ำคืนที่สอบเอ็นทรานซ์เสร็จผมเดินทางไปยังสวนโมกข์ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อแสวงหาแนวทางปฏิบัติที่เราตั้งโจทย์ให้กับตัวเอง และได้รับประสบการณ์ กระตุกโพธิ์ จากท่านพุทธทาส ท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องนี้เข้าไปติดตามอ่านได้ที่ http://gotoknow.org/blog/buildchumphon/47682

คำว่า รู้จัก กาลเทศะ ไม่บ้า-ไม่โง่ จึงเป็นมรดกธรรมจากท่านพุทธทาสที่ผมใช้ถามตัวเองมาตลอดชีวิต ผมนำคำถามนี้ไปถามน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษาว่า อะไรคือกาลเทศะที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยในวันนี้ ?วิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรุมล้อมสังคมไทยมีมากมายหลายประการ แต่เราตระหนักกันบ้างหรือไม่ว่า ภัยคุกคามใหม่ ที่เกิดจากขบวนการทุนนิยมผลประโยชน์แทรกซึมเข้าไปในทุกวงการ ทุกระดับ ผ่านการใช้อำนาจรัฐโดยขาดซึ่งคุณธรรม-จริยธรรม มีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เผชิญต่อวิกฤติการณ์ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงมีพระราชดำรัสกับคณะของศาลปกครองที่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณว่า เป็นวิกฤติที่ลึกที่สุดในโลก ทั้งหมดนี้พิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่สามารถสกัดกั้นภัยคุกคามใหม่ได้อย่างมีประสิทธิผล ประเทศไทยจึงต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อคลี่คลายสภาวะวิกฤติในเดือนกันยายน 2549

แน่นอนว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญในยุคปฏิรูปการเมือง พ.ศ.2540 เป็นสภาวะที่พึงประสงค์ สังคมไทยร่วมกันมองออกไปข้างหน้าภายใต้บรรยากาศแห่งความหวังในสิ่งที่ดีกว่า มีความสุข ไม่เครียด ไม่กดดัน แตกต่างจากบริบทที่แวดล้อมกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นความจริงอย่างหนึ่งของชีวิตและสังคมที่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากสภาวะวิกฤติ ผ่านขั้นตอนของการขัดเกลา ตรวจสอบด้วยความตระหนักในเหตุและปัจจัยแห่งปัญหาที่ผ่านมา จนบรรลุถึงสภาวะ ระเบิดจากข้างใน จะมีความเหมาะสมใกล้เคียงต่อสภาพความเป็นจริงของชีวิตและสังคมมากกว่า

ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กำลังรอการพิสูจน์ในยกที่ 1 ด้วยการลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 จากสังคมไทย.

 

คำสำคัญ (Tags): #รัฐธรรมนูญ
หมายเลขบันทึก: 118304เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2007 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท