โลกในใจของครูจิ๋มเกี่ยวกับการเรียนการสอนคณิตศาสตร์


คุณครูสมัยก่อนท่านไม่ได้สอนเพียงแค่ให้คิดเลขเป็นอย่างเดียว แต่ท่านยังสอน และเคร่งครัดในเรื่องความมีระเบียบเรียบร้อยในการเขียน ความสะอาดของสมุดแบบฝึกหัด...
     ครูจิ๋มเล่าถึงสิ่งที่ประทับใจในการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์เมื่อครั้งอดีตให้ผมฟังว่า
     “ตนเองอาจเป็นครูโบราณ เพราะเคยฝังใจที่ถูกคุณครูสมัยก่อนเคี่ยวเข็ญให้ท่องสูตรคูณ ท่องสูตรคำนวณต่างๆ จนจำได้ขึ้นใจ รวมทั้งถูกเคี่ยวเข็ญให้คิดเลข ทั้งเลขในใจ และโจทย์เลข จนสามารถทำได้ทุกข้อ เมื่อไม่เข้าใจหรือสงสัยตรงไหน ก็ไปถามคุณครู ซึ่งครูของตนเองสมัยก่อนก็ดุเหมือนกัน แต่เราสามารถรับรู้จากสัมผัสส่วนลึกในจิตใจท่านได้ว่าท่านมีเมตตา จึงทำให้เรากล้าไปถาม และท่านก็คงรับรู้ถึงความตั้งใจจริงของเรา รวมทั้งรับรู้ถึงความรักและความเคารพที่เรามีต่อท่านอย่างจริงใจด้วย จึงทำให้เราได้รับความรักความเมตตาจากท่านในการอธิบายแนะนำเรื่องที่เราไม่เข้าใจ จนเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง และสนุกกับการเรียนวิชานี้ ด้วยเหตุนี้กระมังจึงทำให้เราชอบเรียนวิชานี้ และสอบได้คะแนนสูงมาโดยตลอด”
      ครูจิ๋มย้อนอดีตถึงการสอนของครูสมัยนั้นให้ผมฟังอีกว่า
    “คุณครูสมัยก่อนท่านไม่ได้สอนเพียงแค่ให้คิดเลขเป็นอย่างเดียว แต่ท่านยังสอน และเคร่งครัดในเรื่องความมีระเบียบเรียบร้อยในการเขียน ความสะอาดของสมุดแบบฝึกหัด การย่อหน้า การขีดเส้นใต้ การใช้เครื่องหมายต่างๆ อีกด้วย โดยท่านเขียนเป็นตัวอย่างให้เห็นบนกระดานดำ ท่านก็ไม่มีสื่ออะไรนอกจากใช้ชอล์กอย่างเดียวแล้วเขียนบนกระดานดำด้วยลายมือที่สวย เขียนอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และอธิบายให้เราเข้าใจอย่างแจ่มชัด บางครั้งท่านก็วาดรูปต่างๆเพื่อแสดงจำนวนให้เราเห็นอย่างเป็นรูปธรรม ท่านเองก็คงไม่เข้าใจเรื่องบูรณาการเหมือนที่เราเห่อกันในทุกวันนี้ แต่ท่านก็บูรณาการให้เราเห็นจนชินตาอย่างเป็นธรรมชาติ ท่านได้สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมตลอดเวลา จนทำให้เราซึมซับถือเป็นแบบอย่างติดตัวมาสอนเด็กจนถึงทุกวันนี้”
      ผมอดถามไม่ได้ว่า
   “ครูสมัยก่อนมีวุฒิไม่สูงเหมือนครูทุกวันนี้ จะเอาความรู้ที่ไหนมาสอนให้ศิษย์เก่งเหมือนครูปัจจุบันได้เล่า”  ครูจิ๋มได้ฟังประโยคนี้ก็คัดค้านทันที
     “ไม่จริงหรอก คุณครูสมัยก่อนแม้วุฒิท่านจะไม่สูง และตำรับตำราสมัยนั้นจะมีน้อย แต่ท่านก็แน่นในความรู้ ที่จะสอน ท่านรู้จักสังเคราะห์แก่นของความรู้มาสอน และสอนด้วยความมั่นใจ ไม่เอาอะไรมาสอนจนเปรอะให้เราเป็นเหมือนเป็ดอย่างทุกวันนี้ จุดเน้นของท่านคือ ให้นักเรียนอ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็น ท่านก็จะสอนให้เรามีพื้นฐานและแน่นในเรื่องนี้อย่างแท้จริง ซึ่งท่านต้องแม่นและแน่นมาก่อนจึงจะทำให้เราเข้าใจและศรัทธาท่านได้”
“โดยส่วนตัวของครูจิ๋ม มีความเชื่อในเรื่องการสอนให้รู้ในเนื้อหา และการสอนให้คิดวิเคราะห์อย่างไร” ผมถามเพื่อหยั่งเชิงเธอ
“ที่จริงทั้งสองอย่างมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างแยกจากกันไม่ได้ เหมือนจุดประสงค์การเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยที่บลูมเคยบอกไว้อย่างมีลำดับว่า ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า ที่เราเคยท่องกันติดปากว่า จำ-ใจ-ใช้-วิ-สัง-ประ นั่นแหละ ซึ่งตนเองเชื่อว่า ถ้าครูแม่นและแน่นในเนื้อหาที่สอนอย่างดี ก็จะมีความมั่นใจและสร้างเทคนิคลีลาในการสอนขึ้นได้เอง ฉะนั้นจุดเริ่มต้นคือครูต้องเก่งต้องแม่นและแน่นในเนื้อหาที่จะสอนก่อน ถ้าเป็นทุกวันนี้ก็คือ ต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในสาระการเรียนรู้ที่ตนเองจะสอน จึงจะสามารถสร้างสรรค์เทคนิคลีลาในการสอนให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์คิดสังเคราะห์ ประเมินค่า ในระดับสูงขึ้นไปได้ แต่ทุกวันนี้มีคุณพ่อคุณแม่รู้ดีที่บอกกับครูว่า ไม่ให้สอนเน้นเนื้อหา แต่ให้สอนคิดวิเคราะห์ คุณครูเองความรู้ก็ไม่แน่นอยู่แล้ว พอให้ไปสอนคิดวิเคราะห์ก็ทำให้เด็กกลายเป็นเป็ดเหมือนทุกวันนี้ ซึ่งนักการศึกษาจากเมืองนอกก็คัดค้านเรื่องนี้อีกว่า การสอนให้คิดวิเคราะห์กับการเรียนรู้เนื้อหาสามารถบูรณาการไปพร้อมๆกันได้ ซึ่งก็ถูกถ้าทำได้ แต่ใครล่ะจะสอนได้เก่งถึงเพียงนั้น ทั้งครูเองก็ยังไม่แม่นในความรู้ เด็กเองก็ไม่รักการอ่าน จะเอาอะไรมาคิดวิเคราะห์ ตัวเองจึงเลือกที่จะเป็นครูโบราณอย่างนี้ ซึ่งเรื่องนี้ตนเองรู้สึกอึดอัดใจแทนครูมานาน ว่าสอนเด็กมา 10-20 ปี น่าจะมีความชำนาญการ เชี่ยวชาญมากกว่าคนอื่น แต่อยู่ๆเกิดมีนักวิชาการหัวนอก(ที่มีอิทธิพล)มาบอกว่าที่ครูสอนนั้นใช้ไม่ได้ ต้องใช้เทคนิควิธีการนี้ แล้วก็เกณฑ์ครูให้ทิ้งห้องสอนไปอบรม ให้ขยายผลทำเป็นโครงการใหญ่โต ซึ่งทำกันอย่างนี้มาไม่รู้กี่ยุคกี่สมัย จนครูขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ในที่สุดก็รอทำงานตามสั่งด้วยความทุกข์ระทมใจ…นี่หรือคือเส้นทางวิชาชีพครู…”    แล้วครูจิ๋มเล่าเรื่องจริงให้ฟังอีกเรื่องหนึ่งว่า
   “มีศาสตราจารย์สอนคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งท่านเป็นคนเก่งมากคนหนึ่งของประเทศ เล่าให้ฟังว่า ตอนที่มีการออกข้อสอบ O-NET ม.6 ครั้งแรกๆ ท่านถูกแต่งตั้งให้เป็นแกนนำในการออกข้อสอบ ท่านก็เลยใช้วิธีสรรหาคัดเลือกครูที่สอนชั้น ม.6 ที่เก่งๆจากทั่วประเทศ จำนวนหนึ่งมาร่วมเป็นกรรมการออกข้อสอบ แต่ก่อนจะออกข้อสอบท่านก็ลองทบทวนความรู้ของครูก่อน ผลปรากฏว่า มีครูเป็นจำนวนมากยังไม่เข้าใจสาระการเรียนรู้ในบางเรื่อง ท่านก็ถามว่า แล้วเวลาสอนทำอย่างไร ก็ได้รับคำตอบแบบฝืนตลกว่า เรื่องใดที่แม่นในเนื้อหาก็สอนอธิบายอย่างชัดเจน เรื่องใดที่ไม่ค่อยแม่นก็ผ่านไปเร็วๆ ให้เด็กไปค้นคว้าเพิ่มเติม และไปทำแบบฝึกหัดเอง ศาสตราจารย์ท่านนั้น ถึงกับบ่นออกมาว่า กรรมของเด็ก ขนาดคัดเลือกคนเก่งๆมาแล้วยังเป็นอย่างนี้ แล้วครูที่ไม่ได้ถูกคัดเลือกมาเขาจะสอนกันอย่างไร…ว่าแล้วท่านก็ทบทวนความรู้ในเรื่องที่ไม่เข้าใจให้แก่ครูก่อนที่จะให้ออกข้อสอบ”
     เรื่องนี้ครูจิ๋มท่านจึงเน้นย้ำตลอดมาว่า
   “ครูต้องเก่งและแม่นในความรู้ที่จะสอน จึงจะเป็นครูมืออาชีพ”
     ด้วยเหตุนี้เธอจึงหาโอกาสสมัครเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรต่างๆของสมาคมคณิตศาสตร์ฯ เพื่อพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา…
หมายเลขบันทึก: 115865เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2007 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท