BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

นั่งบาตรหัวษา


นั่งบาตรหัวษา

นั่งบาตรหัวษา (หัวษา เป็นภาษาถิ่นปักษ์ใต้ หมายถึงแรกเข้าพรรษา) จัดเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งในเทศกาลเข้าพรรษาที่มีอยู่ทั่วไปในท้องถิ่นปักษ์ใต้... การนั่งบาตรหัวษานี้มีกำหนด ๓ วัน ตั้งแต่วันแรม ๒ - ๔ ค่ำเดือน ๘ (หลังจากวันเข้าพรรษา ๑ วัน)...

เล่าเรื่องว่า หลังจากวันเข้าพรรษาแล้ว (แรม ๑ ค่ำ)... รุ่งเช้า (แรม ๒ ค่ำ) ทางวัดจะกำหนดให้พระ-เณรภายในวัดไปนั่งบาตรตามที่ญาติโยมนิมนต์ไว้ โดยเฉลี่ยพระ-เณรกันไปแห่งละ ๒ - ๕ รูป หรือรูปเดียวก็มี ถ้าวัดนั้นมีพระ-เณรน้อย และมีญาติโยมนิมนต์มากกลุ่ม...

ในวันแรกของการนั่งบาตรหัวษา ตอนเช้าประมาณ ๖ โมงเช้า พระ-เณรก็จะไปยังสถานที่นั่งบาตร.. การไปนั้น ถ้าเป็นสถานที่ใกล้ๆ พระ-เณรก็อาจอุ้มหรือสะพายบาตรไปเอง แต่ถ้าเป็นสถานที่ไกลๆ ในปัจจุบันญาติโยมก็อาจพารถมารับถึงวัด...

สถานที่นั่งบาตรนั้น จะเป็นศาลากลางหมู่บ้าน... หน้าบ้านของญาติโยมบางท่าน... ลานว่างๆ หรือใต้ต้นไม้ใหญ่ใกล้ๆ หมู่บ้าน... หรือบางครั้งก็อาจมีเต้นท์ประรำพิธีปลูกไว้เป็นการเฉพาะกิจนี้.... ส่วนการนั่งบาตรหัวษาภายในเรือนหลังหนึ่งหลังใดโดยเฉพาะก็มีบ้าง (แต่ไม่ค่อยนิยม)

หลังจากพระ-เณรไปถึงสถานที่และประจำอาสน์แล้ว บรรดาญาติโยมใกล้ๆ ในที่นั้น ก็จะมาประชุมกันร่วมสมาทานศีล... ต่อจากนั้น พระ-เณรจะสวดถวายพรพระ (บทพาหุงฯ) ญาติโยมก็จะนำข้าวปลาอาหารมาใส่บาตรซึ่งวางไว้ด้านหน้าของพระ-เณรแต่ละรูป...

เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้ว พระ-เณรก็ฉันภัตตาหาร... ต่อจากนั้นพระ-เณรก็จะอนุโมทนา บรรดาญาติโยมก็จะกรวดน้ำรับพร... เป็นอันเสร็จพิธี

พิธีนั่งบาตรหัวษานี้ อาจแตกต่างกันบ้างแต่ละท้องถิ่น เช่น บางแห่งสองวันแรกไม่ถวายพรพระ ถวายสังฆทานแทน วันสุดท้ายเท่านั้นจึงถวายพรพระ... บางแห่งถวายพรพระเฉพาะวันแรกเท่านั้น...บางแห่งพระ-เณรจะอนุโมทนาให้บรรดาญาติโยมกรวดน้ำเฉพาะวันสุดท้ายเท่านั้น... เป็นต้น

หลังจากนั่งบาตรหัวษา ๓ วันแล้ว พระ-เณรก็จะเริ่มบิณฑบาตตามปกติ ซึ่งโดยมาก พระ-เณรกลุ่มใดไปนั่งบาตรที่ใดก็มักจะไปบิณฑบาตรที่นั้น...

...........

การนั่งบาตรหัวษานี้ มีข้อสันนิษฐานความเป็นมาไว้หลายนัย เช่น บางท่านบอกว่า เมื่อเริ่มเข้าพรรษา พระ-เณรซึ่งอาจเพิ่งมาจำพรรษาที่นี้ จะได้คุ้นเคยกับญาติโยมในท้องถิ่นนั้นๆ จะได้รู้จักถนนหนทางเพื่อจะได้มาบิณฑบาตในวันต่อๆ ไป...

บางท่านบอกว่า นอกพรรษามีพระ-เณรจำนวนน้อย หมู่บ้านที่ไกลออกไปมักจะไม่มีพระ-เณรไปบิณฑบาต... แต่ในพรรษาเมื่อมีพระ-เณรจำนวนมาก จึงจะมาบิณฑบาต... การนั่งบาตรหัวษาเป็นการนิมนต์พระ-เณรให้มาบิณฑบาตในโอกาสต่อไปนั่นเอง....

บางท่านให้เหตุผลว่า พระ-เณรต่างถิ่นซึ่งเพิ่งมาจำพรรษาที่นี้ จะได้รู้ว่าหมู่บ้านใดบ้างเป็นชาวพุทธฯ... เป็นต้น

.........

การนั่งบาตรหัวษานี้ แม้จะนิยมทั่วไปในปักษ์ใต้ แต่มิใช่ว่าจะมีทุกท้องถิ่น เช่น ในเขตเทศบาลนครสงขลาไม่มีการนั่งบาตรหัวษา (คงจะเป็นเพราะวัดอยู่ใกล้ๆ และจำนวนวัดมีมากเกินกว่าจะนั่งบาตร) แต่นอกเขตเทศบาลฯ ออกไปก็มีการนั่งบาตรหัวษาเช่นเดียวกัน....

ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่มีการนั่งบาตรหัวษาทั่วไป... ตอนที่ผู้เขียนจำพรรษาอยู่วัดคอหงส์ หาดใหญ่ ก็เคยไปนั่งบาตรหัวษาที่บ้านพักทหารในค่ายเสนาณรงค์... หมู่บ้านใหม่ๆ ในหาดใหญ่ก็มักจะมานิมนต์พระ-เณรไปนั่งบาตรหัวษาเช่นเดียวกัน....

.........

เมื่อมองในแง่ของคุณค่าทางวัฒนธรรม การนั่งบาตรหัวษาเป็นการสร้างความสมานสามัคคีของคนในหมู่บ้าน และระหว่างบ้านกับวัดนั่นเอง...  

ผู้เฒ่าผู้แก่เคยเล่าว่า พระหนุ่ม-เณรน้อย แรกบวช มักจะสมัครไปนั่งบาตรใกล้ๆ บ้านสาวที่ตนเองเคยหมายปอง... ส่วนสาวๆ ก็มักจะมาร่วมใส่บาตรโดยคาดหวังว่าพระหนุ่ม-เณรน้อยที่เธอหมายปองไว้จะมาด้วยหรือไม่... ขณะที่ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะได้สังเกตพฤติกรรมของพระหนุ่ม-เณรน้อยบางรูปซึ่งอาจมาเป็นลูกเขยในอนาคตว่าเป็นอย่างไร... นัยนี้ก็เป็นคุณค่าทางวัฒนธรรมโบราณ แต่ปัจจุบันค่อนข้างจะล้าสมัยไปแล้ว...

อย่างไรก็ตาม การนั่งบาตรหัวษาก็ยังคงมีอยู่คู่กับชาวใต้ในท้องถิ่นต่างๆ....  

คำสำคัญ (Tags): #นั่งบาตรหัวษา
หมายเลขบันทึก: 115657เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2007 13:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

  กราบนมัสการพระคุณท่าน   เป็นความรู้ใหม่สำหรับกระผมครับ หลาย ๆ คนที่เป็นคนใต้กระผมเชื่อว่า คงจะมีไม่กี่คนที่จะรู้จักคำว่า  "นั่งบาตรหัวษา "  มีความหมายว่าอย่างไร เมื่ออ่านแล้วก็พอจะเข้าใจถึงคนท้องถิ่นในสมัยก่อนที่จะแนะนำให้พระภิกษุหรือสามเณรที่มาจากถิ่นอื่นได้รู้จักพื้นที่ในท้องถิ่นที่ตนจำพรรษาอยู่วัดไหน เพื่อจะได้รู้เส้นทางสำหรับปฏิบัติกิจของสงฆ์ ในเวลาออกบิณฑบาตร ถือได้ว่าเป็นประโยชน์มากครับ

P
สำหรับพระหนุ่ม-เณรน้อยแรกบวชเข้าพรรษานั้น การนั่งบาตรหัวษา ถือว่าเป็นประสบการณ์ครั้งแรกในการร่วมพิธีกรรมนอกวัด....
โดยมากหลายรูปก็ยังห่มจีวรไม่กระชับ ตอนฉันข้าวก็อาจหลุดลุ้ย ต้องคอยพยุงจีวรพลางฉันพลาง...สวดก็ยังไม่ค่อยจำ แม้บางรูปอาจพอจำได้บ้างแล้ว แต่จังหวะในการสวดก็ยังไม่ลงรอยตามแบบแผน...
โดยมากการนั่งบาตรหัวษา มักจะมีพระผู้ใหญ่หรือสามเณรที่บวชอยู่นานแล้วเป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ... แต่บางคราว พี่เลี้ยงมีน้อย พระ-เณรแรกบวชจึงมักจะไปกนเอง... ญาติโยมผู้ใหญ่บางท่านก็ชอบหยอกล้อ (แซว)... ประมาณนั้น
เจริญพร
  •  กราบนมัสการพระคุณเจ้า
  • ขอบคุณนะคะที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นให้
  • การบันทึกเรื่องราวต่างๆทำให้เราได้รับความรู้ในเรื่องนั้นๆแล้วยังทำให้เราได้เพื่อนด้วยค่ะ
  • แล้วจะมาเยี่ยมบล็อกบ่อยๆนะคะ
  • อย่าลืมมาทักทายบล็อกณัฐบ้างนะคะ
  • http://gotoknow.org/blog/nutjung-282532

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

ทำให้ผมหวนคิดถึงเมื่อปี 2521 ตอนบวชเข้าพรรษาที่วัดมหาการ อ.ระโนด บ้านเกิด ซึ่งปีนั้นมีพระบวชใหม่มากกว่าทุกปีคือ 10 รูป มีพระพ่อหลวงแท่น เป็นเจ้าอาวาส และพ่อหลวงแสง เป็นรองเจ้าอาวาส มีพระหนุ่มวัยฉกรรจ์ทั้งนั้น ตอนนั้นรู้สึกสนุกตามประสาพระบวชใหม่ไม่ได้ศึกษาอะไรบวชตามประเพณีเท่านั้น ยังนึกเสียดายอยู่เลยที่ไม่ได้ธรรมะอะไรมาเลย พึ่งมาศึกษาเรียนรู้เอาทีหลังมานี้เอง

P

หมอน้อย 447

 

บวชหนึ่งพรรษา แม้จะไม่ได้ศึกษาอะไรมากนัก แต่สิ่งที่ซึมซับมาจากในวัด ทำให้เรารักและเข้าใจพระศาสนายิ่งขึ้น...

อีกอย่างหนึ่ง เพิ่งคุยกับหลวงพี่ที่กุฏิตอนฉันเพลนี้เอง ท่านว่า ใครมักคิดถึงเรื่องเก่าๆ แสดงว่า เริ่มแก่แล้ว (5 5 5...)

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท