เรียนรู้การประยุกต์นวัตกรรมจากนิยายวิทยาศาสตร์ของ เซอร์ อาเธอร์ ซี คล้าก


นิยายวิทยาศาสตร์ที่น่าอ่าน เดี๋ยวนี้มีมาก แต่เสียดาย แปลออกมาน้อยไปหน่อย

ที่พอมีชื่อในบ้านเราหน่อย ก็เห็นมี ไอแซค อาซิมอฟ กับ เซอร์ อาเธอร์ ซี คล้าก เพียงแต่หลายปีมานี้ แทบไม่เห็นเรื่องใหม่วางแผง

ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า นิยายวิทยาศาสตร์ที่ดี จะสามารถสอนอะไรเราได้บางอย่างในมุมมองที่เป็นระบบทางวิทยาศาสตร์ โดยคนเขียนแต่ละคน จะมีจุดเน้นเฉพาะตัว

อย่างเช่น ทำให้เรามองสังคมในมุมใหม่ (เช่น ชุดสถาบันสถาปนา)

หรือมองเห็นความเกาะเกี่ยวเป็นเนื้อเดียวกันของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติทุกสาขา (เช่น สตีเฟน แบกเตอร์)

หรือการประยุกต์การค้นพบไปใช้ เช่น ในงานของ เซอร์ อาเธอร์ ซี ล้าก ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดระบบเรดาร์ของโลก

เซอร์ อาเธอร์ ซี คล้าก มีผู้แปลงานของเขาออกมานิดหน่อย... ในรอบสามสิบปีที่ผ่านมา

เรื่องที่ผมมองว่าน่าเสียดาย ที่แปลออกมาเพียงตอนเดียว คือ ดุจดั่งอวตาร (Rendezvous with Rama) ทั้งที่เป็นซีรี่ส์ยาวมีต่อมาอีกหลายภาค ที่น่าอ่านมาก ซึ่งไปจบที่ Rama Revealed ซึ่งสะท้อนมุมมองพฤติกรรมมนุษย์ในสังคมได้อย่างน่าสนใจยิ่ง ทำให้เห็นว่า คน ไม่ว่ายุคไหน ไม่ว่าที่ไหน ต่างเทคโนโลยีอย่างไร ก็ไม่ต่างกันเลย

แต่ เซอร์ อาเธอร์ ซี คล้าก ยังไม่ได้วางมือจากการเขียนแต่อย่างใด มีงานเขียนออกมาเรื่อย ๆ แม้ตอนนี้ จะอายุ 91 ปีแล้วก็ตาม

มีสองเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ ที่เป็นเหมือนคู่แฝดแบบเงาสะท้อน คือเป็นคู่ตรงกันข้ามกันในพล็อตเรื่อง แม้แนวเปิดเรื่องจะคล้ายกันมากก็ตาม

นิยายสองเรื่องที่เขาเขียน ไม่ได้"เดี่ยวไมโครโฟน" แต่ร่วมกับนักเขียนคนอื่น ซึ่งผมมองว่าเป็นจุดแข็ง เพราะจริง ๆ แล้วผมเองรู้สึกว่าเขาเขียนเรื่องค่อนข้างอืดไปหน่อย แม้จะมีพล็อตน่าสนใจมากก็ตาม การมีคนอื่นมาช่วย ทำให้การเดินเรื่องฉับไว อุดจุดอ่อนได้ลงตัว

เรื่องแรกThe Trigger (2542 ร่วมกับ Michael P. Kube-McDowell)

เรื่องที่สอง The Light of Other Days (2543 ร่วมกับ Stephen Baxter)

The Trigger เป็นเรื่องที่เริ่มต้นด้วยการที่นักวิทยาศาสตร์ตีความสมการทำนาย gravitational wave (แต่ยังไม่ได้มีอยู่จริงในปัจจุบัน) แล้วสร้างเครื่องมือที่คาดว่า จะทำให้เกิดคลื่นแรงโน้มถ่วง แต่ลงเอยด้วยการที่เครื่องมือนี้ ทำให้วัตถุระเบิดทุกอย่างในรัศมีใกล้เคียง พร้อมใจกันระเบิดขึ้น

"เขาจะทำอย่างไร ? นี่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไร ?" คือพล็อตเรื่อง ที่สะท้อนให้เห็นวิธีการตัดสินใจของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคลี่คลายด้วยลำดับเหตุการณ์ทางการเมือง-ทางสังคม ในมุมมองที่แหลมคม และยกตัวอย่างการใช้การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ใช้

เรื่องนี้ ว่าไปแล้ว เอานิยายวิทยาศาสตร์เป็นข้ออ้างฉากหลังเท่านั้นเอง จริง ๆ แล้วเป็นนิยายแนวสังคม-การเมืองเสียมากกว่า

เรื่องมาขมวดปมปิดท้าย ด้วยการที่มีการค้นพบครั้งใหม่ ที่ทำให้การค้นพบครั้งแรก เป็นของเล่นไปเลย เป็นการ "ปิดแรง" ที่ทิ้งปมให้ต้องคิดต่อ จึงถือว่า เป็นเรื่องแนวสยองขวัญได้ (มาสยองเอาตอนจบนี่นะ ?)

ส่วนอีกเรื่อง The Light of Other Days แม้เปิดฉากคล้ายกัน คือการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้สามารถประดิษฐ์ worm-cam ได้ แต่แนวเดินเรื่องต่างไป คือไปเน้นตรงที่รายละเอียดทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้สมจริงกว่าเรื่องแรก คือหยิบเรื่อง quantum entanglement มาเป็นโครงเรื่อง

Quantum entanglement เป็นปริศนาคาใจที่ทำให้ไอน์สไตน์ โปโดลสกี และ โรเซน ร่วมกันตั้ง EPR paradox ที่ว่า entangle state ของคู่ควอนตัม จะรับรู้กันได้และทำตัวสอดคล้องกันตลอดเวลา ไม่ว่าอยู่ห่างกันเพียงใด ดังนั้น หากเราสามารถแยกคู่นี้ให้ไกลมาก เช่น ห่างกันระดับนาทีแสง สิ่งที่เกิดคือ ถ้าการรับรู้ถึงกัน เกิดได้ทันทีจริง หมายความว่า เราสามารถสื่อสารเร็วกว่าแสง และการมองเห็นอดีต เป็นไปได้ เพราะเวลา เป็นเพียงมาตรวัดระยะทางรูปแบบหนึ่งเท่านั้นตามทฤษฎีที่ไอน์สไตน์เองวางไว้ การเหลื่อมระยะทาง จึงเท่ากับการเหลื่อมเวลาด้วย หากเชื่อมคู่ควอนตัมที่อยู่ห่างกันนานหลายปีแสงได้ ก็สามารถกลับสื่อสารกับอดีตได้ ราวกับสื่อสารผ่านรูหนอน (worm hole) ที่เชื่อมโยงระหว่างสองจุดนั่นเอง

นิยายเรื่องนี้ ก็ถือวิสาสะหยิบประเด็นนี้มาใช้ โดยเริ่มจากห้องวิจัยฟิสิกส์ของเอกชนรายหนึ่ง ประดิษฐ์ worm-cam (กล้องรูหนอน) ที่สามารถทำให้ส่องดูอะไรที่ไหน เมื่อไหร่ (ในอดีต) ก็ได้

ผลที่เกิดขึ้นมาคือ โลกนี้ไม่มีความลับอีกต่อไป ไม่มีความเป็นส่วนตัวอีกต่อไป

ฉากหลังของเรื่องนี้ คือจะเกิดอะไรขึ้นกับสังคม ? โดยนำเราไปมองดูการคลี่คลายของสังคมเข้าสู่สถานะใหม่อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

โดยภาพรวม ทั้งสองเรื่อง นำเราเดินเตาะแตะ ตามไปเรียนรู้ว่า จากแนวคิดหนึ่ง ๆ จะนำไปประยุกต์เป็นนวัตกรรมอย่างไร ท้าทายนักอ่านว่า ตัวเองจะเดาการประยุกต์ใช้ใหม่ ๆ อะไรออกมาได้

 

หมายเลขบันทึก: 115652เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2007 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 08:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ไม่ทราบว่าคุณวิบุลไปหาหนังสือจากที่ใหนมาอ่านหรือครับ หนังสือนิยายวิทยาศาสตร์ฉบับภาษาอังกฤษ ราคามันพอจะซื้อไหว (สำหรับตอนนี้) ถ้าเป็นร้านในประเทศไทยน่ะครับ แต่ถ้าจะสั่งซื้อจาก Amazon ก็กลัวค่าส่งครับ แต่หาร้านที่ขายหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์ยากเหลือเกิน ยกเว้นจะขึ้นไป กทม. ซึ่งนานๆถึงจะมีโอกาสสักทีนึง

อ่าน blog ของคุณวิบุลเรื่อง นิยายวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ "นักเขียนน่าอ่าน: Stephen baxter" แล้ว ก็รู้สึกอยากจะอ่านขึ้นมาบ้าง เพราะนักเขียนที่รู้จัก และ มีหนังสืออยู่นี่ ค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ก็จะเป็น Asimov, Clarke, Heiline พออ่าน blog ของคุณแล้ว ก็อยากจะอ่านนิยายของ Baxter บ้างเหมือนกัน ตอนนี้ได้แต่อ่าน Wikipedia ยังไม่รู้ว่าจะหาหนังสือได้ที่ใหน

แต่จะว่าไป Harry Potter 7 ที่ซื้อมาก็ยังอ่านไม่จบเหมือนกัน 

  • ..-_- ...
  • กรุงเทพจริงด้วยครับ
  • ผมเคยเจออยู่เล่มนึง เล่มแรก เจอที่หาดใหญ่
  • ซื้อตอนนั้น ก็บังเอิญ เพราะช่วงนั้น ไม่มีอะไรอ่าน และกำลังจะต้องไปเข้ากรุง ไม่มีอะไรติดไปอ่านแล้ว  "มันเฉา" เจอครั้งแรกสุดอย่างบังเอิญ หยิบมาอย่างบังเอิญ เห็นหน้าปกแปลกตา และปะหน้า ดูน่าอ่าน
  • อ่านแล้วรู้ว่า เจอต้องซื้อเรียบ แต่ก็ต้องไปนู่น...กรุงเต้ป..เอ๊ย..กรุงเทพ
  • คงเป็นเพราะเล่มแรก ไปหยิบ Manifold: Space มา ซึ่งเป็นเล่มที่เป็นสุดยอดของเขา ถ้าไปเจอ Raft มา คงไม่รู้สึกอย่างนี้
  • หลังจากนั้น ใครไปเอเชียบุ้คส์หรือ kinokuniya  ผมก็ฝากซื้อตลอด
  • ของ kinokuniya thailand สั่งซื้อผ่าน web ได้ครับ (ลองใช้ google search หน้าเว็บเขาเป็นนานาชาติ เลือกหมวดหนังสือภาษาอังกฤษเวลาค้น ถ้าไม่แน่ใจอะไรก็โทรไปเช็คที่เบอร์โทร) ถ้าซื้อเกินสอง (หรือสาม?) พันบาท เขาไม่คิดค่าส่ง ถูกกว่าซื้อจากอเมซอนเยอะ เพราะอเมซอน ค่าส่งแพงกว่าหนังสือซะอีก
  • ช่วงบาทแข็งแบบนี้ ซื้อแล้วเป็นการช่วยชาติไปในตัว...
  • ฺBaxter เองมี sample stories พวกเรื่องสั้นเดโมไว้ที่

http://www.themanifold.co.uk/fiction.php

  • Kino มีหน้าเว็บที่

http://bookweb.kinokuniya.co.jp/indexohb.cgi?AREA=07

  • ส่วนของ Asia books หน้าเว็บเขาช้ามากๆๆๆๆ ผมเข้าไปทีแล้วก็ไม่กล้าเข้าอีก และไม่กล้าบอกต่อใครด้วย (กลัวถูกด่า 555) แต่ถ้าฝากซื้อในร้านก็ OK เขาก็บริการดีแหละ 
  • ลืมไปนิด..
  • ใครอ่าน อาซิมอฟ คล้าค และไฮไลน์ ก็น่าจะชอบ แบกเตอร์ ด้วยครับ เพราะผมก็เป็น

ขอบคุณมากเลยคร้าบ

 เดี๋ยวจบ HP7 เมื่อไหร่จะรีบไปหามาอ่านครับ  :)

อ่านเรื่องสั้น นิยายวิทยาศาสตร์ฟรีได้ที่นี่ค่ะ www.williamramseyer.com

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท