(4) เตรียมการแสดงศิลปะพื้นบ้านไปงานระดับชาติ


เตรีมการวางแผนเอาไว้ล่วงหน่า ก่อนที่จะถึงเวลาแสดงจริง

 

เตรียมการแสดง

ศิลปะพื้นบ้าน

ไปร่วมงานศิลปหัตถกรรม ครั้งที่ 56

ที่จังหวัดชลบุรี  

         เด็ก ๆ เขามีความตั้งใจฝึกซ้อมกันดีมาก   เพื่อไปนำเสนอผลงาน   ที่ จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 31 ก.ค. 2550 และวันที่ 1-2 สิงหาคม 2550 ผมและคณะเพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ จะรอสมาชิก  gotoknow   อยู่ที่เต็นท์ 8X8 เมตร ของ สพท.สพ. เขต 2 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี ทั้ง 3 วัน 

            

             ในตอนนี้ ทุกเย็นตั้งแต่เวลา 16.00-17.30 น. และในช่วงวันหยุดติดต่อกัน เสาร์-อาทิตย์ 09.00-16.00 น. เด็ก ๆ มารวมกันที่ห้องศิลปะ 512 แบ่งออกเป็น 2 วง วงละ 11 คน ทำการฝึกซ้อมเพลงพื้นบ้านหลายอย่าง เพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลำตัด เสภา เพลงแหล่  ดูพวกเขาตื่นเต้นกันใหญ่ ได้ออกไปแสดงที่ต่างจังหวัด และเป็นงานสำคัญในระดับชาติ ต้องขอขอบพระคุณ ท่าน ผู้อำนวยการอนุสรณ์  ฟูเจริญ ผอ.เขตพื้นที่สุพรรณบุรี เขต 2  ที่ให้โอกาสศิลปะพื้นบ้านได้ไปเผยแพร่ผลงานในรูปแบบการบรรยาย สาธิตการแสดงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครู อาจารย์ นักเรียน ประชาชน ผู้ที่สนใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นแขนงนี้ 

          

            เด็ก ๆ รุ่นโต ๆ ดูเขาธรรมดาไม่ตื่นเต้นเท่าไร แต่รุ่นเด็ก ๆ ม.1-2 ดูเขาเอาจริงเอาจังกันมาก มีความตั้งอกตั้งใจที่จะแสดงความสามารถมาก ทั้งที่มาตรฐานยังเป็นรองรุ่นพี่ ๆ อยู่ ก็เป็นธรรมชาติดี ครับ ผมมองดูพฤติกรรมในการแสดงออกของลูกศิษย์ด้วยความสุขใจ ทั้งนี้เพราะผมผ่านช่วงเวลาแห่งการรอคอยมานาน ได้พบกับ การแสดงความสามารถตั้งแต่อ่อนหัด แล้วขยับขึ้นไปเป็น พอใช้ แล้วขยับขึ้นไปเป็นดี และในที่สุด บางคน (ไม่ทุกคนนะครับ) ถึงขั้นดีมากเลยทีเดียว 

       

        เด็ก ๆ เขาคงคิดไม่เท่าเรา  เราเป็นครูต้องการนำเอาความรู้ไปแลกเปลี่ยนกับครู อาจารย์ที่สนใจภูมิปัญญาท้องถิ่นเพลงพื้นบ้านที่ผมมีความสามารถในการแสดง 19 ชนิด แต่ต้องแบ่งเวลาให้โอกาสลูกศิษย์เขานำเสนอความสามารถของเขาตามศักยภาพ และเปิดโอกาสให้คุณครูและผู้ที่สนใจทุกท่านได้สอบถาม ซักถามวิธีการ ขั้นตอนในการฝึกหัดเพลงพื้นบ้านที่โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ว่า มีความเป็นมาอย่างไร  งานนี้ถามตรงไปที่ตัวนักเรียนทั้งหมดครับ อาจจะได้รับคำตอบไม่ตรงเป้าหมาย 100 % แต่ผมคิดว่า เป็นความเข้าใจของผู้เรียนซึ่งเป็นแก่น เป็นขุมความรู้ เป็นองค์รวมตามธรรมชาติที่เด็ก ๆ เขาเหลือตกตะกอนอยู่ในหัวสมอง และสองมือ เท้า ลำตัว เสียงร้องที่ยังสามารถทำการแสดงศิลปะแบบโบราณได้อย่างน่าให้ความเมตตา สงสาร 

             บทเพลงพื้นบ้านที่เตรียมไปนำเสนอมีหลายชนิด  ได้แก่ 

1.     เพลงอีแซว

        เอ๊ย.. ถ้าจะพูดเรื่องชม ให้สมจริง    

        สุพรรณบุรีมีทุ่งสิ่ง       น่าสนใจ         

        ศรีประจันต์บ้านเรา      เป็นบ้านเก่ามานาน 

        มีภูมิปัญญาพื้นบ้าน     ที่สร้างสรรค์มากมาย      

        บ้านศรีประจันต์          เป็นตำนานครูเพลง     

        ล้วนแต่คนเก่ง ๆ         นักเพลงปากร้าย       

        ฝีปากกล้ากันทุกคน     กล้าชนประชัน      

        ป้าขวัญจิต ยายบัวผัน  ย่อยเสียเมื่อไหร่       

        ศิลปินแห่งชาติ  ได้รับประกาศยกย่อง (เอ๊ย) แล้วยกย่อง  

        ให้บุคคลทั้งสอง  เป็นรากเหง้าเพลงไทย (เอ๊ย) แล้วเพลงไทย 

2. เพลงฉ่อย

            เอิง เงิง เงอ..     เอ่อ เอิง เง้ย..   

       จะไปพบสาว ๆ แต่งตัวให้หล่อ   

       จะทำเป็นมอซอ   ไม่ทันสมัย        

        หยิบเสื้อสีแดง  ลายดอกขาว 

        ผ้านุ่งซื้อจากลาว  ติดแดนไทย  

        นุ่งทับให้หล่อ   ดูพองาม        

        แต่ว่าฉันลืมอาบน้ำ ต้องแก้ใหม่ 

        เมื่อจัดแจงสำเร็จ  เสร็จเรียบร้อย

        มือก็หยิบสายสร้อย  ห้อยคอไว้          

        เอาน้ำมันใส่ผม  สมก็คะเน    

        แล้วก็ฉีดสเปรย์  ตรงปลาย ๆ          

        แต่พอแต่งสำเร็จ  ละก็ได้เวลา 

        เราจะต้องมุ่งหน้า  รีบไป       

        เอ่ ชา..  ชา  ฉ่า    ชา  ช้า……… 

3.     เพลงพวงมาลัย      

          เอ่อระเหย  ลอยวน   จะให้เชื่อใจคน ได้อย่างไร  (ซ้ำ)     

        เพลงพวงมาลัย    พื้นบ้าน      

        ร้องเล่นมานาน    ร้อยปีปลาย    

        นึกถึง อดีตกาล    ของเพลงพื้นบ้าน  ชื่อพวงมาลัย 

          ขอมอบ  มะลิดอกรัก ตั้งใจมาฝาก  พี่ชาย 

       ให้ไว้ด้วยใจ  ผูกมิตร  อย่าได้คิด  เป็นอื่นไป    

       พวงเอ้ย  พวงเอยมาลัย   รำด้วยไม่ได้  หรอกเอย 

       (ลูกคู่รับ) พวงเอ้ย  พวงเอยมาลัย  

       รำด้วยไม่ได้  หรอกเอย (ซ้ำ)           

4. เพลงเรือ        

       เอ่อ เออ เอิ้ง เอ้ย.. 

       เดือนสิบเอ็ด  น้ำนอง   เดือนสิบสอง  น้ำหลาก

       มาลอยกระทงฝากรัก (ฮ้า ไฮ้ แม่ทรามวัย       

       พี่เป็นหนุ่ม  สุพรรณ  พี่ก็ด้น  ดั้นมา   

       พี่ลอยลำ   นาวา (ฮ้า ไฮ้)  มาแสนไกล      

       หวังจะร่วม  บนบาน   อธิษฐาน ขอขมา  

       ต่อพระแม่  คงคา  (ฮ้า ไฮ้)  คืนเดือนหงาย          

       เคยได้ล้าง ดื่มกิน ชุบชีวินร่างกาย 

       มาขอขมาวอนไหว้ แม่คงคา

(ร้องรับ) มาขอขมาวอนไหว้  แม่คงคาเคยได้ล้าง ดื่มกิน

ชุบชีวินร่างกาย   ดื่มกิน ดื่มกิน ชุบชีวินร่างกาย มาขอพรวอนไหว้

 เอ้ย.แม่คงคา.(ฮ้า ไฮ้) 

5.     เพลงเต้นกำ                

        ตะวันก็บ่าย  เอิ้ง เออ เอิง เงย ชายเย็น  

       แม่ผมกระจายรายเส้นเย็นแล้ว นะวันเอย              

       เอ่อ เอ้อ เอ้ย.. ผมกระจายรายเส้น        

       ผมกระจายรายเส้น เย็นแล้วนะเอย เอ่อ เอ้อ เอย นี่ เอย  

         เอิง เงอ เอิ้ง เงอ ชะ เอิง เงิง เงอ ชะ เอิง เงิง เงย เฮ้ เฮ๊ะ        

      ไม่มีเงินให้ สินสอดกับเขา  จะต้องไหว้เจ้าประคุณกับก๋ง เฮ้ เฮ๊ะ  

      จะซื้อธูป สักสองมัด  จะซื้อปะทัด สักสองกระป๋อง เฮ้ เฮ๊ะ 

      จะซื้อหมู สักสองขา  จะซื้อสุรา สักสองโอ่ง   เฮ้ เฮ๊ะ   

      กระดาษเงิน กระดาษทอง   มาก่ายกอง วางลง เฮ้ เฮ๊ะ 

      กระดาษทอง มาก่ายกองวางลงจะจุดซังให้ดังโป้งจะไหว้ทั้งก๋งเตี่ยเอย  

(ร้องรับ) เอิง เง้ย เตี่ยเอ้ย จุดซังให้ดังโป้งจุดซังให้ดังโป้งจะไหว้ทั้งก๋งเตี่ยเอย 

      หงส์เอ้ย เตี่ยเอ้ย เอ้าดังโป้ง ดังโป้ง จะไหว้ทั้งก๋ง เตี่ย เอย     

      ในการทำงานย่อมที่จะต้องมีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า วันนี้ผมและนักเพลงรุ่นเยาว์ได้เตรียมการเอาไว้ล่วงหน้า  พวกเราไม่ทราบเลยว่าผลงานที่ออกมาจะได้รับการตอบกลับมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในวันเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน 31 กรกฎาคม 2550 ที่จังหวัดชลบุรี นักเพลงของผมจะต้องลงเรือ  5 คน เล่นเพลงเรือ โดยเตรียมเนื้อหาเกี่ยวกับงานศิลปหัตถกรรมเอาไว้ สถานที่การแสดงก็อยู่ติดกับหอประชุม โรงเรียนชลกัลยานุกูล ชมภาพสด ๆ ได้ทางโทรทัศน์ ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป หลังจากพิธีเปิดงาน ครับ   

      อีกงานหนึ่งเป็นการร่วมเดินรณรงค์ ร้อยรวมดวงใจรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน พบการแสดงเพลงพื้นบ้าน ประเภทเพลงอีแซว โดยเยาวชนหนุ่มสาวจาก โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 จังหวัดสุพรรณบุรี แสดงสด เพื่อการประชาสัมพันธ์หาวัยรุ่นหนุนร่างรัฐธรรมนูญ ที่ลานหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ  ในวันที่ 1 สิงหาคม 2550 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ชมภาพสด ๆ ได้ทางโทรทัศน์ อีกเช่นกัน อย่าลืมติดตามชม นะครับ

(ชำเลือง มณีวงษ์/จะนำเอาความประทับใจจากงานศิลปหัตถกรรม ครั้งที่ 56 มาเล่าในตอนต่อไป)

 

หมายเลขบันทึก: 115201เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2007 00:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดค่ะครูชำเลือง
  • อ่านบทร้อง (เรียกผิดหรือเปล่า..เนื้อร้อง) อยากฟังเสียงแล้วค่ะ
  • เห็นภาพความมุ่งมั่น การเตรียมตัวของเด็ก แล้วชื่นใจ เป็นเพาะครูช่วยบมเพาะ เขาจึงรักและมีความสุขกับการได้สืบทอดศิลปวัฒนธรรมค่ะ
  • ภูมิใจแทนครูชำเลือง และผอ.ลั่นทมด้วยค่ะ

ขอบคุณ หน.ลำดวน  ไกรคุณาศัย

  • วันที่ 31 กรกฎาคม 2550 ผมและเด็ก ๆ คงได้พบกับหัวหน้าลำดวน ที่ ชลบุรี
  • ท่าน ผอ.ลั่นทม ให้การดูแล สนับสนุนและเป็นห่วงตลอดมา
  • กำลังใจจากมิตรที่แสนดี  ทำให้ยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง
  • แล้วคุณอำนวย จะเลยไปเยี่ยมใครกันต่อ ละนี่ ขอขอบคุณอีกหลาย ๆ ครั้ง ครับ

สวัสดีค่ะ

บทเพลงพื้นบ้านนี่น่าจะฟื้นฟูจริงๆค่ะ ขอสนับสนุนค่ะ

 ขอขอบคุณ ครับ  Sasinanda

  • ที่เข้าใจในบทเพลงพื้นบ้านว่า มีคุณค่า
  • เหมือนได้ยาขนานเอกมาช่วยต่อชีวิตเพลง
  • เป็นความกรุณาที่สูงส่งในการให้ความคิดคำนึง
  • ผมจะยังคงเดินไปในเส้นทางของคนเพลงพื้นบ้านต่อไปจนถึงที่สุดของชีวิต ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท