มหกรรม KM เบาหวาน วันที่ ๓


สินค้าเมตตา แกงเจ็ดแปดเก้า อสม.คือ “หมอเฉพาะทาง

วันที่ ๑ วันที่ ๒

เมื่อวานนี้ยังเล่าเรื่องงานมหกรรม KM เบาหวานวันที่ ๒ ไม่จบวัน เพราะต้องรีบไปนอนเอาแรงไว้สำหรับวันนี้อีกหนึ่งวัน วันนี้จะขอยกยอดเรื่องกิจกรรมการเรียนรู้เป็นฐานรวมไว้ครั้งหน้า ขอเล่ากิจกรรมในห้องประชุมใหญ่ของงานมหกรรมวันที่ ๓ คือวันนี้ไปก่อน

วันนี้เราเริ่มการประชุมตั้งแต่ ๐๘.๑๕ น. นับว่าเช้ามากสำหรับการประชุมที่มีคนจำนวนมากเช่นนี้ แถมยังพักกันอยู่นอกสถานที่จัดประชุม แต่ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่ก็ยังสามารถมาทันเวลา เริ่มด้วย ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์ ผู้ร้อยเรียงและตีความ “มหัศจรรย์แห่ง KM เบาหวาน” มาเล่าให้เราฟังว่าที่ว่ามหัศจรรย์นั้น มหัศจรรย์อย่างไร

 

 ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์

อาจารย์ยุวนุชนำเสนอด้วยการเล่าเรื่องเล่าเหตุการณ์ น้ำเสียงสดใสน่าฟัง ชัดถ้อยชัดคำ สมกับที่เป็น “นักสื่อสาร” การเล่าเรื่องและอธิบายเหตุผลที่ตีความแบบนั้นแบบนี้ ทำให้คนฟังนึกมองเห็นภาพ หลายคนพยักหน้าตามไปด้วย ไม่น่าเชื่อว่าสามารถสะกดคนฟังได้ ทั้งๆ ที่ PowerPoint สีชมพูหวานๆ ของอาจารย์มีเพียง ๙ สไลด์เท่านั้น (รวมชื่อเรื่องและสไลด์สุดท้ายที่มีเพียงคำว่า “ขอบคุณค่ะ”) ไม่มีรูปภาพใดๆ ดึงดูดสายตา มีแต่เพียงตัวหนังสือบอกถึงมหัศจรรย์แต่ละอย่าง

ช่วงเวลานี้มี “เพื่อนทำงาน” ของอาจารย์ยุวนุชมาร่วมขอฟังด้วย (ต้องขอโทษที่จำชื่อได้ไม่ชัด) แถมซื้อหนังสือ “มหัศจรรย์แห่ง KM เบาหวาน” ไปด้วย ๑๐ เล่ม บอกว่าจะเอาไปแจกคนนั้นคนนี้

เราพัก รับประทานอาหารว่างเร็วกว่าวันอื่นคือในเวลา ๐๙.๑๕-๐๙.๔๕ น. เพื่อจะได้มีเวลาสำหรับการเรียนรู้ตามฐานได้พอเพียง ตั้งแต่ ๐๙.๔๕-๑๒.๑๕ น. เป็นกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน นพ.อนุวัตน์ ศุภชุติกุล ผอ.พรพ. วิทยากรภาคบ่ายที่มาแต่เช้าถือโอกาสเดินตามกลุ่มต่างๆ ไปดูด้วยว่าเขาทำอะไรกัน อย่างไร

ภาคบ่ายเริ่มเมื่อเวลา ๑๓.๑๕ น. เป็นการอภิปรายเรื่อง “ทิศทางและอนาคตของเบาหวานไทย” มี พญ.อารยา ทองผิว อดีตนายกสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน เป็นผู้ดำเนินรายการ ผู้อภิปรายประกอบด้วยคุณปรีชา ศรีภัย รองนายก อบต.บ้านกร่าง ผู้ป่วยเบาหวานตัวจริง คนต้นแบบ และยอด "คุณกิจ" ของ สคส. ที่คราวนี้ได้รับการยกเป็น “หมอปรีชา” นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล และ นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผอ.สำนักบริหารจัดการโรคเฉพาะ สปสช.

อาจารย์อารยาแนะนำวิทยากรด้วย “กลอน” ได้อย่างน่าประทับใจ พร้อมทั้งขอให้ผู้เข้าประชุมคอยฟังและจับประเด็นของวิทยากรแต่ละคน ถ้าจับประเด็นได้ถูกต้องหรือถูกใจก็จะมีรางวัลให้ด้วย

คุณปรีชาเล่าการทำงานของตนที่เป็น ผสส. แล้วต่อมาเป็น อสม. จนผ่านการเลือกตั้งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อรู้ว่าเป็นเบาหวานได้มีการพัฒนาตนเองและพัฒนาชุมชนอย่างไรบ้าง เราได้รู้จัก “สินค้าเมตตา” “แกงเจ็ดแปดเก้า” อสม.คือ “หมอเฉพาะทาง” ดูแลตามละแวก เจาะเลือดเป็น วัดความดันเป็น “แฟ้มครัวเรือน” ที่ไม่หายง่ายๆ

นอกจากนี้ยังได้รู้วิธีคิดที่ว่าถ้าชาวบ้านได้ออกกำลังกายก็แข็งแรง ทำงานได้มีเงินเข้าบ้าน ซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลเครื่องวัดความดันไว้ในหมู่บ้านเพื่อจะได้รู้ว่าออกกำลังกายแล้วได้ผลหรือเปล่า เรื่องของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนไปเยี่ยมถึงบ้านด้วยจักรยาน ได้รู้ข้อมูลที่ทำให้ฉุกคิดได้ว่าผู้ป่วยต้องการมากกว่ายา

คุณหมออนุวัฒน์เริ่มด้วยการกล่าวถึงกิจกรรมการเรียนรู้เป็นฐานเมื่อเช้าว่า “น่ารัก” (หลายอย่าง) การเรียนรู้แบบนี้ได้เห็นภาพจริง เกิดแรงบันดาลใจ คนที่สอนคือคนที่ทำงานกันเอง สำหรับประเด็นที่ว่าจากประสบการณ์ของ พรพ.การดูแลผู้ป่วยเบาหวานปัจจุบันเป็นอย่างไร คำตอบคือ “น่าจะมีตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับมหาวิทยาลัย” ที่เห็นๆ วันนี้น่าจะอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยหรือ post grad” แล้ว

ที่ยังเป็นอนุบาล เพราะจับเป็นจุดๆ เช่น hypo-hyperglycemia ไม่เชื่อมโยง บาง รพ.ทำกิจกรรมเยอะ แต่ยังไม่สามารถแสดงได้ว่ามีผลต่อผู้ป่วยอย่างไร พร้อมทั้งยกตัวอย่างผู้ป่วย ๒ รายที่การบริการที่ได้รับยังมีปัญหา

หลังคุณปรีชาเล่าเรื่องเสร็จว่าตนได้ทำอะไรมาบ้าง ทำอย่างไร คุณหมออนุวัฒน์ก็เชื่อมโยง ตีความ ตั้งคำถามให้เราได้คิดเป็นระยะๆ เช่น เวลาพูดถึงการทำงานที่ประสบความสำเร็จ ต้องเริ่มจากความรักงาน อยากทำให้สำเร็จ จุดสำคัญคือเริ่มจากตัวเอง ถ้าเริ่มจากรูปแบบจะยุ่ง จากนั้นดูว่าในทีมมีการเชื่อมโยงสื่อสารกันดีหรือเปล่า หาคนที่จะมาเป็น partner เชื่อว่า รพ.ที่ผ่านมาถึงจุดนี้จะมีความสุข

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมี support จากภายนอก KM ก็เป็นส่วนหนึ่ง ยกตัวอย่าง Learning Network ระดับชาติ เสนอว่าน่าจะให้ รพ.ที่มีผลงานดีๆ เป็นเหมือน node ไปกระตุ้น สร้างแรงจูงใจในพื้นที่ การจัดการเครือข่ายแบบ campaign จะไปได้เร็ว และอาจมีระบบอื่นๆ เข้ามาเสริม เช่น มีตัวชี้วัด เพื่อเปรียบเทียบ (มีอยู่แล้วที่สำนักพัฒนาวิชาการ กรมการแพทย์ทำไว้)

ข้อเสนอต่อ สปสช. คือเรื่องที่ รพ.ต่างๆ ประสบปัญหาค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการ investigation ทำอย่างไรจึงจะต่อรองราคาให้ต่ำลง

คุณหมอชูชัยบอกว่า “ทำอย่างไร ถึงวันหนึ่งไม่ต้องไปบอกผู้ป่วยว่าเป็นเบาหวาน” บอกถึงเจตนารมณ์ของ สปสช.ที่อยากจะทำกับเรื่องเบาหวาน ครอบคลุมทั้งคนที่ป่วยแล้วและกลุ่ม pre-diabetes ไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการจ่ายเงิน ต่อจากที่คุณปรีชาพูดถึง “เรามานัดรวมพลคนในพื้นที่” ก็คือเรื่องเบาหวานต้องทำร่วมกัน เราสามารถใช้พลังชุมชน ทำได้ตั้งแต่ก่อนเป็นเบาหวาน สปสช.จะจัดอะไรให้บ้าง

ก่อน AAR คุณหมอฝน MC ทำหน้าที่แจกรางวัลกลุ่มที่ทำคะแนนได้ดีเมื่อวานนี้ ๒ กลุ่ม กลุ่มบานชื่น-ฟ้าได้ monofilament กลุ่มชวนชมแดงได้กระเป๋าของ Abbott ที่ภายในมีหนังสือเกี่ยวกับเบาหวาน ถ้วยตวงช้อนตวง และตัวอย่างผลิตภัณฑ์ Glucerna แต่ละกลุ่มเหลือไม่ครบ ๓๐ คน รางวัลที่เหลือจึงแจกผู้ที่ต้องการบ้าง แจกเป็นตัวแทนโรงพยาบาลบ้าง ไม่เหลือไว้

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๘ กรกฏาคม ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 115200เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2007 00:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท