ความร่วมมือ มรภ. – สคส. เดินหน้า


ความร่วมมือ มรภ. – สคส. เดินหน้า


          ผมได้บันทึกเรื่องนี้ไว้แล้วเมื่อวันที่
5 ก.ค.48  (click)   บัดนี้ถึงเวลาเดินหน้าดำเนินการหรือทำงานโครงการซึ่งมีชื่อเต็มว่า “โครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” 

“”  
          สคส. มีหน้าที่ตามโครงการความร่วมมือนี้ 2 ประการคือ   (1) ให้คำแนะนำและเป็นวิทยากรในการจัดตลาดนัดความรู้เพื่อให้แกนนำของ มรภ. ทั้ง 13 แห่งเข้าใจ KM จากการปฏิบัติ   และนำไปดำเนินการขยายผลให้มีคนที่เข้าใจและปฏิบัติ KM ใน มรภ. จำนวนมากพอและ (2) ให้คำแนะนำแก่ มรภ. ในการจัดระบบ KM ภายในองค์กร   และในการนำ KM ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนสำหรับหลักสูตร ป.ตรี – โท แก่สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


          สำหรับเรื่องการจัดระบบ KM ในองค์กร   ผมได้เขียนแนะนำ ม.เกษตรศาสตร์ไปแล้ว   เมื่อวันที่ 10 ก.ค.48  

(click) จึงจะไม่เขียนซ้ำ


การเตรียมการจัดตลาดนัดความรู้เพื่อเรียนรู้ KM จากการปฏิบัติ
เป้าหมาย
·       เพื่อเรียนรู้ KM จากการปฏิบัติ
·       เพื่อเตรียมสร้างแกนนำด้าน KM ของแต่ละ มรภ.
·       เพื่อเตรียมการณ์ให้แกนนำไปขยายผล   สร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะในการดำเนินการ KM ภายในแต่ละ มรภ.
วิธีการ
·       กำหนดผู้รับผิดชอบตลาดนัดความรู้ครั้งนี้ – ตกลงกันว่าเป็น ผศ. ดร. ประโยชน์  คุปต์กาญจนกุล  รองอธิการบดี มรภ. สุราษฎร์ธานี   ดร. ประโยชน์ควรมีผู้ช่วย 1 คนที่เป็นคนคล่องแคล่วทำหน้าที่ประสานงานกับคุณนภินทร  ศิริไทย ([email protected]) ของ สคส. ผ่าน e-mail (ใช้โทรศัพท์ให้น้อย  เพื่อประหยัด) และบล็อก
·       ผู้รับผิดชอบการจัดตลาดนัดความรู้ต้องไปประสานงานภายในเครือข่าย 13 มรภ. เอาเอง   ซึ่งแต่ละ มรภ. ต้องกำหนดผู้รับผิดชอบและเจ้าหน้าที่
·       กำหนด “หัวปลา” (เป้าหมาย) ของตลาดนัดความรู้ครั้งที่ 1 นี้   ว่าจะนำความสำเร็จเรื่องอะไรมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน   ผมขอเสนอให้ใช้ “การจัดการเรียนรู้ของนักศึกษา” ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้แนวใหม่   เกิดนวัตกรรมของการจัดการเรียนรู้
ดังนั้นตลาดนัดครั้งนี้อาจชื่อ “ตลาดนัดความรู้สู่ความเป็นเลิศด้านการจัดการเรียนรู้ของนักศึกษา”
·       แต่ละ มรภ. สรรหาอาจารย์ที่เป็น “คุณกิจ” ตัวจริง  ที่มีความสำเร็จที่ภาคภูมิใจตาม “หัวปลา” ของตลาดนัด   มาร่วมคงจะได้ไม่เกิน มรภ. ละ 5 คน   รวม 13 แห่ง 65 คน
ย้ำว่าต้องเป็น “คุณกิจ” ตัวจริงที่เตรียมเรื่องเล่าของความสำเร็จที่มีพลังมาเล่าใน
ตลาดนัด   และควรเป็นคนที่จะเป็นแกนนำด้าน KM ในอนาคตด้วย
·       แต่ละ มรภ. อาจส่งผู้บริหารระดับรองคณบดี/หัวหน้าภาควิชา ที่จะเป็นแกนนำ KM มาเป็น observer ไม่เกิน มรภ. ละ 3 คน  รวม 39 คน
ย้ำว่าต้องเป็น observer ไม่ใช่ participant
รวมทั้งสิ้นจะมีคนมาเข้าตลาดนัด 104 คน   ซึ่งนับว่ามาก
·       อาจกำหนด “คุณกิจ” หรือ observer บางคนเป็น “คุณอำนวยกลุ่ม” (Group Facilitator) และ “คุณลิขิต” (Note Taker) ซึ่งจะต้องมีอย่างละ 6 คน   เพราะเราจะแบ่งกลุ่ม participant เป็น 6 กลุ่ม ๆ ละ 10 – 11 คน   ส่วน “คุณลิขิต” อาจมี 12 คน   คือช่วยกันทำงานกลุ่มละ 2 คน
·       คนทั้ง 104 คนต้องทำความเข้าใจทฤษฎี/ความรู้เกี่ยวกับ KM มาก่อน   โดยเข้าไปอ่านบทความในเว็บไซต์ www.kmi.or.th   หรืออ่านหนังสือ “การจัดการความรู้ ฉบับมือใหม่หัดขับ” และดู Narrated PowerPoint เรื่องการจัดการความรู้ (ความยาว 2 ชม.) โดย  ดร. ประพนธ์  ผาสุขยืด มาก่อนล่วงหน้า
การอ่านหนังสือเล่มดังกล่าว   และดู/ฟัง PowerPoint เป็นภาคบังคับ   คนที่ไม่
ทำตามนี้   เวลามาเข้าตลาดนัดจะงง  ตามไม่ทัน   เพราะเราจะเข้าสู่การปฏิบัติเลย   ไม่มีการอธิบายทฤษฎี
          ดังนั้นคนที่ไม่เตรียมตัวมาล่วงหน้าตามนี้   ไม่ควรมาเข้าตลาดนัด
          ทางผู้จัดการตลาดนัดคงต้องซื้อหนังสือและ Copy CD แจกผู้ที่จะเข้าตลาดนัดทุกคน 1 เดือนล่วงหน้า   และกำชับให้ต้องศึกษามาก่อน
·       มีการ “ติว” “คุณอำนวยกลุ่ม” และ “คุณลิขิต” ล่วงหน้า   รวมทั้งให้คน 2 กลุ่มนี้ได้อ่านเอกสาร 2 ชุดคือ
- การจัดการความรู้ฝังลึก (click)
- การเชื่อมโยงตลาดนัดความรู้สู่ระบบจัดการความรู้ (click)
·       มีการเตรียมสถานที่ประชุมที่ดี   มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน   เรื่องนี้มีรายละเอียดมาก   ให้ปรึกษาคุณนภินทร
·       เตรียมนำ “ขุมความรู้”,  “แก่นความรู้”, และ “ตารางแห่งอิสรภาพ” ไปใช้งานต่อในงานประจำ   คือดำเนินการ KM ด้านการเรียนการสอน นั่นเอง
·       สคส. ขอทราบว่าในเวลา 6 เดือนหลังตลาดนัดความรู้   เครือข่าย มรภ. 13 แห่งได้ไปดำเนินการอะไรบ้าง   แต่ละ มรภ. สมาชิกเครือข่ายทำอะไรบ้าง   และได้ผลอย่างไร
·       ผู้ประสานงานเครือข่ายควรใช้บล็อกในการประสานงานเครือข่าย   และส่งเสริมให้ “คุณกิจ” ในแต่ละ มรภ. แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ฝังลึกจากการปฏิบัติงานของตนผ่านบล็อก   ซึ่ง สคส. แนะนำให้ใช้ GotoKnow.org และควรตั้งเป็นชุมชน   อาจใช้ชื่อว่า “จัดการความรู้ มรภ.”   รวมทั้งมีการจัดการระบบบล็อกของเครือข่ายด้วย
เราตกลงกันในพิธีลงนามความร่วมมือเมื่อวันที่ 12 ก.ค.48 ว่า   จะจัดตลาดนัดความรู้สู่ความเป็น
เลิศด้านการจัดการเรียนรู้ของนักศึกษา   ในวันที่ 10 – 11 ต.ค.48  ที่ มรภ. ราชนครินทร์
          คุณนภินทรจะเป็นผู้ประสานงานและวิทยากรหลัก   คุณธวัชเป็นผู้ช่วยและผมเป็นกองหลัง
          หลังการจัดตลาดนัดความรู้และแต่ละ มรภ. ไปดำเนินการประยุกต์ใช้ KM ในงานของตนได้ 3 – 6 เดือน   จึงจัด KM Workshop อีก 2 workshop
·       Workshop ฝึกอบรม “คุณอำนวย” เลือกมาเฉพาะคนที่ทำงานจริงจัง   ไม่ให้โควตาเท่าเทียมกันระหว่างแต่ละ มรภ.
·       ตลาดนัดความรู้ด้านการกระจายอำนาจ   หรือการปฏิบัติภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   เลือกอาจารย์ มรภ. ที่ทำงานด้านนี้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

   
        นอกจากนั้น สคส. ยินดีให้ ดร. ประโยชน์ในฐานะ “คุณประสาน” ของเครือข่ายเข้าร่วมประชุม
ภาคีจัดการความรู้ท้องถิ่น   หาก ดร. ประโยชน์ต้องการ   การประชุมนี้จัดทุก ๆ 2 เดือน   ประชุมครั้งต่อไปวันที่ 25 ก.ค.48 เวลา 09.00 – 12.00 น. (ค่าใช้จ่ายในการข้าร่วมประชุมทาง มรภ. ต้องออกเอง)


                                                                                      วิจารณ์  พานิช
                                                                                        12 ก.ค.48


           พิธีลงนามความร่วมมือ

หมายเลขบันทึก: 1132เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2005 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท