มุ่ยฮวง
นาง ศันสนีย์ เกษตรสินสมบัติ

จุดกำเนิดสับปะรดไทย


สับปะรด

                                                                                                 

           คุณรู้หรือไม่ว่าสับปะรดเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่มีการแปรรูปส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์สับปะรดแปรรูปที่วางจำหน่ายอยู่ทั่วโลกนำเข้าจากประเทศไทย และ

มากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตสับปะรด มาจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

                สับปะรดที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดสำหรับบริโภคผลสดมีหลากหลายพันธุ์ ซึ่งมีรสชาติและเนื้อสัมผัสแตกต่างไป ได้แก่ พันธุ์ปัตตาเวีย ตราดสีทอง นางแล ภูเก็ต และเพชรบุรี1 เป็นต้น แต่มีเพียงพันธุ์เดียวที่สามารถบริโภคสดและแปรรูปได้ ก็คือสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย นั่นเอง แต่หลายๆ คนอาจจะไม่คุ้นชื่อนี้ เพราะในท้องตลาดมักจะเรียกสับปะรดพันธุ์นี้ ว่า สับปะรดปราณบุรี ( ปราณบุรีเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ )  ซึ่งสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญ ฉะนั้น เรามาทำความรู้จักเกี่ยวกับความเป็นมาของสับปะรดปัตตาเวีย กันก่อนเลยคะ  

คุณรู้หรือไม่ว่าสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ต้นแรกของไทย มาจากไหน เมื่อไร ใครเป็นคนปลูกคนแรกและปลูกที่ไหน เรามาค้นหาคำตอบเลยคะ

ย้อนกลับไป เมื่อ ปี พ.ศ. 2546 ดิฉันได้ร่วมงานกับชุมชน

บ้านฝั่งท่า  ตำบลวังก์พง  อำเภอปราณบุรี  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ทำให้ดิฉันได้ฟังเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับจุดกำเนิดสับปะรดไทย จากนายประจักษ์  หัวใจเพชร  ปราชญ์ชาวบ้าน และนางสุดจิตร  เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ผู้ครอบครองที่ดินและทายาทของผู้ให้กำเนิดสับปะรดไทย ซึ่งดิฉันพอสรุปเรื่องเล่าจากบุคคลทั้งสอง ได้ดังนี้

กว่าร้อยปีที่แล้ว ประเทศไทยได้มีการติดต่อทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยส่วนใหญ่ จะเดินทางค้าขายกันทางเรือ และในปี พ.ศ. 2455 มีแขกปาทาน จากมลายู เดินทางมาติดต่อค้าขายวัว โดยเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล ถึงอ่าวไทย และมุ่งเข้าสู่แม่น้ำปราณบุรี โดยแวะขึ้นฝั่งที่บ้านท่าข้าม (ปัจจุบันคือบ้านฝั่งท่า  หมู่ที่ 5  ตำบลวังก์พง  อำเภอปราณบุรี  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) และพักค้างคืนที่บ้านของผู้ใหญ่ทอง  อิ่มทั่ว โดยผู้ใหญ่ทอง ได้จัดอาหารมาต้อนรับแขกปาทาน ซึ่งในสำรับนั้นมีสับปะรดพันธุ์อินทชิต ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง มาให้แขกรับประทานด้วย เมื่อแขกได้ชิมสับปะรดแล้ว ก็บอกกับผู้ใหญ่ทอง ว่าที่เมืองของเขามีสับปะรดที่อร่อยมากกว่าที่นี่  และในระหว่างที่แขกพักค้างที่นั่น ได้เกิดเจ็บป่วย ผู้ใหญ่ทอง จึงพาไปให้พระช่วยรักษา จนหายป่วย ทำให้แขกผู้นั้นซาบซึ้งในน้ำใจ ผู้ใหญ่ทองมาก  เมื่อแขกผู้นั้นมีโอกาสมาติดต่อการค้าที่นี่อีกครั้งหนึ่ง ก็ได้นำหน่อสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย มาจำนวน 5 หน่อ ให้กับผู้ใหญ่ทอง จากนั้นผู้ใหญ่ทอง ก็นำไปปลูกบริเวณบ้าน เมื่อผลผลิตออกจึงรู้ว่ามีรสชาติดี จึงขยายหน่อให้ลูกหลานไปปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน และมีการขยายหน่อไปสู่เกษตรกรในพื้นที่ปลูกเพื่อการค้าเรื่อยมา จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2510 ก็มีโรงงานแปรรูปสับปะรดขึ้นมาแห่งแรก จึงทำให้เกษตรกรมีการขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้นตามความต้องการของตลาด  จนในปัจจุบันจังหวัดประจวบคีรีขันธุ์ มีพื้นที่ปลูกสับปะรดประมาณ 6 แสนไร่ เกษตรกรเกือบหมื่นคน และมีโรงงานแปรรูปสับปะรดมากกว่า 20  แห่ง

                จากเรื่องราวดังกล่าว ทำให้ชุมชนบ้านฝั่งท่าเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ และต้องการเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับทราบ จึงได้ดำเนินการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้โดยจัดทำแปลงสับปะรด ไว้ ณ บริเวณบ้านผู้ใหญ่ทอง  อิ่มทั่ว ซึ่งปัจจุบันครอบครองโดยทายาทของผู้ใหญ่ทอง  คือ นางสุดจิตร  เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา นั่นเอง  หากใครสนใจจะไปเยี่ยมชมก็สามารถไปชมได้ทุกวัน ซึ่งทางชุมชนได้มีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร นอกจากชมจุดกำเนิดสับปะรดไทยแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีก ได้แก่ นั่งเรือล่องแม่น้ำปราณบุรี ชมสวนเกษตรธรรมชาติปลอดสารพิษ และยังมีโฮมสเตย์ไว้รองรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย รายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ดิฉันจะมานำเสนอในโอกาสต่อไป แต่ถ้าใครสนใจต้องการทราบละเอียดก็ติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอปราณบุรี  โทรศัพท์ 032 621786  หรือ สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โทรศัพท์ 032 550892

                เป็นอย่างไรคะ สำหรับความเป็นมาของกำเนิดสับปะรดไทย สำหรับในตอนต่อไป ดิฉันจะนำสาระที่เกี่ยวข้องกับสับปะรด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีการปลูก การแปรรูป และอื่นๆ มาฝากค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #สับปะรด
หมายเลขบันทึก: 112530เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2007 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • อ่านแล้วสไตล์การเขียนเหมือนคุณลิขิตมืออาชีพเลย
  • สงสัยดู  "กบนอกกะลา" ทุกตอน
  • เขียนมา ลปรร. บ่อยๆนะครับ  ได้ประโยชน์มากเลย
  • แล้วเรื่อง FTA สับปะรด ไม่ทราบว่าได้รับผลกระทบบ้างหรือเปล่า ครับ
  • ขอบคุณที่นำมาแบ่งปัน ครับ

    สว้สดีครับ

           อ่านแล้วเขียนได้ดีมาก  ขออนุญาต นำบร็อคเข้าแพลนเน็ต

  • บันทึกได้ละเอียดมากเลยครับ
  • ทำให้ผมได้ความรู้เรื่องของสับปะรดไทยเพิ่มมากขึ้น
  • ขอบพระคุณมากครับ
  • หวัดดีค่ะพี่สาว
  • อ่านแล้วอยากไปเที่ยว
  • จะรออ่านตอนต่อไปนะคะ
  • บันทึกได้ละเอียดดีค่ะ
  • ได้ความรู้เกี่ยวกับตำนานสับปะรด
  • รออ่านบันทึกดีๆอยู่นะคะ

ขออนุญาต คัดลอกเพื่อนำไปเพื่อประดับความรู้นะครับ

ขอขอบคุณอย่างสูง

ชมรมมัคคุเทศก์ภาษาสเปน

ผมขอเพิ่มเติมข้อมูลสักหน่อยน่ะครับ ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวเองก่อนครับ ตัวผมเองเป็นเหลนของผู้ใหญ่ทองครับ เพราะย่าผมเป็นลูกสาวของผู้ใหญ่ทอง อิ่มทั่ว ชื่อย่าเขียว คีรีวัฒน์ แต่ถูกตัดขาดจากผู้ใหญ่ทอง เนื่องจากปู่ผมนายคำ คีรีวัฒน์ ไปฉุดย่าผม ทำให้ผู้ใหญ่ทองโกรธมาก สมัยก่อนผู้ใหญ่ทอง อิ่มทั่ว มีลูกสาวหลายคน มีฐานะดี มีวัวและที่ดินเยอะ เมื่อปู่คำพาย่าเขียวมาขอขมากับผู้ใหญ่ทอง ผู้ใหญ่ทองก็ถามย่าเขียว ว่าเต็มใจไปกับปู่คำ หรือถูกปู่คำฉุดไป ย่าเขียวก็ตอบผู้ใหญ่ทองว่า เต็มใจตามเขาไป ผู้ใหญ่ทองโกรธมาก แล้วก็ประกาศตัดขาดความเป็นพ่อลูกกับย่าผม ย่าผมก็ไปอยู่กับปู่คำ แล้วมีลูกด้วยกัน 5 คน พ่อผมคนที่ 3 ชื่อนายโชว์ คีรีวัฒน์ ตอนผมเป็นเด็กผมอยู่กับย่าเขียว ท่านก็เล่าเรื่องสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียให้ผมฟัง แล้วถามผมว่ารู่มั๊ย ว่าใครเป็นคนเอาสับปะรดพันธุ์ที่บ้านเราปลูก นำมาปลูกเป็นคนแรก เพราะขณะนั้นพ่อกับแม่ผมทำไร่สับปะรดอยู่ครับ ผมก็บอกว่าไม่รู้ แล้วใครล่ะ ท่านก็บอกว่า พ่อของย่าเอง ชื่อผู้ใหญ่ทอง เป็นผู้ที่นำสับปะรดมาปลูกเป็นคนแรก โดยมีแขกปาทานที่มาซื้อวัวเอามาให้ เพราะผู้ใหญ่ทองได้ปอกสับปะรดของที่บ้าน ให้แขกปาทานกิน แขกปาทานก็บอกว่าสับปะรดที่เมืองเขาอร่อยกว่านี้อีก ผู้ใหญ่ทองก็บอกกับแขกว่า ยังงั้นถ้ามาอีกให้เอาสับปะรดของเขามาฝากด้วย เมื่อแขกปาทานมาอีกครั้งก็นำหน่อสับปะรดมา 5 หน่อ แต่ระหว่างทางหน่อสับปะรดได้ตกหล่นไป 3 หน่อ ทำให้เหลือหน่อสับปะรดมาถึงผู้ใหญ่ทองแค่ 2 หน่อ แล้วผู้ใหญ่่ทองก็นำมาปลูก และขยายพันํธุ์ถึงปัจจุบันครับ ข้อความที่ผมเล่ามานี้มาจากคำบอกเล่าของย่าเขียวผม ขณะผมมีอายุ 6-7 ขวบครับ

ต้นกำเนิดของสับปะรดอยู่ที่ประเทศอะไรคบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท