คิดสร้างสรรค์


อ่านอย่างเดียวไม่พอ ต้องนำไปปฏิบัติด้วย ปฏิบัติบ่อยๆ สติมา ปัญญาเกิด

มีความคิดเห็นของคุณบุญนำว่า “เคยอ่านหนังสือของอาจารย์เกรียงศักดิ์  เกี่ยวกับแนวคิดเชิงอนาคต  เหมือนกันกับแนวคิดนอกกรอบ.....  ผมคิดว่า การคิดนอกกรอบ  คือ  คิดหลากทาง  หรือคิดรอบด้าน  สุดท้ายคือ  มีสติ  ไม่ประมาท  ยิ่งคิดผมยิ่งงง  สุดท้ายผมเลยอยากเป็นกบ”

ครับ  คิดแนวข้าง  คิดนอกกรอบ  คิดเชิงอนาคต  คิดรอบทาง  คิดรอบด้าน  ถ้าผลมันออกมาว่าเป็นการคิดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี  ต่อยอดความคิดเดิม (คิดทะลุกรอบ  คิดพ้นกรอบ  ฯลฯ)  จะคิดอย่างไร?  ก็คิดเถอะครับ  สำหรับผม  ปลายทางสุดท้ายของการคิดทั้งหลายจะกลายเป็น  คิดสร้างสรรค์  ซึ่งพจนานุกรมให้ความหมายว่า

คิด  ก.  ทำให้ปรากฏเป็นรูป  หรือประกอบให้เป็นรูป  หรือเป็นเรื่องคิดในใจ, ใคร่ครวญ  ไตร่ตรอง

สร้างสรรค์  ก.  สร้างให้มีให้เป็นขึ้น
                    ว.  มีลักษณะริเริ่มในทางที่ดี  เช่น  ความคิดสร้างสรรค์, ศิลปะสร้างสรรค์

ทำอย่างไร  จึงจะทำให้ “คิดเป็น”  ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาการคิดทั้งหลายข้างต้น  น่าจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเรียนรู้

ผมขอยกตัวอย่างวิธีฝึกตามทัศนะของผม  ที่จะนำไปสู่การคิดเป็นสัก 3 แนวทางนะครับ

แนวทางที่ 1  ผมเขียนบทความไว้ใน website ของคณะศึกษาศาสตร์ “เรียนบัณฑิตศึกษาอย่างไร?”  http://www.edu.nu.ac.th/story/Edu-Sombat.pdf  ถ้าสนใจขอเชิญเปิดอ่านครับ

แนวทางที่ 2  กระบวนการทางปัญญา ของ  ศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ  วะสี  มีดังนี้ครับ
     1.  ฝึกสังเกต  สังเกตในสิ่งที่เราเห็น  หรือสิ่งแวดล้อม  เช่น  ไปดูนก  ดูผีเสื้อ  หรือในการทำงาน  การฝึกการสังเกตจะทำให้เกิดปัญญามาก  โลกทรรศน์และวิธีคิด  สติ – สมาธิ  จะเข้าไปมีผลต่อการสังเกต  และสิ่งที่สังเกต
     2.  ฝึกบันทึก  เมื่อสังเกตอะไรแล้วควรฝึกบันทึก  โดยจะวาดรูปหรือบันทึกข้อความ  ถ่ายภาพ  ถ่ายวีดีโอ  ละเอียดมากน้อยตามวัยและตามสถานการณ์  การบันทึกเป็นการพัฒนาปัญญา
     3.  ฝึกการนำเสนอต่อที่ประชุมกลุ่ม เมื่อมีการทำงานกลุ่ม เราไปเรียนรู้อะไรมา บันทึกอะไรมา  จะนำเสนอให้เพื่อนหรือครูรู้เรื่องได้อย่างไร  ก็ต้องฝึกการนำเสนอ  การนำเสนอได้ดีจึงเป็นการพัฒนาปัญญาทั้งของผู้นำเสนอและของกลุ่ม
     4.  ฝึกการฟัง  ถ้ารู้จักฟังคนอื่นก็จะทำให้ฉลาดขึ้น  โบราณเรียกว่าเป็นพหูสูต  บางคนไม่ได้ยินคนอื่นพูด  เพราะหมกมุ่นอยู่ในความคิดของตัวเองหรือมีความฝังใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  จนเรื่องอื่นเข้าไม่ได้  ฉันทะ  สติสมาธิ  จะช่วยให้ฟังได้ดีขึ้น
     5.  ฝึกปุจฉา – วิสัชนา  เมื่อมีการนำเสนอและการฟังแล้ว  ฝึกปุจฉา – วิสัชนา  หรือถาม – ตอบ  ซึ่งเป็นการฝึกใช้เหตุผล  วิเคราะห์  สังเคราะห์  ทำให้เกิดความแจ่มแจ้งในเรื่องนั้น ๆ ถ้าเราฟังครูโดยไม่ถาม – ตอบ  ก็จะไม่แจ่มแจ้ง
     6.  ฝึกตั้งสมมติฐานและตั้งคำถาม  เวลาเรียนรู้อะไรไปแล้ว  เราต้องสามารถตั้งคำถามได้ว่าสิ่งนี้คืออะไร  สิ่งนั้นเกิดจากอะไร  อะไรมีประโยชน์  ทำอย่างไรจะสำเร็จประโยชน์อันนั้น  และมีการฝึกการตั้งคำถาม  ถ้ากลุ่มช่วยกันคิดคำถามที่มีคุณค่าและมีความสำคัญก็จะอยากได้คำตอบ
     7.  ฝึกการค้นหาคำตอบ  เมื่อมีคำถามแล้วก็ควรไปค้นหาคำตอบจากหนังสือ  จากตำรา  จากอินเตอร์เน็ต  หรือไปคุยกับคนเฒ่าคนแก่  แล้วแต่ธรรมชาติของคำถาม  การค้นหาคำตอบต่อคำถามที่สำคัญจะสนุกและทำให้ได้ความรู้มาก  ต่างจากการท่องหนังสือโดยไม่มีคำถาม  บางคำถามเมื่อค้นหาคำตอบทุกวิถีทางจนหมดแล้วก็ไม่พบ  แต่คำถามยังอยู่  และมีความสำคัญ  ต้องหาคำตอบต่อไปด้วยการวิจัย
     8.  การวิจัย  การวิจัยเพื่อหาคำตอบ  เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ทุกระดับ  การวิจัยจะทำให้ค้นพบความรู้ใหม่  ซึ่งจะทำให้เกิดความภูมิใจ  สนุก  และมีประโยชน์มาก
     9.  เชื่อมโยงบูรณาการ  ให้เห็นความเป็นทั้งหมดและเห็นตัวเอง  ธรรมชาติของสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยง  เมื่อเรียนรู้อะไรมาอย่าให้ความรู้นั้นแยกเป็นส่วน ๆ แต่ควรจะเชื่อมโยงเป็นบูรณาการให้เห็นความเป็นทั้งหมด
     10.ฝึกการเขียนเรียบเรียงทางวิชาการ  ถึงกระบวนการเรียนรู้และความรู้ใหม่ที่ได้มา  การเรียบเรียงทางวิชาการเป็นการเรียบเรียงความคิดให้ประณีตขึ้น  ทำให้ค้นคว้าหาหลักฐาน  ที่มา  ที่อ้างอิง  ของความรู้ให้ถี่ถ้วนแม่นยำขึ้น  การเรียบเรียงทางวิชาการจึงเป็นการพัฒนาปัญญาของตนเองอย่างสำคัญ  และเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ของผู้อื่นในวงกว้างออกไป

แนวทางที่ 3  วิธีปฏิรูปวิธีคิดแบบไทย  ของ  ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์  มีดังนี้ครับ
     การคิด (Thinking) คือการใช้พลังทางสมอง  ในการนำเอาข้อมูล  ความรู้  ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่มาจัดวางอย่างเหมาะสม  เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์  เช่น  การตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุด  เป็นต้น

     ความสามารถในการคิด  ทำให้มนุษย์มีความเป็นมนุษย์ที่มีความแตกต่างจากสัตว์อย่างชัดเจน  สามารถแก้ปัญหาให้ตนเองได้  สร้างสิ่ง ประดิษฐ์ใหม่ ๆ  สร้างความสุข  ปกป้องตนเอง  เป็นต้น

     สังคมไทยเป็นสังคมที่ขาดความคิดสร้างสรรค์  เรามีวัฒนธรรมการคิดและการเขียนน้อยมาก  ส่วนใหญ่มีแต่วัฒนธรรมการฟังกับการพูด  แนวทางที่จะทำให้คนสามารถคิดเป็นมีอย่างน้อย 10 มิติ  คือ
     มิติที่ 1  ความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)  หมายถึง  การไม่เห็นคล้อยตามเหตุผลหรือข้อกล่าวอ้าง  แต่ท้าทายข้ออ้างและโต้แย้งข้อสมมติฐาน
     มิติที่ 2  ความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) หมายถึง  ความสามารถในการสืบค้นข้อเท็จจริง  เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับบางสิ่ง  โดยการตีความ (interpretation) การจำแนก (classification) การทำความเข้าใจ (understanding) การเชื่อมโยงความสัมพันธ์เชิงเหตุผล (causal relationship)
     มิติที่ 3  ความสามารถในการคิดเชิงสังเคราะห์ (Synthesis – Type Thinking)  หมายถึง  ความสามารถในการรวมองค์ประกอบที่แยกส่วนกัน  มาหลอมรวมภายใต้โครงร่างใหม่อย่างเหมาะสม
     มิติที่ 4  ความสามารถในการคิดเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Thinking)  หมายถึง  การค้นหาความเหมือน  และ/หรือความแตกต่าง  เพื่อใช้เทียบกันระหว่างของสองสิ่ง
     มิติที่ 5  ความสามารถในการคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Thinking)  หมายถึง  ความสามารถในการประสานข้อมูลทั้งหมด  เพื่อนำมาสร้างกรอบความคิดใหม่
     มิติที่ 6  ความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking)  หมายถึง  การขยายขอบเขตความคิดออกไปจากกรอบความคิดเดิมที่มีอยู่  กล้าที่ จะฝ่าวงล้อมออกไปสู่แนวทางใหม่ ๆ
     มิติที่ 7  ความสามารถในการคิดเชิงประยุกต์ (Applicative Thinking)  หมายถึง  ความสามารถในการนำสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมไปใช้ประโยชน์ในวัตถุประสงค์ใหม่ได้อย่างเหมาะสม
     มิติที่ 8  ความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking)  หมายถึง  ความสามารถในการกำหนดแนวทางที่ดีที่สุด  ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัด  เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการออกไปในมุมที่เป็นรูปธรรมอย่างเฉพาะเจาะจง
     มิติที่ 9  ความสามารถในการคิดเชิงบูรณาการ (Integrative Thinking)  หมายถึง  ความสามารถในการเชื่อมโยงเรื่องในมุมต่าง ๆ เข้ากับเรื่องหลัก ๆ ได้อย่างเหมาะสม
     มิติที่ 10 ความสามารถในการคิดเชิงอนาคต (Futuristie Thinking)  หมายถึง  ความสามารถในการคาดการณ์  และประมาณการการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต  โดยการใช้เหตุผลทางตรรกวิทยา  สมมติฐาน  ข้อมูล  และความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของในอดีตและปัจจุบัน

“ความคิดเป็นคานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” (ดาเนียล  เว็บสเตอร์)

“หน้าที่หลักของร่างกาย  คือ  การทำงานของสมอง” (โธมัส  เอดิสัน)

“ความคิดและจินตนาการเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เหนือกว่าสรรพสัตว์ทุกชนิด” (เชคสเปียร์)

อ่านอย่างเดียวไม่พอนะครับ  ต้องนำไปปฏิบัติด้วย  ปฏิบัติบ่อยๆ  สติมา  ปัญญาเกิดครับ

 

หมายเลขบันทึก: 111991เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2007 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ต้องขอแสดงความยินดีกับ

  • รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก 

 

ด้วยนะครับที่ได้รับรางวัล Nu Blogger Award ที่เหมาะสมนี้ไป

 ดีใจด้วยครับท่าน อาจารย์  ที่ได้รับรางวัล   Nu blogger   และในช่วงที่รับรางวัลจากท่านรองอธิการเช้านี้ เป็นภาพที่เรียกเสียงหัวเราะ และรอยยิ้ม 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท