การใช้กรณีศึกษาประกอบการฝึกอบรม


การฝึกอบรม

กรณีศึกษา (CASE STUDY) เป็นข้อมูลประกอบกิจกรรมการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรที่มุ่งให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมฝึกฝนการประยุกต์ใช้หลักการทฤษฎี ข้อคิดและแนวทางในการปฏิบัติในการทำงาน โดยการใช้รายละเอียดข้อมูลและสภาพปัญหาในกรณีศึกษา ประกอบการคิดและใช้วิจารณญาณ การใช้กรณีศึกษา ยังสามารถใช้ประเมินการเรียนรู้ของผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการคิดได้อย่างสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของเนื้อหาวิชาที่ได้รับการฝึกอบรมไปมากน้อยเพียงใด

1. วัตถุประสงค์

1.1 ใช้เพื่อฝึกฝนการประยุกต์ใช้หลักการ แนวคิดที่ได้เรียนรู้ไปจากการฝึกอบรม ให้ปรับเปลี่ยนไปเป็นความรู้ ความเข้าใจที่เป็นรูปธรรม

1.2 ใช้เพื่อประเมินการเรียนรู้ (LEARNING) ของผู้เรียนโดยการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม การเข้าร่วมกลุ่มในการทำกรณีศึกษา

1.3 ใช้เพื่อเตรียมผู้เรียน เข้าสู่การเรียนรู้หลักการ แนวคิด และทฤษฎี ที่จะถ่ายทอดให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้เร็วขึ้นและเป็นรูปธรรมได้มากขึ้น

2. หลักการเขียนกรณีศึกษา

2.1 กรณีศึกษาที่ดี ต้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ โดยนำเอาเหตุการณ์ทั้งหมด หรือบางส่วน มาใช้เป็นโครงเรื่องของกรณีศึกษา เนื่องจากกรณีศึกษาที่คิดฝันเอาเองของวิทยากร จะมีลักษณะที่ไม่สมจริงและไม่น่าสนใจ

2.2 มีประเด็นสำหรับการเรียนรู้ที่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องเลือกกรณีศึกษาที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของเรื่องที่ผู้เรียน

2.3 มีคำตอบปลายทางหลายทาง ขึ้นอยู่เงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมในกรณีศึกษา

2.4 มักใช้ในการฝึกอบรมเรื่องที่ต้องประมวลเอาความรู้ ความคิด และความเข้าใจหลาย ๆ เรื่องมาประกอบการพิจารณาหาคำตอบกรณีศึกษา เช่น Problem Analysis , Decision Making , Human Relations , Planning And Control เป็นต้น

2.5 ต้องเลือกสรรกรณีศึกษาที่เหมาะกับระดับการเรียนรู้ของผู้เรียน คือ ไม่ยากเกินไปหรือไม่ง่ายเกินไป ทั้งในด้านเนื้อหา และภาษาที่ใช้ด้วย

3. การนำกรณีศึกษาไปใช้

3.1 ประเด็นและแนวคิดในกรณีศึกษาที่จะนำมาใช้จะต้องสอดคล้องกับประเด็นวิชาที่ผู้เรียนกำลังเรียนรู้หรือกำลังจะได้นำมาเรียนรู้

3.2 การแบ่งกลุ่มเพื่อทำกรณีศึกษา ควรเป็นกลุ่มละ 6 - 12 คน เนื่องจากถ้ากลุ่มมีน้อยกว่า 6 คน การถกแถลงและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะไม่เพียงพอถ้ามากกว่า 12 คน ก็จะมีผู้เรียนบางคนถูกทอดทิ้งหรือละเลยการรับฟังความคิดเห็น ที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ 7 - 11 คนต่อกลุ่ม

3.3 วิทยากรผู้สอน จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจในประเด็นคำถามหรือปัญหา หรือภารกิจของกลุ่มโดยส่วนรวมให้ชัดเจน เพื่อประหยัดเวลาและป้องกันการหลงประเด็น

3.4 หากสามารถเจาะจงคำถามในการทำงานของแต่ละกลุ่มได้ ก็จะทำให้ผู้เรียนในแต่ละกลุ่มทำงานได้ง่ายขึ้น หากคำถามมีหลายประเด็น วิทยากรอาจแบ่งประเด็นที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันก็ได้

3.5 จะต้องให้แต่ละกลุ่มรายงานอย่างทั่วถึง จะเลือกให้นำเสนอเพียงบางกลุ่มไม่ได้

3.6 วิทยากรจำเป็นต้องอธิบายสรุปประเด็นและเพิ่มเติมรายงานของแต่ละกลุ่ม เพื่อยืนยันความคิดรวบยอด (CONCEPT) ของเนื้อหาวิชา เพื่อปิดกิจกรรมกรณีศึกษา)

3.7 หากมีคำถามหรือการแตกประเด็นออกไปจากประเด็นเนื้อหาวิชาที่กำลังเรียนรู้กันอยู่ วิทยากรก็ควรจะสรุปรวมเข้ามาในเนื้อหาได้ด้วย

4. ข้อควรระวังในการใช้กรณีศึกษา

4.1 อย่าปล่อยให้ผู้เรียนคิดออกนอกลู่นอกทาง จนหลงประเด็นของเรื่องที่กำลังเรียนรู้

4.2 ใช้พฤติกรรมของผู้เรียนที่วิทยากร สังเกตได้ทั้งจากการถกแถลงในกลุ่มและรายงานของกลุ่มมาปรับแต่งแนวทางในการถ่ายทอดเนื้อหาวิชาของวิทยากร ฉะนั้น จะต้องไม่ละเลยที่จะสังเกตการทำงานของกลุ่ม

4.3 หากเกิดประเด็นใหม่อันเนื่องมาจากการถกแถลง วิทยากรจำเป็นต้องเพิ่มเติมความรู้ให้เกิดความกระจ่างแจ้ง (ซึ่งมักเกิดจากการไม่ชี้แจงคำถามและภารกิจก่อนการเริ่มกิจกรรม)

4.4 อย่าให้ผู้เรียนเกิดการเสียหน้าโดยเด็ดขาด เพราะจะกระทบกระเทือนต่อบรรยากาศในการเรียนรู้ไปตลอดหลักสูตร ไม่เฉพาะเรื่องหรือวิชาที่กำลังเรียนรู้อยู่เท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 109886เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2007 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 07:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท