ทพญ ฉลอง เอื้องสุวรรณ
ทพญ. ฉลอง ทพญ ฉลอง เอื้องสุวรรณ เอื้องสุวรรณ

สุนทรียสนทนาสู่การบริการด้วยหัวใจแห่งมนุษย์


สุนทรียสนทนา” ในแนวทางแห่งการปฏิบัติ ซึ่งหมายถึง การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening) ฟังอย่างตั้งใจ และไม่ตัดสิน ไม่แทรกแซง

ความเป็นมา


         ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง  “สุนทรียสนทนา” ในแนวทางแห่งการปฏิบัติ ซึ่งหมายถึง  การฟังอย่างลึกซึ้ง  (Deep listening)  ฟังอย่างตั้งใจ  และไม่ตัดสิน ไม่แทรกแซง  ดังนั้น จึงก่อให้เกิดการสื่อสารด้วยใจที่ใคร่ครวญอย่างมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ  ทำให้เข้าใจว่าผู้พูดพูดเรื่องอะไร ด้วยความรู้สึกอย่างไร  และเราควรจะตอบสนองผู้พูดอย่างไรบ้าง  สุนทรียสนทนานอกจากจะก่อให้เกิดการสื่อสารที่กรุณาแล้ว ยังนำไปสู่การบริการด้วยความกรุณา เพื่อปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ เอาใจเขามาใส่ใจเรา  สามารถเข้าใจและเข้าถึงความต้องการของผู้มารับบริการ และสามารถบริการด้วยใจแห่งมนุษย์ด้วยความใคร่ครวญจากใจ ทำให้ทำงานบริการได้อย่างมีความสุข
การเรียนรู้สู่การปฏิบัติในฝ่ายทันตกรรม
                     ข้าพเจ้าได้นำพา “สุนทรียสนทนา” เข้ามาเรียนรู้ในฝ่ายทันตกรรม ด้วยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับบุคลากร โดยเริ่มจากการฝึกทักษะการฟังโดยกิจกรรม “เล่าเรื่องวัยเด็ก”  จากนั้นก็ฝึกฝนเรื่อง “โหมดแห่งชีวิต” เพื่อประสงค์ให้เขาได้เข้าใจว่า การดำรงชีวิตประจำวันของเรานั้นควรดำรงอยู่ในโหมดปกติ คือ ผ่อนคลาย ปราศจากความกลัว มีความรักความเข้าใจซึ่งกันและกัน  และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการปฏิบัติงาน   ส่วนโหมดปกป้องนั้น คือ สภาวะแห่งความเครียด  ความกังวลในการทำงาน  จะก่อให้เกิดการหลั่งสารที่ไม่ดีมาทำลายเซลล์ของร่างกาย มีอารมณ์ลบ เช่น หงุดหงิด โกรธ เกลียด อาฆาตพยาบาท ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีแต่ความคิดเดิม ๆ ตายซาก ไม่มีความสุขในการทำงาน   ทุกคนจึงควรดำรงชีวิตประจำวันในโหมดปกติมากกว่า
                             จากนั้นให้เขาได้เรียนรู้เรื่องของทิศ 4 เพื่อให้รู้จักและเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น ทำให้สามารถทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา   นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองให้อยู่ในสภาวะสมดุลของทิศ 4  นั่นคือ เกิดการผสมผสานของลักษณะต่าง ๆ ในแต่ละทิศได้อย่างสมดุล
                           จากการประเมินผลใน 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า บุคลากรปฏิบัติงานอย่างมีความสุขมากขึ้น เป็นองค์กรจัดการตัวเอง มีความรับผิดชอบในงาน และมีการสร้างสรรค์งานได้ดี ผ่อนคลาย เครียดน้อย ทำงานด้วยความเข้าใจกันมากขึ้นบรรยากาศการประชุมก็มีการพูดและการฟังกันมากขึ้น  กล้าแสดงความคิดเห็น และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานให้ผ่านไปได้อย่างผ่อนคลาย
                          การทำงานร่วมกันในฝ่ายทันตกรรมมีความเข้าใจกันมากขึ้น มีพฤติกรรมบริการที่เหมาะสม  มีการช่วยเหลือกันมากขึ้น อยู่ร่วมกันเหมือนคนในครอบครัว มีการจัดงานวันเกิด มีการพูดคุยให้กำลังใจกัน  ทำให้บรรยากาศในการทำงานน่าอยู่


การแพร่ขยายสู่วงกว้าง
                       ข้าพเจ้าและอาจารย์หมอเต็มศักดิ์ได้ไปอบรมพร้อมกันที่เชียงราย   หัวข้อ “การดูแลผู้ป่วยเรื้อรังแบบองค์รวม”  ซึ่งกระบวนการส่วนใหญ่ก็ใช้สุนทรียสนทนาในการดำเนินเรื่อง รู้สึกว่า “น่าจะนำการอบรมดังกล่าว” สู่คณะแพทย์   จึงได้จัดการอบรมเรื่อง “การสื่อสารที่กรุณา” ให้กับอาจารย์แพทย์ และพยาบาลในกลุ่ม palliative care ที่สวนสายน้ำ วันที่ 20 – 23 ตุลาคม 2549 (ผลการดำเนินงานอยู่ในรายละเอียดในblog)
                  หลังจากการอบรมดังกล่าว ได้เกิดการรวมกลุ่มกันของผู้เข้าอบรมเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงปฏิบัติด้วยกัน  และก่อให้เกิดการอบรมเรื่อง “การสื่อสารที่กรุณา” ในกลุ่มหัวหน้างานของฝ่ายบริการพยาบาล  โดยเชิญกระบวนกรจากเชียงรายมาช่วยอบรม  ก็เป็นที่ประทับใจและคิดว่าทุกคนได้นำไปใช้ในการทำงาน และทำงานร่วมกันได้อย่างเข้าใจกันมากขึ้น   ในฝ่ายบริการพยาบาลก็มีการวางแผนให้เกิดกระบวนการอบรมเช่นนี้อีก 3 รุ่น  โดยใช้กระบวนกรจากภายใน
                       นอกจากนี้ ทางฝ่ายสำนักงานคณบดีได้เชิญข้าพเจ้าช่วยอบรม เรื่อง “การสื่อสารที่กรุณา”  ให้หัวหน้างานและหัวหน้าหน่วย   จำนวน 2 รุ่น  (ผลการอบรมอยู่ในรายละเอียดใน/blog)
 ผลการอบรมทำให้หัวหน้างานเหล่านั้นต้องการให้ลูกน้องได้รับการอบรมดังกล่าวด้วย  จึงได้จัดการอบรมให้กับบุคลากรในสังกัดสำนักงานคณบดี (150 คน) โดยจัดวันที่ 1 – 3 มิถุนายน 2550 ที่จังหวัดกระบี่  (ผลการอบรมใน blog และสามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จาก web ของสำนักงานเลขาคณบดี)
                       นอกจากนี้ ข้าพเจ้ามีความจำเป็นต้องจัดอบรมเพิ่มเติมให้กับหัวหน้างานในการเป็นผู้ช่วยกระบวนกรในการช่วยจัดกิจกรรมในกลุ่มใหญ่
                       ทางฝ่ายอำนวยการโรงพยาบาลได้งบประมาณจาก “สปสช.” ในการอบรมเรื่องการสื่อสารที่กรุณาให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย เช่น ศูนย์ร้องเรียน ประชาสัมพันธ์ โดยให้กระบวนกรจากภายนอก (คุณชวัลนุช  ชัววัลลี) ซึ่งเป็นที่ประทับใจแก่ผู้เข้าอบรมมาก
                           สุดท้ายก็ได้รับการติดต่อจากคุณอัมภา  อาภรณ์ทิพย์  อย่างไม่เป็นทางการว่า น่าจะจัดในกลุ่มเลขาภาควิชาบ้าง
 ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า บุคลากรคณะแพทย์น่าจะได้รับการอบรมดังกล่าวอย่างทั่วถึง เพื่อประโยชน์หลายประการ คือ


1. ฝึกทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน ไม่แทรกแซง  และใคร่ครวญด้วยใจ
เพื่อนำพาให้เกิดการสื่อสารที่กรุณาและการบริการด้วยหัวใจแห่งมนุษย์
2. ให้บุคลากรได้ปฏิบัติงานด้วยโหมดปกติแห่งชีวิต  และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างเนิ่นนาน
และสามารถรู้ทัน มีสติในการปฏิบัติงาน และสามารถแปรเปลี่ยนจากโหมดปกป้องมาสู่โหมดปกติได้ อย่างผ่อนคลาย  ซึ่งจะก่อให้เกิดการทำงานอย่างมีความสุข
3. ให้บุคลากรได้รู้จักและเข้าใจตนเอง   รวมทั้งเข้าใจผู้อื่น  และทำงานร่วมกันด้วยความรัก
ความเข้าใจ มีไมตรีต่อกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดการทำงานอย่างมีความสุข มีการพัฒนาตนเองจากการเปลี่ยนแปลงภายในและมีองค์กรจัดการตัวเอง
                            ข้าพเจ้าจึงขอเสนอให้มีการอบรมดังกล่าวอย่างทั่วถึง โดยจัดให้บุคลากร 3 กลุ่ม
1. กลุ่มผู้บริหารและหัวหน้างาน  :  เน้นการสื่อสารที่กรุณา
     :  การบริหารด้วยวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่
 2.  กลุ่มปฏิบัติการ       :  การสื่อสารที่กรุณา
          :  การบริการด้วยหัวใจแห่งมนุษย์
 3.  กลุ่มดูแลผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม      :  เน้นการสื่อสารที่กรุณา
          :  การสร้างพลังอำนาจผู้ป่วยในการดูแลสุขภาพแบบ
        องค์รวม
                         อนึ่ง  เนื่องจากบุคลากรคณะแพทย์มีมาก  และเพื่อให้การอบรมดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์
ในระยะยาว  จึงควรอบรมหัวหน้างานหรือผู้สนใจเพื่อฝึกทักษะการเป็นกระบวนกรในกลุ่มต่าง ๆ เช่น
- ฝ่ายบริการพยาบาล
- ฝ่ายอำนวยการ
- สำนักงานคณบดี
- ภาควิชา
                    ควรจัดอบรมการเป็นกระบวนกร  เพื่อนำไปใช้ในการประชุม     หรือสื่อสารภายในหน่วยงาน
เพราะการเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญดังกล่าว          “ควรเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติมากกว่าการเรียนรู้เฉพาะองค์ความรู้ จึงจะได้ผลดีและยั่งยืน”
 ซึ่งจากการจัดให้กับกลุ่มสำนักงานเลขาคณบดีเพียงคร่าว ๆ ก็สามารถนำไปใช้ได้แล้ว
                   อนึ่ง  ในการอบรมเพื่อพัฒนาไปสู่การบริการด้วยหัวใจแห่งมนุษย์นั้น   สปสช. มีงบประมาณสนับสนุน           และเสนอว่า ทางคณะแพทย์น่าจะดำเนินการอบรมโดยสร้างเครือข่ายสู่สามจังหวัดภาคใต้  เพื่อสร้างกุศลในใจให้บุคลากรสาธารณสุขได้ทำงานอย่างมีความสุข  แม้มีสภาวะกดดันจากสิ่งแวดล้อมภายนอกมากมายก็ตาม


เทคนิคการจัดอบรมเชิงจิตตปัญญาศึกษาให้มีประสิทธิผล


1. ผู้เข้าร่วมอบรม  :  ควรมาด้วยความสมัครใจ     และควรให้ทราบล่วงหน้าถึงรูปแบบของ
การอบรมเบื้องต้นก่อน  (นั่นคือมีฉันทะ) หรือความพอใจในการอบรม
2. จำนวนผู้เข้าอบรมที่เหมาะสม (25-40 คน)      เนื่องจากการอบรมด้วยใจที่ใคร่ครวญนั้น
กระบวนกรจำเป็นต้องดูแลวาระของคนเข้าอบรมด้วย            นั่นคือ มีกระบวนการเยียวยาทางจิตใจ  กระบวนกรเป็นคล้าย ๆ ผู้เยียวยาให้กับผู้เข้าอบรม         จากการฟังอย่างลึกซึ้งของกระบวนกรทำให้ทราบว่าแต่ละคนที่เข้าอบรมมีความเป็นมาอย่างไร   เป็นคนอย่างไร    และควรได้รับการดูแลอย่างไร  จึงจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในที่ยั่งยืน  ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้อย่างไร  ดังนั้น การ อบรมจึงมุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ
 นอกจากนี้ กระบวนการของสุนทรียสนทนาจะก่อให้เกิดมณฑลแห่งพลัง และเป็นองค์ความรู้ ของกลุ่ม         จึงทำให้ผู้เข้าอบรมเกิดการเรียนรู้จากการฟังที่ตั้งใจ  มีการใคร่ครวญ  จึงก่อเกิดสิ่งดี ๆ ภายในใจ และบังเกิดเป็นชุดข้อมูลในสมองซึ่งสามารถบ่มเพาะและนำมาใช้ได้ตลอดเวลา  ซึ่งเป็นไปอย่างยั่งยืน
           3. สถานที่อบรม  :  ควรจัดในบรรยากาศของการผ่อนคลาย  สบาย ๆ   มีต้นไม้ประดับ  มี
กลิ่นหอมของมวลดอกไม้  มีดนตรีเบา ๆ บรรเลง  และกว้างพอที่จะก่อให้เกิดการเคลื่อนไหว  บรรยากาศภายนอกห้องประชุมควรเป็นธรรมชาติที่ร่มรื่น  ร่มเย็น  และผ่อนคลาย
         4. กลุ่มผู้เข้าอบรม  :  หากเป็นกลุ่มงานเดียวกันก็จะดี    เพราะจะก่อให้เกิดความเข้าใจ
ภายในซึ่งกันและกัน  ก่อให้เกิดประสบการณ์ในการกลับไปทำงาน เช่น กลุ่มเลขาภาควิชา, ฝ่ายบริการ พยาบาล, ฝ่ายอำนวยการ  เป็นต้น

                                                                                             

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สุนทรียสนทนา
หมายเลขบันทึก: 109880เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2007 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 11:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชื่นชม และอยากเห็นการขยายโครงการมากยิ่งขึ้นค่ะ

ขอบคุณคุณหมอหลองที่เอาเรื่องดีๆ กิจกรรมดีๆมาเผยแพร่ อยากให้แพร่หลายมากๆจริงๆค่ะ เป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ทั้งต่อผู้ให้และผู้รับการอบรมและผลของการปรับเปลี่ยนทัศนะคติต่อการใช้ชีวิตก็คงจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้างได้มากทีเดียว

ขอขอบคุณ  พี่โอ๋และพี่อิ๋วมากๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท