โค้งสุดท้าย (ร่าง) รัฐธรรมนูญ 2550 และเวทีประชาธิปไตยชุมชน


กระบวนการ ประชาธิปไตยชุมชน จึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาทางสังคม โดยเฉพาะการสร้างรากฐานที่เข้มแข็งในระดับชุมชนท้องถิ่น

ถึงวันนี้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านมาถึงโค้งสุดท้ายแล้วนะครับ หลังจากที่ตลอดเดือนมิถุนายน 2550 สภาร่างรัฐธรรมนูญได้แปรญัตติเพื่อแก้ไข, ปรับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็นให้ออกมาเป็นร่างสุดท้าย ก่อนที่สภาร่างฯ จะหมดวาระการทำงานในวันที่ 6 กรกฎาคม 2550

มีหลายคนถามผมว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นฯ ของ จ.ชุมพร ที่ผมเป็นกรรมาธิการและเลขานุการอยู่นั้น จะต้องทำอะไรต่อไปอีกหลังจากร่างสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ 2550 ออกมาแล้ว และจะเข้าสู่กระบวนการลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 จากการติดตามข่าวทำให้ทราบว่า มีการเสนอเพิ่มบทบาทและอำนาจหน้าที่ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้จัดการรณรงค์เปิดเวทีประชาพิจารณ์ เพื่อแลกเปลี่ยน พูดคุย เรียนรู้รัฐธรรมนูญร่วมกัน แต่เมื่อถึงช่วงโค้งสุดท้ายจริง ๆ ข่าวคราวการเปิดเวทีประชาพิจารณ์กลับเงียบหายไป เข้าใจว่าคงขัดข้องปัญหาทางเทคนิคในการบริหารจัดการ เพราะเมื่อสภาร่างฯ หมดวาระงานต่อเนื่องก็คงต้องเป็นภารกิจของกระทรวง ทบวง กรม ฯลฯ ที่จะต้องดำเนินการรณรงค์ด้วยรูปแบบต่าง ๆ

ที่เห็นมาบ้างแล้ว อาทิ โครงการพัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีรูปแบบการสร้างวิทยากร แม่ไก่ เพื่อขยายผลการปลูกฝังแนวคิดไปยังกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เป็นลำดับไป

มีอีกโครงการหนึ่งซึ่งผมเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง คือ โครงการจัดเวทีประชาธิปไตยชุมชนเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งมีแนวคิดอยู่บนพื้นฐานว่า

...ความหมายที่ถูกต้องของคำว่า ประชาธิปไตย คือ การที่สมาชิกมีความเสมอภาคและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องของส่วนรวม หากเป็น ประชาคมขนาดเล็ก เช่น ครอบครัว, องค์กร, ชุมชน ทุกคนก็เข้ามามีส่วนร่วมได้โดยตรงโดยไม่ต้องเลือกตัวแทน เรียกว่า ประชาธิปไตยโดยตรง (Direct Democracy) แต่ถ้าเป็น ประชาคมขนาดใหญ่ ก็จำเป็นที่จะต้องเลือกตัวแทนไปออกเสียงตัดสินใจ เรียกว่า ประชาธิปไตยทางอ้อม หรือ ประชาธิปไตยตัวแทน (Representative Democracy)

ประชาธิปไตยชุมชน ที่คนในชุมชนมารวมตัวกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมคิด ร่วมกำหนด ร่วมตัดสินใจ และร่วมปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนเอง เช่น เรื่องการทำมาหากิน, การจัดการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน, การจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมชุมชน, การสื่อสารทั้งภายในและระหว่างชุมชน, การมีระบบเงินตราที่ใช้เฉพาะในชุมชน เป็นต้น

ดังนั้น ท่ามกลางสภาวการณ์ปัจจุบัน กระบวนการ ประชาธิปไตยชุมชน จึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาทางสังคม โดยเฉพาะการสร้างรากฐานที่เข้มแข็งในระดับชุมชนท้องถิ่น หากประชาชนในชุมชนได้เข้าใจ หลักการ และ หัวใจ ของคำว่า ประชาธิปไตย ก็จะสามารถปลดเปลื้อง ค่านิยม, ความเชื่อ และเลิกฝากความหวังไว้กับ ประชาธิปไตยตัวแทน เพียงด้านเดียว..."

ที่จังหวัดชุมพร เรามีกำหนดจัด เวทีประชาธิปไตยชุมชน ขึ้น 8 ครั้ง 8 เวที ใน 8 อำเภอ โดยการจัดครั้งแรกเริ่มขึ้นแล้วที่ อ.ละแม เมื่อวันพฤหัสที่ 28 มิถุนายน 2550 ผลสรุปออกมาว่าอย่างไร เมื่อผมได้รับแล้วจะนำขึ้นให้ท่านติดตามอ่านได้ที่เว็บไซท์ ชุมพรเวที www.chumphonstage.com ส่วนอีก 7 ครั้ง มีกำหนดการดังนี้

วันจันทร์ที่
9 ก.ค. 2550 - ศาลาประชาคม ที่ว่าการ อ.ทุ่งตะโก
วันอังคารที่
10 ก.ค. 2550 - อาคารอเนกประสงค์ อ.หลังสวน
วันพุธที่
11 ก.ค. 2550 - ศาลาประชาคม ที่ว่าการ อ.ปะทิว
วันพฤหัสที่
12 ก.ค. 2550 - ศาลาประชาคม ที่ว่าการ อ.ท่าแซะ
      - ศาลาประชาคม ที่ว่าการ อ.สวี
วันศุกร์ที่ 13 ก.ค. 2550 - ศาลาประชาคม ที่ว่าการ อ.พะโต๊ะ
      - ห้องประชุมกองสาธารณสุขฯ เทศบาลเมืองชุมพร
ทุกเวที เริ่มเวลา 9.00 15.00 น. ขอเชิญชาวชุมพรเข้าร่วม ฟัง-คิด-พูด ใน เวทีประชาธิปไตยชุมชน .

 

หมายเลขบันทึก: 109251เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2007 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

        เวทีประชาธิปไตยชุมชนอำเภอหลังสวนมีประเด็นที่เอามาพูดคุยกัน  3  เรื่อง  คือ
      1.การค้าข้ามชาติ "โลตัส"
       2.ตลาดน่าซื้อ
       3.สวัสดิการชุมชน
      บรรยากาศในเวที  จริงจัง  และ  ร้อนแรง  ตามวิสัยของคนหลังสวนจริงๆ  ต้องขอบคุณ  คุณไอศูรย์มากที่มาช่วยเป็นผู้ดำเนินการเวทีของอำเภอหลังสวน  ขอบคุณคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท