การลงทุน


โดยปกติแล้ว คำว่า “การลงทุน” ในทางเศรษฐศาสตร์จะหมายถึง การที่เราใช้สอยทรัพยากรอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อทำให้เกิดสินค้า หรือบริการขึ้นใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการลงทุนที่แท้จริง (Real Investment) โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการผลิตสินค้า หรือบริการว่าคุ้มกับต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการใช้สอยทรัพยากรนั้นๆ หรือไม่ ทั้งนี้ หากผลประโยชน์ที่ได้รับมากกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้น ก็ถือว่าดี แต่หากผลประโยชน์ที่ได้กลับน้อยกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้น เช่นนี้ก็คงไม่ดีเป็นแน่
 นอกเหนือจากความหมายในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ในทางการเงิน “การลงทุน” ยังมีความหมายถึง การที่เรายอมเลื่อนการบริโภคในปัจจุบันบางส่วนออกไปเพื่อรอบริโภคในอนาคตแทน ถือได้ว่าเป็นการลงทุนที่ไม่มีการทำให้เกิดสินค้า หรือบริการใหม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่จะคำนึงถึงผลตอบแทนในรูปของตัวเงินที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตว่าคุ้มกับการที่เรายอมเลื่อนการบริโภคในปัจจุบันออกไปหรือไม่ โดยหากผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับนั้นมากพอ ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่หากน้อยเกินไป ก็ไม่น่าที่จะลงทุนแต่อย่างใด
 อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาคำว่า “การลงทุน” ในความหมายอย่างกว้างๆ ก็จะได้ว่า เป็นวิธีการที่เราใช้เงินซึ่งเป็นทรัพยากรที่เรามีอยู่นั้นให้เกิดดอกออกผลงอกเงยเพิ่มขึ้นมานั่นเอง ทั้งนี้การลงทุนอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของตัวเงิน สินค้า หรือบริการก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะใช้เวลา (และค่าโทรศัพท์ด้วย) วันละ 1 ชั่วโมงเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนที่เราแอบชอบ นี่ก็เรียกว่าเป็นการลงทุนได้เหมือนกัน หรือแม้แต่การเล่าเรียนศึกษาเองก็นับว่าเป็นการลงทุนได้เช่นกัน เพราะทำให้เราได้รับความรู้ติดตัวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ แนวคิดพื้นฐานในการลงทุนที่เราควรรู้ มีดังต่อไปนี้
 • ก่อนตัดสินใจลงทุนใดๆ ควรมีการจัดสรรเงินของเราเพื่อสำรองไว้ใช้เผื่อฉุกเฉิน สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงภาระหนี้สินที่มี ตลอดจนเพื่อทำประกัน และสำหรับแผนการในอนาคตเสียก่อน ทั้งนี้ หากยังไม่สามารถจัดการกับภาระทางการเงินดังกล่าวข้างต้นได้ ก็ยังไม่ควรที่จะเริ่มต้นลงทุน จนกว่าเราจะมีสุขภาพทางการเงินดีขึ้น และมีเงินเหลือหลังจากหักภาระทางการเงินต่างๆ จึงสามารถนำมาใช้เพื่อการลงทุนได้
 • รู้จักลงทุนอย่างมีระเบียบแบบแผน มีการกำหนดแผนการลงทุน จุดมุ่งหมายในการลงทุน ระยะเวลาในการลงทุน ตลอดจนกลยุทธ์ในการลงทุน โดยต้องปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้นั้นอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ต้องหมั่นติดตามผลการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
 • การลงทุนใดๆ ก็ตามควรให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า หรือมากเพียงพอเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนของเงินที่เรานำมาลงทุน หรืออย่างน้อยก็ควรที่จะมากกว่าผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงินกับธนาคารเพียงอย่างเดียว ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมซึ่งเราสามารถยอมรับได้
 • โดยปกติแล้ว การลงทุนใดๆ ที่ยิ่งให้ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็จะยิ่งสูงตาม แต่การลงทุนใดๆ ก็ตามที่มีความเสี่ยงสูง กลับไม่จำเป็นที่จะต้องให้ผลตอบแทนสูงกลับคืนมาเสมอไป จึงไม่ควร “โลภ” เลือกลงทุนโดยมุ่งหวังแต่เพียงผลตอบแทนอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ ผลตอบแทนจากการลงทุนในอดีต ยังไม่ได้รับประกันถึงผลตอบแทนที่เราคาดว่าจะได้รับจากการลงทุนในอนาคตด้วย
 • เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีเหตุมีผล (Rational) ดังนั้น หากต้องเลือกลงทุนในทางเลือกใดๆ ที่มีความเสี่ยงเท่ากัน แต่ให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกัน นักลงทุนส่วนใหญ่ย่อมเลือกลงทุนในทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ในทางตรงกันข้าม หากต้องเลือกลงทุนในทางเลือกใดๆ ที่ให้ผลตอบแทนเท่ากัน แต่มีความเสี่ยงแตกต่างกัน นักลงทุนส่วนใหญ่ย่อมเลือกที่จะลงทุนในทางเลือกที่มีความเสี่ยงน้อยกว่านั่นเอง
 • การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง จึงควรทำ “การบ้าน” โดยศึกษาหาความรู้ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง ตลอดจนมีความเข้าใจในสิ่งที่ต้องการลงทุนเป็นอย่างดีเสียก่อนเสมอ
 • อย่าลงทุนตามกระแส หรือข่าวลือ! ควรเลือกลงทุนในสิ่งที่เรามีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี ไม่ใช่ได้ฟังใครบอกว่า การลงทุนประเภทไหนให้ผลตอบแทนดี ก็รีบแห่ตามกันไปลงทุน โดยขาดความรู้ความเข้าใจ ผลสุดท้าย เราก็อาจกลายเป็น “แมงเม่าบินเข้ากองไฟ” ก็ได้
 • การลงทุนเป็นการบริโภคในอนาคต หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการใช้เงินที่มีอยู่ในขณะนี้ทำงานเพื่อให้เกิดผลตอบแทนกลับคืนมาในทีหลัง โดยในบางครั้งอาจต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าที่จะได้รับผลตอบแทนนั้นคืนมา ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องพิจารณาถึงระยะเวลาที่เราต้องการใช้เงินในอนาคตเปรียบเทียบกับระยะเวลาในการลงทุนด้วย
 • ไม่ควรเปลี่ยนแปลงการลงทุนบ่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ ก็ไม่ควรทำการซื้อขายบ่อยครั้ง เพราะมีโอกาสที่จะขาดทุนสูง นอกจากนี้ยังมีต้นทุนที่เป็นค่าธรรมเนียมในการซื้อขายของนายหน้า (Commission Fee) อันจะทำให้ผลตอบแทนสุทธิที่เราจะได้รับจากการลงทุนลดลงอีกด้วย
 • การลงทุนใดๆ ย่อมต้องใช้เงินทุน ในบางครั้งอาจต้องมีการกู้ยืมเงินเพื่อมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม หรือเพื่อขยายฐานการลงทุนเดิม ซึ่งโดยปกติแล้ว การกู้ยืมเพื่อนำมาลงทุนไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายแต่อย่างใด ถ้าผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนนั้นสูงกว่าต้นทุนของเงินกู้ยืม อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเกิดความโลภขึ้น กู้เพื่อมาลงทุนจน “เกินตัว” โดยเลือกขยายฐานการลงทุนออกไปมากมายหลากหลายประเภท ทั้งที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญแล้ว โอกาสที่จะประสบกับความล้มเหลวก็ย่อมที่จะมีมากขึ้น สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักถึงเสมอก็คือ ไม่ว่าเราจะประสบความสำเร็จ หรือความล้มเหลว เมื่อกู้ยืมมาก็ต้องชดใช้หนี้ ตลอดจนดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ดีนั่นเอง จึงอาจกล่าวได้ว่า ไม่ควรที่จะกู้ยืมเงินมาลงทุนจนเกินตัว

ในปัจจุบันทางเลือกในการลงทุนมีมากมายหลากหลายประเภท อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว เราสามารถแบ่งทางเลือกในการลงทุนออกได้เป็น 3 ประเภทหลักๆ ดังต่อไปนี้
 • การลงทุนเพื่อการบริโภค เป็นการลงทุนของผู้บริโภคเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ความพึงพอใจ (Satisfaction)” หรือความสะดวกสะบายในการใช้ทรัพย์สินที่ได้ลงทุนนั้นเป็นหลักเสียมากกว่า จึงไม่ได้หวังผลกำไรที่เป็นตัวเงินแต่อย่างใด โดยอาจเป็นการลงทุนซื้อทรัพย์สินประเภทเครื่องใช้ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่คงทนถาวร (Durable Goods) อันได้แก่ โทรทัศน์ วิทยุ พัดลม รถยนต์ และบ้านเรือน เป็นต้น หรืออาจเป็นสินค้าสิ้นเปลือง (Luxury Goods) อันได้แก่ ทรัพย์สินประเภทเครื่องประดับ สร้อยทองคำ แหวนเพชร และเสื้อผ้าตามแฟชั่น เป็นต้น ก็ได้
 • การลงทุนในทางธุรกิจ เป็นการลงทุนที่นักลงทุนมุ่งหวังผลกำไรจากการประกอบธุรกิจเป็นประการสำคัญ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า กำไรเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจให้นำเงินมาลงทุน โดยหวังว่าอย่างน้อยที่สุดกำไรที่ได้รับนั้นต้องเพียงพอที่จะชดเชยความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ การลงทุนประเภทนี้จะก่อให้เกิดผลดีในทางเศรษฐกิจขึ้นภายในประเทศ เพราะเป็นการลงทุนเพื่อผลิตสินค้า และบริการขึ้นมา ทำให้มีเงินไหลเวียน อันจะส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจมีความคล่องตัวขึ้น
 • การลงทุนในทางการเงิน เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ รวมถึงการซื้อขายที่ดินเพื่อหวังเก็งกำไร และการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ โดยปกติการลงทุนประเภทนี้จะมีความเสี่ยงค่อนข้างมากพอสมควร โดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย หรือเงินปันผลขึ้นอยู่กับประเภทของหลักทรัพย์ที่ได้เลือกลงทุน นอกจากนี้ ยังอาจได้รับผลตอบแทนในลักษณะของกำไรจากการขายซื้อหลักทรัพย์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การลงทุนประเภทนี้ นักลงทุนต้องพิจารณาถึงปัจจัยด้านอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ เช่น สภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสภาวะการแข่งขันในตลาด เป็นต้น ประกอบด้วยเสมอ
 นอกจากนี้ เมื่อกล่าวถึงทางเลือกในการลงทุน ไม่เพียงแต่จะคลอบคลุมถึงการลงทุนในทรัพย์สินที่จับต้องได้ เช่น บ้าน ที่ดิน ทองคำ เพชร และพระเครื่อง เป็นต้น แต่ยังรวมถึงการลงทุนประกอบกิจการ เช่น เปิดร้านอาหาร ร้านขายยา และร้านซักรีด เป็นต้น และการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น เงินฝาก หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ พันธบัตร หุ้นกู้ และหน่วยลงทุน เป็นต้น



ความเห็น (1)

ขอบคุณความรู้เรื่องการลงทุนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท