ค่าของเงิน


 เมื่อพูดถึงคำว่า “เงิน (Money)” เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะว่าเป็นสิ่งใกล้ตัว หากมีเงินเราก็สามารถทำในสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการได้ ไม่ว่าจะใช้เงินสำหรับซื้อสิ่งของต่างๆ ที่จำเป็น หรือจะใช้เงินเพื่อไปเที่ยวที่ไหนๆ ในโลกที่เราอยากไปก็ได้ ทว่าการหาเงินกลับไม่ใช่เรื่องที่คิดปุ๊ปก็ได้ปั๊ปเหมือนกับการกดรีโมทเปิดทีวี บางคนอาจมีความสามารถ หรือทักษะที่ทำให้หาเงินได้ง่ายกว่าคนอื่นๆ บางคนกว่าจะหาเงินได้ต้องเหน็ดเหนื่อยแทบน้ำตาซึม หลายครั้งเมื่อได้เงินมา หลายๆ คนกลับไม่รู้จักเก็บออม แต่เลือกที่จะใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายตามใจตนเอง จนในที่สุดเงินที่หามาได้นั้นก็แทบไม่มีเหลือ ทีนี้หากในช่วงเวลาที่เราไม่มีเงินนั้น เกิดมีความจำเป็นที่ต้องการใช้เงินขึ้นมาจริงๆ จะทำอย่างไร บางคนอาจตอบว่าไปกู้หนี้ยืมสินเอาก็ได้ แต่ถ้าไม่สามารถชำระคืนได้ละ! ในที่สุดก็จะประสบกับปัญหาทางการเงินจนถึงขั้นล้มละลายก็เป็นได้ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใส่ใจ และเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินทอง ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้มีเราเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน หากยังทำให้เงินที่เรามีอยู่สามารถออกดอกออกผลงอกเงยขึ้นได้ด้วย

จริงอยู่ที่ว่า เงินอาจไม่ได้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรา แต่ในตอนที่เราไม่มีเงิน จะหาที่ไหนก็หาไม่ได้ ทำให้เราไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยในสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ตอนนั้นแหละที่เงินจะกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากๆ อย่างไม่น่าเชื่อ ถึงขนาดทำให้ด้านอื่นๆ ในชีวิตของเราต้องทุกข์ทรมานไปด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องรู้จักวิธีการวางแผนทางการเงินที่ถูกต้อง ตลอดจนหนทางในการทำให้เงินที่เรามีอยู่นั้นงอกเงยออกดอกออกผลขึ้นมา
 ค่าของเงิน
 เมื่อพูดถึง “เงิน” ซึ่งเป็นสิ่งที่เราใช้กันอยู่ทุกวี่ทุกวัน ย่อมเป็นที่ทราบกันดีว่า ไม่เพียงแต่เงินจะเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณค่าในตัวของมันเองแล้ว หากแต่ยังสามารถใช้ในการวัดมูลค่าของสินค้า หรือบริการต่างๆ ที่เราต้องการซื้อได้อีกด้วย ลองคิดดูกันง่ายๆ ว่า หากเรามีเงินอยู่ในกระเป๋า แล้วเดินเข้าไปในร้านขายอาหาร เพียงแค่ยื่นเงินแสดงให้ดู แล้วส่งเงินให้แก่ผู้ขาย ก็สื่อความหมายที่ชัดเจนได้แล้วว่า เราต้องการซื้ออาหารจากที่ร้านนั้น แต่ว่าถ้าเงินที่เราส่งให้ไปมีมูลค่าน้อย เราก็อาจได้แต่เพียงข้าวเปล่าหนึ่งถ้วยเท่านั้น ในทางกลับกัน หากเงินที่ส่งให้มีมูลค่ามาก เราก็จะได้รับชุดอาหารที่ดีเลิศมาทานแทน จึงอาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เงินสามารถบอกได้ว่าสินค้า หรือบริการที่เราต้องการซื้อมีมูลค่ามากน้อยเพียงใดนั่นเอง
 ในทางเศรษฐศาสตร์ เงินยังสามารถมีมูลค่าเพิ่มขึ้น หรือลดลงได้อีกด้วย โดยหากราคาสินค้า/ บริการในอนาคตมีแนวโน้มจะลดลง หรือที่เรียกกันว่า “เงินฝืด (Deflation)” ย่อมส่งผลให้เงินมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะ ด้วยจำนวนเงินเท่าเดิม เราสามารถนำไปใช้ซื้อสินค้า/ บริการได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน หากราคาสินค้า/ บริการมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต หรือเป็นภาวะที่เราเรียกกันว่า “เงินเฟ้อ (Inflation)” มูลค่าของเงินก็จะลดลง เนื่องจาก ด้วยจำนวนเงินที่เท่าเดิม เรากลับซื้อสินค้า/ บริการได้ในปริมาณที่ลดลง
 นอกจากนี้เงินยังถูกนำมาใช้ในการเปรียบเทียบเพื่อหามูลค่าของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของเงินสกุลหนึ่งกับอีกสกุลหนึ่ง โดยมูลค่าของเงินตราสกุลหนึ่งๆ อาจ “แข็งค่า (Appreciation)” หรือ “อ่อนค่า (Depreciation)” เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ก็ได้
 อย่างไรก็ตาม ค่าของเงินที่กล่าวถึงข้างต้น ล้วนแต่เป็นเพียงสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นตามหลักวิชาการเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคมทั่วไปเท่านั้น เงินจะมีคุณค่าหรือไม่นั้นย่อมขึ้นอยู่กับตัวเราซึ่งเป็นผู้ใช้มันต่างหากว่า จะตีค่ามันอย่างไร หากเราตีค่าของเงินจนสูงเกินไป มองว่ามันคือ พระเจ้าผู้สามารถบันดาลทุกอย่างให้แก่เราได้ จนทำให้เรายึดติดกับมันมากจนลืมสิ่งอื่นๆ เราก็อาจกลายเป็นคนที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อเงินโดยไม่สนใจว่าสิ่งที่ทำนั้นจะผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม หรือไม่ถูกต้องก็ตามที ในทางกลับกันหากเราไม่เห็นคุณค่าของเงินเลย เอาแต่ใช้เงินฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย ชีวิตก็อาจจะประสบกับปัญหาได้
 การวางแผนทางการเงิน ทุกคนในโลกอยากรวย อยากหาเงินได้เยอะๆ อยากมั่งคั่ง แต่การที่จะได้มาซึ่งเงินทอง หรือความมั่งคั่งนั้น กลับไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนการปอกกล้วยเข้าปากแต่อย่างใด ทั้งนี้เนื่องจากเงินไม่เพียงเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า แต่ก็มีอยู่อย่างจำกัด (Scarcity) นั่นเอง ทั้งนี้ การที่จะได้มาซึ่งเงินทอง หรือความมั่งคั่งนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราเริ่มต้นฝึกฝนการมีวินัยทางการเงินให้แก่ตนเองเสียก่อน โดยเริ่มจากการสำรวจสถานะทางการเงินของตนเองว่าเป็นอย่างไร มีอุปนิสัยการใช้จ่ายเป็นอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นจึงดำเนินการจัดระเบียบทางการเงินว่า จะควบคุมการใช้จ่ายอย่างไร ควรมีเงินสำรองเผื่อยามฉุกเฉินในสัดส่วนเท่าไร ต้องเก็บออมไว้ใช้ในยามเกษียณมากน้อยแค่ไหน และน่าจะลงทุนในสัดส่วนเท่าใด ทั้งนี้การวางแผนทางการเงินที่ดีจะเป็นหนทางที่นำไปสู่ความมั่งคั่งตามที่เราปรารถนาไว้ในที่สุดนั่นเอง



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท