คำวิจารณ์ตัวเอง "ปรีดี พนมยงค์" ที่ทรงคุณค่า


ข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา...ไม่ได้นำความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย...ไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มาก

     ว่างจากการทำโน่น นั่น นี่ แล้ว ในแต่ละวัน ก็ตั้งใจว่าจะเก็บเกี่ยวเรื่องราวต่าง ๆ ที่รักที่ชอบบ้างสักวันละ 1-2 ชม. โดยเฉพาะการอ่านตามที่ใจอยากอ่าน ไม่เฉพาะงานที่ต้องทำหรือต้องค้นคว้าเพื่อต่อยอดงานเดิม วันนี้ก็เช่นกันเมื่อเข้าไปที่หน้าแรก วิกิพีเดีย login เข้าระบบ เพื่อจะค้นเรื่อง ประวัติศาสตร์การรัฐประหาร ในประเทศไทย อ่านไปเรื่อย ๆ ก็ต้องสะดุดกับ คำวิจารณ์ตัวเองของ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ลองอ่านจากที่คัดมาดูก่อน

     ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ให้สัมภาษณ์นิตยสาร เอเชียวีก ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2523 ก่อนถึงอสัญกรรมไม่ถึง 3 ปี ไว้ว่า "….ในปี ค.ศ. 1925 (พ.ศ. 2468) เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้ว และได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน และโดยปราศจากความจัดเจน บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี… ในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน... และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น (พ.ศ. 2489 - 90) ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ”

     สำหรับผมแล้วสะดุดมากเลยในประเด็นต่าง ๆ ที่ท่านกล่าวถึงตัวเองไว้ และสามารถเชื่อมโยงกับความเป็นปัจจุบันได้ดี เป็นบทเรียนที่ดีที่ทำให้เราต้องคิดย้อนไป คิดกลับไปกลับมา ทบทวน และคิดการจัดการ "ชีวิต" ครับ

หมายเลขบันทึก: 107699เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2007 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

นับว่าคุณได้ประเด็นเยี่ยมที่เดียวค่ะ..สำหรับ "การเอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึง" ทุกวันนี้เราทำงานกับคนกันอยู่ "การบริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์" ตามแนวคิดของ ดร.นพ.โกมาตร มักได้ยินกันเสมอ แต่การเรียนรู้สาระสำคัญของมนุษย์น่าจะมาก่อน นะคะ 

สวัสดีครับ คุณอรทัย

     ใช่ครับ นั่นเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก การจะมี Humanize Health Care ได้ต้องเรียนรู้สาระสำคัญของมนุษย์ก่อนครับ แต่ผมมองว่า (ผมว่านะครับ) เรียนรู้ง่ายมาก เพราะใช้ตัวเองนี่แหละเป็นฐานเรียนรู้ (Learning Base) ได้ดีทีเดียวครับ เรียนรู้จากภายในตัวตน (Inside) ของตัวเองก่อนให้ถ่องแท้นะครับ หรือว่าไงอีกครับ (น่าจะมีอีกนะ)
     ผมว่าประเด็นนี้ยังคิดได้อีกหลายแง่มุมมากเลยครับ และล้วนมีสาระ มีคุณค่า ไม่ว่าจะคิดไปในด้านใด

อ่านแล้วชวนให้คิดจริง ๆ ครับ...

แต่ละช่วงวัยของชีวิตเรามักมีสิ่งหนึ่งแต่ขาดอีกสิ่งหนึ่งเสมอ แต่เราก็สามารถใช้สิ่งที่มีในแต่ละช่วงให้เกิดประโยชน์มากที่สุด...

ขอบคุณครับสำหรับบทความชวนคิด...

สวัสดีครับ คุณ Mr.Direct

     ขอบคุณนะครับที่แวะมาเยี่ยมกันถึงบ้าน"ความไม่สมบูรณ์ของชีวิต เป็นเรื่องปกติ" แม้แต่ท่าน ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็มีบทเรียนให้ได้เรียนรู้นะครับ

สวัสดีคะ
  • ในมุมมองกลับคิดว่าท่านคงอยากบอกให้เรา ทำในสิ่งที่เรามีโอกาส เมื่อเรายังไม่มีอำนาจ ก็ให้เราหาความจัดเจนให้มากที่สุด 

คุณก้ามปู ครับ

     คิดเช่นนั้นนะครับ อำนาจที่ว่าขอเพียงเป็นอำนาจในการจัดการ ณ ตอนนี้บอกตรง ๆ ว่าเห็นการใช้อำนาจแล้วแทบไม่อยากเข้าไปยุ่งกับตัวอำนาจ สู้ให้พลังอำนาจหรือ Empowerment ดีกว่านะครับ อย่างน้อยก็ยังมีแผ่นดินได้อยู่ได้ครับ

นำมาฝากไว้เพื่อนการค้นคว้าเพิ่มเติม http://www.pridiinstitute.com/

ให้นึกถึงคำโบราณแบ่งวัยของคนเราออกเป็นช่วง ๆ อ่านแล้วเห็นภาพอันเป็นสัจจะในวัยนั้น ๆ เลยครับ
(สำเนียงไทยเหนือ)
สิบปี๋ อาบน้ำบ่าหนาว  (อายุ 1-10 ปี ยังเด็ก ไม่รู้สึกหนาวหรือร้อนใด ๆ)
ซาวปี๋ แอ่วสาวบ่าก่าย  (อายุ 10-20 ปี ยังหนุ่ม ยังมัวเมาลุ่มหลงในวัยเดียวกัน บางทีอาจลืมเรียนด้วยซ้ำไป)
สามสิบปี บ่าหน่ายสงสาร  (อายุ 20-30 ปี ยังหลงในรูป รส กลิ่น เสียง อยู่มาก)
สี่สิบปี๋ หยะก๋ารเหมือนฟ้าผ่า  (อายุ 30-40 ปี เป็นวัยทำงาน สร้างเนื้อสร้างตัว)
ห้าสิบปี สาวน้อยด่าบ่าเจ็บใจ๋  (อายุ 40-50 ปี ระวัง... วัยนี้"ตัณหากลับ")
หกสิบปี๋ ไอเหมือนฟานโขก  (อายุ 50-60 ปี เริ่มเข้าสู่วัยชรา สุขภาพไม่ค่อยจะดี)
เจ็ดสิบปี๋ บ่าโหกเต็มตัว  (อายุ 60-70 ปี สามวันดี สี่วันไข้ มีโรคภัยไข้เจ็บเป็นประจำ)
แปดสิบปี๋ ไคร่หัวเหมือนไห้  (อายุ 70-80 ปี ร่างกายเหี่ยวย่น หัวเราะเหมื่อนกับร้องไห้ หลงลืม เป็นที่ตลกของลูกหลาน)
เก้าสิบปี๋ ไข้ก็ตาย บ่าไข้ก็ตาย  (อายุ 80-90 ปี แก่มากแล้ว ป่วยก็ตาย ไม่ป่วยก็ตาย ถึงวัยมันแล้ว)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท