เทคนิคการสอนการผันวรรณยุกต์ให้แก่นักเรียนระดับ ม.ต้น


แหล่งเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ.

ห้องเรียนครูภาทิพ

       ความสามารถในการผันวรรณยุกต์ของนักเรียนนอกเหนือจากมีผลต่อทักษะการสื่อสารด้านการอ่านการเขียนแล้ว  ความสามารถในการผันวรรณยุกต์ยังมีผลต่อการเรียนรู้เรื่องการแต่งกลอนและโคลงของนักเรียนอีกด้วย

       จากประสบการณ์ในการสอนวิชาภาษาไทยระดับ ม.๑ และ ม.๒ พบว่านักเรียนมีทักษะในการผันวรรณยุกต์หรือจำแนกเสียงวรรณยุกต์ค่อนข้างน้อย   มีนักเรียนเพียง ๑- ๕ %ในแต่ละปี  ที่สามารถบอกเสียงวรรณยุกต์ได้ทันที่ครูบอกคำออกไป  อีก ๕๐ %ใช้นิ้ว ๕ นิ้วผันไล่เสียงจึงผันได้   และอีก ๒๕-๓๐  %  ไม่สามารถผัน หรือจำแนกเสียงวรรณยุกต์ของคำที่เป็นคำตายได้   ส่วนจำนวนที่เหลือนักเรียนกลุ่มนี้จะผันได้บ้างผิดบ้างแบบไม่แน่นอน  แสดงว่าไม่ใช่ความรู้แท้  เมื่อตรวจสมุดบันทึกและผลงานการเขียนพบว่ามีนักเรียน  ๒๐ % .ใช้วรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง  นักเรียนหลงเสียงตามรูปวรรณยุกต์  คำบางคำไม่จำเป็นต้องใส่วรรณยุกต์  นักเรียนก็ใส่  เช่นคำว่า  นะคะ  นักเรียนเขียนเป็นน๊ะค๊ะ   หรือ  สนใจ  นักเรียนกลับเขียนเป็น ส๋นใจ  เป็นต้น

      ผู้สอนจึงเริ่มให้ความรู้เรื่องอักษรไทยและการผันวรรณยุกต์  โดยใช้สื่อ เว็บไซต์   http://www.st.ac.th/bhatips/gramma3.htm

ประกอบการอธิบาย เรื่อง อักษรไทย  อักษรสามหมู่  สระเสียงสั้น  สระเสียงยาว  คำเป็นและคำตาย  พร้อมยกตัวอย่างประกอบ และลอง ตรวจสอบความรู้เรื่องการผันวรรณยุกต์เป็นรายบุคคล โดยให้นักเรียนบอกเสียงวรรณยุกต์ของข้อความที่กำหนดให้ โดยให้เขียน ส บนคำที่เป็นคำสามัญ  เขียน อ บนคำเอก  เขียน ต บนคำที่มีเสียงตรี  และเขียน จ  บนคำที่มีจัตวา   

   

ข้อความที่กำหนดให้     ๑. จอดเรือให้ดูฝั่ง     ๒. ตะเกียงกับตะวัน     ๓. ใจเธอมีฉันอยู่     ๔. ครั้งแรกที่เคยเจอ     ๕. คิดถึงและเป็นห่วง

 จากการตรวจผลการผันวรรณยุกต์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ /๑๑  - ๑/๑๒  จำนวน ๑๐๐ คน   พบว่า

คำ

เสียงวรรณยุกต์ ตอบถูก หมายเหตุ
เรือ  ดู  วัน  ใจ เธอ มี  เคย เจอ  เป็น สามัญ นักเรียน ตอบถูกทั้ง๑๐๐ คน  
จอด  ฝั่ง  ตะ กับ  อยู่     ห่วง เอก นักเรียนตอบคำว่า จอด  ตะ และกับ ผิด  ๓๓ คน นักเรียนกลุ่มนั้นบอกว่าเป็นเสียงสามัญหลงผิดกับคำตาย
ให้  ที่  แรก โท นักเรียน ตอบ คำว่าแรก ผิด  ๒๑  คน นักเรียนกลุ่มที่ผิดบอกเป็นเสียงสามัญบ้าง เสียงเอกบ้าง  และเสียงตรีบ้าง
ครั้ง  คิด   และ ตรี นักเรียนตอบคำว่า คิด  และ  ผิด  จำนวน ๒๗  คน นักเรียนกลุ่มนี้บอกว่าเป็นเสียงสามัญบ้าง  เสียงเอก  บ้าง และเสียงโท บ้าง
ฉัน  ถึง จัตวา นักเรียนตอบผิด   คน นักเรียนกลุ่มนี้บอกว่าเป็นเสียงสามัญ

 

     จากผลดังกล่าวแสดงว่านักเรียนส่วนหนึ่ง ยังไม่เข้าใจเรื่องเสียงของวรรณยุกต์ ผู้สอนได้พยายามพัฒนาเทคนิควิธีการต่าง ๆ เพื่อมาแก้ไขจุดนี้   โดยชี้แนะให้นักเรียนสังเกตความแตกต่างของเสียงพร้อมกับการเล่นเกมการแข่งขัน

ขั้นให้ความรู้ใหม่ขั้นที่ ๑ ด้วยการจำแนกเสียงวรรณยุกต์โดยการสังเกตระดับเสียง จากกลุ่มคำระดับเสียงเดียวกัน

เสียง จัตวา             สวย    แข็ง      ผัน     หอม    สิว       ขาว      หมา    แขน   

เสียงสามัญ           ซวย     แคง     พัน    ฮอม      ซิว       คาว       มา      แคน

เสียงเอกคำเป็น    ส่วย     แข่ง     ผั่น   ห่อม     สิ่ว        ข่าว     หม่า      แผ่น

เสียงเอกคำตาย    สวก    แขก     ผัก      หอบ     สิบ       ขาด    หมก      แผด

เสียงโทตามรูป  ด้วย     เป้ง          ก้น      ต้อม     ติ้ว         ข้าว     หญ้า    แกล้ง

รูปเอกเสียงโท   ช่วย      เร่ง        ร่น       ค่อม      ลิ่ว        เช่า      น่า       แล่ง

เสียงตรีตามรูป  ป๊า         แก๊งค์    บ๊อง     กิ๊ว       ก๊าว       แอ๊ว     ต๊อด    เจี๊ยบ

รูปโทเสียงตรี   ฟ้า        ร้อง        คั้น      นิ้ว       พันช์     เพ้อ      วุ้น      ล้าง

อักษรต่ำคำตายเสียงสั้นพื้นเสียงเป็นเสียงตรี    เรอะ    แนะ    รัก   นก   วัด    ลึก    ชิด    คุ    ริก     ลด

อักษรต่ำคำตายเสียงยาวพื้นเสียงเป็นเสียงโทฤกษ์    เลิศ    วาด    ภาพ   รูป   เรียก     พืช    ฟอด    แฟบ 

อักษรต่ำคำตายสระเสียงยาวใส่ วรรณยุกต์โทเป็น เสียงตรี เช่นแฟ้บ (ผงซักฟอกชนิดหนึ่ง)

อักษรต่ำคำตายสระเสียงสั้น ใส่เอกเป็นโท  ค่ะ (คำขานรับ) เช่น สวัสดีค่ะ  มาค่ะ   ตกลงค่ะ  ไม่เอาค่ะ  

ขั้นให้ความรู้ใหม่ขั้นที่ ๒ ทบทวนความรู้เรื่องการใช้นิ้ว ๕ ติดตัวแต่เดิม  คำเป็นใช้ ๕ นิ้ว  นิ้วโป้งคือ สามัญ 

คำตาย  พับนิ้วโป้ง  เพราะคำตายไม่มีเสียงสามัญ  เริ่มเสียงเอกจากนิ้วชี้

ขั้นให้ความรู้ใหม่ขั้นที่ ๓ ทบทวนคำเป็นคำตายอีกครั้ง

 คำเป็นเป็นเช่นอย่างนี้                          สระยาว อา อี
อู เอ อือ แอ อัว เออ ฯลฯ   

แม่กง กน กม นะเธอ                             สะกดอย่าเผลอ
สระยาวสั้นย่อมได้   

อำ ใอ ไอ เอา ก็ใช่                               จดจำใส่ใจ
คือคำเป็นแท้แน่นอน   

คำตายจำไว้เนื้ออ่อน                            เสียงสั้นสังวร
อะ อิ อุ เอะ เอาะ แอะ   

แม่กก กด กบ นั่นแหละ                         ครูขอชี้แนะ
คำตายหมายจดหมายจำ   
   

                                      กาพย์ฉบัง ๑๖ อ.ภาทิพ ศรีสุทธิ์

ประเมินผลด้วยเกมการแข่งขัน

     นักเรียนจับคู่บอกเสียงวรรณยุกต์จากแบบประเมินที่แจกให้  ครั้งละ ๒๐ คำ จำนวน ๑๐ ชุด  ทำชุดละ ๓ นาที ใครทำเสร็จก่อน ยกมือจัดลำดับ หากคะแนนสูดสุดเท่ากันในแต่ละรอบ คนที่เสร็จก่อนจะได้ดาว ๑ดวง

รูปแบบแบบประเมิน

แบบสำรวจความสามารถในการผันวรรณยุกต์คำชี้แจง  ให้นักเรียนบอกเสียงวรรณยุกต์ของคำต่อไปนี้ โดยการเขียน เสียงวรรณยุกต์   แทน สามัญ อ.แทนเอก  ท แทน โท ต แทน ตรี และ จ แทนจัตวา  ลงในช่องของคำนั้น

ชุด๑

เคลิบ เคลิ้ม ใน โคลง กลอน ได้ พัก ผ่อน เคล้า ครึก คะแนน
พวก ลูก หลาน อย่า โล เล หลัง จะ ลาย นะ
ชุด ๒ เร่ง เร้า ให้ เรียน รู้ รัก ที่ ร้อน แรง รส  
คน หลาย เหลี่ยม ลา แล้ว จาก โลก เพราะ หลัก แหลม
ชุด ๓ คุณ ครู ครับ คราว นี้ กระ ผม ตอบ ไม่ พลาด  
ฉัน ตรึก ตรอง เพื่อ ตรวจ ตรา ว่า ข้าว ของ ครบ

ฯลฯ

   เกณฑ์ประเมิน    ถูกต้อง ๙๐- ๑๐๐  คำ  ระดับดีเยี่ยม    ๘๐-๘๙ คำ    ดีมาก   

                                        ๖๕-๗๙   คำ   ดี                         ๕๕-๖๔  คำ  พอใช้

                                  แหล่งเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยสำนักเทคโนโลย

หมายเลขบันทึก: 107247เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2007 13:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (54)
            วันนี้ผู้สอนได้เชื่อมเรื่องการผันวรรณยุกต์ไปสู่เรื่องการแต่งกลอนของนักเรียนชั้น ม. ๒ ห้อง ๒/๘ และ ๒/๖   จากการตรวจผลงานการแต่งกลอนของนักเรียนทั้ง ๒ ห้อง จำนวน ๑๐๐ คน นักเรียนสามารถแต่งกลอนโดยลงเสียงวรรณยุกต์ในคำท้ายเป็นไปตามประเพณีนิยมได้เพียง  ๓๐  คน   อีก ๗๐  คน ลงเสียงวรรณยุกต์ในคำท้ายผิดเสียงทำให้กลอนขาดความไพเราะ  เบื้องต้นผู้สอนทบทวนความรู้ดังนี้   

· การผันวรรณยุกต์โดยใช้นิ้ว ๕ นิ้วในคำเป็น และ ๔ นิ้วในคำตาย

 · เปล่งเสียงคำยาว ๆ ให้สังเกต    

สามัญ    เช่น   เรือ....    (เสียงเรียบ ๆ)

 

            เอก        เช่น   บาด....  (เสียงต่ำลงคอ)

             โท        เช่น    บ้าน....    ลาก...   (เสียงขึ้นมา ลากยาว)

             ตรี       เช่น    ฟ้า..         รัก....    (เสียงสูง  เสียงเปรี้ยว ๆ )

             จัตวา   เช่น    ขาว...          สวย..(เสียงหวาน  ม้วนต่ำแล้วตวัดขึ้น)                หลังจากนั้นผู้สอนให้นักเรียนอ่านบทเสภาสามัคคีเสวก ตอน สามัคคีเสวก  แล้วให้เขียนเสียงวรรณยุกต์ บนคำสุดท้ายแต่ละวรรค จำนวน ๙  บท รวม ๓๖ คำ ภายในเวลา ๑๐  นาที   โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าทุกคนผิดไม่เกิน ๖  คำ  ครูจะปล่อยไปทานอาหารกลางวันก่อน ๕ นาที   และจะให้ตอบพร้อมกันทั้งห้อง  ยึดถือกลุ่มเสียงกลุ่มใหญ่            ขณะที่นักเรียนกำลังทำนั้น  ผู้สอนได้ยินนักเรียน  ๓ คนเถียงกันว่า คำว่า ว่า ฐิ(ทิฐิ) กับ  จิต  เป็นเสียงใดแน่ระหว่างสามัญ กับ เอก    ผู้สอนยังไม่แนะนำอะไร  ได้แต่ยิ้ม ๆ            เมื่อถึงเวลาเฉลย  ผู้สอนใช้วิธีการให้นักเรียนตอบปากเปล่าพร้อมกัน  โดยผู้สอนเปล่งเสียงลากยาว  ทีละคำ  เช่น  มั่น......   หัว.....  กลัว....    ตัว...ฯลฯ

        ปรากฏว่ามีเสียงตอบกลับมาในแต่ละคำแน่นมาก และเป็นเสียงที่ถูกต้องทุกคำ     เมื่อครบ ๓๖  คำ ครูตอบกลับไปว่า  นายแน่มาก  เสียงเฮ ดังลั่นทั้งห้อง  

                                             ก็สุขกันไปทั้งเด็กทั้งครู 

        ชั่วโมงต่อไปเขาต้องนำความรู้เหล่านั้นมาหาข้อสังเกตเรื่องเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรคอีกครั้ง  จะได้ผลรึไม่ต้องติดตามตอนต่อไป

เรียน คุณครูภาทิพที่เคารพ

ดิฉันชื่อ ขวัญ ค่ะ ดิฉันสนใจในแนวการสอนภาษาไทยของคุณครูมานานแล้ว

และได้ศึกษาจาเว็บไซต์ของคุณครูด้วย หลายอย่างที่ดิฉันนำไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นทำรายงานส่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย ตอนนี้ดิฉันฝึกสอนอยู่ การสอนในบางเรื่องยังได้นำแนวทางการสอนของคุณครูไปสอนนักเรียนด้วย คุณครูถือเป็นอาจารย์คนหนึ่งของดิฉันเลยนะคะ ดิฉันขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จากคุณครู

มาวันนี้มีคนมาถามเรื่องการใช้นิ้วมือในการผันวรรณยุกต์ โฑดยขอภาพประกอบด้วย ดิฉันบอกตามตรงว่าไม่รู้จักเลย จึงขอความอนุเคราะห์จากคุณครูภาทิพช่วยแนะนำด้วยค่ะ จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ขอบคุณล่วงหน้านะคะ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ขวัญ

การใช้นิ้วผันวรรณยุกต์ เห็นเด็กเขาใช้ผันกันมาก่อน ม.1 อีกนะคะ

นิ้วโป้ง  กา   สามัญ    

นิ้วชี้     ก่า    เอก

นิ้วกลาง  ก้า   โท

นิ้วนาง    ก๊า    ตรี

นิ้วก้อย    ก๋า    จัตวา

 

หากเป็นคำตาย ให้เริ่มผันจากนิ้วชี้   ก็คือเสียงเอก  เช่น

      ชิ้       กลาง   นาง     ก้อย 

      เอก     โท      ตรี      จัตวา

       จะ      จ้ะ      จ๊ะ        จ๋ะ

      

เมื่อได้คำใดมาก็ให้เทียบนิ้วไล่เสียงค่ะ

คุณครูภาทิพคะ

เรื่องเสียงวรรณยุกต์ อย่าว่าแต่เด็กเลยนะคะที่เขียนผิด ระดับครูหลายท่านอีกจำนวนมากก็เขียนผิด

จะมีวิธีกระซิบอย่างไรสำรหรับคุณครูที่เขียนผิด โดยที่ทำให้เขาไม่รู้สึกเขินอาย

ขอบคุณครูภาทิพมากค่ะ

จากครูภา ครูประถมค่ะ (รักภาษาไทยมากค่ะ)

สวัสดีค่ะ คุณครูภา   ยอมรับค่ะว่าคุณครูหลายท่าน  แม้กระทั่งครูภาษาไทยก็ยังใช้วรรณยุกต์ผิด     วิธีการที่นุ่มนวล  สำหรับ โรงเรียนชั้นประถม  อาจจะให้นักเรียน  จัดทำป้ายคำที่ครูและนักเรียนมักสะกดผิด  ติดไว้ห้องเรียน   น่าจะดีกว่าบอกนะคะ  

ปัจจุบันเราจะพบคำที่ประสมวรรณยุกต์ผิดมาก   วันนี้ครูภาทิพ  ก็เจอที่ประตูห้องของเจ้าหน้าที่การเงิน รพ.แห่งหนึ่ง   เขียนว่า   อย่าลืมล๊อคประตู     

 

หรือตามร้านค้าหลาย ๆ ร้าน    จะเขียนว่า  "ร้านนี้อาหารอร่อยน๊ะค๊ะ"     

ที่สำคัญคือ   เมื่อเด็กสะกดคำผิด  ในรายวิชาต่าง ๆ  ครูเจ้าของวิชาก็จะมาบอกว่า 

"นี่เธอ  สอนภาษาไทยยังไง  เด็กจดวิชาของชั้นผิดทั้งนั้นเลย"    บางครั้งครูภาทิพอยากจะถามกลับไปว่า   "ขณะที่เด็กเรียนสังคม  วิทย์ คณิตย์  นี่  ครูสื่อด้วยภาษาอะไร "

 

  ขอบคุณที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ   ว่าง ๆ ครูภาทิพจะไปเยี่ยมนะคะ   ตอนนี้ คนรอบกายและตัวเองล้วนอยู่ในภาวะของผู้ป่วยค่ะ

 

 

สวัสดีค่ะครูภาทิพ มีเทคนิคการสอนแต่งคำประพันธ์บ้างไหมคะ หนิงสอนม.2 อยากได้เทคนิคการแต่งกาพย์ยานี 11 อย่างง่ายน่ะค่ะ ขอบคุณล่วงหน้ามากค่ะ

สวัสดีค่ะ  ที่ครูภาทิพทำอยู่ก็คือ 

  • จัดทำแหล่งเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์  จัดทำเอกสารสื่อ
  • เก็บผลงานเก่า ๆ ของรุ่นก่อนไว้ให้เขาได้ศึกษาตัวอย่างและเชื่อมั่นว่าเขาก็ต้องทำได้
  • ขณะที่อ่านเรื่องพระไชยสุริยา  ให้เขาเปิดแผนผังแล้วโยงเส้นสัมผัสคำประพันธ์ในหนังสือด้วยดินสอ  หรือครูให้เขาตอบปากเปล่าเกี่ยวกับสัมผัสระหว่างวรรคและระหว่างบทแต่ละบท
  • ครูนักเรียนร่วมกันแต่งเรื่องราวของนักเรียนในห้องอาจจะเป็นพฤติกรรมของพวกเขา
  • ให้เขาแต่งเรื่องที่เขาชอบ เช่นเรื่องเกมส์   การ์ตูน  นักร้อง  ดารา  กีฬา
  • ให้เวลาแก่เขา  และต้องแต่งในคาบหรือต่อหน้าครู    วันนี้เขาไม่ได้  วันอื่นเขาก็จะได้  
  • หากใครไม่มีพรสวรรค์จริง ๆ ก็ให้เพื่อนช่วย

มาทักทายพอดีลูกชายมีปัญหาภาษาไทยครับ

สวัสดีค่ะครูพาทิพ

หนูเป็นนิสิตสาขาวิชาภาษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มน.ค่ะ

ภาคเรียนนี้หนูได้เรียนวิชา ภาษาศาสตร์กับการสอนภาษาที่สองค่ะ

และต้องสอนนิสิตชาวภูฏานให้พูดภาษาไทยให้ได้ ซึ่งพอสอนๆไปก็พอจะพูดได้

แต่มีปัญหามากเกี่ยวกับเสียงวรรณยุกค์ โดยมากนิสิตชาวภูฏานจะออกเสียงที่ต้องมีวรรณยุกต์เป็นเสียงสามัญ และบางครั้งออกเสียงวรรณยุกต์สลับเสียงกัน เช่น ใช้เสียงโทแทนเสียงจัตวา ใช้เสียงเอกแทนเสียงตรี จะวิธีการสอนวรรณยุกค์อย่างไรบ้างคะคุณครู

ขอความอนุเคราะห์คุณครูช่วยแนะนำด้วยนะคะ

ขอบคุณค่ะคุณครู

สวัสดีค่ะคุณฤทธิชัย   มีอะไรที่ครูภาทิพช่วยได้ก็บอกนะคะ  ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมค่ะ

 

 

+++++

สวัสดีค่ะจิรายุ   คิดว่าได้ตอบหนูไปทางe-mailแล้วนะคะ  หากไม่ถึงแจ้งให้ทราบด้วยค่ะ

นำไปใช้กับเด็กประถมได้ไหมคะ

สวัสดีค่ะคุณpeepee  สามารถนำไปใช้ได้ค่ะ

อาจจะนำเพลง   ชื่อนักร้อง  ดารา   ละครที่เขาชอบมาเขียนบนกระดาน หรือพิมพ์ลองกระดาษก็ได้ค่ะ 

ถ้า ป.ปลาย  พิมพ์ลง A 4  แผ่นละ 4 ชุด  (จะได้ไม่สิ้นเปลือง)   นักเรียนจับคู่   ตัวแทนมารับใบงานไปแล้วไปผัน   เสร็จแล้วส่ง  ครูใส่หมายเลขลำดับไว้    ส่งคืนให้เขาตรวจกันเองในห้อง  เฉลยขณะนั้นเลย  เด็กก็สนุกด้วยค่ะ

 

สวัสดีค่ะ คุณครูภาทิต

หนูเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเเห่งหนึ่ง เรียนในคณะครุศาสตร์ เอก ภาษาไทย

มีปัญหามากกับเรื่องการผันเสียงวรรณยุกต์ ไม่รู่ว่าผันถูกต้องไหม บางคั้งรู้สึกว่ามันผันไม่ถูก ไม่รู้ว่าทราบได้อย่างไรว่าผันถูกหรือไม่ถูก หนูรู้สึกกังวลมาก เพราะในเมื่อเรียนคณะนี้เราควรเเม่นในการผันใช่ไหมค่ะ ขอความกรุณาตอบด้วยนะคะ

ก่อนอ่านบล็อกครูอ้อยจ๋า...ภาษาอังกฤษ

ตอนนี้ติดครูภา...อาสาสอน

ในวิชาภาษาไทย..ให้สังวรณ์

เอื้ออาทรครูไทย...ใช้ถูกทาง

เป็นทั้งครูอังกฤษและทั้งไทย

เป็นกำไรที่ได้พบ...ผู้แผ้วถาง

ช่วยชี้บอกหลากหลาย...ไม่อำพราง

ได้หลายอย่างเก็บไป...ใช้สอนจริง

สวัสดีค่ะ...

ดิฉันขอเป็นศิษย์ด้วยอีกคน เพราะสอนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษชั้น ป.3

ซึ่งเป็นช่วงชั้นที่ต้องวางรากฐานการใช้หลักภาษาให้ถูกต้อง จึงได้เก็บความรู้จากบล็อกของท่าน นำไปใช้สอน ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันนะคะ และจะติดตามต่อไป

สวัสดีค่ะ yah  ถูกต้องค่ะ  ถ้าครูไม่แม่น  แล้วเด็กล่ะ  

ลักษณะของเสียงแต่ละเสียงไม่เหมือนกันเลย 

ที่ครูภาทิพทำกับนักเรียนก็คือนำเพลงมาแล้วออกเสียงทีละคำ ๆ พยายามเน้นให้เขาสังเกตระดับเสียง

ถ้าหนูแยกเสียงไม่ได้  หนูก็ต้องจำกฎได้

อ่านกฎเกณฑ์ที่นี่ค่ะ

http://www.st.ac.th/bhatips/gramma3.htm

 

สวัสดีค่ะครูพิษณุโลก

ยินคำหวานผ่านมาพาอิ่มแปล้

หวั่นใจแท้หลอกใช้ให้ขื่นขม

พอเก็บเกี่ยวประโยชน์ไซร้ได้ชื่นชม

หากวันใดมิสมอาจมิมา

 

แวะมาบ่อยๆนะคะ  ขอบคุณค่ะ

 

สวัสดีค่ะคุณครูทิพ

หนูเรียนอยู่ปีสองอาจารย์ท่านให้ทำแผนสอนน้องป.3 การผันวรรณยุกต์โดยใช้นิ้วมือ ส่งแล้วต้องเอากลับมาแก้ใหม่ หนูเห็นวิธีสอนของอาจารย์แล้ว หนูขอยืมไปใช้หน่อยนะค่ะ

ขอบพระคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะตะวันฉาย

ตอนนี้ครูภาทิพกำลังสอนให้เขาไม่ใช้นิ้ว  

สำหรับเด็ก ม.๑ และ ม.๒ เขาจะต้องใช้นิ้วไม่ทัน

ครูเปล่งคำปุ๊บให้เขาบอกปั๊บโดยการสังเกตเสียง  แยกเสียง

 

ก่อนนั้นครูภาทิพ  จะต้องย้ำเรื่องของ

อักษรกลางสูง ต่ำ

ตามด้วยคำเป็นคำตาย

กลางคำเป็น  ผันครบทุกเสียงตรงตามรูปและเสียง

กลางตาย พื้นเสียงเสียงเอก  มี ๔ เสียง เอก โท ตรี จัตวา

ฯลฯ

สอนไปย้ำไปเรื่อย   คำตายทุกคำไม่มีเสียงสามัญ

แล้วก็นำเพลงมาให้เขาผัน  เริ่มด้วยเพลงนี้  และตามด้วย

จังซี่มันต้องถอน 

 

ของหนูฝึกเด็ก ใช้นิ้วก่อนน่าจะถูกต้องแล้วล่ะค่ะ

สวัสดีครับคุณครูผมกำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่2อยากทราบว่ากลอนเสภาสามัคคีเสวกแตกต่างกับกลอนสี่อย่างไรครับ

รบกวนช่วยหาให้ด้วยนะครับ

ขอบคุณครับ

แตกต่างที่กลอนเสภาสามัคคีเสวก  แต่งด้วยกลอนเสภา

ซึ่งมีลักษณะเหมือนกลอนสุภาพ  วรรคละ 7-9 คำ

ขณะที่กลอนสี่  วรรคละ  4 คำค่ะ

อาจารย์ ค่ะ คำอธิบายศัพย์ ของบทเสภาสามัคคีเสวก ตอน วิศวกรรมและ สามัคคีเสวก

ทั้งหมด หาได้จากไหนคะ อาจารย์ รบกวน ด้วยคะ

อาจารย์คะ  มิใช่   อาจารย์ ค่ะ

คำศัพท์ หนังสือวรรณคดีวิจักษ์   หน้า ๔๗

ในบทวิเคราะห์  คำไหนหาไม่ได้  ก็เปิดพจนานุกรมออนไลน์นำคำที่ต้องการใส่ลงไป

http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp

ได้ความรู้มากเลยคะ แล้วจะเข้ามาหาความรู้อีกนะคะ

สวัสดีค่ะตุลยาและหญิง  ยินดีต้อนรับค่ะ 

 

ได้รับความรู้เรื่องการผันวรรณยุกต์มากเลยค่ะสอนชั้นป.1กำลังทำวิจัยในชั้นเรียนเรื่องการอ่านผันวรรณยุกต์และการเขียนสะกดคำคำที่มีวรรณยุกต์กำกับอยู่ค่ะอยากได้เอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อาจารย์ช่วยแนะนำด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะ  ครูประทุม  ครูภาทิพ  ไม่มีเอกสารอ้างอิงค่ะ  ครูประทุมต้องเข้าห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเพื่ออ่านวิทยานิพนธ์ค่ะ    เทคนิคนี้เป็นเพียงข้อค้นพบและสิ่งที่ครูภาทิพพยายามคิดขึ้นมาเพื่อพัฒนาเด็กๆเท่านั้น   ไม่ได้นำทฤษฎีใดๆมาใช้ค่ะ

ทำไมหนังต้องใช้ทรงนำหน้าคำราชาศัพท์คำว่ากรรแสงด้วยคือสอนการบ้านลูกป 3แล้วไปพบ ความรู้เดิมจะไม่ใช้ ทรงนำหน้าคำราชาศัพท์ที่เป็นกิริยาไม่ทราบถูกต้องหรือเปล่าอาจารย์ช่วยตอบด้วย

สวัสดีค่ะ ครูพัชรี ใช่ค่ะ ครูภาทิพเอง ก็เรียนมาอย่างนั้น  แต่ช่วงหลังในการสื่อสาร ใช้กันอย่างที่คุณพัชรีรับทราบ   ครูภาทิพ เคยมีเอกสารเรื่องนี้ แต่ตอนนี้หาไม่เจอ

แต่ใช้การสืบค้นจากพจนานุกรม ได้ความดังนี้ค่ะ

ใช้นําหน้าคํากริยาสามัญให้เป็นราชาศัพท์
  เช่น ทรงทราบ ทรงยินดี ทรงขอบใจ; ใช้นําหน้าคํานามราชาศัพท์
  ให้เป็นกริยาราชาศัพท์ เช่น ทรงพระสรวล ทรงพระเมตตา ทรงพระ
  ประชวร, ในลักษณะนี้จะหมายความว่า มี ก็ได้ เช่น ทรงพระปรีชา
  สามารถ ทรงพระคุณ ทรงพระนาม, เมื่อกริยาเป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว
  ไม่นิยมใช้คําว่า ทรง นําหน้าซ้อนลงไปอีก เช่นไม่ใช้ว่า ทรงตรัส
  ทรงประทับ ทรงพระราชทาน. (ราชา) ว. เรียกช้าง ม้า ที่ขึ้นระวาง
  แล้วว่า ช้างทรง ม้าทรง.

ที่มา :http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all-x.asp

 

สวัสดีคะคุณครูภาทิพ ครูผู้มีวิธีการสอนเป็นเลิศ ดิฉันชอบวิธีการสอนของคุณครูมาก และจะขอนุญาตคุณครูนำวิธีการสอนไปใช้ในการสอนเด็กหน่อยนะคะ

สวัสดีค่ะครูภาทิพ

พอดีหนูจะไปสอนเรื่องวรรณยุกต์ให้กับเด็กป.6 แต่ยังไม่มีแนวที่จะสอนเลย แล้วบังเอิญเปิดดูในเน็ตดูก็รู้ว่าครูคงจะมีความสามารถมาก หนูจึงอยากจะขอให้ครูภาทิพช่วยบอกตัวอย่างแนวในการสอนให้หนูหน่อยจะได้ไหมคะ พอดีหนูต้องการด่วนจริงๆๆ จึงขอขอบคุณไว้ล่วงหน้าด้วยนะคะ

สวัสดีค่ะครูวรรณภาที่มาทักทายช้าไปหน่อย ครูภาทิพมีหลายบันทึก

ก็เลยหลงมาทักทายกันบ้างคงไม่ว่ากัน  ขอบคุณค่ะที่แวะมา

สิ่งครูภาทิพอยากจะได้รับก็คือ ผลของการนำไปใช้ หรือเทคนิคอื่นๆที่ครูนำใช้

เพื่อจะได้มีแนวการสอนที่หลากหลายแก่คุณครูร่นหลัง

 

สวัสดีค่ะว่าที่คุณครู

แนวการสอนมีในบันทึกนี้ไงคะ

สวัสดีครับ

  • ครูจ่อย ลูกพ่อขุน มาเยี่ยม
  • ภาษาไทยมรดกไทยอันล้ำค่า
  • ต้องช่วยกันรักษา  ใช้ให้ถูกต้อง ทั้งการพูด  อ่าน เขียน
  • โชคดีนะครับ

สวัสดีค่ะ ครูจ่อยลูกพ่อขุน  ทุกคนต้องช่วยกันรักษ์ภาษาไทยค่ะ

โชคดีเช่นกันค่ะขอบคุณมากค่ะ

พิชัยณรงค์(ครูภาษาไทยคนใหม่)

น่าสนใจมากครับ ประยุกต์ใช้ได้เลย

     สวัสดีค่ะ  ครูพิชัยณรงค์  ดีใจด้วยค่ะหากจะเป็นประโยชน์ต่อครูคนใหม่

อารวา เจ๊ะเลาะ และมูฮัมหมัดชากีรีน เมาะมูลา กำลังอ่านหนังสืออยู่พอดี เขาทั้งคู่กำลังอ่านออกเสียงและหัดผันวรรณยุกต์ด้วยค่ะ อาจารย์ภาทิพ ดิฉันเองก็เป็นครูภาษาไทยแต่ไม่เก่งอย่างอาจารย์หรอกค่ะ ดิฉันติดตามเว็บไซต์ของอาจารย์อย่างเสมอ ๆ เพราะเป็นการเพิ่มพูนความรู้แก่ตนเองได้อย่างมาก ขอขอบคุณอาจารย์อย่างมากเลยค่ะ และขอนำความรู้เหล่านี้ไปสู่เด็ก ๆที่โรงเรียนด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะ สายหม๊ะ เมาะมูลา  ด้วยความยินดียิ่งค่ะ  หากการปิดทองหลังพระของครูภาทิพ  จะสามารถช่วยเหลือเด็กชายแดนภาคใต้ได้  

สวัสดีค่ะครูภาทิพ ดิฉันติดตามเว๊บของคุณครูสม่ำเสมอ แอบนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนด้วย ต้องขอกราบขอบพระคุณคุณครูเป็นอย่างยิ่งและขอปวารณาตัวเป็นศิษย์นะคะ ด้วยความจำเป็นของโรงเรียนขยายโอกาสตั้งอยู่ชายแดนเหนือสุดสยาม ไม่มีครูเอกภาษาไทย จึงมอบหมายให้ดิฉันซึ่งจบจิตวิทยาแนะแนวการศึกษาและอาชีพจากม.ราม มาเป็นครูประจำสาระภาษาไทย ช่วงชั้นที่3 ตลอดแนวรวม 6 ห้องชั้นละ 2 ห้องนักเรียน ประมาณ 180 คน สอนสาระนี้มานาน5ปีแล้ว ขอสารภาพว่าบางครั้งรู้สึกท้อแท้จนอยากถอยเพราะเด็กของเรามีหลากหลายเชื้อชาติและโดยสภาพภูมิอากาศและความเป็นคนเหนือทำให้เขารักความสบายไม่ค่อยขยันลุ้นยากมาก แต่ 5 ปีที่ผ่านมามีลูกศิษย์หลายกลุ่มที่ทำให้ชื่นใจพอเป็นพลังใจให้สู้ต่ออยู่..ต้องขอโทษที่มาบ่นกับคุณครูอยากคุยกับคุณครูมานามแล้วและอยากเก่งอย่างเข้มแข็งอย่างคุณครูคะ

สวัสดีค่ะคุณครูponpj   ครูภาทิพขอโทษด้วยค่ะที่ไม่ได้เข้ามาตอบจดหมายของคุณครู   ดูเวลาแล้วช่วงนั้นครูภาทิพท่องเที่ยวอยู่ที่ประเทศสวิต    หากครูภาทิพช่วยอะไรคุณครูได้ก็ยินดีค่ะ   ไม่ทราบว่าคุณครูอยู่แม่สายหรือแม่ฮ่องสอน   ธันวาคมนี้ครูภาทิพจะไปอีกหากทิ้งเบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมล์ไว้ให้ก็จะดี  เผื่อครูภาทิพไปจะได้คุยกันค่ะ

ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ พวกเราชาวไทยทุกๆ คน ควรตระหนักรักษาไว้ ใช้ให้ถูก

อาจารย์ คือ แม่พิมพ์ของชาติตัวจริง

ยังเป็นพิมพ์ที่เบ้ ๆ อยู่ค่ะ  ขอบคุณค่ะ

ชอบอาจารย์มากค่ะ เเละก้อชอบภาษาไทยมากเลยค่ะ ^^

สวัสดีค่ะเหมียว 

  •    ขอให้ชอบนานนานอย่าพาลเบื่อ
  • ภาษาไทยจงเจริญ .....
  • ขอบคุณค่ะ

 

สวัสดีค่ะคุณครู

     ขอบคุณครูภาทิพเป็นอย่างสูงเลยค่ะสำหรับคำแนะนำดีเกี่ยวกับการสอนภาษาไทยดิฉันก็เป็นครูภาษาไทยเหมือนกัน บางครั้งอยากปรึกษาใครซักคนเกี่ยวกับการสอนก็ลำบากใจบางเรื่องก็ไม่ถนัดเลยค่ะ ถ้าไม่เป็นการรบกวนจนเกินไปหากมีข้อสงสัยในเรื่องที่สอนปรึกษาคุณครูจะได้หรือเปล่าค่ะ  ขอขอบคุณมาล่วงหน้าเลยนะคะ

                     

ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ  ที่ให้ความรู้กับพวกเรา

สวัสดีค่ะ ครูเหมียว  ขอโทษด้วยนะคะ ที่ไม่ได้เข้ามาทักทาย  เพิ่งมาเห็น

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะครูเหมียว

 

 

สวัสดีค่ะธันยพร [IP: 125.26.144.18]

ขอบคุณเช่นกันที่แวะมาทักทาย  

นส. ลักคณา จุลมัญลิก

สวัสดีค่ะครูภาทิพ หนูลักคณาเองนะคะ ขอขอบคุณครูภาทิพมากเลยนะคะที่มีสื่อการเรียนการสอนดีๆ แบบนี้ต่อไป เพราะสื่อของครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆได้เป็นอย่างดี ทำให้หนูมีความเข้าใจในวิชาภาษาไทยมากขึ้น เพราะหนูไม่ได้จบวิชาภาษาไทยมาโดยตรง พอได้อ่านสื่อของครูก็มีความเข้าใจมากขึ้น ส่วนหนูก็เป็นครูเหมือนกันแต่เป็นของเอกชนไม่ใหญ่เกินไปนัก แต่จะไม่ทำให้นักเรียนที่สอนอยู่นั้นพูดได้ว่าครูสอนไม่ถูกต้องเลย ส่วนหนูเองนั้นพอได้สอนวิชาภาษาไทยทำให้มีความคิดว่า ภาษาไทยนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิดเลยเพราะมีครูภาทิพเป็นต้นแบบที่ดี และจะติดตามสื่อของครูตลอดไปค่ะ

 

          สวัสดีค่ะ คุณครูลักคณา(ชื่อแปลกดี)

  •   ดีใจที่ประสบการณ์ของครูภาทิพสามารถแบ่งปันและเป็นแนวทางการสอนให้กับครูที่ประสบปัญหาได้ค่ะ
  •  ครูภาทิพไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีอะไร  ทำตามใจสั่ง ไม่ทำตามคำสั่ง  เป็นครูที่ดื้อค่ะ
  • ก็มีหลายครั้งอยากจะลบงานทั้งหมดทิ้ง  
  • หลายครั้งอยากจะหยุดทำ
  • หลายครั้งอยากหยุดแบ่งปัน
  • แต่ก็หลายครั้งที่ได้รับกำลังใจ ทำให้อยากทำต่อ อยากจะให้ต่อ...
  • ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจค่ะ

 

ครูคะ ปัญหาที่เรามักจะพบในการ ผันวรรณยุกต์ คืออะไรคะ

ปัญหาที่พบคือนักเรียน ส่วนหนึ่งเข้าใจว่า คำตายที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์กำกับ เป็นเสียงสามัญ  และหลงเสียง ตรีกับโท

ชอบอาจารย์มากๆค่ะ

ชอบอาจารย์มากๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท