เมื่อวันที่ 18-21 ธันวาคม 48 ผมได้รับการคัดเลือกให้ไปประชุมเชิงปฏิบัติการ KM ที่โรงแรม2000บุรี จ.สุพรรณบุรี ได้มีโอกาสพบกับประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ท่านได้มาบรรยายถึงกิจกรรมของมูลนิธิข้าวขวัญว่าทางมูลนิธิกำลังทำอะไรอยู่ ในช่วงแรกของการบรรยายท่านได้อธิบายเกี่ยวกับชื่อของมูลนิธิว่าทำไมจึงใช้คำว่า"ข้าวขวัญ" ท่านบอกว่าใหม่ๆมีคนแก้ชื่อมูลนิธิของท่านเป็น"ขวัญข้าว" เพราะนึกว่าเขียนผิด แต่จริงๆแล้วท่านบอกว่าท่านเขียนไม่ผิดเพราะคำว่า "ข้าวขวัญ" เป็นคำไทยแท้ซึ่งหมายถึงบายศรี ท่านยังเล่าให้ฟังถึงที่มาของคำว่า "ข้าวขวัญ" ว่าเมื่อก่อนท่านเคยเดินทางไปดูงานที่ประเทศเวียดนามและได้มีโอกาสเจอกับคนไทดำที่นั่น คนไทดำที่เวียดนามมีวิถีชีวิตประจำวันเกี่ยวข้องกับพิธีบายศรีสู่ขวัญเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อมีคนเจ็บป่วยคนไทดำจะมีความเชื่อว่าในตัวคนเรานั้นมีสิ่งที่อยู่กับตัวอยู่ 2 สิ่ง คือ "มิ่ง" กับ "ขวัญ" ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้จะแยกกันคนละตัว(คนไทยส่วนใหญ่คิดว่าเป็นตัวเดียวกันหรือเปล่าไม่ทราบนะครับ) มิ่งนั้นไม่สามารถออกไปเที่ยวที่ไหนได้แต่ขวัญนั้นสามารถออกจากตัวคนไปเที่ยวในที่ต่างๆได้ ดังนั้นเมื่อขวัญออกไปเที่ยว(หมายถึงไม่อยู่ในตัวคนเรา)จึงทำให้คนป่วย จึงจำเป็นต้องทำพิธีเรียกขวัญกลับเข้าตัว แต่คนธรรมดาไม่สามารถเรียกขวัญกลับมาได้จึงต้องทำ"พิธีติดสินบนพระยาแถน" ให้ช่วยเรียกขวัญกลับมาให้ที โดยการทำบายศรีและนำข้าวที่ดีที่สุดใส่ในบายศรีเพื่อติดสินบนพระยาแถนซึ่งข้าวที่ใส่นั้นชาวไทดำเรียกว่า "ข้าวขวัญ" นั่นเอง