มหาวิทยาลัยวิจัย


ต้องรวมตัวกันนำเสนอ นโยบายสาธารณะว่าด้วยยุทธศาสตร์การส่งเสริมมหาวิทยาลัยวิจัยให้ช่วยดึงคุณภาพของอุดมศึกษาในภาพรวม
มหาวิทยาลัยวิจัย
ผมได้แนวความคิดในบันทึกนี้จากการเข้าร่วมประชุมสภามหาวิทยาลัยของจุฬาฯ เมื่อ ๒๒ ธค. ๔๘     มีการนำแนวทางพัฒนางานวิจัยของจุฬาฯ เข้าขอคำแนะนำจากกรรมการสภา     เป็นการนำเสนอแนวคิดในการพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่ครอบคลุมกว้างขวางครบถ้วนและดีที่สุดที่ผมเห็นมา     ผู้นำเสนอคือรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ศ. นพ. สุทธิพร จิตรมิตรภาพ    มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ผมลืมให้ความเห็นในที่ประชุม    แต่คิดว่าสำคัญมากในการบริหารจัดการงานวิจัยระดับมหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยวิจัย     คือการรวมตัวกันในกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัย (ซึ่งเวลานี้มีอยู่ ๙ – ๑๐ มหาวิทยาลัย    โดยดูจากผลงานวิจัย) แล้วไปเจรจาทำความเข้าใจกับหน่วยนโยบาย คือ สกอ., วช., และ สศช.      ว่าประเทศจะได้รับประโยชน์จากมหาวิทยาลัยวิจัยเหล่านี้ ในการยกระดับคุณภาพอุดมศึกษาของประเทศได้อย่างไร     มหาวิทยาลัยวิจัยเหล่านี้จะเข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยใหม่ที่ยกระดับขึ้นมาจากสถาบันได้อย่างไร     ให้มหาวิทยาลัยใหม่เหล่านี้ได้ยกระดับคุณภาพในลักษณะที่เหมาะสมต่อการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น และเพื่อการสร้างนักเทคนิค       
ผมมองว่า ถ้ามีการจัดการระบบอุดมศึกษาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน     มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็จะกอดคอกันจมดิ่งสู่ความอ่อนแอทางวิชาการ     แล้วประเทศในภาพรวมจะขาดทุนย่อยยับ    มหาวิทยาลัยที่แปรสภาพมาจากสถาบันผลิตครูและผลิตช่างเทคนิคก็จะพัฒนาความเป็นเลิศตาม niche ของตัวเองได้ยาก หรือไม่ได้เลย    เพราะไม่มีมหาวิทยาลัยวิจัยช่วยดึง      เนื่องจากมหาวิทยาลัยวิจัยถูก “ดูแล” แบบเกลี่ยทรัพยากรจากรัฐให้อ่อนแอลงไปเท่าๆ กันหมด     ตรงนี้เป็นเส้นผมบังภูเขา     ว่าการบริหารจัดการระดับนโยบาย ต่อมหาวิทยาลัยของรัฐแบบเฉลี่ยทรัพยากรให้เท่าๆ กัน ตามเกณฑ์เดียวกัน เป็นมาตรการสู่สภาพ lose – lose – lose situation    ผมมองว่า มหาวิทยาลัยวิจัยที่มีอยู้ในปัจจุบัน ต้องรวมตัวกัน เสนอ win – win – win situation ต่อ สกอ. และต่อหน่วยนโยบายต่างๆ     โดยอาจต้องทำงานวิจัยชี้ให้เห็น scenario ที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายใหญ่ๆ ที่แตกต่างกันต่อมหาวิทยาลัยที่มี niche ต่างๆ กัน     
นี่คือเรื่องคอขาดบาดตายของชาตินะครับ     เราต้องมองภาพรวมระดับชาติ    มองให้เห็นผลประโยชน์ร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยใหม่กับมหาวิทยาลัยวิจัย    และต้องมองผ่านเส้นผมที่บังภูเขาอยู่ให้ได้     และการที่กลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยรวมตัวกันเช่นนี้ ต้องไม่ใช่รวมตัวกันทำเพื่อตนเอง      แต่เป็นการรวมตัวกันทำเพื่อประเทศชาติอันเป็นส่วนรวม       
วิจารณ์ พานิช
๒๒ ธค. ๔๘
หมายเลขบันทึก: 10554เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2005 05:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมว่าหากเราสามารถให้มหาวิทยาลัยวิจัยเองสร้างบทบาทของตัวเองและสามารถจะตอบสนองต่อคำถามวิจัยจากองค์กรเอกชนรวมไปถึงประชาชนได้ด้วยจะดีมากๆเลยครับ เพราะจะเป็นที่มาในการทำงานเข้าด้วยกันแล้วองค์ความรู้หรือผลผลิตทางการวิจัยจะถูกนำไปใช้มากขึ้น เมื่อเกิดการทำวิจัยร่วมกันในระดับการนำไปใช้จริงแล้ว จะทำให้เกิดกระบวนการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดความยั่งยืนต่อสังคมต่อไป เห็นด้วยที่ควรสร้างให้มีความเหนียวแน่นทางการวิจัย เมื่องานวิจัยประสบผลสำเร็จก็ให้มีการนำไปสอนหรือเผยแพร่ให้ทราบทั่วกันอย่างมีระบบ

หากเราได้มีการจัดทำฐานข้อมูลนักวิจัยไว้ด้วยแล้วดูตามหมวดหมู่ อาจจะมีการส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยแบบสหสาขา เกิดการร่วมมือการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะปัญหาในปัจจุบันยากที่จะแก้ปัญหาได้เพียงสาขาวิชาเดียวแล้ว ดังนั้นการร่วมมือจากภาคที่เกี่ยวข้องนับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งด้วยครับ

วันหนึ่งผมเชื่อว่าการวิจัยของเราจะมีผลต่อสังคมและเกิดประโยชน์สูงสุดได้ครับ หากเราจริงใจที่จะร่วมกันหาคำตอบทางวิจัยร่วมกันครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท