ทำขวัญนาค ตอนพิเศษ 4 (เครื่องประกอบที่จำเป็น)


จะยึดแบบใดก็คงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม

ทำขวัญนาค

ตอนพิเศษ 4

(เครื่องประกอบที่จำเป็น)

           มีหลายครั้งที่ผมได้รับเชิญ ไปเป็นผู้ประกอบพิธีทำขวัญนาค (เป็นโหรา) พอผมเดินทางไปถึงสถานที่ทำพิธี ดูช่างเงียบเหงา เนื้อตัวเย็นไปหมด เมื่อไปถึงบ้านงาน ผมมักจะไปทักทายผู้คนที่มาร่วมงาน โดยเฉพาะท่านเจ้าภาพ ญาติผู้ใหญ่ของนาค และบรรดาญาติ บ้านใกล้เรือนเคียง รวมทั้งเพื่อน ๆ ของนาคด้วย เครื่องไฟเปิดเพลงของไวพจน์ เพชรสุพรรณ  เพลงนาคลาบวช เพลงนาคเข้าวัด และอีกหลายเพลง แต่มองไปรอบ ๆ บริเวณงาน ไม่พบว่ามีเครื่องดนตรีสำหรับบรรเลงในงานนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นแตรวง วงดนตรีปี่พาทย์เครื่องห้า หรือแม้แต่วงแคนก็ไม่มี

         

           ในการทำขวัญนาคนั้น จะมีเพลงที่พ่อหมอ (หมอขวัญ) ร้องส่งหลายทำนอง และบางบทบางตอนจะต้องอาศัยจังหวะในการช่วยทำให้เกิดความไพเราะน่าฟังด้วย  เท่าที่ผมได้ไปพบมา ปรากฏว่า เจ้าภาพเขาไม่ได้จัดหาวงดนตรีเตรียมเอาไว้รับเพลงที่หมอขวัญร้อง  เป็นเพราะ วงดนตรีไม่ว่าง ติดงานกันหมด (อันข้อนี้น่าเห็นใจ) แต่บางงานได้รับคำบอกว่า ไม่ทราบว่า จะต้องใช้ดนตรีไทยด้วย เห็นพระเทศน์สอนนาคไม่ต้องมีวงดนตรีเลย

           แสดงว่าเจ้าภาพงานนี้  ท่านคิดว่า พิธีทำขวัญนาค ทำเหมือนกันกับพระเทศน์ จึงไม่ได้จัดเตรียม เครื่องรับตอนร้องส่งเอาไว้ด้วย และที่สำคัญเคยเจอนะครับ บางงานไม่มีเครื่องไฟขยายเสียงด้วย (นานมาแล้ว) อ้าว แล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องทำไปตามหน้าที่ของเราจนสำเร็จตามที่เจ้าภาพติดต่อไว้ก็ต้องร้องไปพูดกันไปสดๆ การร้องก็เป็นทำนองแหล่บ้าง ขับเสภาบ้าง ว่าเป็นทำนองเสนาะ (ธรรมวัตร) เอาบ้าง พอร้องลงเพลง ไม่มีเสียงดนตรีรับก็ฟังฮ้วน ๆ ไปอย่างนั้น หมอขวัญจะเหนื่อยมากถ้าไม่มีเครื่องดนตรีรับ

           แต่ก็มีส่วนดีนะครับ คือ นาคฟังหมอขวัญได้อย่างชัดเจน ไม่มีเสียงดนตรีมากลบ วงดนตรีบางวงเขาเล่นเก่ง เสียงดนตรีดังเสียจนฟังหมอไม่ได้ยิน ชาวบ้านแถวใกล้ ๆ ฟังรู้เรื่องกันหมด ยกเว้นพ่อนาคไม่ได้ยิน ปีหนึ่งก็เจอมาหลายงาน ยิ่งตอนที่พ่อคุณวัน มีชนะ ครูทำขวัญนาคของผมยังมีชีวิตอยู่ พ่อคุณไม่สนใจเครื่องไฟ และวงดนตรีมากนัก เพราะว่า ท่านเน้นคำสอนที่เป็นประโยชน์ต่อนาค  แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน คำสอนยังคงมีเหมือนเดิม  แต่ท่วงทำนองเปลี่ยนไป จากการว่าทำนองเสนาะ มาเป็นทำนองประยุกต์มากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีเสียงดนตรีช่วยรับตอนลงเพลง และเคล้าคลอไปด้วยกัน จังหวะมีส่วนช่วยทำให้ฟังไพเราะและสนุกสนานด้วย 

        

          ดังนั้นในการประกอบพิธีทำขวัญนาคในยุคปัจจุบันควรมีเครื่องประกอบที่จำเป็น  ได้แก่ 

          1. วงดนตรีไทย หรือแตรวง ที่มีความสามารถเล่นเพลงร่วมกับหมอขวัญได้

          2. เครื่องไฟฟ้าขยายเสียง   ที่สามารถทำให้ได้ยินเสียงที่หมอขวัญร้องออกไปได้ชัดเจน

          3. ฆ้อง โหม่ง ใช้สำหรับตีหรือเคาะเมื่อตอนจบแต่ละบท แต่ละตอน ตามด้วยเสียงโห่ร้อง

           เครื่องไฟขยายเสียง มีส่วนทำให้เสียงของหมอที่เปล่งออกไปน่ารับฟัง  เครื่องเสียงที่มีการปรับ และควบคุมที่ดี จะช่วยปรุงแต่งให้เสียงที่ดังออกมาน่ารับฟังมากขึ้น ครับ  ส่วนเครื่องดนตรี หมอขวัญอยากได้วงดนตรีไทย แต่ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพ ท่านจะเตรียมจัดหาวงดนตรีประเภทใดมาให้ก็ต้องทำได้  เมื่อเดือนก่อน ไปทำขวัญนาคที่ บางเลน  ที่บ้านเจ้าภาพเขาหาวงแคน มีแคน กลอง ฉิ่ง ฉาบ กรับ  มือแคนเขาเก่งมาก ก็ไปกันได้ดีตลอดงาน  บางงาน มีทรัมเป็ต กับกลองให้จังหวะ เป่ารับตอนลงเพลง ยังมีความไพเราะได้เลย (แต่ต้องมีฝีมือจริง)  ส่วนฆ้องโหม่ง ก็นำมาแขวนเอาไว้ใกล้ ๆ บริเวณทำขวัญ เมื่อหมอขวัญร้องจบบทหนึ่ง จะเชิญคนที่เสียงดี เข้ามาโห่เอาชัย พอสิ้นเสียงโห่ก็ช่วยกันรับ หี๊ว ๆ ๆ.... พร้อมกัน  ตีโหม่ง  3 ครั้ง 

        

           บางท่านอาจจะคิดว่า เรื่องของการทำขวัญนาคยุ่งยาก มากเรื่อง ต้องจัดเตรียมจัดหาเครื่องเคราต่าง ๆ มากมาย ก็เป็นจริงตามที่ท่านคิด แต่ในอีกมุมหนึ่ง การประโคม เฉลิมฉลองก็เป็นการกระทำที่ดี  เพื่อฉลองศรัทธาที่เรามีความในสิ่งยึดเหนี่ยว และความเชื่อแบบดั้งเดิม  ส่วนท่านจะยึดแบบใดก็คงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะความพอเพียง ไม่ทำให้เราต้องเดือดร้อน ครับ

  (ชำเลือง มณีวงษ์ / ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน  ปี 2547)

 

คำสำคัญ (Tags): #ทำขวัญนาค
หมายเลขบันทึก: 104403เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2007 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 00:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท