ความคืบหน้าของร่าง พรบ. ส่งเสริม กศน.และ กศ.ตามอัธยาศัย


สำหรับท่านที่สนใจอ่านรายละเอียดร่าง พรบ.ฉบับนี้ ติดต่อ กลุ่มแผนงาน สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๘๒ ๒๖๗๒ โทรสาร๐ ๒๒๘๐ ๑๖๘๘

สองสามวันก่อนพรรคพวกจากสำนักบริหารการศึกษานอกโรงเรียน(กรมการศึกษานอกโรงเรียนเดิม)ฝาก (ร่าง)พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ..........มาให้เล่มหนึ่ง

(ร่าง)พระราชบัญญัติฉบับนี้บรรจุเนื้อหาจำนวน ๒๘ มาตรา  ๔ หมวด กับอีก ๑ บทเฉพาะกาล ผมอ่านแล้วผมรู้สึกพอใจมากเพราะเนื้อหาสาระออกมาในแนวของการทำงานแบบจัดการความรู้มากๆเลย

ยกตัวอย่างมาตรา ๗ ที่พูดถึงเป้าหมายการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ว่ามี ๓ เป้าหมาย คือ

(๑)ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังคนและสังคม ที่ใช้ความรู้และภูมิปัญญาเป็นฐานในการพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง และคุณภาพชีวิต ตามแนวทางการพัฒนาประเทศ

(๒)ส่งเสริมให้สถาบันสังคมเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

(๓)ส่งเสริม สนับสนุนให้ภาคีเครือข่าย เกิดแรงจูงใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

หรืออย่างมาตรา ๘ ที่พูดถึงผู้เกี่ยวข้อง โดยกล่่าวว่า...การส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พึงให้ความสำคัญแก่ผู้เกี่ยวข้องตามบทบาทและหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑)ผู้เรียน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ และสามารถเลือกรับบริการได้หลากหลายตามความต้องการของตนเอง

(๒)ผู้จัดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นผู้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายตามศักยภาพและตอบสนองความต้องการของผู้เรียนโดยบูรณาการความรู้ ปลูำฝังคุณธรรม และค่านิยมที่ดีงาม

(๓)ผู้ส่งเสริมสนับสนุน ซึ่งเป็นผู้ที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้จัดการเรียนรู้ และผู้เรียนในด้านต่างๆที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

อย่างหลังในมาตรา ๘ นี่เห็นชัดถึงผู้เกี่ยวข้องที่จะส่งเสริมสนับสนุนที่ค่อนข้างชัดถึงตัวละคอนในการทำงานแนวของการจัดการความรู้ว่า ผู้เรียน ก็คือคุณกิจ ผู้จัดการเรียนรู้ก็คือคุณอำนวย และผู้ส่งเสริมสนับสนุน ก็คือคุณเอื้อ

ต่อร่างฯฉบับนี้ ผมเองซึ่งเป็นตัวเล็กตัวน้อย ชายขอบ บ้านนอก ก็ได้พยายามขอความเห็นชาว gotoKnow ว่าบล็อกเกอร์ทั้งหลายช่วยกันแสดงความคิดเห็นกันหน่อย  อย่าให้ กศน.ต้องยุบรวม เข้ากับ สพฐ.เลย เอาไว้เป็นทางเลือกแก่ประชาชนเถอะ ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเลยจริงๆ บล็อกเกอร์ต่างๆกรุณาเป็นอย่างมาก ผมก็ได้รวบรวมความเห็นทั้งหมดนี้เสนอไปยังสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อประมวลความเห็นต่อไป ดร.แสวง รวยสูงเนิน จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น เขียนบทความตามที่ผมเรียนรบกวน สองบทความ ลองอ่าน ฝันสลายของ กศน. กับการศึกษาตลอดชีวิต และ "บ้าน กศน." ในฝันของผม 

ส่วนตัวผมเองก็ได้เขียนบทความทางวิชาการไปนำเสนอในงานประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับประสบการณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชในการจัดการการศึกษานอกโรงเรียนในแนวการจัดการความรู้ชุมชน เพื่อสะท้อนความคิดเห็นประกอบร่าง พรบ.ฉบบับนี้ สัมภาษณ์ รศ.ดร.อุทัย ดุลยเกษม คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ถอดเทปการสัมภาษณ์ และส่งซีดีสัมภาษณ์ให้สำนักฯ กศน.เพื่อประมวลความเห็น อ่านรายละเอียดในบล็อกของผม  กศน.กับการจัดการความรู้ชุมชน   และยังได้ไปเรียนเชิญท่าน รศ. ดร.อุทัย ดุลยเกษม ไปร่วมอภิปรายทางวิชาการด้วย  เป็นต้น

ผมจึงขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นที่มีคุณค่ายิ่งจากบล็อกเกอร์ทั้งหลายในสังคม gotoKnow แห่งนี้ ที่กรุณาต่อ กศน.อย่างดียิ่ง

สำหรับตัวผม รู้สึกดีใจและภูมิใจตัวเองที่ได้มีส่วนร่วมบ้างตามอัตภาพ ถึงจะไม่มากก็ตาม

สำหรับท่านที่สนใจอ่านรายละเอียดร่าง พรบ.ฉบับนี้ ติดต่อ กลุ่มแผนงาน สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๘๒ ๒๖๗๒ โทรสาร๐ ๒๒๘๐ ๑๖๘๘

ร่างฯนี้ขณะนี้ผ่าน ครม.ไปแล้ว กำลังจะเข้่าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. เร็วๆนี้

คงต้องลุ้นกันต่อไปแหละครับ 

หมายเลขบันทึก: 104335เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2007 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

 

สวัสดีค่ะครูนง 

ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากค่ะ เพราะช่วงสองสามปีที่ได้ร่วมทำงานกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาของสพฐ. พบสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่เป็น "โอกาส" และ "ข้อจำกัด" ในการขับเคลื่อนงานค่ะ

ตัวเองคิดว่าเรื่องของกฏหมาย กติกา ระเบียบต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องที่พวกเราไม่ว่าจะเป็น นักวิชาการ นักพัฒนา และนักขับเคลื่อนในทุกภาคส่วนน่าจะให้ความสำคัญและเรียนรู้ เพราะจะมีส่วนช่วยให้เราทำงานพัฒนาชุมชนได้ดีขึ้นค่ะ ตอนเรียนที่ฝรั่งเศส สาขาที่เรียนเป็นเรื่องการพัฒนาการเกษตร แต่จำเป็นต้องรู้เรื่องของตัวบทกฎหมายพอประมาณทีเดียวค่ะ ครูที่สอนบอกว่าตัวกฎหมายเป็นตัวที่ "คลุม" โครงสร้างของสังคม เป็นที่มาของ "แนวคิด" และ "การปฏิบัติ" ต่าง ๆ ในสังคม (ฝรั่งเศสจึงมีกฏหมายและพรบ.มากมายค่ะ) การมีกฏหมายที่ดีและพรบ.ที่ดีจึงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาค่ะ

อาจารย์จำนงคิดว่า น่าจะทำ "วงเรียนรู้" ระหว่าง กศน. และสพฐ. ไหมคะ ถ้าคิดว่า OK จะประสานงานและดำเนินการที่นครฯ ก่อนเลยนะคะ นัดหมายท่านอาจารย์วิจิตรที่ขอนหาดไว้นานแล้ว มีเครือข่ายอยู่นับร้อยโรงเรียน ที่เป็นแกนนำน่าจะประมาณ 30 โรงเรียนค่ะ อยากทำเรื่องวงเรียนรู้ของผู้บริหารการศึกษาและคุณครูให้มากขึ้นค่ะ ช่วงที่ผ่านมาตุ้มทำเฉพาะวงของสพฐ. ค่ะ ซึ่งดำเนินการไปแล้วหลายจังหวัดและก็ยังต้องทำต่อในอีกหลายจังหวัดค่ะ (เป็นเวทีคล้ายกับที่ครูนงเคยไปร่วมด้วย ที่มีการศึกษาดูงานที่ลุ่มน้ำปากพนัง... จำได้ไหมคะ) เดือนนี้ก็มีเวที KM ของสพท.หนองคายและสกลนครค่ะ  ส่วนเดือนหน้ายังไม่แน่ใจว่าไปไหนค่ะ (มีคนจัดคิวให้...จองวันแต่ยังไม่แจ้งจังหวัดค่ะ) คิดว่างานของกศน.โดยเฉพาะประสบการณ์ของอาจารย์จำนงจะเป็นประโยชน์มากค่ะ น่าจะจัดเวทีที่ได้เรียนรู้ "ข้ามวง" กันบ้างนะคะ

ข้อเสนอของ ดร.ทิพวัลย์น่าสนใจนะคะ ถ้าเกิดขึ้นได้จริงๆ แล้วส่งข่าวให้คนไกลๆ รู้บ้างนะคะ

ขอบคุณครูนงมากนะคะ สำหรับข่าวคราวที่มีประโยชน์ที่ช่วยแบ่งปันเสมอๆ

สวัสดีครับ ดร.ทิพวัลย์

           เป็นเกียรติอย่างสูงถ้าจะใช้ กศน.เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้หนึ่งในโครงการของอาจารย์ แหมถ้าเชื่อมกับ สพฐ อย่างที่อาจารย์เคยพาผมไปร่วมครั้งที่ไปล่องลุ่มน้ำปากพนังครั้งนั้น คงจะเกิดประโยชน์เอนกอนันต์จริงๆเพราะต่างก็มีจุดเด่นของกันและกันยังจำเหตุการณ์ครั้งได้ดีอยู่ครับ ไม่เคยลืมเลือน....อาจารย์มีอะไรจะให้ผมได้เข้าร่วมก็แจ้งผ่านบล็อกนี้ก็ได้นะครับ

คุณ pilgrim ครับ

           ขอบคุณนะครับที่เข้ามาอ่าน ฝากความเห็นไว้ในการเยี่ยมเยือน

แวะมาเยี่ยมค่ะ ที่จริงแวะมาตั้งแต่เมื่อวานแล้ว แต่ net มีปัญหาเสียก่อนเลยไม่ทันได้บันทึก ครูนงคงทราบแล้วว่า พรบ.ผ่านครม.แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ส่งกฤษฎีกาพิจารณารายละเอียดแล้วก็เข้าสภาอีกครั้งหนึ่ง เราคงยังต้องรอลุ้นและช่วยกันเชียร์ต่อไปนะ ขั้นตอนนี้ก็หนักเอาการอยู่นะ เพราะคงต้องถกแถลงกับ ก.พ. ก.พ.ร. เรื่องโครงสร้างอีกเฮือกใหญ่ 

 

อ.นู๋แดง ครับ

          ผมขอลุ้น เชียร์ และให้กำลังใจอยู่ในพื้นที่นะครับ ทำงานและเคลื่อนไหวตามแบบฉบับที่ผมเคยทำและถนัดครับ ....ใครอยู่ส่วนไหนในหน้าที่ใดก็ขอให้ช่วยกันทำความดีให้ปรากฏ....อาจารย์เห็นด้วยไหมครับ

          แต่สำหรับอาจารย์เองคงจะต้องเหนื่อยหน่อยเพราะจะต้องประมวลความเห็น เอาเหตุผลไปถกแถลงกับเขา กพ.หรือ กพร.อยากให้อาจารย์ใช้เวทีสังคม gotoknow แห่งนี้ให้เป็นประโยชน์ให้มากๆนะครับ เพราะเขาเคยช่วยผม (กศน.)โดยช่วยกันระดมความคิดเห็นมารอบหนึ่งแล้วตอนจัดทำร่างฯ อย่างไงๆเสียร่างฯนี้ก็เป็นของเขาด้วยแล้ว ให้เขาแสดงความเห็นต่อเนื่องตามประเด็นที่อาจารย์จะได้ตั้งก็ไม่เลวนะครับ

ขอร่วมแจมครูนงด้วยคนครับ

อยากคุยถึง  มาตรา  8  (2) ผู้จัดการเรียนรู้ ตรงน้ีแหละ

ผมสนใจอยู่มาก ๆ  เราจะต้องพัฒนาคน กศน. ของเรา

ให้มีวรยุทธ ปะดาบได้อย่างแม่นยำเนี่ย ต้องวางแผนกัน

ให้ยอดเยี่ยมกว่านี้ เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาการ

จัดกระบวนการเรียนรู้ให้ครูของเราน้อยเกินไป และคนของเราเข้า ๆ ออก ๆ ไม่นิ่งตรงน้ีมีผลกระทบ

อยู่ไม่น้อย อยากฝันไปถึงที่ว่า ครู กศน.เป็นครูอำนวย

สุดยอดชาวบ้านถามหาอยู่ตลอด ฝัน...เกินไปมั้ยเนี่ย

ช่วยคิดต่อเถอะครูนงครับ 

ท่าน ผอ.อดิสอน ครับ

  • ขอบคุณที่เข้ามาอ่านตามที่ผมลิ้งค์ไว้ให้
  • เห็นด้วยว่าจะต้องเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ใหม่คน กศน. จะ shift จะไหวหรือเปล่าเนี่ย เพราะอิทธิพลของ กศ.ในระบบครอบอยู่เยอะ
  • ต้องจัดการกับ คน กศน.กันอย่างหนักเลยนะตามความคิดผม วางแผนระยะยาวไปเลย อาจเป็นแผน 10 ปี ก็ไม่แน่
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท