BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญามงคลสูตร ๓๘ : เป็นอยู่กับความลึกลับ (ต่อ)


ปรัชญามงคลสูตร

พรหมจรรย์ เป็นคำสันสกฤต ส่วนบาลีใช้ พรหมจริยา ทั้งสองคำนี้เป็นคำนามใช้แทนกิริยาอาการ... ถ้าเป็นคุณนามเพื่อขยายความบุคลจะใช้ว่า พรหมจารี .... ความหมายตามรูปศัพท์คำนี้ผู้เขียนเคยเล่าไว้แล้ว ผู้สนใจ ดู พรหมจารี.... อนึ่ง เฉพาะคำว่า พรหม ในฐานะเป็นอำนาจลึกลับ ผู้สนใจดู ปรัชญามงคลสูตร ๓๖ : เป็นอยู่กับความลึกลับ อีกครั้ง...

พรหมจรรย์ หรือ พรหมจริยา ตามคำภีร์ของพระพุทธศาสนามีการใช้หลากหลาย เช่น...

ข้อความตอนหนึ่งในวิธูรชาดก... พรหมจรรย์ บ่งชี้ถึง ทาน ดังนี้ 

... อนึ่ง ทานที่เราให้แล้วนั้นเป็นพรหมจรรย์ของเรา ดูกรท่านผู้มีปัญญา วิบากนี้ คือ ฤทธิ ความรุ่งเรือง ความเข้าถึงกำลังความเพียร และวิมานใหญ่นี้  ของเรา เป็นวิบากแห่งพรหมจรรย์นั้น ที่เราประพฤติดีแล้ว...

......

ความพอใจในภรรยาของตน (สทารสันโดษ) ก็ชื่อว่า พรหมจรรย์ ดังข้อความตอนหนึ่งในมหาธรรมปาลชาดกว่า...

.... เราทั้งหลาย ย่อมไม่นอกใจภรรยาทั้งหลาย และภรรยาทั้งหลายก็ไม่นอกใจเราทั้งหลาย เราทั้งหลายย่อมประพฤติพรหมจรรย์ในหญิงทั้งหลาย นอกจากภรรยาเหล่านั้น เพราะเหตุนั้นแล เราทั้งหลายจึงไม่ตายเมื่อยังหนุ่มๆ (สาวๆ).....

.........

อุโบสถศีล ก็ได้ชื่อว่า พรหมจรรย์ ดังข้อความตอนหนึ่งในนิมิชาดกว่า...

... บุคล ย่อมเข้าถึงความเป็นกษัตริย์ด้วยพรหมจรรย์ชั้นต่ำ ย่อมเข้าถึงความเป็นเทพด้วยพรหมจรรย์ชั้นกลาง ย่อมบริสุทธิ์ด้วยพรหมจรรย์ชั้นสูงสุด....

........

ส่วนในมงคลสูตร ท่านขยายความว่า พรหมจรรย์ คือ สมณธรรม ... นั่นคือ การบำเพ็ญสมณธรรม ได้แก่ การเป็นอยู่อย่างสงบ หรือการเป็นอยู่อย่างนักบวช ....

เมื่อพิจารณาผู้สูงอายุ การบำเพ็ญสมณธรรม ก็คือ การอยู่อย่างสงบ ไม่วุ่นวาย เกี่ยวข้องกับสิ่งโน้นสิ่งนี้ เว้นจากการร่วมประเวณีกับหญิงหนึ่งหรือชายใด... ตรึกตรองและพิจารณาตนเองอยู่แต่เรื่องอาการ ๓๒ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ... โดยพิจารณาเป็นสิ่งไม่สวยงาม มีความเกิดขึ้น แปรเปลี่ยน และสลายไป ... พิจารณาให้เห็นว่าไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นทุกข์ และมิใช่ตัวตนของเราที่จะบังคับให้เป็นไปได้ดังใจได้.... ทำนองนี้

ผู้สูงอายุ เมื่ออยู่กับพรหมจรรย์ โดยการบำเพ็ญสมณธรรม ตามทำนองนี้... สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ภายในใจก็ย่อมหลีกห่างจากความคิดเห็นของลูกหลานหรือผู้น้อยทั่วไป นั่นก็คือ การเป็นอยู่กับความลึกลับ นั่นเอง....

เพื่อให้พรหมจรรย์นี้เจริญก้าวหน้าต่อไป ผู้สูงอายุก็ต้องพิจารณาผลคือความทุกข์ที่เป็นอยู่ขณะนั้น ย้อนกลับไปหาเหตุเกิดของทุกข์เหล่านั้น.... ที่เรียกกันว่า การเห็นอริยสัจ ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าในตอนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 104232เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2007 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท