BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

พรหมจารี


พรหมจารี

คำนี้ก็มีใช้อยู่ทั่วไปในภาษาไทย คนทั่วไปหมายถึง การรักษาความบริสุทธิ์ทางเพศของหญิงหรือชาย (ดูเหมือนว่าเจาะจงที่หญิงมากกว่าชาย) ....สำหรับคำนี้ เป็นคำที่ก่อให้เกิดความปลื้มใจต่อผู้เขียนตอนแรกเริ่มเรียนบาลี ซึ่งพอจะเป็นนิทานได้ดังต่อไปนี้...

ย้อนหลังไปยี่สิบปี ผู้เขียนแรกเรียนบาลี...ขณะที่ผู้เขียนกำลังเดินตรึกปัญหาไวยากรณ์อยู่ตามลานวัด ก็มีรถโฆษณาภาพยนต์วิ่งผ่านมาตามถนนข้างวัด...พรหมจารีสีดำ เป็นชื่อของหนังเรื่องนั้น ...พรหมจารี นี้เป็นคำบาลีแน่นอน ผู้เขียนตั้งข้อสังเกต แล้วก็เริ่มแยกศัพท์ ...

พรหม คือ พระพรหม ถ้าจะแปลตามศัพท์ก็คือ ประเสริฐ

จารี มาจากรากศัพท์ว่า จร หมายถึง เที่ยวไป ประพฤติ...บวกกับ ณี ปัจจัย สำเร็จรูปเป็น จารี (จร+ณี-อี = จารี) แปลว่า ผู้ประพฤติ หรือผู้เที่ยวไป

ดังนั้น พรหมจารี ต้องแปลว่า ผู้ประพฤติประเสริฐ ....แต่ถ้าไม่แปล พรหม ว่า ประเสริฐ ...แปล พรหม ว่า พระพรหม ก็จะต้องแปลว่า ผู้ประพฤติพระพรหม ?....

ผู้ประพฤติพระพรหม ? ไม่ได้ใจความ (ผู้เขียนคิดต่อไป) ต้องเอาอุปมาเข้าไปใส่ด้วย ดังนั้น จะต้องแปลว่า ผู้ประพฤติเพียงดังพระพรหม หรือ ผู้มีการประพฤติเพียงดังพระพรหม ...น่าจะถูก ? (ผู้เขียนลงความเห็น) ต่อมา เมื่อมีโอกาสเรียนถามครูบาลี ท่านก็อธิบายตรงกับผู้เขียนคิด ...นั่น เป็นความปลื้มใจของผู้เขียนเมื่อแรกเรียนบาลี

อันที่จริง พรหมจารี เป็นระดับชั้นแรกของชีวิตตามนัยแห่งปรัชญาฮินดู ซึ่งเค้าได้แบ่งระดับชั้นแห่งชีวิตไว้ ๔ ขั้นด้วยกันคือ

๑. พรหมจารี คือ วัยเด็ก เป็นช่วงชีวิตที่ประเสริฐคล้ายกับพระพรหม หน้าที่ของวัยนี้ ก็คือการศึกษาเล่าเรียน โดยเฉพาะศึกษาบทร้อยกรองกล่าวสรรเสิรญพระเป็นเจ้า

๒. คฤหัสถ์ คือ วัยครองเรือน มีครอบครัว ศึกษาระเบียบประเพณี

๓. วนปรัสถ์ คือ การอยู่ป่า เมื่อครอบครัวมั่นคง มีลูกมีหลาน ก็ให้ปลีกตัวไปอยู่ป่า เสพความสงบสุขด้านจิตใจ ศึกษายํญพิธี มีการบูชาไฟ เป็นต้น

๔. สันยาสี คือ การสละโลก มอบทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกหลาน ตัวเองมีเพียงผ้าผืนเดียวติดกาย แล้วออกท่องเที่ยวขออาหารจากคนทั่วไปเพียงพออยู่ได้ ศึกษาโลกและชีวิตไปจนกว่าจะตาย

เมื่อคำนี้มาปรากฎในพระพุทธศาสนา พรหมจารี ก็คือ ผู้ออกบวชแสวงหาชีวิตประเสริฐ หรือสิ่งประเสริฐ (พระนิพพาน) ...ผู้เขียนก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าคำนี้ในภาษาไทยกลับมีความหมายว่า ผู้บริสุทธิ์ทางเพศ ตามนัยข้างต้นได้อย่างไร ?

หมายเหตุ

ยังมีอีกคำที่ใกล้เคียง คือ พรหมจรรย์ ซึ่งหมายถึง การประพฤติประเสริฐ คือ ข้อปฏิบัติของนักบวช นั่นเอง

คำสำคัญ (Tags): #พรหมจารี
หมายเลขบันทึก: 73516เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2007 19:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท