จริยธรรมการบริหารภาครัฐ


ชี้ผู้มีอำนาจมักไม่ออกกฎหมายลิดรอนกลุ่มตนเอง ไม่ต้องเปิดบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ

10 กรกฎาคม 2548    กองบรรณาธิการ

ลิงวันหยุดร้องเจี๊ยวจ๊าวสนั่นเมือง "ป๋าเปรม" ปาฐกถาจริยธรรมการบริหารภาครัฐ ชี้ผู้มีอำนาจมักไม่ออกกฎหมายลิดรอนกลุ่มตนเอง ยกตัวอย่าง "ผู้ช่วยรัฐมนตรี" ไม่ต้องเปิดบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ

  ยอมรับกฎหมายไม่สามารถอุดช่วงโหว่คอรัปชั่นโดยผู้นำได้  เพราะไม่ได้บังคับใช้ไปถึงครอบครัวเครือญาติ  ชี้ผลประโยชน์ทับซ้อนคือตัวอย่าง ถูกกฎหมายแต่ไร้จริยธรรม  ระบุผู้บริหารต้องไม่ลุอำนาจ  เบียดเบียนผู้อื่น ใช้ช่องว่างกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง นักวิชาการนิด้าเปิดผลวิเคราะห์การเมืองทศวรรษหน้า เผด็จการครองเมือง ชี้ยุคไทยรักไทยคอรัปชั่นเบ่งบานเชื่ออยู่ไม่ครบ 4 ปี กลุ่มปัญญาชนเริ่มไม่พอใจ
ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ   สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ  แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่องจริยธรรมของการบริหารภาครัฐ  ในวาระครบรอบ 50  ปี  คณะรัฐประศาสนศาสตร์  โดยกล่าวว่า  รัฐบาลออกคู่มือคำอธิบายและแนวทางปฏิบัติ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  พ.ศ. 2546  คำว่า การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  แปลมาจากคำว่า Good Governance ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน นิยามจริยธรรมว่า  ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ  ศีลธรรม  กฎศีลธรรม  ฉะนั้น จริยธรรมในความเข้าใจของคนไทยจากพจนานุกรม หมายความว่า คุณความดีที่พึงยึดเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ
รัฐบุรุษกล่าวว่าในตำราได้แบ่งจริยธรรมเป็น  2   มุมมอง ได้แก่  1.จริยธรรมตามหลักนิติรัฐ (ตามหลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรม  Rule  of Law) ยึดหลักการว่า การบริหารงานใดได้ดำเนินการถูกต้องตามตัวบทกฎหมาย ถือว่าการบริหารงานนั้นถูกต้องตามหลักจริยธรรม แนวคิดนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจมีปัญหาเรื่องความไม่ครอบคลุม  เพราะกฎหมายมักจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่เกิดปัญหา และเพื่อมิให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำอีก จึงออกกฎหมายมาบังคับใช้
ผู้มีอำนาจเขียน กม.เพื่อตัวเอง
ดังนั้นกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงไม่เพียงพอในการกำกับพฤติกรรมการบริหารงานให้อยู่ในกรอบของจริยธรรมได้ทุกกรณี นอกจากนั้นจริยธรรมตามหลักนิติรัฐยังมีจุดอ่อน   กล่าวคือ  ผู้มีอำนาจอาจจะละเว้นไม่ออกกฎหมายเพื่อลิดรอนสิทธิของกลุ่มตนเองก็ได้  ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อน เช่น นักการเมืองไม่จดทะเบียนกับคู่สมรส  เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายที่ระบุว่าคู่สมรส (สามี/ภรรยา) ของนักการเมืองต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ  นักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงสั่งการด้วยวาจาให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง   โดยตนเองไม่ต้องมีความรับผิดชอบ  การกำหนดตำแหน่งทางการเมืองที่มีอยู่นอกกรอบกฎหมาย
"เช่น ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีตำแหน่งนี้มิใช่ตำแหน่งทางการเมืองตามกฎหมาย ผู้ดำรงตำแหน่งจึงไม่ต้องเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณะ"
ประธานองคมนตรีกล่าวต่อว่า  มุมองที่ 2.จริยธรรมตามมาตรฐานจริยธรรม ยึดหลักความพยายามแสวงหาว่าด้วยความดีที่ยึดถือควรเป็นอย่างไร   แล้วนำมาใช้เป็นมาตรฐานจริยธรรม  กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติจริยธรรมตามมาตรฐานจริยธรรม จึงมีความครอบคลุมกว้างขวางกว่าจริยธรรมตามหลักนิติรัฐ  อย่างไรก็ตาม จริยธรรมตามมาตรฐานจริยธรรมมีจุดอ่อนที่สำคัญ  คือ ขาดบทบังคับการลงโทษเมื่อมีการละเมิด   เป็นความแตกต่างจากจริยธรรมตามหลักนิติรัฐ  ความจริงแล้วจริยธรรมของการบริหารมีมาตั้งแต่โบราณกาลในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์   มีหลักธรรมของพระเจ้าแผ่นดิน   ที่เรียกว่า  ทศพิธราชธรรม  นั่นคือจริยธรรมในการปกครองราชอาณาจักร  มีหลักธรรมที่เรียกว่า  จักรวรรดิวัตร คือวัตรของพระจักรวรรดิ  หรือพระจริยาที่พระจักรวรรดิพึงบำเพ็ญสม่ำเสมอ มี 12 ประการที่เป็นจริยธรรมเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันโลกาภิวัตน์ส่งผลให้ปัจจัยในการบริหารงานเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมาก   ก่อให้เกิดคำใหม่ๆ  เช่น รัฐชาติ (Nation state) รัฐตลาด (Market state) ประเทศพัฒนาแล้วได้สร้างระเบียบใหม่ของโลก (New  World  Order) เพื่อกำกับดูแลประเทศกำลังพัฒนา สร้างธนาคารโลก องค์การการค้าโลก  ให้มีบทบาทในการดูแลเงินกู้จากประเทศกำลังพัฒนา  เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศลูกหนี้จะใช้เงินไปอย่างถูกต้อง  ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง  และสร้างกติกาเพื่อควบคุม  เรารู้จักกติกานั้นกันในชื่อว่า Good   Governance   คำที่เรายังไม่มีคำแปลเป็นไทยอย่างเป็นทางการ  
พล.อ.เปรมบอกว่า   หลักสำคัญของ  Good  Governance  มี  5  ประการ  ได้แก่  1.Accountability  แปลว่า ความน่าเชื่อถือและมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน 2.Transparency แปลว่า ความโปร่งใส  3.Participation แปลว่า การมีส่วนร่วม 4.Predictability แปลว่า ความสามารถในการคาดการณ์ได้ และ 5.ความสอดคล้องของ 4 หลักการข้างต้น
องคมนตรีเผยว่า  ตำราฝรั่งอ่านแล้วน่าสนใจมาก  แต่การนำไปใช้กับการบริหารของเราอาจจะเหมาะในบางส่วน  และจำเป็นต้องเพิ่มแนวคิดที่เราได้รับมาจากประสบการณ์การบริหารเพิ่มเติมเข้าไป  เพื่อให้มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีที่สุดต่อการบริหารของเรา  ตนมีความเห็นว่าจะต้องพูดถึงคุณธรรมควบคู่กับจริยธรรม จะต้องใช้ 2 มุมมอง เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และเสริมซึ่งกันและกัน
"การพูดถึงการบริหารต้องพูดถึงผู้บริหาร   เพราะเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันบางกรณีเป็นเรื่องเดียวกัน   จริยธรรมของการบริหารภาครัฐจะไม่มีทางเกิดผลสำเร็จได้ถ้าผู้บริหารไม่มีจริยธรรม  อนึ่ง การที่ประเทศต่างๆ  ทั้งที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว  เช่น สหรัฐอเมริกายังให้ความสำคัญของจริยธรรม   เพราะเชื่อว่าการบริหารที่ยึดหลักกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการที่ดีได้  และจริยธรรมของการบริหารงานภาครัฐ  ย่อมนำไปใช้ในการบริหารงานภาคเอกชนได้ด้วย"
พล.อ.เปรมยังบอกว่า การใช้จริยธรรมและคุณธรรมในการบริหารงานภาครัฐและภาคเอกชน   ผู้บริหารจะต้องมีจิตสำนึกที่จะนำสิ่งที่ดีไปใช้  และขจัดสิ่งที่ไม่ดีให้หมดไป  สิ่งเหล่านี้คือ  1.ความซื่อสัตย์ เป็นจริยธรรมทั้งของการบริหารภาครัฐและของผู้บริหาร   ความซื่อสัตย์ในการบริหารงานคือ  ความซื่อสัตย์ของผู้บริหาร   ความซื่อสัตย์ไม่ได้หมายถึงการประพฤติปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น  แต่ต้องถูกต้องตามจริยธรรมและศีลธรรมด้วย   ความซื่อสัตย์มิได้หมายเฉพาะตนเองมีความซื่อสัตย์เท่านั้น   แต่หมายถึงต้องควบคุมให้คนรอบตัวเรา  มีความซื่อสัตย์  การบริหารและผู้บริหารไม่ซื่อสัตย์  เพราะมีกิเลสก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ  องค์กร  องค์การใด  ผู้บริหารมีกิเลสต้องขจัดด้วยหิริโอตตัปปะ
ผลประโยชน์ทับซ้อน-ผู้นำลุอำนาจ
2.กฎหมาย  เป็นที่ยอมรับกันว่า กฎหมายไม่สามารถอุดช่องโหว่การบริหารของผู้บริหารที่จะแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ   กฎหมายวางมาตรฐานขั้นต่ำของการประพฤติมิชอบไว้เท่านั้น   แต่มาตรฐานทางจริยธรรมในเรื่องของการประพฤติชอบและความซื่อสัตย์นั้นสูงกว่ากฎหมาย ในบางเรื่องกฎหมายเขียนว่าไม่ผิด   แต่เมื่อเอามาตรฐานทางจริยธรรมมาจับก็อาจถือว่าผิดได้  เช่น เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน   กฎหมายบัญญัติไว้เฉพาะเรื่องของตนเอง  แต่ไม่ได้ห้ามไปถึงครอบครัวและญาติพี่น้อง จึงมีการกล่าวกันว่ากฎหมายบางฉบับไม่เป็นธรรม
3.ความเป็นธรรม  บอกยากว่าความเป็นธรรมคืออะไร บ้างว่าความเป็นธรรมอยู่ที่กฎหมาย ถ้าทำถูกกฎหมายก็ถือว่าเป็นธรรม  บ้างว่าความเป็นธรรมอยู่ที่จิตสำนึกของผู้บริหารก็ไม่น่าจะถูกนัก  เพราะผู้บริหารลำเอียงได้  บ้างก็ว่าถ้าคนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์สูงสุดถือว่าเป็นธรรม คนด้อยโอกาส คนที่เสียเปรียบในสังคมให้คนเหล่านั้นสามารถพัฒนาฐานะทางเศรษฐกิจและสภาพทางสังคมสูงขึ้น   อย่างมีหลักการและเหตุผล  ผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงและมีความได้เปรียบอยู่แล้ว  ควรจะต้องยอมเสียประโยชน์บ้าง  รัฐธรรมนูญปัจจุบันมาตรา 30 วรรค 4 บัญญัติว่า "มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลอื่น" ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม  ตนเห็นว่าในความเป็นธรรมต้องมีความยุติธรรมอยู่ด้วย  ผู้บริหารจะต้องไม่ลุแก่อำนาจใช้อำนาจเบียดเบียนผู้อื่น  ใช้ช่องว่างของกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ตนเอง ผู้บริหารจะต้องมีมาตรฐานในการบริหารเพียงมาตรฐานเดียวไม่ใช่สองมาตรฐาน หรือหลายมาตรฐาน เพื่อนำไปปฏิบัติต่างกรรมต่างวาระกัน เช่น ใช้กับญาติพี่น้อง คนใกล้ชิด หรือไม่มีมาตรฐานเลย นึกจะทำอย่างไรก็ทำเพราะมีอำนาจ
4.ประสิทธิภาพ  เป็นเรื่องเข้าใจง่ายและจริยธรรมของการบริหารงานที่ถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องนี้   คือ  ในตัวประสิทธิภาพเองอาจไม่สอดคล้องกับจริยธรรม กรณีจะเลือกอะไร สำหรับผมเลือกจริยธรรม  เพราะผมเชื่อว่า  เราสามารถหาหนทางที่จะให้ประสิทธิภาพไปด้วยกันได้กับจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความซื่อสัตย์ ความโปร่งใส หรือความเป็นธรรม 5.ความโปร่งใส เป็นเรื่องเข้าใจง่ายและเป็นจริยธรรมของการบริหารงาน  เช่นเดียวกัน  ปัจจุบันมีการเรียกร้อง เรียกหาความโปร่งใสกันมาก เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการบริหารภาครัฐได้   เรามีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร   บัญญัติให้รัฐเปิดเผยข้อมูลอันเป็นสาธารณประโยชน์แก่ประชาชน การหลีกเลี่ยงไม่เปิดเผยข้อมูลถือได้ว่าขัดจริยธรรม
6.ความมั่นคงของรัฐ เราใช้จริยธรรมในการบริหารเพื่อผลประโยชน์ของรัฐ ความมั่นคงของรัฐคือผลประโยชน์ของรัฐอย่างหนึ่ง   การใช้จริยธรรมในการบริหารความมั่นคงอาจจะกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชน  จึงจำเป็นต้องหาความสมดุลให้ได้  ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงมีอยู่และอาจจะคงมีต่อไป   เพราะผู้บริหารอาจจะยังหาความสมดุลไม่พบ 
7.ค่านิยม มีผลกระทบโดยตรงต่อจริยธรรม ค่านิยมของคนไทยที่ชัดเจนในปัจจุบัน คือ ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าความร่ำรวยสามารถสร้างชื่อเสียง   เกียรติยศ   และฐานะได้  จึงมีคนจำนวนไม่น้อยรีบสร้างความร่ำรวย โดยไม่แยแสต่อจริยธรรมและที่แปลกแต่จริง และเป็นอันตรายอย่างยิ่ง คือ เรามักจะนิยมยกย่องคนร่ำรวยว่าเป็นคนดี น่าเคารพนับถือ โดยใส่ใจว่า เขาเหล่านั้นร่ำรวยมาด้วยวิธีใด และดูหมิ่นคนจนต่างๆ นานา เพราะคนเหล่านั้นมอซอ พูดไม่เพราะ มีความรู้น้อยไม่อยากคบหาสมาคมด้วย ตราบใดที่เหม็นสาบคนยากคนจน ยังร้องเพลง "กอดกับคนจน หน้ามนต์ยังบ่นว่าเหม็น" ไม่มีทางแก้ปัญหาความยากจนสำเร็จ
สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าไม่มีในตำรามาเล่าสู่กันฟังก็คือ  ความรัก  มีคำกล่าวกันว่า ความรักเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  เป็นความปรารถนาดีเป็นความห่วงอาทร  ใครก็ตามที่มีความรักย่อมมุ่งพยายามที่จะให้สิ่งที่เรารักมีความสุข   มีความเจริญ  มีความมั่นคง  เช่น ความรักของพ่อแม่ลูก องค์การก็ทำนองเดียวกัน ถ้าเรารักองค์การ เราจะปรารถนาดี เราจะมุ่งมั่นเพื่อองค์การ เราจะมุ่งมั่นนำจริยธรรมและคุณธรรมไปใช้ในการบริหารองค์การ  ผมขอยืนยันว่าจะทำการสิ่งใด ถ้าเราไม่มีความรักในสิ่งนั้น ก็ป่วยการเปล่า ไม่มีทางสำเร็จ  ผู้บริหารใดมีความรักองค์การของตน  จะใช้จริยธรรมในการบริหารและจะได้รับผลสัมฤทธิ์เป็นเลิศ
ย้ำรับสั่งสละความคิดจิตใจที่ต่ำทราม
องคมนตรีกล่าวว่า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาท  เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2548 ความตอนหนึ่งว่า "ข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานของแผ่นดิน จะต้องรู้ตระหนักในการเสียสละอันได้แก่การสละสำคัญสองประการ คือ  สละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่ยิ่งใหญ่   และเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตัวประการหนึ่ง กับสละความคิดจิตใจที่ต่ำทรามต่างๆ อีกประการหนึ่ง จึงจะเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของคนทั้งปวง และสามารถดำรงตำแหน่งหน้าที่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีความมั่นคงตลอดไป" ผมมั่นใจว่าถ้าคนไทยรับพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสไว้เหนือเกล้าฯ และนำไปประพฤติปฏิบัติ  การกระทำใดๆ ย่อมบังเกิดผลดี ผลสำเร็จ เป็นคุณและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง
ดร.สมบัติ  ธำรงธัญวงศ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)  กล่าวถึงผลวิเคราะห์เรื่อง  "ทิศทางการปฏิรูปการเมืองไทยในทศวรรษหน้า"  ว่ายุคของการปฏิรูปการเมืองไทยได้ก้าวมาเกือบทศวรรษ   ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ามีการเปลี่ยนแปลงการเมืองอย่างโดดเด่นหลายประการ  เช่น 1.การเปลี่ยนแปลงของระบบพรรคการเมืองจากหลายพรรคเข้าสู่ระบบสองพรรค 2.การมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูง มีเสียงข้างมาแบบเด็ดขาด และ 3.การเลือกตั้งสองครั้งที่ผ่านมา นโยบายประเภทประชานิยมมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจของประชาชน
นอกจากการเปลี่ยนแปลงที่โดดเด่นแล้วยังเกิดปรากฏการณ์ในด้านลบตามมา   คือ 1.ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ   โดยนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นสมาชิกพรรครัฐบาลได้ทุกกรณี   2.หัวหน้าพรรคมีอำนาจสิทธิขาดเหนือสมาชิกภาพของ  ส.ส.โดยเฉพาะเงื่อนไขการเป็นสมาชิกพรรคอย่างน้อย  90 วันก่อนการเลือกตั้ง ทำให้สมาชิกของพรรคไม่มีโอกาสท้าทายอำนาจใดๆ ได้เลย 3.การครอบงำวุฒิสภา   ปัจจุบันปรากฏชัดเจนว่ามี  ส.ว.ฝ่ายรัฐบาลมากกว่าครึ่งหนึ่ง   ถึงแม้จะไม่มีผู้ยอมรับในทางนิตินัยก็ตาม 4.การครอบงำองค์กรอิสระ 5.เกิดเผด็จการจากการเลือกตั้ง เพราะนายกฯ มีอำนาจสูงสุดทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ แต่มีความชอบธรรมมากกว่าเผด็จการทหารที่มาจากการปฏิวัติ
ดร.สมบัติกล่าวว่า   ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นยังห่างไกลการปฏิรูปการเมืองมาก  ถึงกลับกล่าวกันว่าเลวร้ายกว่าที่คิดกันมาก ซึ่งเป็นผลมาจากความอ่อนแอของระบบการเลือกตั้ง อิทธิพลของฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้ง อิทธิฤทธิ์ของการซื้อสิทธิ์ขายเสียง และผลเสียจากการแจกใบแดงใบเหลือง
ทศวรรษหน้าเลือกนายกฯ โดยตรง
"ภายใต้สภาพการณ์ที่ระบบการเมืองการบริหารมีความโปร่งใสต่ำ ความไม่ไว้วางใจต่อการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของรัฐบาลขยายตัวมากขึ้น และอาจนำไปสู่การขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นหลักประกันการเสริมสร้างระบบการเมืองการบริหารที่โปร่งใสในอนาคต  โดยประเด็นที่จะขับเคลื่อนคือ  1.เสริมสร้างการถ่วงดุลอำนาจระหว่างบริหารกับนิติบัญญัติ 2.การเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง 3.การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยไม่ต้องมีเงื่อนไข 90 วันก่อนการเลือกตั้ง" นักวิชาการผู้นี้กล่าว
ดร.สมบัติวิเคราะห์การเมืองในทศวรรษหน้าว่า การเสนอความรู้ให้กับประชาชน จะทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการเมืองและเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น   และจะเกิดกระแสเรียกร้องให้มีการถ่วงดุลอำนาจมากขึ้น  จนทำให้นำไปสู่การรียกร้องให้เลือกนายกฯ โดยตรง แต่ไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี
นอกจากนี้ ดร.สมบัติยังกล่าวถึงเสถียรภาพของรัฐบาลในปัจจุบันว่า ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รมว.คมนาคม ส.ส.ส่วนใหญ่กว่า 300 เสียงก็ยกมือให้นายสุริยะ ปรากฏการณ์นี้ถือว่ามีเสถียรภาพเฉพาะด้านตัวเลขเท่านั้น  แต่การเมืองในความเป็นจริงเสถียรภาพของรัฐบาลขึ้นอยู่กับประชาชน   ถ้ารัฐบาลไม่ได้รับศรัทธาจากประชาชน การมีเสียงสนับสนุนจำนวนมากก็ไม่มีความหมาย   ยกตัวอย่างประธานาธิบดีฟิลิปปินส์หลายคนที่ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น  แต่ก็ถูกประชาชนขับไล่ในภายหลัง  ล่าสุด  นางกลอเรีย อาร์โรโย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ก็ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น  แต่ก็มีปัญหาในภายหลัง เพราะพัวพันกับการคอรัปชั่นก็เริ่มที่จะอยู่ลำบาก เนื่องจากประชาชนไม่พอใจ
"แม้รูปแบบการปกครองของฟิลิปปินส์กับไทยจะไม่เหมือนกัน ปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลไม่เคยขึ้นอยู่กับเสียงสนับสนุนในสภา แต่สิ่งที่ชี้ขาดในที่สุดคือประชาชน และปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด  ความไม่โปร่งใสในการบริหาร รัฐบาลของคุณทักษิณก็เช่นกัน ถ้าปล่อยให้เรื่องทุจริตซีทีเอ็กซ์ ลำไย  กล้ายาง  และชี้แจงสวนความรู้สึกประชาชนไปเรื่อยๆ อีกสองสามครั้งติดๆ กัน การพูดถึง 4 ปีนานเกินไป เพราะมันอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดฝันก่อนก็ได้  ขณะนี้กลุ่มปัญญาชน ซึ่งเป็นกลุ่มกำลังในการเปลี่ยนรัฐบาลทุกชุด  เริ่มไม่พอใจ  เพราะประชาชนต้องมีทางออก  ถ้าในสภาไม่มีทางออก เพราะไม่เป็นที่พึ่งของประชาชนในการตรวจสอบ  สิ่งที่เหมือนกันทุกที่ในโลกคือประชาชนจะเข้ามาใช้อำนาจโดยตรง และรวมตัวมากดดันคุณ" อดีตผู้นำนักศึกษาเดือนตุลากล่าว
"ปุ" ชี้รัฐบาลหลงตัวเองมีความเสี่ยง
ร.ต.อ.ปุระชัย  เปี่ยมสมบูรณ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ครึ่งศตวรรษ : คนและองค์การ" ตอนหนึ่งว่า ในพุทธศาสนายกย่องคน   2  ประเภท คือ  คนที่มาสว่างแล้วไปสว่าง   และบุคคลที่มามืดแล้วไปสว่าง   แต่ไม่ยกย่องบุคคลที่มาสว่างแล้วไปมืด  กับบุคคลที่มามืดแล้วไปมืด  ยิ่งอายุมากยิ่งต้องระวัง   เพราะชีวิตไม่เหมือนกับการวิดีโอ  มันรีไวร์กลับไม่ได้   พลาดพลั้ง  โดยเฉพาะเรื่องร้ายแรงจะทำชีวิตไปมืด และคนสูงอายุจะต้องควบคุมกาย  วาจา ใจ ให้ดี อย่ากลายเป็นนักเลงใจร้อน   เป็นคนที่มองหาโสเภณีเด็ก   เป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก  คนเรายิ่งอายุมากขึ้นจะต้องระวังและรอบคอบให้มากขึ้น ต้องรู้จักให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ให้เพื่อให้เกิดผลแก่ผู้รับในระยะยาวไม่ใช่ระยะสั้น
"สังคมนี้  ประเทศนี้  กำลังต้องการแบบอย่างที่มีตัวตน  ไม่ใช่พูดอย่างทำอย่าง  ไม่ใช่แบบดอกเตอร์จิงกิน ที่กลางคืนก็เป็นหมอแสนดี กลางคืนก็เป็นฆาตกรฆ่าต่อเนื่อง คนเหล่านี้จะมีความขัดแย้งในตัวเองมาก ดังนั้น  จึงควรหลีกเลี่ยงการเป็นคนประเภทนั้น" ร.ต.อ.ปุระชัยกล่าว
อดีตรองนายกฯ บอกว่า  ในส่วนขององค์การมีปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญ คือ  1.การต่อต้านการเปลี่ยนแปลง  2.ความสำคัญตัวผิดขององค์การ คือการยึดเอาองค์การเป็นวัตถุประสงค์แทน คิดว่าหน่วยงานสำคัญที่สุด  ไม่มีใครเหนือกว่า  เช่น  กรมคิดว่าตัวเองสำคัญกว่ากระทรวง  บางรัฐบาลสำคัญตัวผิดว่าเหนือกว่าประเทศชาติและประชาชน  3.การไม่ใยดีต่อความคิดริเริ่ม การทดลอง และนวัตกรรม 4.ขาดการวางแผนในระยะยาว  และ  5.การไม่ให้ความสำคัญแก่คนที่ทรงคุณค่าในองค์กร แต่ละคนในองค์การเสียสละ  ทุ่มเท ภักดีต่อองค์การไม่เท่ากัน บางคนเป็นผู้รับมากกว่าผู้ให้ องค์การจึงต้องรู้จักจำแนก ลงทุน และให้รางวัลแก่บุคคลในระดับที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ชั่วก็ต้องชี ดีก็ต้องสงฆ์
"หนักหนาไปกว่านั้นคือบุคลากรบางคนทำตัวเหมือนมอดเหมือนปลวก ที่กัดกินองค์การที่ตัวเองสังกัด หากไม่กำจัด องค์การจะเสื่อมลงและล่มสลายในที่สุด บางองค์การใช้ระบบอุปถัมภ์เป็นหลัก ให้ความสำคัญในฐานะเครือญาติภายในองค์การ แทนที่จะให้ความสำคัญแก่ผลงานและความทุ่มเทเสียสละต่อองค์การ ดังนั้น  คนที่ทุ่มเทเสียสละแก่องค์การก็จะเสียกำลังใจ  ท้อแท้ และจากองค์การไปในที่สุด เป็นความสูญเสียที่ใหญ่โตยิ่งกว่าเงินทองใดๆ ทั้งสิ้น" ร.ต.อ.ปุระชัยกล่าว.

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10378เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2005 09:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 11:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท