beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

Storytelling (Success story) ของนักดาราศาสตร์ ประถมเจ็ด


พอได้ดูท้องฟ้ากับดาวหางวันนั้นมันสวยมาก ดาวมันเต็มฟ้าไปหมดแล้วก็มีดาวหาง ซึ่งหัวของมันอยู่ที่ขอบฟ้า หางยาวไปถึงครึ่งฟ้า สว่างมากสวยมาก

    เมื่อวันก่อน (19 ธันวาคม) ผมได้มีโอกาสชมรายการ VIP ทางช่อง modernnine หรือช่อง 9 ตอนประมาณ 3 ทุ่ม มีการสัมภาษณ์ คุณวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ซึ่งเรียนจบ (อย่างเป็นทางการ) แค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 เท่านั้น แต่ที่บ้านของเขาทำเป็นหอดูดาวที่มีมูลค่าประมาณ 3 ล้านบาท

    ผมได้ดูรายการตั้งแต่ต้นจนจบแต่ไม่ได้เขียนบันทึกเอาไว้ แต่ก็อยากจะเขีนนบันทึกเรื่องราวเอาไว้ เผื่อคนไม่ได้ดูรายการจะได้อาศัยอ่านได้ ผมเลยต้องเข้ามาดูและฟัง VDO clips รายการ VIP ผ่านทาง web ของ modernnine ที่ผมทำเว็บลิงค์เอาไว้ ท่านผู้อ่านอาจเข้าที่ web link ของผมหรือเข้าได้ที่นี่ http://hiptv.mcot.net/# 

    เพื่อจะถ่ายทอดเรื่องราวของแขกวีไอพีรายนี้ ขอบรรยายประวัติด้วยภาพก่อนนะครับ

 

   

 

ภาพที่ 1  คุณวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต แขกรับเชิญในรายการ VIP นักดาราศาสตร์ที่จบแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 7

ภาพที่ 2 หนังสือ/ตำราดาราศาสตร์เล่มแรกของคุณวรวิทย์ พิมพ์โดยโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช สมัยนั้นราคาเล่มละ 5 บาท  
       

     คุณวรวิทย์ เล่าชีวิตของตัวเองว่าเป็นคนฉะเชิงเทรา ปัจจุบันมีกิจการส่วนตัวคือค้าขาย  ชีวิตวัยเด็กก็เหมือนเด็กบ้านนอกทั่วไปที่ไม่รู้อะไรเลย  แต่จุดเปลี่ยนของชีวิตเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2508 ตอนนั้นมีอายุได้ 12 ปี เมื่อมีดาวหางที่นักดาราศาสตร์ชาวญี่ปุ่นเป็นคนค้นพบ มีชื่อว่า "Ikeya-seki"  โดยมีแม่ค้าขายหมูที่อยู่ข้างบ้านซึ่งปกติเขาตื่นเช้าอยู่แล้ว เพราะเป็นอาชีพที่ต้องตื่นเช้า มาบอกว่ามีดาวหางดวงหนึ่งเห็นได้ตอนเช้ามืดสวยมาก ให้ลุกขึ้นมาดู

    เด็กชายวรวิทย์ก็สนใจอยากดูบ้างแต่ไม่เคยตื่นเช้า เลยบอกให้แม่ค้าช่วยปลุกให้ แม่ค้าก็เลือกวันที่ดาวหางสวยมากแล้วปลุกเด็กชายวรวิทย์ขึ้นมาดู

     "พอได้ดูท้องฟ้ากับดาวหางวันนั้นมันสวยมาก ดาวมันเต็มฟ้าไปหมด แล้วก็มีดาวหาง ซึ่งหัวของมันอยู่ที่ขอบฟ้า หางยาวไปถึง ครึ่งฟ้าสว่างมากสวยมาก ผมก็งงครับ ตื่นตะลึงแล้วก็สนใจและสงสัยมาตั้งแต่บัดนั้นมาว่าไอ้ดาวหางนี้มันคืออะไร"

     ดาวหางซึ่งนานๆ จะได้เห็นสักครั้ง และความสวยของมัน ก็ได้ทำให้เด็กชายวรวิทย์ตกหลุมรักหรือมีความสนใจใฝ่รู้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เพราะว่าหลังจากวันที่ได้ดูดาวหางครั้งแรกแล้ว ก็จะตื่นขึ้นมาดูเองอีกหลายคืน "หางดาวหางงอได้ แตกเป็น 2 หางก็ได้ มีการเปลี่ยนแปลงได้"

     เมื่อดาวหาง "อิเคยา-เซกิ" มาจุดชนวน สิ่งแรกก็คือต้องพยายามดิ้นรนหาหนังสือเพื่อหาความรู้ แต่หนังสือดาราศาสตร์สมัยนั้นหายาก เด็กชายวรวิทย์ก็ไปได้หนังสือ "ดาราศาสตร์ง่ายๆ" (ภาพที่ 2)

    พิธีกร (คุณญาณี) ถามว่า ในเมื่อสนใจดาราศาสตร์ก็เป็นคนที่ใฝ่รุ้ แต่ทำไมถึงไม่เรียนต่อ

    คุณวรวิทย์ตอบว่า "สมัยนั้นบ้านนอก สูงสุดของการเรียนคือชั้นป.7 ถ้าเรียนต่อก็ต้องเข้าไปเรียนในเมือง ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ ที่บ้านก็ฐานะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ โอกาสที่จะเข้าโรงเรียนประจำลำบากมาก เพราะค่าใช้จ่ายมันสูง เลยไม่มีโอกาสได้เข้าเรียน"

   พอไม่มีโอกาสได้ไปเรียน ก็เริ่มอาชีพจากเป็นช่างเย็บผ้าก่อน(ตัดเสื้อผ้า) เพราะเป็นอาชีพที่ทางบ้านทำอยู่ก่อน แล้วก็ขายของไปด้วย ชื่อร้าน "ล.ภูษา" ของที่ขายก็เป็นของชำหรือของเบ็ดเตล็ดทั่วไปเช่น รองเท้า ถุงเท้า เข็มขัด เป็นต้น (ภาพที่ 3)

 

  ภาพที่ 3  ร้าน ล.ภูษา ร้านที่คุณวรวิทย์เริ่มต้นอาชีพเย็บผ้าและขายของ  ภาพที่ 4  กล้องดูดาวอันแรกๆ ที่คุณวรวิทย์ประดิษฐ์ขึ้น หมุนได้ 360 องศา ราคาเพียง 500 บาท

     พอมาขายของตอนกลางวัน ทำให้ตอนกลางคืนมีเวลา ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่า "กิจการเป็นของเราเอง"

    คุณวรวิทย์เล่าต่อว่า "ขายของตอนกลางวัน พอตอนกลางคืนก็ไม่เที่ยวไม่เตร่ ใช้เวลาส่วนหนึ่งมองท้องฟ้า"  และโดยเหตุที่หลังคาบ้านเด็กชายวรวิทย์มีส่วนที่เป็นแนวราบอยู่หน่อยหนึ่ง เขาก็เลยเอากระดาษหนังสือพิมพ์ไปปูก่อน แล้วนอนดูดาวอย่างสบายเลย เอาตำราขึ้นไปดูเทียบกับดาวบนท้องฟ้า คือ ถึงตำราไม่ดีแต่ห้องเรียนดี (คือท้องฟ้า) ไฟฟ้ายังไม่มีก็เห็นแต่ดาว

    ต่อมาก็ต้องหาอุปกรณ์สำหรับดูดาว ก็คือกล้องดูดาว แต่อุปกรณ์บ้านนอกหาลำบากอยู่แล้ว "เริ่มต้นก็เลียบเคียงจากแว่นตาของแม่เลย เพราะคุณแม่มีแว่นหลายอัน ขอแม่มา เลือกอันที่มีโฟกัสยาวๆ โดยเอาส่องกับแสงแดด พอได้มาก็เอามาหักขาออกเอาแต่เลนส์มา"

    กล้องดูดาวอันแรกที่เด็กชายวรวิทย์ประดิษฐ์ขึ้นมาจึงประกอบด้วย เลนส์แว่นตา+แว่นขยาย+กล่องใส่ลูกแบด(มินตัน)กระดาษ ที่เลื่อนเข้าออกได้ "ใช้แว่นตาเป็นเลนส์วัตถุ ส่วนแว่นขยายใช้เป็นเลนส์ตา"

    พอปี 2513 ดาวหางมาอีก 1 ดวง ชื่อ "ดาวหาง Bennett" ก็มีกล้องดูดาวทำเองเป็นอุปกรณ์สำหรับดูดาว แล้วก็ใช้วิธีการเดิมคือ "ไปนอนดูดาวบนหลังคา"

    คุณวรวิทย์ได้โชว์กล้องดูดาวที่ทำเอง ซึ่งสามารถหมุนได้ 360 องศาและหมุนได้รอบตัว (ภาพที่ 4) ราคาเพียง 500 บาท (เทียบกับกล้องเมืองนอกราคาหลายแสน) ถึงคุณภาพสู้ของนอกไม่ได้ (จุดอ่อนอยุ่ที่เลนส์) แต่ก็สามารถขยายได้ถึง 50 เท่า ดูดวงจันทร์ได้ (เห็นผิวดวงจันทร์) ดูดาวพฤหัสได้ ประกอบด้วยท่อพีวีซี และเลนส์ซึ่งซื้อมาจาก ศึกษาภัณฑ์ ส่วนขากล้องทำมาจากเสาทีวีที่หัก ขาตั้งกล้องทำมาจากขาตั้งร่มสนาม

    พิธีกร (ญาณี) ถามว่า การที่เรียนต้วยตัวเองและจากตำรา ซึ่งไม่มีครู ไม่เหมือนกับการเรียนในมหาวิทยาลัยซึ่งมีครูให้ซักถาม ทีนี้จะทราบได้อย่างไรว่าที่ดาวที่เราดูและสงสัยอยู่จะเป็นดาวที่ถูกต้อง อาจารย์ (วรวิทย์) ทราบได้อย่างไร

    คุณวรวิทย์ "เมื่อผมศึกษาตำแหน่งของดาวดาวต่างๆ แล้ว ก่อนที่จะถึงขั้นถ่ายภาพ จะต้องทดสอบก่อน (เทียบกับตำรา) คือเมื่อใช้กล้องดูดาวแล้ว ต้องมาเทียบกับแผนที่ดาวตรวจสอบให้ถูกต้อง" (ภาพที่ 5)

     ต่อมาทางทีมงานได้พาไปดูบ้านคุณวรวิทย์ ซึ่งเป็นบ้านปัจจุบัน ทำเป็นหอดูดาว ราคารวมทั้งกล้องดูดาวด้วยประมาณ 3 ล้านบาท หลังคาหอดูดาวจะเปิดได้ เป็นหลังคาซึ่งออกแบบเอง เป็นภูมิปัญญาของคุณวรวิทย์ (ภาพที่ 6 และ 7)

     
 
   ภาพที่ 5 ภาพแผนที่ดาวแสดงตำแหน่งของดาวในท้องฟ้า  ภาพที่ 6 ภาพหลังคาบ้านคุณวรวิทย์หรือหอดูดาวซึ่งเปิดได้อัตโนมัติ (มีปุ่มกด)

    ต่อมาก็พูดเรื่องฝีมือการถ่ายภาพของคุณวรวิทย์ เริ่มจากคุณวรวิทย์เมื่อดูดาวไปนานๆ ก็เริ่มเบื่อการดูดาว (อย่างเดียว) แล้วก็เลยคิดจะถ่ายรูปดาว ต้องศึกษาหาความรู้จากตำราต่างๆ การถ่ายรูปดาวจะยากมาก เพราะต้องอาศัยจังหวะเวลา ตัวอย่างภาพถ่ายดาวที่คุณวรวิทย์นำมาออกรายการชมได้จากด้านล่างนี้ครับ (ภาพที่ 8,9,10,11 และ 12)

     
   
   ภาพที่ 7 ภาพของกล้องดูดาวที่บ้านคุณวรวิทย์  ภาพที่ 8 ภาพถ่ายดวงจันทร์บังดาวเสาร์
     
 
   ภาพที่ 9 ภาพสุริยุปราคา Dimond ring ภาพที่ 10 ภาพสุริยุปราคม Corona
     
   

  ภาพที่ 11 ภาพดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี ภาพที่ 12 ภาพที่เป็น Hilight ของคุณวรวิทย์ เพราะถ่ายไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากมีดวงอาทิตย์แหว่ง, มีนกเหยี่ยวตัวใหญ่และภาพวิวต้นไม้อยู่ในภาพเดียวกัน

   "ถึงวันนี้ ถ้าดูดาวด้วยตาเปล่าตั้งแต่ปี 2508 ก็ 40 ปี ถ้าใช้กล้องดูดาวถ่ายภาพก็ 15 ปี ถ้าอยู่บนท้องฟ้าหยิบกล้องดูดาวก็ประมาณ 1900 ชั่วโมง"

    พิธีกร (คุณพอล) ถามว่าการดูดาวให้อะไรที่ VIP กับอาจารย์ "สิ่งที่ดูดาวครั้งแรกไม่เคยคิดจะเอาอะไรจากดาว แต่เมื่อมีความเชี่ยวชาญมีความเข้าใจในศาสตร์แล้ว มันเริ่มจะรู้ว่ามันมีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อเยาวชนทั้งประเทศ วิชานี้มีค่าประเมินไม่ได้ "คุณวรวิทย์ตอบอย่างภาคภูมิใจ

***********************************************************

                               

หมายเลขบันทึก: 10234เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2005 05:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
เป็นตัวอย่างการเรียนรู้ด้วยตนเองที่ดีมากคะ ขอบคุณอาจาย์มากคะที่เขียนมาให้ได้อ่านกัน :)
   ได้เพิ่มเติมประโยคสุดท้าย ที่มีความสำคัญไว้แล้วครับติดตามอ่านกันได้....

ชอบธรรมะ  ตลก  ของพระมหาสมปอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท