ลุงหมัดหัวใจโตกับรอยยิ้มก่อนสิ้นลม


รูปธรรมของการดูแลแบบองค์รวม H O L I S T I C

ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้เยี่ยมให้คำปรึกษาโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา ขอเอ่ยชื่อโรงพยาบาลนะคะ ท่านผอ.ได้เล่าเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมให้ฟัง ซึ่งอาจจะเป็นรูปธรรมที่เป็นตัวอย่างให้รพ.อื่นๆได้ เรื่องมีดังนี้ค่ะ

ลุงหมัดเป็นคนไข้ประจำที่รพ.จะนะ เข้าออกรพ.จนเจ้าหน้าที่ทุกคนรัก ทุกครั้งที่มารพ.จะมาด้วยอาการเหนื่อยหอบ เท้าบวมขาบวม ต้องนอนหมอนสูงหรือนั่งฟุบกับโต๊ะจึงจะพอหลับได้ นอนรพ.ครั้งหนึ่งมักจะนอนนานเกินหนึ่งสัปดาห์ ลุงหมัดและญาติเป็นคนไข้ที่ดีมาก ไม่มีปัญหาใดๆกับแพทย์ พยาบาล มีความเกรงใจเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลมาก อาจเรียกได้ว่ามากจนเกินไป
            ลุงหมัดได้รับการวินิจฉัยโรคมาจากรพ.ใหญ่ว่า เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจโต ซึ่งหมอที่นั่นบอกมาว่าไม่มีทางรักษาให้หายแล้ว ให้กินยาประคับประคองอาการไปเรื่อยๆ จึงไม่นัดแล้ว หากช่วงไหนเหนื่อยมาก ก็ให้มารักษาที่รพ.ใกล้บ้าน ลุงหมัดก็เข้าใจในชีวิตที่มีเวลาเหลือน้อยเต็มที และมารับยาขับปัสสาวะกินเป็นประจำที่รพ.จะนะ
            ในระยะหลังๆ ลุงหมัดมีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น เหนื่อยง่าย เดินไปห้องน้ำกลับมาบางครั้งก็เหนื่อยมาก จึงต้องแวะเวียนเข้าออก รพ.บ่อยครั้ง ที่รพ.จะนะเคยได้เอกซเรย์ปอดและหัวใจของลุงหมัด พบว่าหัวใจโตมาก โตเหมือนลูกมะพร้าว มีภาวะหัวใจวายและน้ำเกิน ต้องนอนโรงพยาบาล เพื่อฉีดยาขับปัสสาวะ เพื่อลดปริมาณน้ำที่ค้างอยู่ภายในร่างกาย ดูแลเรื่องความดันโลหิตสูงและดูแลสมดุลของเกลือแร่
            ลุงหมัดอายุ 65 ปี เป็นชาวมุสลิม มีครอบครัวขนาดกลาง คือมีลูก 4  คน และลูกๆ แต่ละคนก็มีครอบครัวแล้วแต่ยังปลูกบ้านในละแวกเดียวกัน  เดิมลุงหมัดมีอาชีพทำการเกษตร ปลูกพืชผัก เก็บผักตามหัวไร่ปลายนา และพาวัวไปกินหญ้า แต่ระยะ 3- 5 ปีมานี้เหนื่อยง่าย จึงไม่ได้ทำงานแล้วอยู่บ้านเฉยๆ ฐานะครอบครัวก็พออยู่พอกินประสาคนชนบท ทุกครั้งที่ต้องมานอนรพ. ภรรยาจะเป็นคนมาเฝ้าด้วยความเป็นห่วง คอยดูแลอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่เคยปริปากบ่น แม้ว่าต้องนอนเฝ้าโดยปูเสื่อนอนที่พื้นบ้าง หรือนอนฟุบอยู่กับเตียงบ้าง อีกทั้งยกมือขอบคุณที่รักษาจนลุงหมัดได้กลับบ้าน
            มีอยู่วันหนึ่งลุงหมัดมีอาการเหนื่อยหอบมาก จึงต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเหมือนทุกครั้ง แต่ครั้งนี้อาการหนักกว่าทุกครั้งท่าโรงพยาบาล  ดูเหมือนว่าลุงหมัดเองก็รู้ตัวว่าเวลานั้นเหลือน้อยมากแล้ว
            เพราะลุงหมัดเป็นคนไข้ประจำ แพทย์และพยาบาลทุกคนรู้จักและจำได้ สูตรการรักษาแต่ละครั้งก็ไม่แตกต่างกัน ดังนั้นในสภาพโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลหนาแน่นมาก จึงเป็นธรรมดาที่ลุงหมัดจะได้รับความสนใจน้อย แพทย์มักทักทายและถามอาการลุงเพียงเล็กน้อย สั่งยาฉีดขับปัสสาวะเหมือนกันทุกวัน แล้วก็เดินไปดูผู้ป่วยเตียงอื่นต่อไป พยาบาลก็มาแจกยาและจดปริมาณน้ำเข้าออกจากร่างกายตามหน้าที่ โดยที่ไม่มีใครสังเกตเห็นใบหน้าที่ดูเศร้าหมองกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา หรืออาจเป็นเพราะลุงหมัดแกกลัวตายจิตใจยังไม่เข้มแข็งพอที่จะทำใจได้
            หลังจากที่ได้นอนรพ.มาร่วม 2 สัปดาห์แล้ว ผอ.ไป round หรือไปตรวจผู้ป่วยที่นอนรพ.เหมือนทุกวัน วันนั้น ผอ.ทักทายลุงด้วยประโยคที่แตกต่างไปจากเดิมที่มักถามอาการลุงว่า วันนี้เหนื่อยมากไหม กินข้าวได้ไหม เมื่อคืนลุงนอนหมอนสูงได้หรือเปล่า เก็บฉี่ให้หมอตรวจทุกครั้งนะ ทุกคำถามลุงหมัดตอบด้วยท่าทางที่อิดโรย บ่อยครั้งเป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ เพราะจะตอบอย่างไร ผมก็สั่งยาฉีดขับปัสสาวะ 40 mg อยู่แล้ว แต่ครั้งนี้ ผมถามคำถามหนึ่งออกไปโดยไม่ตั้งใจ ผอถามลุงหมัดว่า ทำไมครั้งนี้ลุงหมัดดูไม่ยิ้มเลย มีอะไรจะบอกหมอหรือเปล่า เผื่อหมอจะช่วยได้
            เพราะทั้งลุงหมัดและภรรยาเป็นคนขี้เกรงใจคน ลุงหมัดคงรอคอยคำถามปลายเปิดแบบนี้มานานแล้ว แกก็ยกมือขึ้นมาจับมือแกบอกว่า มี หมอผมอยากให้หมออนุญาตให้ผมกลับบ้าน ผมขอไม่นาน เย็นๆ กลับมานอนให้หมอฉีดยาต่อ ผมเหนื่อยมาก ชีวิตคงอยู่ได้ไม่นานแล้ว ไม่รู้ว่าหมอจะอนุญาตไหม ผมคิดมาหลายวันแล้ว ไม่กล้าบอกหมอเห็นหมอยุ่งตลอด คนไข้ที่นี่มากทุกวัน ผอ.ก็ถามกลับไปว่าแล้วลุงหมัดจะกลับบ้านไปทำไม แกจึงตอบว่า กลับไปแบ่งสมบัติให้ลูก แกมีที่นาอยู่ไม่กี่ไร่ มีวัวอยู่หลายตัว มีรถมอเตอร์ไซด์เก่าๆเมื่อเวลาที่แกจากไปแล้ว ลูกหลานจะได้ไม่ทะเลาะกัน
            ในวัฒนธรรมของชาวมุสลิมนั้น การแบ่งมรดกจไม่มีการเขียนพินัยกรรม ที่เขียนไว้จะค่อยมาเปิดตอนที่เจ้าของมรดกตายไปแล้ว แต่เขาใช้วิธีเรียกลูกหลานที่เกี่ยวข้องมาพร้อมกัน แล้วผู้เป็นพ่อจะชี้ไปว่า ส่วนไหนจะยกให้ใคร เป็นการตัดสินใจของผู้เป็นพ่อ ลุงหมัดต้องการกลับบ้านเพื่อไปทำภาระกิจนี้ ซึ่งอาจเป็นหน้าที่สุดท้ายของผู้นำครอบครัว
            การที่ลุงหมัดไม่สดชื่นไม่ใช่เพราะแกกลัวตาย แต่แกยังมีภารกิจสุดท้ายที่ยังไม่ได้กระทำ สายน้ำเกลือและแผนการรักษาที่โรงพยาบาลทำให้แกเกรงใจหมออยู่หลายวัน
            นอกจากนี้ลุงหมัดยังอยากกลับบ้านเพื่อมามองดูท้องนา ต้นไม้ วัวควาย สัตว์เลี้ยง ท้องฟ้า บ้านหลังเล็กที่อยู่อาศัยมาตลอดชีวิต บอกลาสรรพสิ่งที่ผูกพันมาทั้งชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะกลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาล
            เมื่อทราบเช่นนั้น แพทย์ก็อนุญาตให้แกกลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้น ลุงหมัดดูเปลี่ยนเป็นคนละคน ดูแข็งแรงขึ้น หน้าตาสดใส กระตือรือร้น พยาบาลถอดสายน้ำเกลือออกให้รถไปส่งถึงบ้าน และนัดหมายเวลาที่จะมารับนช่วงเย็น
            ลุงหมัดและภรรยาเห็นร่วมกันว่าจะใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตที่โรงพยาบาล หมอจะได้ช่วยเท่าที่ช่วยได้ ให้แกจากไปอย่างสงบ ลุงหมัดเห็นใจภรรยา เพราะภรรยาเป็นคนใจอ่อน กลัวทยดูความทรมานในช่วงเวลาสุดท้ายไม่ได้ จึงมาขอตายที่โรงพยาบาล แตกต่างจากคนมุสลิมทั่วไปที่มักขอไปตายที่บ้าน
            หลังจากที่ลุงหมัดทำในสิ่งที่ค้างคาในใจไปแล้ว ลุงหมัดก็กลับมานอนให้หมอรักษาตามปกติ แม้จะดูเหนื่อยมากแต่ใบหน้ามีรอยยิ้ม มีแววตาที่มีความสุข หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ลุงหมัดก็จากไปอย่างสงบ ท่ามกลางเสียงสวดอาซานจากญาติเพื่อขอพรพระเจ้า ทางโรงพยาบาลไม่ได้ปั้มหัวใจช่วยชีวิตตามทฤษฎีแบบตะวันตก แล้วให้รถพยาบาลไปส่งร่างไร้วิญญาณของลุงหมัดกลับบ้าน ซึ่งถือเป็นน้ำใจสุดท้าย ที่โรงพยาบาลจะมอบให้ลุงหมัดและญาติได้ดีที่สุด
            หลังจากญาติได้จัดพิธีศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว ภรรยาลุงหมัดก็แวะมาที่โรงพยาบาล เพื่อมาขอบคุณเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอีกครั้ง พร้อมกับกระดาษธรรมดาที่เขียนปากกาลูกลื่น แทนคำขอบคุณให้เจ้าหน้าที่ทุกคน เป็นเพียงกระดาษแผ่นหนึ่งที่ราคาไม่ถึงหนึงบาทแต่มีค่ามากมายสำหรับผู้ให้และผู้รับ
            จากสิ่งที่รพ.เล่าจะเห็น Core value ที่แฝงอยู่ในการทำงานของแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ โดยการให้บริการแบบองค์รวมจริงๆ การยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง แค่คำถามปลายเปิดง่ายๆ ที่มาจากการสังเกต ไม่ใช่การถามเป็นงาน routine ที่ทำอยู่ ทำให้สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีความสุขในบั้นปลายชีวิตได้ นับว่าเป็นความเสี่ยงประเภทหนึ่งที่แฝงอยู่ในคนไข้เรื้อรังที่เราให้การดูแลอยู่ หากเราสามารถจะประเมินปัญหา ความต้องการของเขาได้จะทำให้เรามองคนเป็นองค์รวมมากขึ้น (รักษาคน ไม่ใช่รักษาไข้)

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10368เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2005 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ลุงหมัด เป็นหัวใจวาย Heart 's Failure

ต้องได้ยาที่ถูกต้อง

ไม่ใช่ให้แต่ยาขับปัสสาวะเดียว

ยาที่ควรได้รับ หากไม่มีข้อห้ามใช้น่าจะเป็น

ยากลุ่ม ACEI Carvediol or spironolactone

ซึ่งยาเหล่านี้ หลายชนิดมีใช้ทั่วไปใน โรงพยาบาลชุมชน

ผู้ป่วยอย่างลุงหมัด  ควรได้รับการทบทวนว่าการรักษาที่ให้เหมาะสมที่สุดหรือยัง 

ลุงหมัดเคยได้รับสุขศึกษาเรื่ออาหาร  การดื่มน้ำ  การออกกำลังกาย  สมาธิ  การชั่งน้ำหนักประจำวันหรือไม่

ดังนั้น ลุงหมัด ผู้น่ารัก  จึงได้ตายไปแล้ว

กระทู้นี้ไม่ได้ต่อว่าใคร  แต่อยากชี้ให้เห็นถึงปัญหาการรักษาโรคที่เกิดขึ้นใน

โรงพยาบาลชุมชน  ถึงเวลาแล้วหรือยัง  ที่เราจะใช้ CPG อย่างจริงจังเสียที

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท