ว่าด้วยสถาบันแห่งใหม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง


ดูเหมือนคำว่า “สถาบันวิจัยและพัฒนา..” จะแปลว่า หน่วยงานใหม่อาจจะทำงานเชิงวิชาการเสียมากกว่า

จากบล็อก gotoknow.org/blog/pipat  ของ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ให้ข้อมูลผลการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 12 มิถุนายน 2550 ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 2 ประการ คือ

ประการแรก  ครม. เห็นชอบการจัดตั้ง สถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ประการที่สอง  ครม. เห็นชอบการจัดตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนและประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ซึ่งในบล็อกมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีกมาก 

สิ่งที่เราสนใจคือ ข้อความที่ว่า 

สถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายใต้มูลนิธิพัฒนาไท  ดำเนินการโดยคณะกรรมการสถาบันฯ มีวาระครั้งละ 4 ปี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการมูลนิธิพัฒนาไท 

 

คำถามคือ  มูลนิธิพัฒนาไทคือใคร  เพราะมีความสำคัญในการ แต่งตั้ง กรรมการสถาบันแห่งใหม่แห่งนี้       ได้ข้อมูลจาก เวบไซด์  http://pattanathai.nesdb.go.th   ว่า 

 

มูลนิธิพัฒนาไท ก่อตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 โดย สภาพัฒน์ หรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสนับสนุนให้มีการก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาไทขึ้นอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2540 เพื่อเป็นกลไกคู่ขนานกับสภาพัฒน์ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ 

 

"ตั้งแต่ช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 เป็นต้นมา ได้มุ่งเน้นบทบาทภารกิจในการแปลงนโยบายสู่ภาคปฏิบัติแนวคิดใหม่ การพัฒนาแบบองค์รวมที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง ยึดแนวทางการทำงานภายใต้การร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ เรียนรู้ร่วมกันกับภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในทุกมิติให้พึ่งตนเองได้และพึ่งพากันเองได้"


       

"ตัวอย่าง ผลงานที่มูลนิธิพัฒนาดำเนินงานร่วมกับภาคีพัฒนา เช่น การดำเนินงานตามแผนความร่วมมือไทย - สหประชาชาติ ปี 2540 -2543 แผนปฏิบัติการเร่งรัดการสร้างเศรษฐกิจพอเพียงและประชาสังคม ปี 2541 - 2546 โครงการสร้างสรรค์พลังแผ่นดิน ปี 2545 - 2546 โครงการธนาคารสมอง ปี 2543 - ปัจจุบัน รวมทั้งโครงการศึกษารูปแบบการบริหารการพัฒนาระดับพื้นที่ที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาความยากจนแบบมีส่วน ปี 2546 โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสรุปบทเรียนการดำเนินงานเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ ปี 2546 และต่อเนื่องมาถึงโครงการขับเคลื่อนโยบายเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ ในปี 2547 - 2549 ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://pattanathai.nesdb.go.th ”

 

 ถ้าเช่นนั้น  สถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แห่งใหม่นี้ ก็คงทำงานคู่ขนานไปกับสภาพัฒน์ฯ ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยสถาบันฯ จะเสนอแผนงานและกิจกรรมเพื่อเสนอขอการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นรายปี

 

สถาบันฯ จะแบ่งการบริหารงานออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ ส่วนงานด้านการศึกษาวิจัยและประสานเครือข่าย ส่วนงานด้านฝึกอบรมและพัฒนา ซึ่งรวมถึงกิจกรรมทางด้านการส่งเสริมประชาสัมพันธ์   ส่วนงานด้านการบริหาร วางแผน งบประมาณและกิจการต่างประเทศ และส่วนงานด้านการติดตามประเมินผล

ยังไม่ชัดเจนว่า สถาบันฯจะมีส่วนผลักดันในเชิงนโยบายออกมาได้มากน้อยเพียงใด   เพราะ ผู้ กำหนดยุทธศาสตร์ นโยบายแนวทางและมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแก่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน  คือคณะกรรมการขับเคลื่อนและประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  ที่ ครม. เพิ่งให้ความเห็นชอบจัดตั้งในวันที่ 12 มิย.  นี้   โดยยังไม่เห็นมีการระบุว่า    คณะกรรมการขับเคลื่อนและประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  กับ สถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เห็นชอบจัดตั้งขึ้นมาพร้อมกัน จะมีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไร 

 ดูเหมือนคำว่า สถาบันวิจัยและพัฒนา.. จะแปลว่า หน่วยงานใหม่อาจจะทำงานเชิงวิชาการเสียมากกว่า

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 103048เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2007 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • หน่วยงานทำเรื่องนี้เยอะแยะไปหมด
  • เป็นกำลังให้คนทำงาน
  • ประสานกันบ้างก็ดี
  • คุยกันดีดี อย่าแย่งกันเอาหน้า
  • ไม่ขัดแขนขัดขา
  • พาชาติเราสู่ความเป็นไท
  • หวังกับหน่วยงานใหม่
  • ใส่ใจกับหน่วยงานเก่า(ที่ทำอยู่เดิม)

เห็นด้วยค่ะว่าเรามีหน่วยงานทำเรื่องนี้เยอะแยะมาก  แข่งกันทำดีก็อาจจะดีนะคะ   แต่อย่าให้เป็นทำดีเพื่อเอาหน้า ไม่ขัดแขนขัดขากันอย่างที่ว่า ก็คงจะดีนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท