APHN Diploma of Palliative Care ๑๔: เปิดใจ..ประสบการณ์ส่วนตัว


จะเข้าใจคนอื่นได้ ต้องเข้าใจตนเองก่อน จะรับฟังคนอื่นได้ ต้องรับฟังตนเองก่อน

ชั่วโมงนี้ ผมสังเกตว่า ศาสตราจารย์ David ระมัดระวังในการพูดมาก และดูเอาจริงเอาจังเป็นพิเศษตั้งแต่เริ่มต้น แทนที่จะยืนพูดหรือนั่งบนโต๊ะหน้าห้องเหมือนเดิม ก็เปลี่ยนมาเป็น เอาเก้าอี้มานั่งลงเสมอกับผู้้เรียน

วันนี้เราจะเหมือนการประชุมทีมนักกีฬาก่อนออกไปสู้ศึก นั่นหมายความว่า สิ่งที่เราพูดในห้องนี้มันจะจบลงในห้องนี้เท่านั้น นั่นเป็นประโยคแรกที่ถูกเปิดขึ้น
ขอให้ทุกคนออกมาจากสิ่งที่เรียกว่า comfort zone ซึ่งผมอยากจะใช้คำว่า เกราะกำบังของตนเอง 
เพื่อเปิดเผยตัวตนออกมา ในบรรยากาศที่ปลอดภัย

อาจารย์ David ตั้งคำถามให้ทุกคนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ๓ เรื่องในชีวิตด้วยกัน คือ

  • เหตุการณ์ที่ประทับใจ เป็นสุขที่สุด
  • สถานที่ที่คิดถึง เมื่อต้องการความสงบ
  • สถานที่ที่เมื่อนึกถึงแล้วเหงื่อออกฝ่ามือ ไม่อยากอยู่ในสถานที่นั้น

เหตุการณ์ที่ประทับใจ เป็นสุขที่สุด                                                     

   ส่วนใหญ่จะเล่าเหตุการณ์ที่ตนเองจบการศึกษา ทั้งแพทย์และพยาบาล ใช่ครับมันเป็นวันที่ทุกคนปิติจริงๆ มีคุณหมอคนหนึ่งซึ่งขาพิการ เธอเล่าเหตุการณ์วันนั้นได้ประทับใจมากว่า

เธอเดินขึ้นไปรับประกาศนียบัตรเองไม่ได้ ต้องมีคุณแม่เดินพยุงเธอขึ้นไปบนเวที          มันมีสัญญลักษณ์ในคำว่า คุณแม่พยุงเธอขึ้นไป และเมื่อเธอขึ้นไปถึงตรงจุดนั้น ทุกคนลุกขึ้นยืนปรบมือให้เธออย่างกึกก้อง

คุณหมอเล่าเรื่องนี้อย่างตะกุกตะกักทั้งน้ำตา ราวกับมันเพิ่งเกิดขึ้นต่อหน้าขณะนั้น

    ผมเองเล่าเหตุการณ์ตอนผมบวช ช่วงเวลาที่ผมค่อยๆคลานเข้าไปกราบขอขมา และขออนุญาตคุณพ่อคุณแม่บวชในโบสถ์ ให้ทุกคนฟัง ครับมันเป็นช่วงเวลาที่ผมไม่เคยลืมตลอดชีวิต

สถานที่ที่คิดถึง เมื่อต้องการความสงบ                                               

    ส่วนใหญ่จะพูดถึงบ้านของตนเอง ขยายเรื่องเล่าไปถึงความผูกพันกับประสบการณ์ในวัยเด็ก บางคนพูดถึงสถานที่สงบสงัดทางธรรมชาติ

สถานที่ที่เมื่อนึกถึงแล้วเหงื่อออกฝ่ามือ                                            

    ช่วงนี้เป็นช่วงที่บรรยากาศในห้องเรียนเศร้ามากๆ เรียกได้ว่า กระดาษชำระหมดเป็นกล่องๆ หลายคนเปิดอกเล่าเรื่องของความสูญเสีย สถานที่ๆตนเองเผชิญหน้ากับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปต่อหน้า   โดยเฉพาะในสถานะที่เป็นแพทย์ พยาบาล ที่ดูเหมือนน่าจะทำอะไรได้ดีกว่านั้น แต่ทำไม่ได้ คนไข้ในมือคนแรกที่จากไปต่อหน้า

ไม่น่าเชื่อว่าสถานที่พวกนี้จะเป็นสถานที่ๆใกล้เหลือเกิน ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู หรือ หอผู้ป่วยที่เกิดเหตุการณ์นั้นๆ

คำหลักที่ถูกยกขึ้นมาในขณะเล่าเรื่อง คือ ความล้มเหลว ความเสี่ยงภัย ความรู้สึกไร้ตัวตน หมดที่พึ่ง ไร้ความสามารถ...

 

อาจารย์ David ตั้งคำถามปิดท้ายว่า เรามองเรื่องราวพวกนี้อย่างไรในสายตาของผู้อยู่ในวิชาชีพ มันเชื่อมโยงประสบการณ์ของเรากับการดูแลคนไข้ของเราอย่างไร เราจะระมัดระวังเรื่องนี้อย่างไร
ผมขอทิ้งไว้ให้ทุกท่านคิดเอาเองนะครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมและทุกคนรู้สึกได้ คือ  บรรยากาศนั้นเต็มไปด้วยอารมณ์ แต่หลังจากนั้น เรารู้สึกผ่อนคลาย มองหน้ากันด้วยความรู้สึกเข้าใจมากขึ้น

ลองคิดดูสิครับ สำหรับคนที่ไม่มีโอกาสพูดเรื่องนี้ ..คนไข้ของเรา เขาต้องเก็บมันเอาไว้ เพราะเรากลัวว่าถ้าเราเปิดการสนทนาเรื่องนี้แล้ว จะทำให้เขาเศร้ามากขึ้น

ประสบการณ์ในห้องเรียนครั้งนี้บอกผมว่า ไม่เลย ถ้าเราทำให้เขารู้สึกปลอดภัย และมีใครที่อยู่เคียงข้างและรับฟังเขา

<< APHN Diploma of Palliative Care ๑๓: ทักษะการสื่อสาร

APHN Diploma of Palliative Care ๑๕: ความเศร้า >>

หมายเลขบันทึก: 101528เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2007 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คิดถึงทีไร ก็มีความสุข

และคิดถึงทีไรก็ เหงื่ออกฝ่ามือ

ชอบค่ะ

เหมือนกับเกี่ยวกับที่ อาจารย์ สวัสดิ์ เขียนผลงาน ของคุณ มากาเร็ต ไว้ ที่นี่ 

 

ว่า 

มีการกระทำของหลาย ๆ คนยั่วยุให้ฉันโกรธหรือทำให้ฉันกลัว แต่ฉันไม่ชอบความรู้สึกของตนเองเมื่อต้องโต้ตอบคนเหล่านั้นด้วยความกลัว ในชั่วขณะนั้นฉันไม่รู้สึกว่าตนเองมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น มีแต่จะรู้สึกน้อยลง

ฉันจะมีความเป็นมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยมก็ต่อเมื่อได้เผื่อแผ่ให้กับผู้อื่น นี้คือคำจำกัดความถึงการเป็นมนุษย์อย่างเต็มภาคภูมิของฉัน

นึกถึงว่าของตัวพี่เอง

มีความสุขทุกครั้งที่นึกถึง

คือเหตุการณ์เมื่อแม่เดินทางจากเชียงใหม่ มาหา ที่โรงพยาบาล สัก 10 กว่าปีก่อนแบบตั้งใจจะ surprise เรา

และแม่บอกว่าสามล้อที่มาส่ง

บอกว่ารู้จักหมอ รวิวรรณ  และชมลูกสาว แม่ มาตลอด ทาง

ไม่ได้มีความสุขจากที่ ลุงสามล้อ เขาชมอย่างเดียวนะคะ

แต่ที่สำคัญ

มีความสุขมากๆ  ที่เห็นหน้า และแววตาแม่ขณะที่เล่า

สุขไม่ลืมเลยค่ะ

ถ้าเป็นผมคงใบ้กินครับ

เพราะไม่รู้จะบอกอย่างไรว่าตอนไหนสุขที่สุด ตอนเอ็นท์ติด ตอนที่ไอ้ตัวเล็ก 2 ตัว โผล่หัวออกมาจากท้องภรรยา (ร้องไห้เลย มือสั่นด้วย จนอาจารย์อีกท่านบอกให้ออกจาก case ไปก่อน)

แปลกที่ตอนเรียนจบไม่ยักกะรู้สึกดีใจที่สุด คงจะเป็นเพราะจะต้องทำงานจริงๆเสียที (น่าจะทุกข์ที่สุดมากกว่า)

นึกถึงทีไรมือเย็นทุกที ก็ตอนที่ต้องถูกปลุกไปดูคนไข้ตอนดึกๆ แล้วกำลังกลัวผีน่ะสิครับ หรือว่าตอนเรียนปี 4 เวลาขึ้นกองศัลยศาสตร์ สาย 1 ทั้งเย็นและสั่นครับ

ที่ๆสงบที่สุดคงจะเป็นบ้าน แต่เป็นบ้านที่สุราษฎร์ ไม่ใช่บ้านที่มีลูกสาว 2 คนที่กำลังโตในขณะนี้ เพราะที่ๆอยู่ตอนนี้ ไม่สงบเลย ขนาดหลับยังถูกปลุก อยากอ่านหนังสือ ก็ต้องเปลี่ยนไปถีบจักรยาน แต่ไม่น่าเชื่อว่า คนเราชอบรนหาที่ทุกข์นะครับ เพราะตอนนี้อยากกลับบ้านที่ม.อ.ใจจะขาด

ที่ไหนมีรักที่นั่นมีทุกข์จริง และถึงแม้รู้ว่าเป็นทุกข์ เราก็ยังเดินและอยากเดินเข้าไปหามัน พระพุทธเจ้าของเราเก่งจริงๆ (หักมุมเลย จริงๆมีหักมุมมากกว่านี้อีก แต่เกรงใจครับ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท