"ความสมดุล": การหาความหมายเชิงวิชาการ


อยากแลกเปลี่ยนความเห็นว่า ท่านอื่นๆ มองเรื่องความสมดุลอย่างไร โดยเฉพาะหากจะทำให้มัน "แข็งตัว" โดยการกำหนดเป้าหมายเป็นตัวเลขที่สังคมน่าจะไปให้ถึง

เรากำลังทำงานวิชาการเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง 

ในทางปฏิบัตินั้น เศรษฐกิจพอเพียงเป็นวิถีของชาวบ้านไทยในหลายพื้นที่ แต่อีกหลายพื้นที่ก็ยังเป็นปัญหา    นักวิชาการกลุ่มหนึ่งอยากกระตุ้นให้ภาครัฐและนักการเมืองมุ่งสู่การผลักดันแนวทางนี้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง  จึงต้องพยายาม "เติมน้ำมันในตะเกียง" เพื่อให้ไฟของเศรษฐกิจพอเพียงยังลุกโชนไปได้อย่างต่อเนื่อง (ไม่ใช่ "ไฟไหม้ฟาง") 

ด้วยเหตุนี้ พวกเรา (นักวิชาการเป็นแกนดำเนินการโดยให้ภาคส่วนอื่นๆเข้ามามีส่วนร่วม)  จึงพยายามทำแผนที่เดินทางเพื่อเสนอให้ภาครัฐนักการเมือง ภาคเอกชน และประชาสังคม ที่สนใจอาจนำไปปรับใช้ในเชิงนโยบายหรือยุทธศาสตร์ .... นั่นเป็นความฝันของคนทำงานวิชาการ

ความเป็นวิชาการที่ดีแปลว่า ต้องมีน้ำหนัก  เชื่อถือได้ และไม่ลอยติดเพดาน

ในวิสัยทัศน์ของความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง  ที่ประชุมจากการระดมสมองครั้งที่ 1  พูดถึง  "ความสมดุล" ในหลายๆด้าน   เช่น ด้านสุขภาวะ (ร่างกาย จิตใจ สังคม..)   ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม  การลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคม 

ก่อนที่จะทอนวิสัยทัศน์มาสู่การสร้างนโยบาย หรือแนวทางการปรับเปลียนเศรษฐกิจสังคมได้  พวกเราต้องมีความรู้ความเข้าใจหลายเรื่องหลายประเด็น

เช่น ต้องตอบคำถามก่อนว่า   "อะไรคือความสมดุล  ระดับที่สมดุลอยู่ที่ไหน" 

จริงๆแล้วความสมดุลมีหลากหลายมิติ  แม้แต่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  เช่น   ด้านการศึกษา   เราอาจหมายถึง ความสมดุลระหว่างการศึกษาในระบบกับนอกระบบ    เราอาจหมายถึง ความสมดุลในวิธีการศึกษา ว่าจะผสมผสานการใช้ head  - hand - heart  ในระดับใด

 ตอนเขียนวิสัยทัศน์ลงบล็อกครั้งแรก  คุณดอกแก้วจากเด็กรักป่า แสดงความเห็นว่า

 " เรื่องความสมดุลนี้ดีมากเลยคะอาจารย์.......อยู่ในชุมชน ก็พอมองเห็น ความสมดุลลักษณะนี้ ด้วย  ถ้าเห็นมากๆ แปรเป็นการปฏิบัติมากๆ...ความสมดุลก็จะมีไปในทุกที่นะคะ"

ความเห็นของคุณดอกแก้วสะท้อนสิ่งที่เป็นจริงว่า  ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ได้ สัมผัสได้ด้วยตนเองว่า  ความสมดุลคืออะไร โดยไม่ต้องมาตั้งนิยามหรือคำถาม

....แต่พอมองไกลออกมาเป็นระดับชุมชน ระดับประเทศ ที่เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น   การบอกจุดสมดุลย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย...

ที่สำคัญคือ  ความสมดุล ถูกกระทบได้ตลอดเวลาโดยปัจจัยภายนอก    ตรงนี้ประยุกต์ได้ทั้งเรื่องจิตใจของเรา ไปจนถึงเรื่องสังคม     ตรงนี้ถ้าใจเราเข้มแข็ง  สังคมเข้มแข็ง  ก็ย่อมปรับตัวกลับเข้าสู่สมดุลได้ไม่ยากนัก   อาจเป็นจุดสมดุลจุดเดิม  หรือจุดสมดุลใหม่ .....  

 สองย่อหน้าหลังนี้ เราตอบคุณดอกแก้วไป โดยมีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ผสมอยู่ในความคิด   เพราะจริงๆแล้วโจทย์หลักๆในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คือ การตอบคำถามเรื่องระดับ "ที่เหมาะสม (optimal) คือ ไม่มากไป ไม่น้อยไป"

ถ้าให้ตอบเรื่องความสมดุล โดยใช้เครื่องมือเศรษฐศาสตร์ เราคงพอตอบได้  ว่า "เป็นระดับที่ดีที่สุดที่ทำได้ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่" และสามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลายๆเรื่อง  เช่น บริโภคภายใต้งบประมาณหรือรายได้ที่มีอยู่  (ใครที่บอกว่าเศรษฐศาสตร์สอนให้ maximize profit หรือ utility จึงยังเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน  เพราะคำตอบที่ถูกต้องในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์  จะต้องนำข้อจำกัดไปคิดด้วยเสมอ  เช่น  ข้อจำกัดด้านเวลา  ข้อจำกัดด้านรายได้  ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี  ข้อจำกัดด้านงบประมาณ  และอื่นๆ ที่อาจเรียกข้อจำกัดเหล่านี้ว่าเป็นด้าน "ต้นทุน" และเมื่อมองเป้าหมายสุดท้าย คือ สวัสดิการสังคม  ก็จะต้องรวมข้อจำกัดที่เป็น "ต้นทุนที่เกิดกับสังคม" หรือ "การเบียดเบียนสังคม" ไว้ด้วย)

กำลังคิดว่า หากประยุกต์ทฤษฎีเศรษฐกิจกระแสหลัก ไปใช้กับเศรษฐกิจพอเพียง   ข้อจำกัดสำคัญที่ต้องนำเข้าไปคิดด้วยเสมอในการตัดสินใจของปัจเจก ของรัฐ     ก็คือ  กรอบของคุณธรรม

แต่คงจะอหังการเกินไปถ้าจะใช้ศาสตร์เดียวตอบเรื่อง "ความสมดุล" ในระดับสังคมประเทศ 

อยากแลกเปลี่ยนความเห็นว่า  ท่านอื่นๆ มองเรื่องความสมดุลอย่างไร   โดยเฉพาะหากจะทำให้มัน "แข็งตัว"  โดยการกำหนดเป้าหมายเป็นตัวเลขที่สังคมน่าจะไปให้ถึง  (เช่น เป้าหมายความสมดุลระหว่างการพึ่งพาภายนอกกับภายในเป็น 50:50 แต่ตอนนี้อยู่ที่ระดับ 70:30 เราจึงต้องหาวิธีการปรับระดับการพึ่งพาให้เข้าใกล้ระดับที่สมดุล) 

เราจะนิยาม "ความสมดุล" อย่างไร  เราจะมี "หลักเกณฑ์" ในการกำหนด "ระดับที่สมดุล" อย่างไร ?

(คำถามนี้ไม่ต้องการคำตอบที่เป็นตัวเลข และตอบได้ในหลากหลายมิติ)

 

 

หมายเลขบันทึก: 101527เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2007 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ผมว่าผู้เสนอบทความนี้ได้อธิบายบริบทไว้มากพอสมควร อย่างไรก็ตาม ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องการกำหนดในระดับมหาภาคนี้เท่าไหร่ อาจเป็นเพราะว่าผมขลุกอยู่กับส่วนย่อยของสังคมก็ได้  แต่สนใจ

หากยอมรับว่าทุกอย่างเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง และข้อจำกัด  ดังนั้นการกำหนดความสมดุลก็น่าที่จะตั้งอยู่บนเงื่อนไขตัวนี้

ยกตัวอย่าง พ่อแสนมีนา 5 ไร่ ไม่มีวัว มีหมู 3 ตัว มีป่าครอบครัว มีแหล่งน้ำที่มีน้ำอยู่ครึ่งหนึ่ง มีตายายอยู่กันสองคน ลูกๆแยกครอบครัวไปหมดแล้ว ดังนั้นความสมดุลในระดับเศรษฐกิจพอเพียง ก็คือการใช้ปัจจัยที่พ่อแสนมีอยู่อย่างยั่งยืน อย่างที่ชีวิตสองคนไม่อดอยาก และไม่มุ่งเอลผลผลิตไปขายเชิงปริมาณเพื่อสะสมทุนที่เป็นเงินตรา 

เมื่อพูดอย่างนี้แล้ว ความสมดุลมันก็เกี่ยวข้องกับระดับของสำนึกด้วย มิใช่เพียงปัจจัยภายนอกที่แวดล้อมเท่านั้น  หากไม่ใช่พ่อแสน เช่นอาจเป็นพ่อสาย ก็บอกว่า ต้องมีหมูเพิ่มอีกสัก สองตัวจึงจะพอดี ต้องมีไก้อีก สิบตัว จึงจะสมดุลพอดี  เมื่อสำนึกต่างกัน ก็เป็นตัวกำหนดรูปธรรมของสมดุลด้วย

เบื้องต้นผมมีความเห็นดังนี้ครับ

เรียน อาจารย์ ปัทมาวดี ทีเคารพ

อาจารย์ครับ ผมขอใคร่ครวญดูสักหน่อยก่อนนะครับ คาดว่าคืนนี้จะเข้ามาแสดงความคิดเห็นครับ 

ขอบคุณครับ

เรียน อาจารย์ ปัทมาวดี ทีเคารพ

ผมกลับมาตอบครับ ผมคิดว่าความสมดุล น่าจะมาจากมโนธรรมในใจ ที่คอยย้ำเตือนเราว่าถึงเวลาหรือยัง มากไปหรือเปล่า หรือ ลงแรงน้อยไปนะ ทำนองนี้ครับ

นอกจากนี้ ผมยังเชื่อมโยงไปถึง "ทางสายกลาง" หรือ มฌิมปฏิปทา คำจีนมีคำว่า จง ครับ 中 ซึ่งแปลว่าตรงกลาง คำพวกนี้จริงๆ แล้วเหมือนคนโบราณทิ้งปริศนาไว้ให้ไข ว่าสมดุลของโลกมันมีอยู่ โลกใบเล็กๆของแต่ละคน ก็มีสมดุลอยู่ เราต้องค้นหา

ไกลก้เหมือนใกล้ ใกล้ก็มองไม่เห็น จุดสมดุล เนี่ยครับ

แล้วผมก็คิดไปถึง "มะพร้าวนาฬิเก กลางเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องบ่ถึง กลางเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอย" ตรงนี้ก็ปริศนาธรรม ให้หา จุดสมดุล ครับ

ทุกวันนี้ผมก็ยังต้องปรับจุดสมดุลของตัวเองอยู่เรื่อยๆ หลายครั้งที่เผลอสติไม่ได้ตั้งมั่นในทางสายกลาง จนเสียสมดุลไปครับ

พูดไปพุดมาก็ฟังดูวกวน ไม่รู้ว่า จุดสมดุลของผม มันจะออกมาแล้ว สื่อ ให้อาจารย์ เข้าใจได้ไหมนะครับ

บางที ยิ่งพูดก็ยิ่งห่างไกล เป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน กระมัง

ขอบคุณครับ

ขอบคุณคุณบางทราย และ อ.โชคธำรงค์ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนค่ะ

เห็นด้วยคำคุณบางทรายว่า  "สำนึก" ที่ต่างกัน ทำให้ความสมดุลในความหมายของแต่ละคนต่างกันด้วย

"ทางสายกลาง" เป็นอีกความหมายหนึ่งของความสมดุล  ขอบคุณค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท