อาสาสมัครสาธารณสุข


อสม.
อสม.ก้าวสู่ อสมช.ในฐานะผู้เชี่ยวชาญบุคลากรสาธารณสุข เป็นหัวใจสำคัญที่จะเป็นส่วนสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาสุขภาพของประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ และภาคประชาชนคือ อสม.ที่ทำงานเคียงบ่า เคียงไหล่กันมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2521 จากเดิมที่มีการคัดเลือกพี่น้องประชาชนเข้ามารับการอบรมในหลักสูตรเบื้องต้น คือ ผสส.หรือ ผู้สื่อข่าวสารสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ทำหน้าที่เป็นผู้ที่คอยเชื่อมโยงการให้บริการของเจ้าหน้าที่ลงสู่ประชาชน ที่มีสโลแกน หรือคำขวัญว่า แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน ทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี จากผสส.พัฒนามาเป็นอสม.หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหมู่บ้านละ 5 คน อบรมเพิ่มเติมอีก 15 วัน ให้มีความรู้ในเรื่องการรักษาพยาบาลเบื้องต้น การดูแลสิ่งแวดล้อม อนามัยแม่และเด็กการทันตสาธารณสุข การป้องกันโรค สุขศึกษา เป็นต้น มีศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน เป็นที่ทำการในหมู่บ้าน มีหยูกยา ให้บริการได้ในขั้นปฐมพยาบาล เช่น แผลถลอก รถล้ม ก็ทำแผลให้ก่อนที่ใกล้บ้าน มีเครื่องวัดความดันโลหิต ค้นหาผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไปว่าจะมีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่ มีน้ำยาตรวจปัสสาวะเพื่อดูระดับน้ำตาล ในการค้นหาผู้ป่วยเบาหวานในชุมชน มีเครื่องชั่งน้ำหนักเด็ก ดูแลพัฒนาการของเด็กตามวัย พร้อมบันทึกลงกราฟ สามารถวิเคราะห์การเจริญโตเด็กในหมู่บ้านได้ ว่ามีเด็กที่ขาดสารอาหารอยู่กี่คน เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหา ซึ่งต่อมารัฐบาลก็ได้จัดสรรงบประมาณลงไปให้หมู่บ้านละ 7,500 บาท  เพื่อให้พี่น้องอสม.ร่วมกันวางแผนและแก้ไขปัญหาของชุมชน หมู่บ้านของตน ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ภายใต้ข้อมูลที่มีการคิดและวิเคราะห์ร่วมกันระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาบทบาทของอสม.ได้รับการยอมรับของผู้คนในสังคม ซึ่งในระยะหลังๆ ก็จะเข้ามาทำงานในการเมืองท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิก อบต. เทศบาล, หรือบางท่านก็ได้รับการเสนอชื่อเป็นกำนัน,ผู้ใหญ่บ้านก็มี แต่ก็ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ยังคงทำงานเป็นอาสาสมัคร อย่างมีความสุข ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขเอง ในฐานะที่ดูแลและส่งเสริมอยู่ ก็ได้จัดสวัสดิการให้กับอสม.ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาพยาบาล,การส่งเสริมให้ศึกษาต่อ แล้วบรรจุเข้ารับราชการ หรือแม้กระทั่งมีโควตาพิเศษให้บุตรได้เข้าเรียนต่อในหลักสูตรต่างๆ ของกระทรวง ยิ่งน่าชื่นใจแทนพี่น้องอสม.เป็นยิ่งนัก เมื่ออ่านข่าวพบว่าขณะนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะเร่งพัฒนา อสม. ซึ่งมีประมาณ 8 แสนคนทั่วประเทศ ในปีนี้จะอบรมเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้ได้ร้อยละ 50 แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรก เพิ่มพูนด้านสุขภาพอนามัย กลุ่มที่ 2 พัฒนาเป็นอสม.ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน สุขภาพจิต และกลุ่มสุดท้าย พัฒนาให้เป็นอสม.ผู้เชี่ยวชาญ ที่สามารถร่วมปฏิบัติงานในสถานีอนามัยได้ โดยจะพิจารณาหาค่าตอบแทนให้อสม. เหล่านี้ด้วย โดยจะเรียกกลุ่มอสม.ที่ได้รับการพัฒนานี้ว่าเป็นอสม.ผู้เชี่ยวชาญ หรือ อสมช.นั่นคือกลุ่มของอสม. นอกจากนี้ กลุ่มของพี่น้องหมออนามัย ที่ทำงานอยู่ในระดับของสถานีอนามัยนายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รมช.สาธารณสุข ได้กล่าวในพิธีเปิดประชุมวิชาการพัฒนาวิชาชีพสาธารณสุข ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ประจำปี 2550 เมื่อ 23 พฤษภาคม 2550 ที่โรงแรมกรีนเวิลด์ จังหวัดสงขลา ว่าสำหรับความก้าวหน้าของบุคลากร ได้กำหนดตำแหน่งหัวหน้าสถานีอนามัยเป็นระดับ 7 แล้ว 124 แห่ง จากสถานีอนามัย 320 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 39 และจะหาตำแหน่งว่างยุบรวมให้สามารถกำหนดเป็นหัวหน้าสถานีอนามัยระดับ 7 ได้ทุกแห่ง นอกจากนี้จะเสนอ ก.พ.เพื่อขออนุมัติกำหนดนำร่อง ตำแหน่งสาธารณสุขอำเภอเป็นระดับ 8 บก. (บริหารระดับกลาง) ในพื้นที่ที่นายอำเภอเป็นระดับ 9 และผลักดันให้เป็นระดับ 8 ว. ทุกอำเภอในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในพื้นที่เฉพาะ ก็นับได้ว่าเป็นข่าวดีอีกประการหนึ่ง ซึ่งพี่น้องชาวสาธารณสุขเป็นส่วนที่สำคัญในการผลักดัน และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาสุขภาพของพี่น้องประชาชน
คำสำคัญ (Tags): #อสม.
หมายเลขบันทึก: 100954เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2007 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

  • อสม.แถวบ้านเริ่มบ่นแล้วค่ะ ว่าทำไมค่าตอบแทนอะไรก็ไม่มีให้
  • ขอบคุณค่ะ ที่นำมาแบ่งปัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท