เรื่องนี้ท่าจะยาว...มั้ง (1) มหกรรมกระบวนกร ครั้งที่ 6


เรื่องนี้ท่าจะยาว...มั้ง (1) มหกรรมกระบวนกรสวนสักทอง ณ ล้านนา 

มีความมั่นใจประมาณ 80% ว่าจะยาว เพราะเหตุนี้จึงเติมคำว่า “มั้ง” เข้าไป กอปรกับมารยาทอันงามของสุนทรียสนทนา เรื่อง non-judgmental และ suspension หรือ การไม่ด่วนตัดสิน และการห้อยแขวน จึ่งควรพิจารณาเป็น “สมมติฐาน” ไว้พลางๆ 

เรื่องของเรื่อง (เป็นสำนวนที่พึ่งเห็นว่าเก๋ดี) คือ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาประมาณ อืม.... 8 คืน 8 วัน ผนวกกับรายการพิเศษอีก อืม.... 2 คืน 3 วัน มีความคาดหวังเรื่องความน่าตื่นเต้นและน่าสนใจ คนละแบบ ชุดแรก เป็นมหกรรมกระบวนกรการทำสุนทรียสนทนา เป็นการรวมศิษย์เก่าผู้เคยผ่านการอบรม dialogue จากสถาบันขวัญเมือง และได้ไปร่อนเร่ประลองวิชา ณ ลุยไถ ต่างกรรมต่างวาระครบปี ถึงเวลาที่จะซมซาน เอ๊ย เดินทางกลับมาสำนัก เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การทำ workshop สุนทรียสนทนาในบริบทและวาระต่างๆ (ว่ารอดปากเหยี่ยว ปากกา หรือสำเร็จมาได้อย่างไร) เป็นการต่อยอดความรู้ (ถ้าไม่นับปาร์ตี้ชาเขียว ขนมเค้กชอกโกแลต ซาลาเปาน้ำเต้าหู้หอมหมื่นลี้ ฯลฯ) แก่กันและกัน อันพึงมีเป็นประจำ ส่วนชุดที่สอง เป็นงานซ้อนระหว่าง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ HHC (Humanized Health Care) ในหลักสูตรแพทยศาสตร์ และต่อเนื่องกับงาน workshop สุนทรียสนทนาสำหรับ surveyors ของ HA ชุดแรกจัดที่ Teak Garden Resort (hence the name สวนสักทอง) ที่เชียงราย ส่วนชุดที่สองครึ่งแรกจัดที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร ครึ่งหลังไปที่ทรัพย์ไพรวัลย์ จังหวัดพิษณุโลกทั้งคู่ 

ที่ว่าตื่นเต้นเพราะชุดแรกจะเป็นการพบปะสังสรรค์ และพูดคุยว่าแต่ละคน “โดน” อะไรกันมาบ้าง และจะได้พกพากระบวนท่าอะไรกลับไปใช้ (ไม่นับน้ำหนักเพิ่มขึ้นกี่กีโล) ส่วนชุดหลังเป็นอะไรที่ค่อนข้างใกล้ตัวและ (สามารถ) มีผลกระทบต่อวัฒนธรรมการทำงานในระบบสาธารณสุขของประเทศนั่นเลยทีเดียวเจียวนะ 

งานแรกมี hidden agenda เพราะมีพ่วง commitment จะกลับมาพร้อมกับโครงการอบรมบุคลากรให้คณะแพทย์ฯ ดังนั้นจึงได้พ่วงเอาเลขาฯหนึ่งเดียวคนนี้ของหน่วยชีวันตาภิบาล คือ คุณแย (สุณีย์ นิยมเดชา) มาด้วย เพราะจะได้กลับไปช่วยกัน (เรื่องอะไรจะทำคนเดียว) 

การจะมาเชียงรายก็ต้องเกิดกระบวนการจัดการก่อน เพราะไม่ตรงไปตรงมา ปรากฏว่าผมก็ออกจากหาดใหญ่ไปเช้าวันเสาร์ ไปดอนเมือง เสร็จแล้วต่อ taxi ไปสุวรรณภูมิเพื่อไปเชียงราย มี gap ประมาณ 3 ชั่วโมง เพียงพอสำหรับ 1 lunch + 1 foot-massage พอเบาเนื้อเบาตัว  

ในที่สุดก็ถึงวาระที่จะต้องเจอพิษสุวรรณภูมิกับตัวเองหลังจากเคยได้ยินแต่เรื่องราว นั่นคือ รอๆ กระเป๋าที่เชียงราย รอ ไป รอ มา จนหมด เจ้าหน้าที่ก็เริ่มทำหน้าตามีพิรุธ หันมาส่งภาษา (เข้าใจว่าเป็นอังกฤษ แต่ฟังไม่ทัน) กับผม ทำนองว่า มาจากไหน จะไปไหน ก็เลยเรียนท่านไปว่ามาจากกรุงเทพฯนี่แหละ รอกระเป๋าอยู่ หน้าตามีพิรุธมากขึ้น หันไปพูดวิทยุอีก ผมแอบฟัง (ที่จริงก็ไม่ได้แอบ ยืนหัวโด่อยู่ตรงนั้น) ได้ยินแว่วๆว่าเจอกระเป๋า Mr Singha ผมก็สะกิดเธอ (เจ้าหน้าที่) บอกไปว่า ผมนี่แหละ Mr Singha เจอแล้วเหรอ เธอก็เดินนำผมลิ่วไปเลย รีบวิ่งตามเพราะไม่แน่ใจว่าเธอเดินนำ หรือจะเดินหนีกันแน่ ไปทันกันที่เคาเตอร์ เธอก็รีบเขียนอะไรยุกยิกๆใส่ form สีเหลือง แปลว่าข่าวร้ายแน่นอน (เป็นข้อสังเกตของผมเอง ว่าฟอร์มต่างๆของรัฐนั้น ไม่เคยมีเรื่องดีเกิดขึ้น) เธอก็ยิ้มหวานที่สุดก่อนจะบอกว่าผมจะได้กระเป๋าคืนแน่ๆ ประมาณวันพรุ่งนี้ 10 โมงเช้า!! ผมก็บอกว่า เอ... มันก็มี flight อีกตั้งเยอะแยะจาก กทม. มาเชียงราย ทำไมไม่ส่งมาวันนี้ เธอยิ้มหวานกว่าเดิม (ซึ่งไม่น่าจะทำได้) ว่าขณะนี้กระเป๋าผมนั้นได้ไปเที่ยวเชียงใหม่อยู่ และไม่มีเที่ยวบินจากเชียงใหม่มาเชียงรายอีกแล้ววันนี้ พร้อมกับยืนยันว่าไม่ต้องเป็นห่วงเจ้ากระเป๋าขี้เล่นใบนี้ it is in a good hand ซึ่งจะมาโคจรบรรจบกับผมแน่ๆวันรุ่งขึ้น ช่วย (จง) กรอกแบบฟอร์มว่าผมมีที่อยู่ที่ไหนในเชียงรายด้วยเถิด 

เอาก็เอาวะ (กัดฟันกรอด!!) 

ออกมาก็เจอ อ.มนตรีกำลังรออยู่แล้วพร้อมสาวๆอีกสี่คน (จากฉวาง) เราก็พากันมาเช็คอินที่ Teak Garden Resort ซึ่งต้องบอกว่าทำเลสุดยอด ออกจากสนามบินปุ๊บก็ถึงเลย อุ่นใจเรื่องการตกเครื่องน่าจะเป็นไปได้น้อยมาก เสร็จแล้วโดยไม่ต้องถาม อ.มนตรีก็พาไปที่ Le Petit ทันที 

เปิดประตูไปก็พบโยดานั่งอยู่พร้อมมเหสี (พระอุเม) แวดล้อมด้วยสังฆาเช่นเคย ก็ได้เจอคุณเจี๊ยบแห่งเมืองลับแลผู้ได้รับรางวัล full scholarship ในงานนี้ และคุณนุ แขกสัญจร ดูจากลมฝนแล้ว รู้สึกกำลังอยู่ในสนามพลังกันอยู่ทีเดียว เราก็ได้ทีนั่งลงไปกลางวง 

รายงานพระอุเม เอ่อ... เรียกคุณเม ดีกว่านะ ว่าวันนี้ทั้งเนื้อทั้งตัวเหลือแต่เสื้อผ้าที่เห็น สงสัยจะต้องหาซื้ออะไรมาใส่ชั่วคราวหนึ่งคืน มองกราดไปก็เห็นเสื้อ วงน้ำชา ดอท คอม ใส่กันทั้งราชวงศ์อยู่ ก็เลยบอกว่าจะเอายังงี้บ้างง่ะ คุณเมก็ไวทายาท หยิบโทรศัพท์จิ้มๆ สั่งมาให้ทันที ส่งที่ร้านเลย แน่กว่า home delivery เสียอีก ก็หมดปัญหาเรื่องเสื้อผ้า เดี๋ยวไปแวะ 7-11 เพื่อซื้อแปรงสีฟัน เท่านี้เราก็ศิวิไลซ์พอแต่อัตภาพแล้ว 

คุณนุก็ถามคำถามทีเด็ด ติดกันเป็นชุด classic สุดก็เริ่มจาก “สุนทรียสนทนา คือ อะไรครับ” แล้วก็ได้คำตอบ classic กลับไปทันทีว่า พูดไม่ได้ครับ/ค่ะ งั้นเอาใหม่ “สุนทรียสนทนากับสมาธิล่ะ?” ในที่สุดก็เลยไปถึง “KPI (key performance index)” (ประเด็นโปรดของท่านเจไดวฆ น่าเสียดายท่านยังมาไม่ถึง) ว่ามันจำเป็นนะ เป็นอะไร ที่บอกอะไร ที่ชัดเจนยังไง ฯลฯ ท่านโยดาก็ควงไลท์เซเบอร์ เสียงดังหึ่งๆ วู่บๆ ว่าบๆ ไฟแลบกระจาย ลูกศิษย์ลูกหานั่งกินเค้กไป จิบ double espresso ไป นั่งมอง/ฟังไป ด้วยความชื่นชมยินดี 

ผมยังติดใจในประเด็น สุนทรียสนทนา versus สมาธิ อยู่ ก็เลยปุจฉาต่อ 

ผมคิดว่าสองคำนี้มันรู้สึกว่าจะซ้อนๆ ซ่อนๆ กันอยู่ แล้วก็นึกถึงโพชฌงค์ 7 ว่ามันใกล้เคียงกัน ถ้าเราจะพูดว่า สุนทรียสนทนาคือการฟังลึกซึ้งใคร่ครวญไตร่ตรอง แล้วละก็ มันต้องว่าไปตั้งแต่ สติ ธัมมะวิจัย วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา ครบเลยในการฟังลึกซึ้ง 

โยดาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การมีสมาธิเฉยๆนั้น ปัญญา” ยังไม่เกิดแต่อย่างใด มันต้องมีประเด็น มีเนื้อหาเรื่องราว เพราะปัญญา หรือญานขั้นต้นนั้น ต้องมีการ เขียน script ตัวตนใหม่ เกิดขึ้นด้วย การเข้าสมาธินิ่งเฉย โดยไม่มีเรื่องราว ไม่มีการใคร่ครวญไตร่ตรอง มีแต่สมาธิแต่ไม่ได้เป็นการ “วิปัสสนา” ก็จะไม่เกิดอะไรมรรคผลขึ้นมานัก 

ตอนนี้เริ่มเห็น “บทบาท” ของธัมมะวิจัยมากขึ้น ที่จริงก็ make sense ค่อนข้างเยอะเหมือนกัน คือหลังจากมี “สติ” แล้ว (assume ว่า สัมมาสติ) ตอนนั้นเราก็จะพรั่งพร้อมที่จะ ใช้สติ ทำอะไรต่อมิอะไร การนำมาวิเคราะห์ใคร่ครวญ (วิจัย) ธรรมะ หรือ ความเป็นไปเนื้อแท้ของสิ่งต่างๆ ก็จะเป็นกิจอันเป็นมงคล 

และคำถามก็ขาดไม่ได้ที่จะเอื้อมไปถึงเรื่อง การประเมิน” แน่นอนที่สุดการประเมินก็น่าจะเป็นทั้งเรื่องดีและเรื่องจำเป็น แต่ดูเหมือนว่า “วิธี” ที่จะประเมินอย่างไรจึงจะเกิดผลบวก เกิดเป็นพลังสร้างสรรค์ และประเมินอย่างไรจึงเกิดเป็นพลังลบ เป็นพลังที่บั่นทอนพลัง เพื่อจะนำมาวิเคราะห์ใคร่ครวญว่า ณ ขณะนี้ตู (คนประเมิน) กำลังทำอะไรอยู่ และสู (คนถูกประเมิน) ควรจะทำจิตแบบไหนเพื่อรับการประเมินได้ดีที่สุด 

ที่จริงในตอนที่มีโอกาสเรียนแพทยศาสตรศึกษา (เพราะต้องเป็นครู) ก็ทราบมาว่ามี formative และ summative evaluation อย่างแรกเป็นการประเมินเพื่อนำเอาไปแก้ไขปรับปรุง มักจะทำระหว่างกิจกรรม หรือจะเป็นมุมมองหลังทำกิจกรรมก็ได้ อย่างหลังมักจะทำตอนกิจกรรมการเรียนรู้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว วิธีใช้ก็เพื่อนำมาวิเคราะห์ใคร่ครวญให้มองเห็น รับทราบถึงสถานะของกิจกรรม ของตนเอง (performance) ที่ผ่านมา ปัญหาก็คือ ในขั้นตอนต่างๆของการประเมินที่ถ้ามีส่วนที่เป็น judgmental action การตีตราตีคุณค่าของคน (ที่จริง คงจะตีตราที่ผลของกิจกรรม แต่บางทีคนก็เอาผลของกิจกรรมไปพัวพันกับคุณค่าของคนเองก็มี.... ไม่น้อย.....มั้ง)

 

นั่นเป็นส่วนเจตนคติของการประเมิน ส่วน “วิธี” และ “การแปลผล” อีกที่มีประเด็นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินคุณค่าในส่วนมิติที่เป็นนามธรรม (abstract) และเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ค่อยจะได้ซะด้วยในเรื่องราวหลายๆอย่างที่เกี่ยวกับ “ชีวิต

 เป็นการเปิดฉากมหกรรมแบบนุ่มๆ กระตุกกระตุ้น ค่อยๆ simmering ไปอย่างแผ่วเบา (แม้ว่าจะมีสภาวะฉู่ฉี่ พริกไทยอ่อนอยู่บ้าง แต่... เรากำลังพูดถึงอาหารไทยนี่นา) 

8 ทิวา 7 ราตรี ระทึก ระทวย สวยงาม !! ระวัง!!  

 

หมายเลขบันทึก: 100399เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2007 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ตามมาอ่านและจะรออ่านต่อครับคุณหมอ
  • ขอบคุณครับผม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท