แลกเปลี่ยนเรียนรู้คุณอำนวย : 15. กระดานฉุกเฉิน


หากเราสามารถประยุกต์ใช้สิ่งที่ใกล้ตัวให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงาน สิ่งที่เราคิดว่าด้อยหรือขาดแคลนจะหมดสิ้นไปทันที คงเหลือแต่ความสำเร็จ และความภาคภูมิใจที่เราสามารถทำหน้าที่ของเราได้ลุล่วงไปด้วยดี

         วันนี้(23 พ.ค. 50) ผมและทีมงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร 5 คน และจากสำนักงานเกษตรอำเภอไทรงาม 1 คน ได้ไปร่วมจัดกระบวนการเพื่อสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับแผนธุรกิจ  ที่กลุ่มพรมเช็ดเท้า หมู่ที่ 4 ตำบลหนองแม่แตง อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร

          สถานที่สำหรับดำเนินกระบวนการนั้น เป็นใต้ถุนบ้านของประธานกลุ่มฯ   บริเวณไม่กว้างขวางมากนัก  แต่สมาชิกกลุ่มฯ ที่มาร่วมประมาณ 30 คน ก็ทำให้สถานที่แคบลงอย่างเห็นได้ชัด  เมื่อจะเริ่มกระบวนการเหลี่ยวซ้าย-แลขวาก็ไม่มีฝา หรือกระดานที่จะใช้ติดกระดาษ-บัตรคำต่างๆ  เอ....แล้วจะทำอย่างไรกันดี  ไม่มีที่ติดกระดาษฟางสำหรับการเขียนและติดบัตรคำ  ก็เหมือนทหารที่ไม่มีปืนละซีครับ

          แต่เราก็เอาตัวรอดจนได้  เคยใช้เสื่อ-ข้างรถตู้ -ต้นไม้ฯลฯ มาแล้ว  คราวนี้พวกเราก็ลองใช้โต๊ะที่เขาเตรียมมาให้เรานั่งเพื่อบรรยายมาประยุกต์เป็นกระดานแทน(นำมาตะแคงตามแนวตั้ง)  เพราะยังไงเราก็ไม่ยอมนั่งบรรยายเพื่อจัดการ ลปรร.กันอยู่แล้ว  ก็เลยมีกระดานแบบฉุกเฉินใช้  และสามารถดำเนินกระบวนการไปได้อย่างราบรื่น  (ดูภาพประกอบครับ)


ด้านหน้าก็ดูดีนะครับ

 


ด้านหลังก็เท่ห์ไม่เบาเหมือนกัน..

 

          ก็คงเป็นอีกบันทึกหนึ่งที่บันทึกจากประสบการณ์จริงๆ  จากภาคสนาม  ที่บางครั้งหรือส่วนใหญ่เรามักจะขาดแคลนอุปกรณ์ในการดำเนินกระบวนการเหล่านี้  แต่หากเราสามารถประยุกต์ใช้สิ่งที่ใกล้ตัวให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงาน  สิ่งที่เราคิดว่าด้อยหรือขาดแคลนจะหมดสิ้นไปทันที  คงเหลือแต่ความสำเร็จ และความภาคภูมิใจที่เราสามารถทำหน้าที่ของเราได้ลุล่วงไปด้วยดี

บันทึกมาเพื่อการ ลปรร. ครับ

วีรยุทธ  สมป่าสัก  23/05/50

หมายเลขบันทึก: 98161เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2007 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เยี่ยมจริงๆ ค่ะ แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของคนคิด ที่สามารถมองข้ามความเคยชินทางด้านกายภาพว่าโต๊ะ

แบบนี้ถ้ามันไม่อยู่ในแนวนอนแบบมีขามาตั้งมัน มันก็อาจจะแบบอยู่กับพื้นหรืออย่างมากก็แค่ตะแคงตามแนว

ยาว

ไม่รู้น่ะค่ะ ตามความรู้สึกของตัวเองแล้วคิดว่ามันหักมุมดีค่ะ

 

ปล.น้ำมีเรื่องจะขอความรู้อยู่พอดีเลยค่ะว่า ถ้าเราจะทำลายต้นโพธิ์ สักต้น (ไม่ใช่ต้นโพธิ์ในวัดแต่เป็นต้นโพธิ์ติดกับกำแพงบ้าน) เราควรจะทำอย่างไร และจะทำอย่างไรไม่ให้รากมันชอนไชบ้านเริ่มเพิ่มขึ้นค่ะ

รบกวนด้วยค่ะ 

  • ตอนแรกก็นึกว่า คุณสิงห์ป่าสัก เล่าเรื่องเกมอะไร ... อ้อ เป็นนวัตกรรมนี่เอง
  • ดูแล้วเท่ห์ไม่เบาเลยนะคะ
  • นึกว่า ต้องเอาคนไปนั่งที่เก้าอี้ด้วยแล้วละค่ะ กันกระดานล้ม
  • เข้าท่าดีครับ
  • แต่คงต้องเบามือหน่อย เดี๋ยวเกิดอุบัตวเหตุ

เรียน คุณน้ำแห่ง สคส.

  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ
  • ในสนามยังมีอะไรที่สนุกๆ อีกเยอะเลยครับ
  • สำหรับต้นไม้ที่โตแล้ว ไม่ยากครับ ไม่ต้องออกแรงมากด้วย  ผมได้วิธีมาจากพี่สนอง นักส่งเสริมการเกษตรที่อำเภอพรานกระต่ายมาอีกทีหนึ่งนะครับ
  • หากจะทำลายไม้ยืนต้น เพียงแต่เราใช้มีดสับตรงโคนต้นสัก 2 รอย แล้วยาฆ่าหญ้าประเภทดูดซึม(ชื่อสามัญว่าไกโฟเสต ชื่อการค้าที่รู้จักดีก็คือราวด์อัพ) ไม่ต้องผสมน้ำ ใช้ราดตรงที่รอยสับ  ต้นไม้จะดูดซึมและค่อยๆแห้งตายไปเอง
  • ผลเป็นประการใดนำมาบอกเล่าด้วยนะครับ

 

เรียน คุณหมอนนทลี

  • เก้าอี้ที่วางไว้กันคนเดินไปสะดุดครับ
  • มีนวัตกรรมแบบนี้เยอะเลยครับ  แม้แต่จอบางครั้งไม่ได้นำไปด้วย เวลาจะฉายโปรเจ็คเตอร์ก็ใช้กระดาษฟางติดแนวตั้งติดกัน เพียง 2 แผ่นก็ใช้แทนจอได้แล้วครับ
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมา ลปรร.

เรียน พี่ชัยพร หนุ่มเมืองร้อยเกาะ

  • แข็งแรงและใช้ได้ดีครับ ไม่ต้องกลัวล้มเพราะขาจะมีที่ล็อค  
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมา ลปรร.
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท